เชื่อว่าหลายๆ คนคงเติบโตมากับการตื่นเช้าเพื่อเปิดโทรทัศน์ดูการ์ตูนญี่ปุ่น มีตัวละครในดวงใจที่เติมเต็มความฝันและจินตนาการวัยเยาว์ จนเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน วงการอนิเมะแดนอาทิตย์อุทัยเฟื่องฟู แต่ในไทยกลับหาเสพได้ไม่ง่ายนัก เป็นเหตุให้ JAM หรือ Japan Anime Movie Thailand ถือกำเนิดขึ้น เพื่อสานฝันคนไทยที่รัก ‘อนิเมะ’ เหล่านี้
Forbes Thailand ได้มีโอกาสพูดคุยกับ กอล์ฟ - พิชชาภา ณรงค์พันธ์ กรรมการผู้จัดการวัย 45 ปี แห่งบริษัท ไฟว์สตาร์ เอเจนซี่ จำกัด ผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์ JAM เพื่อทำการตลาดให้กับแอนิเมชันญี่ปุ่นหรืออนิเมะ (Anime) ในประเทศไทย
ด้วยประสบการณ์ในวงการภาพยนตร์เรื่อยมาจนถึงแอนิเมชันญี่ปุ่นกว่า 20 ปีของพิชชาภาพร้อมทีมงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแพสชั่น JAM เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการอนิเมะของไทย จากการทำการตลาดให้อนิเมะกว่า 90 เรื่องตลอด 7 ปีนับตั้งแต่ริเริ่มโปรเจ็กต์เรื่อยมาจนปัจจุบัน
บนเส้นทางธุรกิจภาพยนตร์สู่วงการอนิเมะในไทย
เส้นทางอาชีพของพิชชาภามีแพสชั่นเป็นแสงนำทาง เธอสนใจทำงานในธุรกิจบันเทิงตั้งแต่สมัยเรียน แต่ไม่ได้คิดอยากเป็นดารา จึงได้เข้าศึกษาด้านโฆษณาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อจบมาก็ได้ทำงานโฆษณาโดยตรง ก่อนจะพบว่ายังไม่ใช่ทาง ต่อมาเธอได้ลองจับงานที่ชอบมากขึ้นนั่นคือสื่อ Out of Home เช่น ป้ายโฆษณาตามห้าง และป้ายบิลบอร์ด กระทั่งได้รับคำชวนให้ไปทำงานกับ SF ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ เสมือนแพสชั่นของเธอถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง
“เราเป็นคนเสพหนัง ชอบดูหนังเยอะมาก แต่อาจจะดูหนังต่างประเทศแบบนอกกระแสนิดหนึ่ง ดูหนังยุโรป หนังอินดี้ สะสมแผ่นดีวีดี ไปเดินซื้อตามร้านนำเข้าแผ่นที่ไม่ใช่หนังสายแมส จะชอบแบบนั้น” ผู้นำไฟว์ สตาร์ เอเจนซี่ เล่า “สามารถที่จะอยู่ในโรงหนังได้ทุกวัน ดูหนังคนเดียวก็ได้ วันหนึ่งสามเรื่องก็ดูได้ เลยทำให้การอยู่ในธุรกิจโรงหนังตรงนั้นมันแฮปปี้มาก”
การอยู่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ตลอดระยะเวลา 6-7 ปีเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข จนคนรู้จักที่สนิทกันโทร.มาแนะนำบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งกำลังต้องการคนมาช่วยขยายธุรกิจภาพยนตร์และการตลาด
“เรามั่นใจว่าเราเป็นมือดีของโรงหนังในวันนั้น แล้วเราจะออกจากเซฟโซนของเราไปทำธุรกิจการ์ตูนญี่ปุ่น จะยังไงดีนะ” เธอตั้งคำถามกับตัวเอง แต่ท้ายที่สุดเธอก็ตัดสินใจพูดคุยและสัมภาษณ์หลายรอบจนผ่านเพื่อก้าวเข้าสู่บทถัดไปของชีวิต
“เราทำการตลาดให้กับตัวการ์ตูน มันเหมือนทำสิ่งที่จับต้องไม่ได้ออกมาให้จับต้องได้ แล้วมันไม่ได้มีอะไรที่เป็นแบบฉบับ เหมือนเราต้องสร้างมันขึ้นมา จินตนาการมันขึ้นมา” พิชชาภาบรรยายถึงความท้าทายครั้งใหม่ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งยังไม่มีมาก่อนในไทย เธอต้องนำเอาประสบการณ์ในธุรกิจภาพยนตร์ การโปรโมตหนังต่างประเทศ และอีเวนต์อื่นๆ มาประยุกต์ใช้ ทำให้เธอยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจนี้ได้ถึง 7 ปี
“ปีสุดท้ายที่เราอยู่ที่บริษัทนั้น เป็นปีที่บริษัทมีอีเวนต์ 99 อีเวนต์ในหนึ่งปี เยอะมาก เราทำให้จนห้างทุกห้างเรียกเราว่า ‘ยาสามัญประจำห้าง’ ถ้าคุณคิดไม่ออกว่าคุณจะทำกิจกรรมอะไร คุณโทร.มาหาเรา เรามีกิจกรรมหลากหลายที่จะเสิร์ฟห้าง ห้างอยากได้อีเวนต์แบบไหน ขอแค่ให้บอก”
ภายหลังเธอได้แต่งงานและลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง แต่ยังคงได้รับความไว้วางใจเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทนั้นอยู่ เพิ่มเติมคือมีค่ายอื่นติดต่อเข้ามาด้วย
ตั้ง JAM ตอบโจทย์คนไทยหัวใจอนิเมะญี่ปุ่น
บริษัท ไฟว์สตาร์ เอเจนซี่ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 ให้บริการด้านการตลาด อีเวนต์ และภาพยนตร์ ก่อนที่จะมีการเปิดโปรเจ็กต์ Japan Anime Movie Thailand หรือ JAM แยกออกมาทำด้านอนิเมะและภาพยนตร์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจ JAM จำนวนกว่า 300,000 คน และเป็นฐานแฟนอันเหนียวแน่นคอยสนับสนุนทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น
ข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้าเผยว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัท ไฟว์ สตาร์ เอเจนซี่ จำกัด มีรายได้รวม 87,530,417.11 บาท เพิ่มขึ้น 59.63% จากปีก่อนหน้า ส่วนกำไรสุทธิ 6,566,614.56 บาท เพิ่มขึ้น 174.14% โดยรายได้จาก JAM คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของบริษัท สะท้อนการเติบโตของตลาดคนรักอนิเมะญี่ปุ่นในไทย
หากมองย้อนกลับไปในอดีต ยุคหนึ่งไทยมีการนำอนิเมะญี่ปุ่นเข้ามาฉายตามโทรทัศน์ช่องต่างๆ แต่ต่อมาก็เกิด Digital Disruption คนดูโทรทัศน์น้อยลง หันมาเสพสื่อออนไลน์แทน อีกทั้งการแพร่ระบาดของช่องทางการดูเถื่อน ทำให้บางบริษัทเลิกทำธุรกิจอนิเมะไป รวมถึงไม่มีใครทำการตลาดอนิเมะอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะเป็นการถือลิขสิทธิ์เพื่อผลิตสินค้าวางจำหน่ายเสียมากกว่า
“แต่เรามีความเชื่อส่วนตัวว่า คนกลุ่มนี้ยังอยู่ แต่ไม่มีอะไรเสิร์ฟเขา” พิชชาภากล่าวถึงคนไทยที่รักอนิเมะญี่ปุ่น พร้อมชี้ว่าเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ในขณะที่อุตสาหกรรมอนิเมะในญี่ปุ่นเติบโต มีอนิเมะที่ทำมาในรูปแบบ ‘มูฟวี่’ (หรือเป็นภาพยนตร์ ไม่ใช่ซีรีส์หลายตอน) มากขึ้น เธอกลับรู้สึกว่าอนิเมะญี่ปุ่นไม่ค่อยมีในไทย ถ้ามีก็รอบน้อย บางเรื่องก็ไม่เข้าไทยเลย
เธอเล็งเห็นว่ามีคนไทยชอบอนิเมะเยอะ มีกลุ่มใหญ่ แต่กระจายกันอยู่ อาจเพราะไม่มีช่องทางให้ทุกคนรวมตัวกันอย่างชัดเจน จึงก่อตั้งโปรเจ็กต์ JAM ขึ้นมา ต่อยอดจากการทำธุรกิจภาพยนตร์ พัฒนาการจัดกิจกรรม เริ่มจากเปิดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษและมีของพรีเมียมเฉพาะรอบดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แฟนๆ อนิเมะให้มีโอกาสได้ดูรอบพิเศษ สะสมของพรีเมียม และสัมผัสอีเวนต์ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องบินไปถึงญี่ปุ่น
ด้วยความที่เด็กๆ ยุคหนึ่งเติบโตมากับการตื่นเช้าเพื่อดูรายการการ์ตูน กอปรกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหลากหลาย ทำให้แฟนๆ อนิเมะมีความแตกต่างของช่วงวัยกว้าง แต่ความต้องการของพวกเขากลับคล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น Evangelion เป็นอนิเมะซีรีส์ฉายครั้งแรกในปี 1995 แต่ตอนที่มีการนำมูฟวี่ Evangelion ใหม่ล่าสุดเข้าโรงในไทยเมื่อปี 2022 ก็มีแฟนอนิเมะรุ่นเก่าออกมารับชมกันมากมาย ทั้งนี้พวกเขามีจำนวนน้อยกว่าคนรุ่นใหม่
สำหรับคนเจเนอเรชั่นใหม่นับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวงการอนิเมะญี่ปุ่นในอย่างมาก พิชชาภาเผยว่าเวลาที่ JAM ประกาศอะไรออกมา คนกลุ่มนี้มักมีปฏิสัมพันธ์เสมอในโลกออนไลน์ ทั้งช่วยแชร์ ทำคอนเทนต์โปรโมต บางครั้งก็ถึงขั้นส่งข้อความมาแสดงความต้องการต่างๆ ซึ่ง JAM มองเป็นเรื่องดี คอยตอบข้อความ และเก็บข้อมูลไว้เพื่อพัฒนาสม่ำเสมอ
เรียนรู้ เข้าใจ ไม่ปิดกั้นความเป็นไปได้
นอกเหนือจากการทำการตลาดสร้างยอดขาย Box Office อีกหนึ่งความท้าทายที่ JAM ต้องเผชิญคือ ‘ความเป็นไปได้’ ดังเช่นที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเฉพาะตัวสูง การดีลงานกับคนญี่ปุ่นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย
“ก่อนหน้านี้มีคนพูดว่าญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยให้นักแสดงหรือผู้กำกับมาไทยหรอก เราชาเลนจ์เลย วันนั้นเราได้รับโจทย์มาว่าให้ทำการตลาดให้กับ Tokyo Revengers ถูกใจเลย เพราะเราชอบซีรีส์นี้อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่อนิเมะนะ เป็น Live Action” พิชชาภากล่าวถึง Tokyo Revengers อีกหนึ่งการ์ตูนดังจากแดนอาทิตย์อุทัยที่มีการนำไปสร้างเป็น Live Action หรือฉบับคนแสดง
“เราก็พิมพ์ทำ Proposal รีเควสต์ขอให้ดราเค่น หรือ Yuki Yamada มาไทย” Yuki Yamada คือนักแสดงหนุ่มที่รับบท ‘ดราเค่น’ หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องนี้ “เราไม่มี Barrier ไปก่อนว่าไม่ได้หรอก ไม่มาหรอก แต่เราทำไปก่อน เราเสนอไปก่อน”
หลังจากนั้น JAM ได้รับคำถามกลับมาอย่างละเอียดเกี่ยวกับการจัดงาน แฟนคลับ การขายตั๋ว วันที่จัดงาน และอีกมากมาย ประสานงานกับทางญี่ปุ่นผ่านอีเมลกว่า 300 ฉบับก่อนทีมงานจะได้ไฟเขียว ซึ่งเป็นการทำงานสไตล์ญี่ปุ่นจริงๆ หากใครไม่เคยทำงานกับคนชาตินี้มาก่อนก็อาจถอดใจ แต่พิชชาภามีประสบการณ์ที่ DEX ถึง 7 ปีทำให้ได้ซึมซับวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นมา และในฐานะที่ตอนนี้เป็นผู้นำองค์กร เธอสอนให้พนักงานเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานกับคนญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
“เรารู้ว่าเขาถามเราทำไม เพราะเขาอยากรู้ว่าเราคิดเอาไว้แล้วหรือเปล่า ทุกคำถามของเรา เราจะได้รับคำตอบเป็นคำถามเสมอ” พิชชาภาเล่า “ทุกคำถามที่เขาถามมา หากเราตอบได้ มีความมั่นใจว่าทำอย่างนั้นได้จริงๆ เขาเองก็จะมั่นใจและพร้อมทำงานด้วยกัน”
เธอกล่าวถึงความภาคภูมิใจเมื่อช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ที่ผ่านมาในการเชิญ 2 นักพากย์ Hanae Natsuki และ Namikawa Daisuke จากเรื่องดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu no Yaiba) มาพบปะกับแฟนๆ ในไทย นับเป็นก้าวใหม่ของ JAM ที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ อีกทั้งทีมงานญี่ปุ่นยังชื่นชมการเตรียมการต่างๆ ที่เพียบพร้อมและเป็นไปตามข้อปฏิบัติที่ควรจะเป็น เสริมความมั่นใจให้ JAM ยิ่งขึ้น
ผู้นำ JAM ย้ำความสำคัญของข้อปฏิบัติ ไม่ใช่แค่กับญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property หรือ IP) ของทุกประเทศ เพราะแต่ละที่มีกฎกติกาของตัวเอง ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้
“เราต้องหาข้อมูลนะ เราต้องเรียนรู้ให้เยอะ แล้วเราก็ต้องฟังเขาให้เยอะ” พิชชาภาอธิบาย “เราต้องมีความอดทน เพราะสุดท้ายมันไม่ใช่ IP ของเรา มันคือ IP ของเขา และเราเข้าไปช่วยเขามาทำตลาดในประเทศไทยเท่านั้นเอง ถ้าเราอยู่ในจุดนี้ได้ เราจะบริหาร IP ในเมืองไทยได้”
ขยายขอบเขต จับงานอีเวนต์ จัดนิทรรศการ
หากพูดถึงการทำงานของ JAM ให้ลึกลงไป พิชชาภาให้นิยามว่า “เราเป็นทีมการตลาด แต่เป็นทีมการตลาดที่ทำงานตามแพสชั่น” เพราะทีมงานทุกคนต่างก็รักในสิ่งที่ทำอยู่ หลายคนอาจมองว่าเป็นเหมือนการทำงานในฝัน แต่ฝันของ JAM ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยนอกเหนือจากความสุขแล้ว ต้องไม่ลืมนึกถึงความมั่นคงด้วย
“เราทำงานด้วยแพสชั่น เราไม่ได้ทำงานแค่เช้าชามเย็นชามหรือเราทำกับแค่สิ่งที่เรามีอยู่ ถ้าเราอยู่กับสิ่งที่เรามีอยู่แค่การตลาดให้กับมูฟวี่หรือแค่ซัพพอร์ตพาร์ทเนอร์เราไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งมันอาจจะไม่ได้มั่นคง” พิชชาภาอธิบาย “คาแรกเตอร์มันไม่ใช่ของเรา เราย้ำเสมอว่าคาแรกเตอร์นั้นไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่ของเราในเซฟโซนรอให้พาร์ทเนอร์นำหนังมาให้เราอย่างเดียว ในมุมธุรกิจมันก็เสี่ยงเกินไป”
เธอชี้ว่าญี่ปุ่นไม่ได้มีภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ทุกปี บางปีไม่มีเลย หรือบางกรณีก็มี แต่เป็นบริษัทอื่นในไทยที่ได้โปรเจ็กต์นั้นไปดูแล ทำให้เธอมองว่า การจะจับแค่ธุรกิจเดียวในหมวดหมู่ของอนิเมะญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องยาก เธอจึงตัดสินใจเดินออกไปหางานมาให้บริษัทมากขึ้น จนได้จัด Junji Ito Horror House 2023 ซึ่งเป็นนิทรรศการในรูปแบบบ้านผีสิงแรงบันดาลใจจาก Junji Ito นักเขียนการ์ตูนสยองขวัญชื่อดังของญี่ปุ่น โดยมีผู้เข้าชมราว 55,000 คนตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนที่เปิดให้เข้าชม เป็นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจจัดนิทรรศการอย่างงดงาม
ยิ่งไปกว่านั้น JAM ได้พาร์ทเนอร์อย่าง Muse Communication ผู้ถือลิขสิทธิ์อนิเมะญี่ปุ่นมากมายในไทยพร้อมโจทย์การทำป๊อปอัพสโตร์ให้อนิเมะเรื่อง SPY x FAMILY โดยเงื่อนไขคือต้องเข้าชมได้ฟรีซึ่ง JAM ไม่เคยทำมาก่อน แต่ Muse ก็ให้การสนับสนุนพาไปดูงาน อธิบาย และสอนวิธีการต่างๆ ให้พิชชาภาได้กลับมาถามทีมงานว่าสนใจจะทำโปรเจ็กต์นี้ไหม
“เวลากอล์ฟทำอะไร กอล์ฟไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวคนเดียว ถึงแม้มันเป็นแพสชั่นเรา แต่เราก็ต้องถามทีมเราด้วยว่า คิดว่าอย่างไร” เธอบอกว่าต้องคุยกับทุกคนทุกฝ่าย จนมั่นใจว่าจะร่วมกันผลักดันงานนี้ออกมาจนประสบความสำเร็จได้ จึงจะตอบตกลง สุดท้ายก็เกิดเป็น SPYXFAMILY POP UP STORE THAILAND ขึ้นมา ซึ่งมีความพิเศษคือไม่ใช่แค่ป๊อปอัพสโตร์ขายสินค้าธรรมดา แต่มีส่วนที่เป็นนิทรรศการให้แฟนๆ ได้มาสัมผัสประสบการณ์ไปพร้อมๆ กัน
“จุดแข็งของทีม JAM คือทุกคนมีความตั้งใจที่จะทำงานด้วยกัน เราเป็นองค์กรอยู่กันเป็นพี่น้อง บางคนอยู่กันมาตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงาน จนวันนี้มาเป็นทีมงาน มันก็เกิดเป็นแพสชั่น มันก็เป็นเหมือนกับสังคมเล็กๆ ของเราในบริษัทที่เราเห็นภาพเดียวกัน เรามองไปในทิศทางเดียวกัน แล้วเราก็สนุกที่จะทำให้มันใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้นไปเรื่อยๆ”
อีเวนต์เพื่อคนรักอนิเมะอื่นๆ จากฝีมือของ JAM อาทิ Jujutsu Kaisen Run in Thailand 2023 ซึ่งเป็นกิจกรรมการวิ่งภายใต้ธีมของการ์ตูนเรื่องมหาเวทย์ผนึกมาร (Jujutsu Kaisen) และ Detective CONAN The Movie 27 Pop-Up Thailand ป๊อปอัพสโตร์เอาใจแฟนๆ การ์ตูนสืบสวนชื่อดังยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน ที่จะจัดขึ้นถึงสิ้นเดือนกันยายน 2024 นี้
ล่าสุด JAM ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รับผิดชอบจัด The Conjuring Universe Tour ที่นำเอาภาพยนตร์สยองขวัญในจักรวาล Conjuring ภายใต้การดูแลของค่าย Warner Bros. Entertainment มารังสรรค์เป็นนิทรรศการรูปแบบอิมเมอร์ซีฟอันทันสมัยในประเทศไทยโดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ - 5 มกราคม 2025 ที่ ICONSIAM
ที่มาที่ไปของ The Conjuring Universe Tour คือการที่พิชชาภาได้ไปชมงานนิทรรศการนี้ในต่างประเทศ เธอเกิดความประทับใจ บอกสามีว่าต้องนำนิทรรศการนี้มาจัดที่ไทยให้ได้ และวันนั้นก็ยืนรอถามพนักงานว่าอยากจัดงานนี้ที่ไทยต้องติดต่ออย่างไร หลังดีลงานกับต่างประเทศ ร่วมพัฒนาโปรเจ็กต์นี้ถึง 9 เดือน ความสยองขวัญฉบับ Conjuring ก็พร้อมให้แฟนๆ ชาวไทยได้สัมผัส
“เมืองไทยก็ทำอีเวนต์ระดับโลกได้” พิชชาภากล่าว พร้อมเผยความมั่นใจว่าบริษัทในวันนี้แข็งแรงมากพอจะเปิดรับทุกโอกาสและความท้าทายเพื่อสร้างการเติบโตต่อไปในอนาคต “ตอนนี้มีโอกาสเข้ามาหาเรามากมาย ไม่ใช่แค่งานเล็กๆ หรือแค่มูฟวี่ในโรงหนังอีกต่อไปแล้ว มันเริ่มมาหลากหลายไปหมด”
อย่างไรก็ตาม JAM ยังคงให้ความสำคัญกับผู้ติดตามซึ่งเป็นฐานแฟนอันเหนียวแน่นกว่า 300,000 คนในเพจ โดยยืนยันว่าบริษัทยังคงมุ่งเป้าไปที่ภาพยนตร์และอนิเมะฝั่งญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งนอกเหนือจาก The Conjuring Universe Tour ทีมงานก็มีโปรเจ็กต์อนิเมะอื่นๆ ต่อคิวมาไม่ขาดสาย ทั้งมูฟวี่ที่กำลังจะเข้าฉายในโรงและอีเวนต์ต่างๆ ที่จะจัดขึ้นหลังจากนี้
“เราก็จะโตกับความท้าทายของเราไปเรื่อยๆ เราจะฝึกสกิลเราไปเรื่อยๆ ทุกงานมันมีความยาก มันสอนสิ่งใหม่ๆ ให้เราเสมอ วันนี้กอล์ฟเชื่อว่าบริษัทญี่ปุ่นรู้จัก JAM เห็นโลโก้เราแล้วรู้ว่าเราคือทีมที่แข็งแรงในเมืองไทย และเขาก็น่าจะพร้อมคุยกับเราในหลายๆ งาน”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ Japan Anime Movie Thailand
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : RiFF Studio “ความฝันเหนือชีวิต” กับภารกิจพาแอนิเมชันไทยประกาศศักดาบนเวทีโลก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine