ณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์ ประกอบคอมฯ หมื่นล้านแบบ ADVICE - Forbes Thailand

ณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์ ประกอบคอมฯ หมื่นล้านแบบ ADVICE

“ณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์” นักบัญชีหนุ่มผู้สนใจไอทีมากกว่าเป็นนักบัญชี ด้วยนิสัยที่ชอบความท้าทาย จึงเปลี่ยนมาเป็นเซลส์ขายซอฟต์แวร์และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าให้ช่วยจัดซื้อคอมพิวเตอร์และลงโปรแกรม จุดประกายให้เขาทำธุรกิจออนไลน์ขายส่งเครื่องคอมพิวเตอร์แก่ดีลเลอร์รายย่อย จากทุนก้อนแรกหลักแสนต้นๆ มาวันนี้มียอดขายต่อปีหลักหมื่นล้านบาท


    หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านบัญชีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์” เริ่มต้นเป็นมนุษย์เงินเดือนตามวิชาชีพที่เรียนมา ในช่วงนั้นมีการนำโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปมาใช้กับคอมพิวเตอร์ ความที่ไม่ชอบทำงานแบบเดิมๆ เมื่อพัฒนาระบบเสร็จก็จะหางานใหม่ เปลี่ยนงาน 2-3 แห่ง ก่อนจะย้ายมาอยู่บริษัทเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่งก่อตั้งและมีนโยบายจะเปิดสาขาทั่วประเทศ ที่บริษัทนี้เขาได้รู้จักกับ “อมร ทาทอง” ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ และต่อมาได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท

    “ผมเป็นพนักงานคนที่ 7 ยังไม่เปิดสาขา 1 เลย บริษัทจะทำเช่าซื้อซึ่งในมุมบัญชีมันลึกและยากกว่า เขาบอกจะเขียนโปรแกรมและวางระบบเอง ผมไม่สนเงินเดือน กระโดดเข้าไปเลย อายุ 22-23 ปี ผมคิดว่าอยู่ยาวแน่ ปรากฏว่า 2 ปีโปรแกรมเสร็จ บริษัทเปิดได้ 110 สาขา” ณัฏฐ์ ณัฐนิธิการัชต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ ADVICE ซึ่งบุคลิกดูเรียบง่ายและติดดินเล่าถึงความเป็นมาของธุรกิจด้วยน้ำเสียงที่กระตือรือร้นเป็นกันเอง


นักบัญชีขายซอฟต์แวร์

    ความที่เขาเชี่ยวชาญโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป มีประสบการณ์ทำบัญชี เมื่อเปลี่ยนงานครั้งต่อมาเขาจึงผันตัวมาเป็นเซลส์ขายซอฟต์แวร์ทำบัญชี ซึ่งช่วงนี้ทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์เยอะมาก เวลาไปพบลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักบัญชี หากประเมินแล้วว่าซอฟต์แวร์ที่ขายไม่เหมาะกับลักษณะงานของบริษัทนั้นๆ หรือใช้ได้แต่ต้องปรับแก้อีกมาก เขาจะแนะนำว่าให้ใช้ซอฟต์แวร์ตัวอื่น

    งานชิ้นสุดท้ายที่เขารับและทำให้รู้ตัวว่าไม่เหมาะกับการเป็นซอฟต์แวร์เฮ้าส์คือ รับทำงานระบบราคา 180,000 บาท ดูแล้วไม่ยากคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดได้อีก ปรากฏว่าเขียนโปรแกรมเสร็จพอนำไปใช้งานจริงกลับใช้ไม่ได้ เพราะระบบไม่เชื่อมต่อกัน ต้องเขียนโปรแกรมใหม่ทั้งหมด หลังจากนั้นยังต้องแก้ไขอีกมาก



    “ถ้าเป็นคนอื่นต้องชาร์จเงินเพิ่มเพราะเซ็นรับงานแล้ว แต่เรารู้สึกว่ารับงานแล้วต้องใช้ได้สิ เราใจอ่อน ไม่เหมาะกับการทำซอฟต์แวร์เฮ้าส์ สุดท้ายใช้เวลา 1 ปี ผมบอกอมรว่าเลิกเถอะ รายได้ขนาดนี้เจ๊งแน่ จังหวะพอดีกับลูกค้าที่เราเคยเขียนซอฟต์แวร์เล็กๆ หรือเคยขายโปรแกรมให้บอกให้ช่วยซื้อคอมฯ ซึ่งตอนนั้นมีปัญหามากในการ implement ระบบฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ คนซื้อจะจ้างผมหาซอฟต์แวร์และนำมาประกอบให้ โดยจ่ายค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาตัวละ 500-1,000 บาท เราไม่คิดอะไรเพราะเขาซื้อซอฟต์แวร์เราแล้ว

    “ตอนนั้นคนฝากซื้อเยอะ ใครๆ ก็มาฝากให้เราจัด spec เลยคิดว่ามาทำฮาร์ดแวร์เถอะ ประมาณปี 2539 เรา 2 คนมีทุน 380,000 บาท ตอนนั้นซื้อและขายผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัดของพ่อปรีชา (ปรีชา สินอาภา พ่อแฟนในขณะนั้น)...ขายเรื่อยๆ จนโตขึ้นทุนไม่พอ เราซื้อเงินสดแต่ปล่อยเครดิต 7 หรือ 15 วัน หมุนเงินไม่ทันครบรอบ ตอนนั้น boost เงินได้ 500,000-600,000 บาท ไม่ถึงปีก็เริ่มเต็ม พ่อปรีชามาเพิ่มทุนและให้ยืมอีกส่วน”

    ปี 2543 ตั้ง บริษัท แอดไวซ์ คอมพิวเตอร์ จำกัด (ปัจจุบันเลิกกิจการแล้ว) ด้วยทุน 1 ล้านบาท ทำธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าไอทีผ่านช่องทางหน้าร้านและออนไลน์ โดยมีหุ้นส่วนอีก 2 คนคือ อมร ทาทอง และ ปรีชา สินอาภา

    วิธีการขายของเขาคือ รับออร์เดอร์จากลูกค้าแล้วไปซื้อคอมฯ จากห้างพันธุ์ทิพย์ ยอดขายดีมาก ทุน 1 ล้านภายในไม่กี่เดือนเงินทุนก็หมด เพราะซื้อด้วยเงินสดแต่ให้เครดิตลูกค้า 7-15 วัน จึงหมุนไม่ทัน เนื่องจากเพิ่งผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง คู่ค้าไม่ปล่อยสินค้าให้ก่อนและบริษัทยังมีขนาดเล็ก


Big 4 ค้าปลีกไอที

    บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ ADVICE ประกอบธุรกิจจำหน่ายปลีกและส่งสินค้าไอที เช่น คอมพิวเตอร์ประกอบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และอุปกรณ์เสริม รวมถึงสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ผ่านสาขาภายใต้ชื่อ Advice หน้าร้านครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และเป็น Big 4 ของบริษัทผู้ค้าปลีกสินค้าไอทีรายใหญ่ในประเทศไทย

    ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า ตั้งแต่เปิดบริษัทมาไม่เคยขาดทุน ที่ผ่านมาเขารับออร์เดอร์จากลูกค้าก่อนจึงซื้อสินค้า เพียงแต่บางปีอาจมีกำไรไม่มากนัก



    “เราไปซื้อที่ห้างพันธุ์ทิพย์ ซื้อเงินสด ช่วงแรกได้กำไร 3-5 บาทต่อชิ้น มองว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวได้ volume ดีอย่างคือไม่ต้องลงทุน ได้ออร์เดอร์แล้วค่อยซื้อ เหมือนเรารับฝากซื้อ ฝากหิ้ว ใครอยากซื้ออะไรเราซื้อให้ ซื้อมาขายไป มีสต็อกน้อยมาก พอได้เงินมาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งปล่อยลูกค้า corporate อีกส่วนทำสต็อกเอง พอได้เงินประมาณ 500,000 บาท เริ่มซื้อ take volume รู้ว่าตัวนี้ขายได้เรื่อยๆ เขาเริ่มขายส่งให้ เราเลยเติบโตด้วยมูลค่าขายส่ง

    “ลูกค้าสั่งวันนี้ พรุ่งนี้ได้ของ เขารับออร์เดอร์โดยไม่ต้องสต็อกสินค้าเอง ขายได้ถูกกว่าก็เติบโตมาด้วยกันหลายราย ถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าร้านค้าหลายแห่งในพันธุ์ทิพย์มีปัญหาการเงิน ปิดตัวลงหลายราย เนื่องจากเขาไม่มีระบบบัญชีใช้ บางเจ้าเปิด 3 หรือ 5 สาขา วันหนึ่งล้มเลย เขาได้เครดิตจาก distributer และขายเงินสด ตราบใดเปิดสาขาเพิ่ม มีเงินเพิ่มแต่ไม่ใช่เงินเขา พอหยุดขยายสาขาก็เรียบร้อย ทำให้รู้สึกว่าดีลเลอร์เราจะเป็นแบบนั้นไหม เพราะไม่มีระบบบัญชี จึงคิดเปิดหน้าร้านเอง”

    แม้ต่อมาจะมีเชนใหญ่ๆ เปิดร้านสาขาเขาก็ไม่กังวล เพราะมั่นใจในระบบที่วางไว้และการให้บริการ

    “การเปิดสาขาไม่ยาก chain ซัดกับ chain เองพอๆ กัน จุดขายเราขายแบบ Advice คือแนะนำ ตอนคิดชื่อมาจากตั้งแต่ขายโปรแกรมบัญชี เราไม่ได้รู้สึกว่าขาย แต่ต้องการให้คำแนะนำมากกว่า แม้ขายฮาร์ดแวร์ให้กลุ่ม corporate ก็เช่นกัน จะบอกว่าพี่ใช้ตัวนี้ใช่ไหม เอาพอดีๆ ไม่ต้องใช้ตัวแพงๆ”



    4-5 ปีก่อนเขาเริ่มเตรียมการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากต้องการทำธุรกิจขนาดใหญ่กว่านี้แต่ติดขัดด้านเงินทุน โดยแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนปลายปี 2565 และคาดว่าจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 2566

    “เรามีทุนแค่ 225 ล้าน ผมขายปีละ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท เดือนละพันกว่าล้าน ต้องหมุนไม่รู้กี่รอบ มันตันไปไม่ได้ เราอยากจะทำอะไรให้ใหญ่กว่านี้ … การเข้าตลาดฯ เพื่อระดมทุนและปลดข้อจำกัดบางอย่าง...พอระดมทุนก็ไร้ขีดจำกัด สิ่งที่คิดอยากทำมีอีกเยอะ”


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พิสิษฐ์ วรรณวิทยาภา PCL สู้ต่างชาติด้วย One Touch solution

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine พิเศษ! ฉบับนี้แถมฟรี Forbes Life