กานต์ ปุญญเจริญสิน สร้าง New S-Curve ให้ SEI - Forbes Thailand

กานต์ ปุญญเจริญสิน สร้าง New S-Curve ให้ SEI

เมื่อครอบครัวมีขนาดใหญ่ขึ้น “ธีระ ปุญญเจริญสิน” ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อสร้างธุรกิจของตนเอง หวังเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว โดยทำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ก่อนขยายมาจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ซึ่งกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักในปัจจุบัน


    ขณะที่ กานต์ ปุญญเจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสอีไอ เมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ SEI ทายาทคนโตของธีระรับรู้ตั้งแต่ยังเด็กว่าจะต้องเข้ามาสานต่อกิจการ 16 ปีก่อนจึงเข้ามาเรียนรู้งาน เริ่มจากเป็นเซลส์และขยับไปยังสายงานอื่นๆ รวมทั้งริเริ่มการวางระบบหลังบ้านเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นระบบมากขึ้น ผลงานล่าสุดคือ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ช่วงปลายปี 2567

    กานต์เรียนจบปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยบอสตัน (Boston College) Carroll School of Management ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นจึงเข้ามาทำงานที่บริษัท ขณะนั้นมีพนักงาน 20 คน

    “ผมเรียนวิศวกรรมอุตสาหการ ภาคภาษาอังกฤษ ม. ธรรมศาสตร์ จบมาทำงานเป็น Management Trainee ที่ Unilever 1 ปี และไปเรียนต่ออเมริกา 2 ปี เหตุผลที่ออกจากงานเพราะคิดว่าคุณพ่อต้องการให้คนไปช่วยแล้ว กลับจากอเมริกาตอนอายุ 26 ปี และเริ่มงานตั้งแต่ตอนนั้น ทำที่นี่มา 16 ปี ตอนนี้อายุ 40 ปีเศษ...จำได้ว่าออกไปพบลูกค้ากับเซลส์ เขาใช้ชีวิตยังไงเราก็ใช้แบบนั้น นั่งรถเมล์ไปกับเซลส์เพื่อให้บริการลูกค้า เราขายกล้องส่องตรวจต้องไปบริการ ง่ายๆ คือช่วยล้างกล้อง ก็เริ่มทำงานตั้งแต่ระดับล่าง งาน operation การเข้าพบลูกค้า ทำเพื่อให้รู้ว่าธุรกิจดำเนินไปยังไง”

    ทายาทหนุ่มบอกว่า เขาไม่มีปัญหาในการปรับตัว สิ่งที่ยากกว่าคือ การทำงานกับบิดา เป็นเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย หนึ่งในนั้นคือความคิดที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเขาอยากทำตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว แต่บิดาไม่เห็นด้วยจึงต้องพักไว้ กระทั่งบิดาเกษียณ จึงเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง


5 กลุ่มสินค้า

    บริษัท เอสอีไอ เมดิคัล จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ บริษัทก่อตั้งในปี 2529 (เดิมชื่อ บริษัท ซายน์ เอ็นจิเนียร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) โดย ธีระ ปุญญเจริญสิน

    ช่วงแรกจำหน่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ต่อมามองเห็นโอกาสจากการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนสถานพยาบาลและการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทย จึงขยายธุรกิจและมุ่งเน้นในการจัดจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น

    ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องมือทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ภายใต้ตราสินค้าของผู้ผลิต 18 รายจาก 11 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน จัดจำหน่ายให้แก่โรงพยาบาลรัฐบาล สถาบันการศึกษาแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาลของเอกชน สินค้าแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

    1. สินค้าด้านกล้องส่องตรวจ (endoscope) เป็นกลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์ในห้องส่องกล้องสำหรับการตรวจทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจและโสต ศอ นาสิก

    2. สินค้าสำหรับผู้ป่วยทารกแรกเกิด (neonatal care) เป็นกลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ดูแลทารกแรกเกิดแบบครบวงจร ครอบคลุมทั้งทารกแรกเกิดปกติและทารกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤตในระยะแรกหลังคลอด

    3. สินค้าด้านความงาม (aesthetic) เป็นกลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับการดูแลรูปร่างและร่างกาย

    4. สินค้าด้านการผ่าตัด (surgery) เป็นกลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในห้องผ่าตัด

    5. อุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับใช้ในการตรวจวิเคราะห์ วัดอนุภาค เก็บรักษาตัวอย่าง และบ่มเพาะเชื้อเพื่อการทำวิจัย


Customer Centric

    ผู้บริหารหนุ่มสรุปภาพรวมสินค้าของบริษัทว่า “สโลแกนของเราคือ Since Your Day 1 พร้อมดูแลทุกคนตั้งแต่วันแรกที่เกิด และมีสินค้าหรือนวัตกรรมครอบคลุมทุกช่วงชีวิต”

    จุดเด่นของบริษัทคือ มีพันธมิตรที่ทำงานด้วยกันมาอย่างยาวนานและเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือ การให้บริการหลังการขาย หรือแผนกซ่อมบำรุงซึ่งแบ่งตามกลุ่มสินค้าเพื่อให้พนักงานมีความรู้และความเชี่ยวชาญในการซ่อมแซมสินค้าในกลุ่มนั้นๆ รวมถึงสามารถดูแลและซ่อมแซมสินค้าได้ทันท่วงที ไม่ต้องรอจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าซึ่งอาจใช้ระยะเวลานาน

    “บริษัทมีศูนย์เซอร์วิสของเราเอง เรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญมาก ซื้อขายใครก็ทำได้ หากเสียใครจะซ่อม เพราะไม่ได้เป็นของทั่วไป ต้องมีความชำนาญ เรามีพนักงานให้บริการด้านนี้คิดเป็น 1 ใน 4 ของพนักงานทั้งหมด สุดท้ายคือความน่าเชื่อถือ การช่วยเหลือคน ความเป็นความตาย คนมาให้บริการตรงนี้ต้องมีความน่าเชื่อถือ ได้รับการอบรมอย่างดี เราบริหารจัดการครบวงจร ไม่ได้ outsource”


ตลาดเติบโตต่อเนื่อง

    ข้อมูลจาก Medical Devices Intelligence Unit (MedIU) ณ วันที่ 31 มีนาคม ปี 2567 ระบุว่า ปี 2566 ประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ลดลง 6.20% จากปี 2565 โดยระหว่างปี 2562-2566 การนำเข้าขยายตัวเฉลี่ยปีละ 8.23%

    ปี 2566 ประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์มูลค่ารวม 90,859.41 ล้านบาท จำแนกตามประเภทเครื่องมือทางการแพทย์ได้ดังนี้ วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ มีมูลค่าการนำเข้า 40,666.31 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44.76% ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์รวม, ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (durable medical device) มูลค่าการนำเข้า 31,424.85 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.59%, ชุดน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคมูลค่าการนำเข้า 18,768.25 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.66% ขณะที่งบประมาณรายจ่ายสาธารณสุขของปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 คิดเป็น 8.8% ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์มีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามงบประมาณรายจ่ายสาธารณสุขที่สูงขึ้น

    ทั้งนี้ปี 2566 ประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์มาจาก 3 ประเทศคู่ค้าหลักคือ สหรัฐอเมริกา จีน และเยอรมนี มูลค่ารวมกันเท่ากับ 42,022.17 ล้านบาท จากมูลค่าการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์รวม 90,859.41 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.25% ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์รวมปี 2566 บริษัทมีรายได้ 302.43 ล้านบาท เห็นได้ว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรม


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พัชรพล เตชะหรูวิจิตร ปรับโฉม ASIA

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine