นวัตกรรมกำลังนำพาประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตได้อย่างไร ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กำลังนำพาองค์กรหัวก้าวหน้าแห่งนี้ รวบรวมคนเก่งในทุกมิติเพื่อค้นหานวัตกรรมช่วยชาติ
ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวโลกว่าเป็นดินเแดนแห่งรอยยิ้มและวัฒนธรรมแห่งการให้อันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยมาอย่างยาวนานและค้ำจุนประเทศ แต่ความจริงแล้วยังมีสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดีไม่แพ้รอยยิ้มและวัฒนธรรมนั่นคือ “นวัตกรรม” ยิ่งในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้น ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมที่จะนำพาประเทศไปรอดได้ และนั่นคือภารกิจ ของ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA “เราได้เห็นไอเดียและความพลิกแพลง เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมของคนไทยมากมาย โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต เช่น น้ำท่วม หรือในเหตุการณ์ล่าสุดคือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีนวัตกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อแบบเรียลไทม์ รถเข็นเคลื่อนย้ายแรงดันลบ เครื่องช่วยหายใจ ชุดตรวจคัดกรองเชื้อเบื้องต้นจากน้ำลายที่รู้ผลใน 1 ชั่วโมง รวมถึงระบบสุขภาพทางไกล หรือ Telehealth ที่ทำให้คนไทยปรึกษาแพทย์ได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล” นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ในความจริงแล้วนวัตกรรมของไทยไม่ได้เกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤตเท่านั้น แต่คนไทยสร้างสรรค์นวัตกรรมมาโดยตลอด มีการต่อยอดจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากมาย นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. (NIA) ริเริ่มแคมเปญ Innovation Thailand ขึ้นมา เพื่อเปิดมุมมองใหม่ของประเทศไทยด้วยภาพลักษณ์ใหม่ด้านนวัตกรรม และชักชวนคนไทยให้มารับรู้และภาคภูมิใจในนวัตกรรมของไทย- มุ่งสร้างองค์กรหัวก้าวหน้า -
ดร.พันธุ์อาจ เข้ารับตำแหน่งที่ NIA ตั้งแต่ปี 2558 สมัยดำรงตำแหน่งวาะแรก (ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี) เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันแคมเปญระดับชาติ “Startup Thailand” เพื่อโปรโมตศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมด้านระบบนิเวศที่เหมาะในการเป็นศูนย์กลางของธุรกิจสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พร้อมกับการเข้ามาปรับภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กรให้ทันสมัย และเป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่ สอดรับกับพันธกิจขององค์กรที่มุ่งเสริมสร้างความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศ “ปัจจุบัน บุคลากรของเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ในกลุ่ม Gen M หรือ Millennial เราจึงต้องมีวิธีการส่งผ่านดีเอ็นเอที่แตกต่างไปจากหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐ และเตรียมความพร้อมรองรับบุคลากรใน Gen C ต่อไป ซึ่งในอนาคตเราอยากให้มีภาพลักษณ์เป็นองค์กรที่สดใหม่ เปี่ยมด้วยความเป็นมืออาชีพ จะเป็นองค์กรของรัฐที่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และค้นหาตัวเอง ให้เป็นองค์กรของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง” ดร.พันธุ์อาจ ระบุ ดร.พันธุ์อาจ วางสถานะของสนช. ให้เป็นองค์กรหัวก้าวหน้า ในแง่การทำงานจึงวางนโยบายในเชิงรุกและวางกลยุทธ์ในเชิงยุทธศาสตร์ที่ท้าทายในด้านต่างๆ เพราะไม่ได้มองว่าจะสนับสนุนโครงการนวัตกรรมอะไรบ้าง แต่ให้คิดว่าเราคือคนสร้างระบบนวัตกรรมนั่นขึ้นมา “ผมมองว่า Passion คือสิ่งสำคัญ ผมจึงพยายามทำให้ทุกคนมี Passion และเปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานในสิ่งที่เขาสนใจเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองและฝึกให้เขาเป็น Trendsetter จากองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านนวัตกรรมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและสร้างรูปแบบให้เป็นระบบมากขึ้น” ผลจากความมุ่งมั่นทำงานของ NIA ประเทศไทยได้ขยับอันดับด้านนวัตกรรมขึ้นมาอยู่ที่ 44 จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ในอันดับที่ 51 เป็นการก้าวขยับขึ้นทีเดียว 7 อันดับ ถือเป็นความภูมิใจของคนทำงานด้านนวัตกรรม ซึ่งดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ NIA อยู่นี้ อยากให้ประเทศไทยขยับอันดับด้านนวัตกรรมไปอยู่ที่ระดับ 30 ขึ้นไป นี่คือเป้าหมายที่จะมุ่งไป ปัจจุบัน ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ซึ่ง NIA ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นในประเทศไทย ได้แก่ ธุรกิจโทรคมนาคม อาหาร ประกันภัย และพลังงาน เป็นต้น- Innovation Thailand ทางรอด -
สำหรับ "Innovation Thailand" เป็นแคมเปญที่ NIA ริเริ่มขึ้นเพื่อชวนคนไทยให้มารู้จักและร่วมภาคภูมิใจกับนวัตกรรมฝีมือคนเไทย รวมทั้งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าคนไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยทำให้มีความสุข สะดวกสบาย และมีความประณีตในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทย และเป็นสิ่งที่ NIA หยิบยกมานำเสนอเพื่อเปิดมุมมองใหม่ของประเทศไทยที่แตกต่างไปจากเดิม ดร.พันธุ์อาจ ได้ให้ความหมายของ Innovation Thailand ในครั้งนี้ คือ นวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นหรือที่เรียกว่า Innovation for Crafted Living ทาง NIA ได้แบ่งออกได้เป็น 7 หมวด คือ- Healthy Living นวัตกรรมเพื่อสุขภาพดีที่ไม่ใช่แค่การดูแลรักษาแต่รวมไปถึงการป้องกัน
- Easy Living นวัตกรรมเพื่อให้ผู้สูงวัย คนพิการ หรือผู้ที่ด้อยโอกาส ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและเท่าเทียมกับคนปกติแบบไร้รอยต่อ
- Smart Living นวัตกรรมเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่แหล่งพลังงานสะอาด การกำจัดขยะ ลดมลพิษ และคิดเผื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio-Circular-Green Economy)
- Connected Living นวัตกรรมที่เชื่อมโยงผู้ที่สนใจเรื่องเดียวกัน สร้างเป็นเครือข่ายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยลดช่องว่างทางความคิด
- Safe Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัย ครอบคลุมทุกมิติในการใช้ชีวิตทั้งในบ้านและนอกบ้าน
- Wealthy Living นวัตกรรมที่สร้างโอกาสและอาชีพใหม่ๆ ที่เลี้ยงตัวเองได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
- Happy Living นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และสันทนาการ เพื่อทำให้ชีวิตผ่อนคลายและมีความสุข
ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand