“ฉลาม” ชื่อนี้อาจไม่ตรงกับบุคลิกที่ดูผ่อนคลายและเป็นกันเองของนักธุรกิจสาวผู้ประสบความสำเร็จในแวดวงรับเหมาตกแต่งภายใน แต่ก็เหมาะกับความปราดเปรียวของ “BKD” กิจการที่เธอผู้นี้สร้างมากับมือ ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาตกแต่งภายในหนึ่งเดียวที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เด็กสาวที่เดินออกจากห้องเรียนมาเริ่มต้นธุรกิจในวัยเพียง 18 ปี ผ่านบททดสอบมากมายกว่าจะประสบความสำเร็จ เป็นกิจการรับเหมาตกแต่งภายในที่ได้การยอมรับ ทั้งจากหน่วยงานราชการและบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ มีงานเข้ามาในพอร์ตอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะชะลอตัวในช่วงโควิด-19 ยอดรายได้รวมที่เคยทำได้กว่า 1,168 ล้านบาทในปี 2561 ลดลงตลอด 3 ปีเหลือ 452 ล้านบาทในปี 2564 แต่ปี 2565 รายได้เริ่มขยับขึ้นมาที่ 779 ล้านบาท
เถ้าแก่น้อยวัย 18 ปี
“ทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 18 เริ่มจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็กส่งให้หน่วยราชการ ภายหลังจึงขยับมาทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ส่งออก ก่อนจะหันมาทำรับเหมาตกแต่งภายใน” นุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ หรือ ฉลาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกเดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD เริ่มต้นบทสัมภาษณ์กับทีมงาน Forbes Thailand เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2565 โดยเปิดบ้านหลังใหญ่ที่นนทบุรีพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเอง
การบอกเล่าที่มาที่ไป การเริ่มต้นธุรกิจ และเส้นทางสู่ความสำเร็จของนักธุรกิจสาวผู้นี้ดูกลมกลืนเรียบง่าย แต่ก็มีรายละเอียดน่าติดตาม บทเรียนของเด็กสาวสู้ชีวิตที่แม้ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ด้วยวัยเพียง 18 ปี และยังเรียนไม่จบกล้าตัดสินใจออกมาทำธุรกิจ อาจเป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายคนในแง่การเรียนรู้ ก้าวย่าง และจังหวะที่ต่างไปจากธรรมเนียมปกติของสังคมขณะนั้น ซึ่งการจบปริญญาเป็นพื้นฐานสำคัญ แต่ “ฉลาม” เลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป
บนถนนสายผู้ประกอบการรายย่อยในช่วงเริ่มต้น นุชนารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่น่าจะมีอายุน้อยในอันดับต้นๆ เธอเล่าว่า เหตุผลที่ทิ้งการเรียนมาทำธุรกิจเกิดจากความไม่พอใจที่ถูกครูดุว่าเธอด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม ลามไปถึงบุพการีว่าไม่สั่งสอนดูแล เธอจึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ แต่พอมาทำธุรกิจแล้วหลังจากนั้นเธอได้กลับไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่และจบปริญญาตรีในเวลาต่อมา เพื่อให้ได้คุณสมบัติตรงตามมาตรฐานในการร่วมทำงานกับภาครัฐ
นุชนารถไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์เนื่องจากในช่วงเริ่มธุรกิจเธอมีเงินลงทุน 1 ล้านบาทในการตั้งต้นเช่าพื้นที่โรงงานและผ่อนส่งเครื่องจักรที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็ก ซึ่งฉลามเล่าว่า ผลิตและขายไปพร้อมกับผ่อนส่งเครื่องจักร เดือนไหนยอดไม่พอก็ใช้วิธีขายสร้อยทองมาผ่อนบ้างแล้วแต่จังหวะ เธอเล่าพร้อมเสียงหัวเราะกับธุรกิจเริ่มต้นซึ่งตอนนั้นคือ ผลิตโต๊ะขาเหล็กส่งขายหน่วยราชการ
ต่อมาเธอได้ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราส่งออก ประจวบเหมาะในปีที่มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท (ปี 2540) กิจการส่งออกที่เธอทำได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะออร์เดอร์ที่รับไว้เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ในอัตรา 25 บาท/เหรียญ ปรับเป็น 50 บาทในชั่วข้ามคืน กระทั่งลูกค้าจากต่างประเทศต้องบินมาขอปรับราคาใหม่ หลังจากนั้นเธอทำอยู่ได้ปีเศษๆ พอจีนเริ่มผลิตแข่งขัน เธอจึงยอมแพ้และหันมาทำตกแต่งภายใน
เบนเข็มสู่ตกแต่งภายใน
หลังจากเริ่มธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในก็ได้งานต่อเนื่อง จากฐานลูกค้าราชการและงานรับเหมาช่วงต่อมาจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ กิจการเติบโตต่อเนื่องจนกระทั่งนำกิจการยื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเกือบ 10 ปีแล้ว
“เราเป็น interior construction ผู้รับเหมาตกแต่งภายใน งานหลักมีทั้งโรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน ออฟฟิศขนาดใหญ่” ฉลามสรุปเส้นทางธุรกิจที่เปลี่ยนจากเฟอร์นิเจอร์เหล็ก และเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารามาสู่งานรับเหมาตกแต่งภายใน ผลงาน BKD มีมากมาย เช่น สำนักงานกระทรวงการคลัง, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ฯ, งานตกแต่งภายในมูลค่า 800-900 ล้านบาท
งานขนาดใหญ่ทำให้รายได้ของ BKD เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง “รายได้ต่อปีอยู่ที่ 1 พันล้านบาทบวกลบ แต่ช่วงโควิดสาหัสเพราะทำงานไม่ได้” ถึงกระนั้นเธอเล่าว่า บริษัทไม่ได้ปลดทีมงาน ไม่ได้ให้ใครออก แต่ในช่วงหลังๆ มีช่างบางคนกลับต่างจังหวัดไปเพราะงานไม่มี ปัจจุบันก็ยังกลับมาไม่เท่าเดิม ทำให้พนักงานลดลงจากเดิมที่มีเกือบ 500 คน ปัจจุบันเหลือราว 300 คน มีทั้งพนักงานรายวันและรายเดือน รวมถึงซับคอนแทรคอีกจำนวนหนึ่ง
ปรับพอร์ตเจาะบ้านหรู
นุชนารถเธอมองโอกาสตลาดหลังโควิดมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าบ้านหรู ซึ่งแม้มูลค่าต่อชิ้นอาจไม่เท่างานโครงการ แต่ในแง่ของการทำงานแล้วคล่องตัว หลากหลาย และลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อดี
เส้นทางการเติบโตของฉลามและ BKD เป็นไปโดยราบรื่นแม้จะไม่ได้เริ่มต้นด้วยกิจการขนาดใหญ่ เพราะธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เหล็กที่เริ่มต้นเมื่อปี 2528 ทำรายได้เดือนละ 500,000 บาท เมื่อครั้งทำเฟอร์นิเจอร์เหล็กอย่างเดียว ต่อมาได้ขยายทำเฟอร์นิเจอร์ส่งออกมีรายได้เพิ่มแต่ก็ไม่เคยถึง 1 พันล้านบาท เพิ่งมาทำรายได้ทะลุ 1 พันล้านบาทหลังจากนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทำให้ธุรกิจขยายตัวมาก
“ตั้งแต่เข้าตลาดฯ เราก็ไม่ต้องกู้แบงก์เลย ที่จริงก่อนยื่นไฟลิ่งก็ไม่ได้กู้แบงก์ ตั้งแต่ปีน้ำท่วม เราบริหารการเงินดีพยายาม save cost ต่างๆ พี่น้องช่วยกันดูแล ปิดรอยรั่วได้เยอะในทุกขั้นตอน” ทำให้ธุรกิจ BKD หลังเข้าตลาดฯ เติบโตด้วยดี
ในช่วงโควิดเธอเล่าว่า จริงๆ แล้วปริมาณงานไม่ได้ลดลงมาก แต่ทำงานไม่ได้จึงทำให้รายได้ลดลง และในปี 2563 ประสบภาวะขาดทุน แต่พอได้งานบ้านหรูหลังแรกมาทำให้จุดประกายในการทำงานให้บ้านเศรษฐี เพราะลูกค้าเองก็อยากได้บริษัททำงานให้ เนื่องจากไม่อยากเสี่ยงกับปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน บางรายไม่ทิ้งแต่ทำงานไม่ได้และไม่รับผิดชอบ
นุชนารถบอกว่า งานบ้านเป็นหลังดูแลง่ายก็จริงแต่ก็มีปัญหาเหมือนกัน ความยากง่ายอยู่ที่เนื้องานและลูกค้าซึ่งมีทั้งน่ารักและบางคนก็ลงรายละเอียดมาก ขณะที่งานโปรเจ็กต์ไม่หายไปไหน จึงเท่ากับได้งานเพิ่มเข้ามา และในอนาคตจากงานบ้านหลังใหญ่อาจขยายฐานมารับบ้านหลังเล็กด้วย
ส่วนประเด็นการแข่งขันของตลาดเธอบอกว่า การแข่งขันในวงการไม่ค่อยเยอะ รับเหมาตกแต่งภายในที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มี BKD เพียงรายเดียว ต่างกับรับเหมาก่อสร้างซึ่งจะมีจำนวนมากกว่า แต่ขนาดงานก็ใหญ่ตามตลาด การแข่งขันก็สูงเช่นกัน ส่วนงานรับเหมาตกแต่งภายในคู่แข่งที่ขนาดใกล้เคียงกันมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีในรูปบริษัทแต่ก็ไม่ได้เป็นมหาชน
“ทำงานกับเอกชนรายใหญ่อย่าง AWC ของบ้านสิริวัฒนภักดี ทำโรงแรมหลายแห่งให้คุณเอ๋ (วัลลภา ไตรโสรัส) ทำมาตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดแล้ว เน้นงานคุณภาพสวยคุ้มค่า” งานบ้านก็เช่นเดียวกัน เธอมองว่าลูกค้าบ้านทุกคนต้องการของดีเรื่องราคาไม่เกี่ยง ขอให้งานคุณภาพดีสวยสมราคา แต่ก็มีบางคนบ้านหลังใหญ่แต่งบน้อยก็ปรับตามงบได้ ไม่ใช้วัสดุแพงหรือสินค้าแบรนด์เนม เลือกใช้ตามความเหมาะสม
งานอดิเรก “ลงทุนที่ดิน”
นอกจากเป็นผู้บริหารทำธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในและอื่นๆ อีกสิ่งที่นุชนารถทำมาตลอดเช่นเดียวกันอาจเรียกว่าความชอบหรือความถนัดส่วนตัวก็ได้ทั้งสองอย่าง นั่นคือการซื้ออสังหาฯ โดยเฉพาะที่ดิน
“เป็นคนชอบซื้อที่ดินมาตั้งแต่แรกแล้ว ก่อนทำธุรกิจด้วยซ้ำ ซื้อที่ดินแปลงแรกตอนอายุ 17 เป็นตึกแถว” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้มอย่างภูมิใจกับงานอดิเรกที่ชอบ ซึ่งไม่เคยทำให้เธอผิดหวังเพราะซื้อที่ดินไม่มีวันขาดทุน แต่ก็มีบ้างที่อาจต้องถือนานหน่อย แต่ถึงกระนั้นเมื่ออดทนรอได้ในที่สุดก็ขายได้กำไร ซึ่งคุ้มค่ากว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร
นุชนารถบอกว่า หลายปีมานี้เธอมีที่ดินสะสมในมือหลายทำเล เช่น ที่เขาใหญ่ 500 ไร่ ที่เชียงแสนใกล้สามเหลี่ยมทองคำ 100 กว่าไร่ ที่กรุงเทพกรีฑา ถนนพัฒนาชนบท 4 รวมกันเกือบ 100 ไร่ ถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ทำให้ราคาขึ้นแรงมาก เธอยกตัวอย่างที่ดินแปลงติดกับของเดิมเคยซื้อราคา 60,000 บาท/ตารางวา ตอนนี้ราคาไปกว่า 200,000 บาทแล้ว
นอกจากนี้ ที่ดินในต่างจังหวัด เช่น ภาคใต้มีที่จังหวัดตรัง 12 ไร่ ในพื้นที่ตะวันตก เช่น เมืองกาญจนบุรีมี 2 ไร่เศษรอขาย และยังมีที่ดินย่านสถานีคูคตติดสถานีรถฟฟ้าจำนวน 28 ไร่ ซื้อมาตั้งแต่ราคา 60,000 บาทตอนนี้วิ่งไปหลายแสนบาทแล้ว
ฉลามเล่าเรื่องที่ดินการซื้อและขายอย่างสนุกด้วยรอยยิ้มและแวตาเป็นประกาย เพราะงานอดิเรกนี้ทำให้เธอมีกำไรโดยไม่ต้องเหนื่อย เป็นกิจกรรมพิเศษของบรรดาเศรษฐีหลายคน บางคนซื้อมาเก็บไว้เป็นพอร์ตแห่งความภูมิใจ แต่สำหรับฉลามการซื้อที่ดินของเธอเป้าหมายชัดเจน ซื้อมาขายไปทำกำไรมากน้อยแตกต่างกันไปตามศักยภาพ
“ที่ดินก็สนใจสะสมไปเรื่อยๆ ชอบซื้อที่ดินเงินสดพอเห็นที่ดินก็ตาวาว เลยไม่ค่อยเหลือเงินสด เพราะเอาไปซื้อที่ดินหมด พอตั้งใจว่าจะเก็บเงินสักก้อนในหัวก็คิดว่าเก็บทำไมลงทุนดีกว่า” เป็นแนวคิดการทำงานและงานอดิเรกที่ชอบของนักธุรกิจสาววัย 55 ปี ที่ดูเหมือนเวลาจะทำอะไรเธอไม่ได้เลย
ปัจจุบันฉลามยังดูสดใส อ่อนวัย กระฉับกระเฉง และที่สำคัญมีรอยยิ้มแห่งความสุขตลอดเวลาในการพูดคุย 2 ชั่วโมงอย่างเห็นภาพและได้อรรถรสแบบคนที่มีฝันไม่รู้จบ สนุกกับชีวิตและการทำงานในแบบที่เป็นกับสิ่งที่มีได้อย่างกลมกลืน
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
อ่านเพิ่มเติม : พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา นำ REV RUNNR ปฏิวัติวงการกีฬา