วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ "TEKA" ปักธง Top 5 Building Contractors - Forbes Thailand

วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ "TEKA" ปักธง Top 5 Building Contractors

ด้วยความตั้งใจของ วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ที่จะวางรากฐานความมั่นคงให้กับครอบครัว ทำให้วิศวกรหนุ่มเริ่มเตรียมการตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์เงินเดือน แม้ปีต่อมาจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจกระทั่งเงินทุนหมด เขายังคงไม่ถอดใจ

หลังเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ทำงานเป็นพนักงานของเอสซีจีระหว่างปี 2525-2533 เริ่มจากงานการตลาดก่อนจะย้ายมาทำงานด้านคอนกรีตผสมเสร็จ โดยระหว่างนั้นก็ชวนเพื่อนร่วมสถาบันอีก 2 คน ตั้งบริษัทรับเหมาและค้าขายวัสดุก่อสร้างในชื่อ บจ. วีเอสที. เอ็นจิเนียริ่ง ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ผ่านมา 38 ปี ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 300 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,605 ล้านบาท “ตั้งใจว่าทำงานสัก 3 ปีแล้วจะตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจ จังหวะปี 2527 การเคหะแห่งชาติมีโครงการทำบ้านจัดสรร ตอนนั้นดังมากลักษณะเป็นสังคมอุดมคติคือ สร้างโครงสร้างฝาผนัง ประตูห้องน้ำ ให้ลูกบ้านซื้อทำเอง ใครมีช่างไม้ ช่างปูนให้ทำเอง ผมมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะค้าขาย รับเหมาเบื้องต้น จึงตั้งบริษัทและทำธุรกิจเป็นครั้งแรกที่เคหะทุ่งสองห้อง ลูกบ้านมีแบบอยู่แล้วเรามาต่อเติมให้ลูกบ้านอยู่อาศัยได้ ระหว่างทำรับเหมาก่อสร้างยังอยู่เอสซีจี มีเพื่อนๆ วิศวกร 2 คน และให้น้องมาดูแล ผมมาดูแค่วันเสาร์-อาทิตย์ มาเป็นต้นคิดให้” วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) หรือ TEKA ตั้งบริษัทได้ 1 ปี เกิดวิกฤตค่าเงินบาท ทำให้เงินทุนสำหรับการลงทุนเริ่มหมดลง เพื่อนที่ลงทุนด้วยขอถอนตัว แต่วีระศักดิ์มองเห็นโอกาสและยกเลิกการขายวัสดุก่อสร้าง โฟกัสเฉพาะธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อีก 1 ปีถัดมาสถานการณ์ดีขึ้น กิจการได้รับการตอบรับจากลูกค้า กระทั่งปี 2532 จึงลาออกจากเอสซีจีมาฟูมฟักบริษัทที่กำลังเติบโต ปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัวลง ทว่า TEKA กลับไม่ได้รับผลกระทบเพราะไหวตัวทัน คำเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปี 2534-2535 ว่า ประเทศไทยเปรียบเหมือนรถยนต์ที่กำลังวิ่งบนทางด่วน วิ่งเร็วและอันตรายมาก ไม่รู้ว่าเมื่อไรฟองสบู่จะแตก และจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ซื้อรถกระบะยังต้องซื้อใบจอง ทั้งยังไม่ทราบว่าจะได้รับรถเมื่อไรเพราะขายดีมาก แถมขณะนั้นใบจองรถยังขายต่อได้ด้วย จากราคา 1,000 บาท ขายได้ถึง 5,000 บาท ขณะที่ที่ดินก็ปรับขึ้นราคาทุกเดือน นั่นเป็นเหตุผลให้เขาหันมาจับงานราชการเพราะเห็นว่าปลอดภัย ได้รับค่าจ้างแน่นอน “ตั้งแต่ปี 2529 บริษัทเติบโตขึ้นมาจนปี 2533 เริ่มเกิดภาวะฟองสบู่ เราก็ (สังเกตเห็น) ว่าฟองสบู่เกิดมาก ปี 2535-2536 เราเบนเข็มมาภาคราชการเป็นงานอาคารกิจกรรมนักศึกษามูลค่า 80 ล้านบาทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และงานอาคารที่วิทยาเขตปราจีนฯ ปี 2539 มูลค่า 500 กว่าล้านบาท เป็นโครงการใหญ่มากในสมัยนั้น  พอปี 2540 เกิดภาวะต้มยำกุ้ง ภาคเอกชนล้มหายตายจากไปมากมาย ช่วงนั้นทุกคนเดือดร้อนหมด ขาดสภาพคล่อง แต่เราอยู่รอดมาได้เพราะได้งานราชการ” ส่วนการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้ง TEKA บอกว่า แม้ภาพรวมของธุรกิจจะชะลอตัว แต่บริษัทมีลูกค้าที่แข็งแกร่ง ยังคงพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันบริษัทปรับเน้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด กรณีที่เหล็กปรับราคาสูงขึ้นก็ไม่มีผลกระทบ เพราะสั่งซื้อล่วงหน้าสำหรับใช้ทั้งโครงการ เพื่อป้องกันราคาที่ผันผวน “เราพยายามลดความเสี่ยงให้มากที่สุด ซื้อ (วัตถุดิบ) ล่วงหน้าไว้เลย เงินจมก็จำเป็นเราไม่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน บริหารกระแสเงินสดได้ดี ไม่เคยค้างชำระหนี้ลูกค้า...ลูกค้าในวงการก่อสร้างรู้ดีว่าเราเป็นบริษัทที่ฐานะการเงินดี ชำระหนี้ตรงตลอด”

มุ่งสู่บริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำ

ตอนที่ลาออกจากงานประจำ เขาไม่คาดคิดว่ากิจการจะเติบใหญ่เป็นบริษัทที่มีรายได้หลักพันล้าน จากช่วงแรกที่ทำงานรับเหมามูลค่าหลักแสนขยับเป็นหลักล้าน สิบล้านและร้อยล้าน ซึ่งเริ่มจากการรับต่อเติมอาคาร สร้างบ้าน โฮมออฟฟิศ อาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง กระทั่งคอนโดมิเนียมที่วีระศักดิ์บอกว่า “การก่อสร้างคอนโดฯ ถือเป็นงานคุณภาพสูง เพราะผู้ซื้อต้องพักอาศัย” โดยคอนโดมิเนียม Quinn Ratchada 17 ของ บจ. เอ็ม บี เค เรียล เอสเตท มูลค่า 1,208 ล้านบาท เป็นโครงการแรกของบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท ส่วนโครงการมูลค่าสูงสุดที่บริษัทรับก่อสร้างคือ อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ด้วยมูลค่า 2,527 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) หรือ TEKA ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ทั้งแนวราบและอาคารสูง อาทิ อาคารสำนักงาน อาคารเรียน อาคารที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม โดยเป็นผู้รับเหมาหลัก งานโครงสร้าง งานระบบประกอบอาคาร ครอบคลุมการให้บริการตั้งแต่การวางแผนงาน การควบคุมดูแลการก่อสร้างการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ TEKA เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างที่โดดเด่นในงานอาคารสูงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มโครงการคอนโดฯ รวมถึงมิกซ์ยูส โรงแรม ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ และงานอาคารสูงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าซึ่งถือเป็นดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำของประเทศไทยให้ดูแลโครงการ อาทิ บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, บจ. เอ็ม บี เค เรียล เอสเตท, บมจ. แสนสิริ, บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ วันที่ทีมงานไปสัมภาษณ์นั้นวีระศักดิ์บอกว่า มีโครงการที่กำลังรอคิดราคาเพื่อเสนอลูกค้ามูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาท ปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 1,605.04 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 35.1% เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการอยู่ในช่วงปลายของสัญญาการก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ และผลกระทบจากสถานการณ์โควิดทำให้งานโครงการบางส่วนเลื่อนกำหนดการ อย่างไรก็ดี บริษัทมีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นอยู่ที่ 126.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 44.6% เนื่องจากการบริหารจัดการภายในและการรับรู้รายได้ของงานก่อสร้างภาคเอกชนที่มีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากงานภาครัฐในปีก่อนหน้า โดยสัดส่วนรายได้ของงานภาคเอกชนและภาครัฐบาลอยู่ที่สัดส่วน 90% และ 10% ตามลำดับ

สร้างชื่อจากคุณภาพ

ระหว่างการพูดคุยคำตอบที่มักได้รับจากวีระศักดิ์เสมอคือ “คุณภาพ” โดยบอกว่า ก่อนลูกค้าจะเลือกใช้บริการบริษัทรับเหมาก่อสร้างพิจารณาจากคุณภาพของงานและราคาว่าเหมาะสมหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างว่า “แม้ทำงานภาคราชการ คุณภาพค่อนข้างดีพอประมาณ แต่เราทำดีเหนือกว่านั้น และนำผลงานราชการที่มีคุณภาพมาโชว์กับลูกค้าเอกชนที่ต้องการคุณภาพสูง ลูกค้าเห็นงานแล้วพอใจจึงให้เราก่อสร้าง” ถามว่า ต้องอาศัยคอนเนกชั่นบ้างหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่มี ถ้าจะมีก็มาจากลูกค้าเห็นผลงานที่มีคุณภาพ เห็นแล้วพอใจจึงให้ทำงานมาเรื่อยๆ...เริ่มต้นอาจรู้จักกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่เห็นจากงานก่อสร้างที่เราทำอยู่ เช่น เวลาเขาขับรถผ่านโครงการก็จะเห็นความคืบหน้าแต่ละสัปดาห์ว่าเร็วหรือช้า สภาพภายนอกงานก่อสร้างดีแค่ไหน ระบบการป้องกันอาคาร ดูได้ระดับหนึ่ง ถ้าลูกค้าสนใจก็จะส่งทีมมาดูงานภายในอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่พอใจอย่างยิ่ง” 3 ปีก่อนมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งขอเข้าเยี่ยมชมไซต์งานก่อสร้าง “วิศวกรจะดูว่าความเป็นระเบียบเรียบร้อยของไซต์งาน ผลงานในอาคารว่างานก่อฉาบงานปูน ประตูหน้าต่าง สวยงามไหม เข้าไปแล้วสภาพไซต์ ถนน บริเวณการจัดกองวัสดุเป็นระเบียบเรียบร้อยพร้อมใช้งาน ความปลอดภัย ทุกตารางเมตรในไซต์งานสะท้อนคุณภาพ สุดท้ายส่งผลถึงงานก่อสร้าง อาคารที่เราทำมีคุณภาพดี ไม่ว่างานโครงสร้างและสถาปัตย์ทั้งหมด เรามีผู้เชี่ยวชาญคัดเลือกช่างปูน ช่างฉาบ ช่างผูกเหล็ก ทำให้งานออกมามีคุณภาพ” ครั้งหนึ่งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ส่งทีมงาน 10 คนมาเดินดูทั้งอาคาร “ผู้บริหารระดับสูงเขาเดินเอามือลูบผนังในอาคารไปเรื่อยๆ เราก็ถามว่า มีอะไรแนะนำหรือเราต้องปรับปรุงอะไรไหม วิศวกรผู้บริหารท่านนั้นบอกว่า งานเนี้ยบมาก” คราวที่ทำโครงการแรกให้กับ “แสนสิริ” ลูกค้าถึงกับบอกว่า เสียดายที่จ้างฑีฆาฯ ช้าไป ขณะที่วีระศักดิ์บอกว่า เขาเข้าประมูลงาน 3 ปีกว่าจะได้ดูแลโครงการแรก “สิ่งสำคัญ 2 อย่างคือ ทำงานให้ดีมีคุณภาพ และเร่งงานให้เร็วขึ้น 2 ปีที่ผ่านมาแสนสิริปรับโครงสร้างผู้บริหารหลายครั้ง ซึ่งปกติจะมีผลกระทบกับการทำงาน เพราะแต่ละท่านอาจมีสไตล์การทำงานแตกต่างกัน แต่เราดีลงานได้ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นเรามีความแข็งแกร่ง...เราเป็นงานคุณภาพตุ้นทุนสูงกว่าภาคราชการ เพราะต้องจ้างช่างคุณภาพสูง ปีนี้สัดส่วนหลักของงานยังเป็นภาคเอกชน ภาครัฐการแข่งขันด้านราคาสูงมาก” วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์

ก้าวต่อไป

ผู้บริหาร TEKA กล่าวถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จว่า เป็นเพราะบริษัทให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า สร้างกรอบความคิดพนักงานให้ทำงานมีคุณภาพ มาตรฐานดี และส่งมอบงานได้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ทั้งนี้ TEKA เป็นแห่งแรกๆ ของบริษัทก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน ISO รวมถึงกระบวนการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ QA (Quality Assurance) และ QC โดยกำหนดแนวนโยบายคุณภาพและมาตรฐานการทำงาน อบรมให้ความรู้แก่พนักงานก่อนเข้าทำงานในไซต์งาน สร้างคู่มือมาตรฐานให้พนักงานยึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน และตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้องทราบเพื่อแก้ไขทันที รวมทั้งกระตุ้นให้พนักงานแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง “การเทรนขั้นแรกคือ เรื่องความคิด ต้องพัฒนาตลอด มีเป้าหมายที่จะเติบโต สร้างงานที่มีคุณภาพให้มากขึ้น กำหนดเป้าหมายให้ทำ...ที่สำคัญต้องสร้างการเรียนรู้ เช่น ให้พนักงานแข่งขันกันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างวัฒนธรรมให้มีการพัฒนางานตลอดเวลา มีช่วงหนึ่งอนันดาฯ ริเริ่มให้กลุ่มผู้รับเหมา 6-7 บริษัทสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทำงานให้มีคุณภาพมากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลงและประหยัดต้นทุน...บริษัทเราชนะเลิศทุกเดือน แข่งได้ 6-7 เดือนก็ยกเลิกไป เพราะไม่มีบริษัทอื่นส่งแข่งขัน” ปัจจุบัน TEKA ยังมีกิจกรรมให้พนักงานแข่งขันกันสร้างนวัตกรรม ชิ้นใดที่กลั่นกรองแล้วว่าดีก็นำไปใช้จริงในการทำงาน ปี 2565 เป็นการเติบโตครั้งสำคัญของ TEKA เนื่องจากได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ เพื่อระดมทุนสำหรับเสริมศักยภาพในการแข่งขัน ขยายพอร์ตรับงานโครงการขนาดใหญ่จากภาครัฐบาลและเอกชน ซึ่งเริ่มมีการทยอยเปิดประมูล นอกจากการระดมทุนเพื่อขยายงานแล้ว เขายังคาดหวังว่าบริษัทจะมีระบบการบริหารจัดการที่ดีตามระบบมาตรฐานสากล “เราอยากสร้างความยั่งยืนและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้าง successor หรือทายาทที่มีคุณภาพสืบทอดต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ เพื่อบริษัทจะได้สร้างผลงานที่มีคุณภาพต่อไป” “ทายาท” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคนในครอบครัว “วานิชวัฒน์” แต่หมายถึงผู้บริหารมืออาชีพที่มีความสามารถ “ต้องแบ่งความเป็นเจ้าของกับมืออาชีพ การเป็นเจ้าของที่ดีคือ หาคนเก่งมาทำงาน อย่าคิดว่าเราเก่งตลอดไป ทำอย่างไรให้คนเก่งมาอยู่กับเรา หรือสร้างองค์กรให้เก่งขึ้น...เราแยกแยะระหว่างธุรกิจกับครอบครัวเพื่อสร้างผลงานที่ดีสู่ลูกค้า” รวมทั้งตั้งเป้าว่า ภายในปี 2570 จะเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทก่อสร้างชั้นนำของประเทศไทยด้านงานก่อสร้างอาคาร ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ TEKA
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine