กฤตธี มโนลีหกุล จัดทัพแพลตฟอร์ม Tencent - Forbes Thailand

กฤตธี มโนลีหกุล จัดทัพแพลตฟอร์ม Tencent

กฤตธี มโนลีหกุล กับภารกิจการพลิกโฉมสนุกดอทคอมสู่สปริงบอร์ดธุรกิจแอปเพลง เกม สตรีมมิ่งวิดีโอ และคลาวด์ พร้อมขยายฐานธุรกิจให้กับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในแดนมังกรให้สามารถเติบโตในอาเซียนและบริหารแพลตฟอร์มให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

การบรรจบกันของเส้นทางที่แตกต่างระหว่างวิศวกรโยธาและเอ็มดีบริษัทยักษ์ใหญ่บนโลกออนไลน์ จากจุดร่วมเดียวกันในการเป็นผู้วางรากฐาน “แพลตฟอร์ม” ให้สมบูรณ์แบบ โดยปรับเปลี่ยนจากอาคารบ้านเรือนสำหรับผู้อยู่อาศัยมาเป็นการพัฒนาระบบนิเวศทางข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เว็บไซต์สนุกดอทคอม แอปพลิเคชันเพลง (JOOX) แพลตฟอร์มเกม Tencent Games (PUBG) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ (WeTV) และ Tencent Cloud ให้บริการคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพสูง “การทำงานกับ Expedia ทำให้ผมต้อง think outside the box และ challenge ตัวเอง ด้วยการสร้างแบรนด์ พัฒนาเว็บไซต์ใหม่ และรื้อวิธีการทำงานทั้งหมด ก่อนจะมาร่วมงานกับเทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นบริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดของจีนที่เข้ามาถือหุ้นในสนุกออนไลน์ โดยช่วงที่ผมเข้ามาเมื่อ 8 ปีก่อน tech industry บ้านเรายังเล็กอยู่ ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ได้เข้ามาบริหารสนุกดอทคอมซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนั้นโดยเราต้องการให้ความรู้คนไทยนอกเหนือจากสาระบันเทิง ซึ่งตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ผู้ใช้งานสนุกเพิ่มเป็นเดือนละ 30-40 ล้านคน” กฤตธีกล่าวถึงการร่วมงานกับกลุ่มเทนเซ็นต์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลธุรกิจครอบคลุมทั้งประเทศไทย อินโดนีเซีย และเมียนมา สำหรับในปัจจุบันกลุ่มเทนเซ็นต์สามารถสร้างการเติบโตในประเทศไทยได้อย่างครอบคลุมความต้องการยุคดิจิทัล ด้วยบริการแพลตฟอร์มด้านเนื้อหา (news and portal) นำโดยสนุกดอทคอม และด้านบันเทิง (entertainment and multimedia) ประกอบด้วย JOOX มิวสิกสตรีมมิ่งแอปพลิเคชัน และ Tencent Games ผู้พัฒนาเกมระดับโลก และผู้ให้บริการชุมชนเกมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน รวมถึง WeTV วิดีโอสตรีมมิ่งแอปพลิเคชันที่มีจุดยืนทางการตลาดเป็นศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย ทั้งซีรี่ส์จีน เกาหลี ไทย รายการวาไรตี้ต่างๆ เป็นต้น Tencent “ธุรกิจของเราแบ่งเป็น 3 vertical โดยสัดส่วนรายได้หลักปัจจุบันยังเป็นสนุกดอทคอม แต่ช่วงหลังรายได้ฝั่ง entertainment เริ่มมากกว่าจาก JOOX ซึ่งออกมา 4 ปีแล้ว และเกม PUBG ของเทนเซ็นต์เอง 2 ปี รวมทั้งเราเพิ่งออก WeTV เมื่อปีที่แล้วนอกจากนั้น ธุรกิจที่เราต่อยอดใหม่จาก B2C เป็น B2B อย่างคลาวด์ ยังเป็นธุรกิจที่เราโฟกัสจากการเติบโตอย่างรวดเร็วหลังเปิดตัวประมาณ 2 ปี โดยเราวางเป้าหมายว่า ปีนี้รายได้ของคลาวด์น่าจะเพิ่มขึ้นได้ 100% ในเมืองไทย”   ปรับกลยุทธ์ตอบดีมานด์ แม้สนุกดอทคอมจะเป็นเว็บไซต์ที่สามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 2 ทศวรรษ แต่กฤตธีไม่ประมาทในการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ ทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยีเทรนด์ความต้องการ และพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยการปรับกลยุทธ์ธุรกิจในปีนี้ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรม (innovation) มุ่งเน้นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์ (cloud) เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของทุกภาคส่วน และการสร้างความเชื่อมโยงการดำเนินชีวิตของคนในยุคดิจิทัลเข้ากับแพลตฟอร์มของบริษัท (community) รวมถึงการสร้างคอนเทนต์ออริจินัล (original content) ซึ่งแตกต่างและโดดเด่นกว่าแพลตฟอร์มข้อมูลข่าวสารและความบันเทิง นอกจากนั้น บริษัทยังร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่อยอดการสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ เช่น WeTV ซึ่งเน้นออริจินัลคอนเทนต์ที่ส่งตรงจากเทนเซ็นต์ พิคเจอร์ส ผู้ผลิตคอนเทนต์อันดับต้นๆ ของจีน และจับมือกับพันธมิตรชั้นนำในไทยสร้างสรรค์คอนเทนต์และขยายฐานผู้ใช้งานที่มีความหลากหลาย ควบคู่กับการนำเสนอเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ ควบคู่กับการจัดกิจกรรมพิเศษอย่างต่อเนื่อง เช่น live chat และ online fan meeting รวมถึงการใช้ข้อมูลที่มีเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและเทรนด์ผู้บริโภค พร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค
Tencent
WeTV แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนำเสนอซีรี่ส์ระดับโลก
“คีย์ความสำเร็จอยู่ที่การสร้าง value ให้ผู้ใช้งานและพาร์ตเนอร์ เราเป็นบริษัทเทคสร้างแพลตฟอร์มซึ่งอยู่ตรงกลาง ถ้ามีแพลตฟอร์มอย่างเดียวไม่มีคอนเทนต์ก็อยู่ไม่ได้ ถ้ามีแพลตฟอร์มและคอนเทนต์แต่ไม่มีผู้ใช้ก็อยู่ไม่ได้ รวมถึงการสร้าง value ให้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ผมมองว่ามันจะทำให้เกิด ecosystem อย่างยั่งยืนได้ ดังนั้น JOOX และ WeTV จึงไม่ใช่แค่การนำคอนเทนต์ขึ้นบนแพลตฟอรม์เพื่อแชร์รายได้กันเท่านั้น แต่เรายังพยายามสร้าง value เช่น การลงทุนสร้างเพลง สร้างซีรีส์ และนำเงินกลับเข้ามาในระบบของเราหรือพาร์ตเนอร์เพื่อให้เขาสร้างคอนเทนต์ดีๆ ให้กับเรา”   B2B รับยุคดิจิทัล การให้บริการในรูปแบบ B2C หรือ business to customer สู่การให้บริการด้านโซลูชันสำหรับองค์กรในรูปแบบ B2B หรือ business to business อย่าง Tencent Cloud ซึ่งช่วยจัดการทางธุรกิจ ลดต้นทุน สะดวก ปลอดภัย และสร้างระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพให้กับทุกองค์กรได้แบบยั่งยืน กฤตธีกล่าวถึงการให้บริการ Tencent Cloud ที่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจได้อย่างหลากหลายและสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยตลาดการให้บริการคลาวด์แบบสาธารณะทั่วโลกมีแนวโน้มแตะ 263 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 16.4% จากปี 2562 นำโดยการให้บริการด้านซอฟต์แวร์ท่คี รองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด และคาดการณ์เติบโตถึง 167 พันล้านเหรียญในปี 2566 Tencent “B2B เหมือนการสร้างธุรกิจใหม่ เพราะ Tencent Cloud ไม่มีคนรู้จักในโลก และเราไม่มีบุคลากรตรงนี้ เราต้องสร้างทีมขึ้นใหม่ ถ้าย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน Tencent อาจจะไม่มีชื่อในธุรกิจที่คนรู้จักมากนัก แต่วันนี้ทุกคนรู้จักเรา โดยเฉพาะการเป็นแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือเรื่องเทคโนโลยี และประสบการณ์ทำงานให้พาร์ตเนอร์ที่จีนโดยปัจจุบันผู้ใช้งาน Tencent Cloud มีทั่วโลกและเติบโตเร็วมาก ซึ่งก็เป็นความท้าทายในแง่การสร้าง brand awareness และ technical expertise เข้ามาช่วยเราสร้างธุรกิจนี้” ขณะเดียวกันกฤตธียังวางเป้าหมายสร้างการเติบโตในต่างประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขยายฐานธุรกิจ โดยเฉพาะประเทศเมียนมา ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า 50 ล้านคนที่พร้อมรับแอปพลิเคชันทุกอย่างจากประเทศไทย และการเดินทางหรือการติดต่อสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งประเทศอินโดนีเซียที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 270 ล้านคน และอายุเฉลี่ยยังไม่มาก ทำให้มีโอกาสหรือความคุ้มค่าลงทุนสร้างฐานธุรกิจในอนาคต “ด้านการต่อยอดธุรกิจโดยรวมเกือบครบแล้ว แต่เรายังสามารถโฟกัสในแต่ละธุรกิจได้ เช่น JOOX ที่อาจจะทำงานกับศิลปินหรือค่ายเพลงได้มากขึ้น หรือ WeTV เรามีสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ Tencent Pictures และ Tencent Penguin Pictures ที่จีน ซึ่งเริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในภาพยนตร์ฮอลลีวูดแล้ว และอาจจะเข้ามาถ่ายทำในบ้านเรา รวมถึงเกมที่ยังต่อยอดได้ โดยเราต้องการช่วยสร้างให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งซัพพลายเออร์ พาร์ตเนอร์คนทำหนัง หรือคนทำเพลงที่ยังอยู่ในโลกออฟไลน์ เราจะช่วยให้เขากลับมาทำเงินหรือสร้างรายได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพลงหรือภาพยนตร์ที่เราจะสามารถช่วย add value ได้”  
คลิกอ่านฉบับเต็ม “กฤตธี มโนลีหกุล จัดทัพแพลตฟอร์ม Tencent” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine