ร.อ. ดร. ชาคริต ศึกษากิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวชธานี จำกัด (มหาชน) เป็นอีกคนที่เล็งเห็นโอกาสของธุรกิจนี้ และได้ร่วมกับกลุ่มแพทย์ พยาบาล ข้าราชการ นายธนาคารนักธุรกิจ ก่อตั้งโรงพยาบาลเวชธานีขึ้นในปี 2533
ใช้เงินลงทุน 1.5 พันล้านบาท เปิดให้บริการครั้งแรกช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2537 ในปี 2562 มีรายได้รวม 2,785 ล้านบาท กำไรสุทธิ 366 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ซึ่งมีรายได้รวม 2,593 ล้านบาท กำไรสุทธิ 211 ล้านบาท
“เวชธานี” เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 263 เตียง ให้บริการโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง 30 กว่าสาขา มีการดำเนินการตามมาตรฐานระดับสากลภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เวชธานี จำกัด ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลาง มีชื่อเสียงด้านการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกแบบครบวงจร กระทั่งคนไข้ต่างชาติให้สมญาว่า
“King of Bone” ปี 2562 ได้สร้างอาคาร 6 ชั้นเพื่อเป็นศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูดูแลรักษาโรคกระดูกและข้อแบบครบวงจรคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเรื่องราวระหว่างทางมากมาย โดยเฉพาะปี 2540 ที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาททำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ผู้ก่อตั้งถึงกับเอ่ยปากบอกว่าแทบจะยกกิจการให้นักธุรกิจรายอื่นไปดำเนินการต่อ แต่อีกฝ่ายไม่รับข้อเสนอ ในที่สุดผู้บริหารหนุ่มค้นพบสัจธรรมว่า “ไม่มีใครช่วยได้ เราต้องช่วยตัวเอง ต้องพยายามทำผลประกอบการธุรกิจให้ดีก่อน เมื่อไรดีจะคลี่คลาย ก็เป็นอย่างนั้นจริง”
จากการทำงานอย่างทุ่มเทสุดกำลังกระทั่งหลุดจากกับดักหนี้ ทำให้กิจการค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง รวมทั้งได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ซึ่ง ร.อ. ดร. ชาคริตบอกว่า "เราเป็นที่รู้จักจากต่างชาติมากกว่าคนไทยด้วยกันเอง” และได้รับการรับรองจาก Joint Commission International (JCI) องค์กรอิสระของอเมริกาที่ทำหน้าที่รับรองคุณภาพสถานพยาบาลว่าได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และได้รับการยอมรับในระดับสากล
- จากทหารผันตัวมาเป็นนักธุรกิจ
หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก Northeastern University, Boston สหรัฐอเมริกา มหาบัณฑิตหนุ่มได้รับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กระทั่งติดยศร้อยเอกปี 2535 ได้รับการทาบทามจากพรรคการเมืองให้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขตมีนบุรี หนองจอก ดอนเมือง บางเขน ในนามพรรคความหวังใหม่
ร.อ. ดร. ชาคริตบอกว่า ตอนนั้นคิดเหมือนกันว่าแม้ไม่ได้รับเลือกตั้งก็สามารถกลับเข้ารับราชการได้ ทั้งยังมีวัตถุดิบสอนนักศึกษาอีก ทว่าในที่สุดก็ไม่ได้กลับไปรับราชการต่อ และเบนเข็มมาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว โดยก่อตั้งโรงพยาบาลเวชธานีบนที่ดินของมารดาย่านถนนลาดพร้าว จำนวน 6 ไร่ และซื้อเพิ่มอีก 2 ไร่ ระดมทุนจากหลายส่วน มีผู้ถือหุ้นรายย่อยเกือบ 1,000 ราย รายใหญ่ 2 ราย
“ตอนนั้นเริ่มทำโรงพยาบาลบ้างแล้วผมรู้จัก พล.ท. ปัญญา อยู่ประเสริฐ อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ซึ่งเป็นเพื่อนคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อเป็นทหารอากาศ ก็ชวนกันอยากทำโรงพยาบาล ท่านให้ความไว้วางใจมาร่วมกับเรา ตอนนั้นอายุเพียง 28 ปี นึกย้อนกลับไปท่านให้ความเอ็นดูและไว้ใจมาร่วมกับเราตั้งโรงพยาบาล เราไม่ได้มีประสบการณ์ทำธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องมา formulate ตั้งแต่ตั้งบริษัท ระดมทุน ใช้เวลาเกือบ 4 ปี โดยระดมทุน 2 ปี และก่อสร้าง 2 ปี ลงทุน 1.5 พันล้านบาท ถือว่าเป็นการลงทุนสูงมากในยุคนั้น โรงพยาบาลก่อสร้างเสร็จตอนอายุ 32 ปี”
นายใหญ่ของโรงพยาบาลเวชธานีบอกว่า ช่วงทำโปรเจ็กต์และก่อสร้างก็คิดว่ายากมากแล้ว แต่การจะทำให้กิจการเติบโตยากยิ่งกว่าหลายเท่า เพราะต้องแข่งกับโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเปิดมาก่อนนับสิบปี เช่น วิชัยยุทธ, กรุงเทพ, บำรุงราษฎร์ พูดง่ายๆ คือ ไม่มีทางลัดความสำเร็จสำหรับโรงพยาบาลใหม่
ถัดมาอีก 1-2 ปี ธุรกิจเติบโตค่อนข้างดีจึงขอปรับโครงสร้างหนี้แล้วทยอยจ่าย และเริ่มตั้งหลักได้ หลังจากนั้นเริ่มมองเห็นว่า การที่จะทำให้โรงพยาบาลเติบโตได้ดีต้องมีฐานลูกค้าจากต่างประเทศบ้าง เพราะกำลังซื้อในประเทศไม่เพียงพอ ปี 2545-2546 จึงปรับแนวทางมารับลูกค้าต่างชาติทั้งเดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศ ติดต่อองค์กร และหาตัวแทนในต่างประเทศผลตอบรับยังไม่มากนัก กระทั่งปี 2547-2548 จึงเริ่มดีขึ้น มีลูกค้าอาหรับมาใช้บริการ
คราวที่คนไข้ชาวอาหรับรายแรกเข้ารับการรักษา นายใหญ่ของเวชธานีกำชับพนักงานว่า ต้องดูแลให้คนไข้ประทับใจถ้าทำได้ดีจะมีลูกค้าเพิ่ม พนักงานทุกคนก็ช่วยกัน ลูกค้าประทับใจมากและไปเขียนชมทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มแต่ยังไม่มากพอ กระทั่งมีองค์กรต่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานของสถานทูตส่งคนไข้มารักษา และเริ่มทดลองส่งให้ทางเวชธานี
ทำให้โรงพยาบาลเป็นที่รู้จัก มีลูกค้าชาวอาหรับมากขึ้น (เดิมส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลใหญ่ๆ) ส่วนคนไข้จากประเทศอื่นๆ ก็มีเอธิโอเปีย ยุโรป รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และบังกลาเทศ มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าต่างประเทศถึง 50% ทั้งยังทำตลาดในกลุ่ม CLMV มาตั้งแต่ 10 ปีก่อน ซึ่งตลาดค่อยๆ เติบโตตามลำดับ
โรงพยาบาลเวชธานีวางตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคยากๆ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับกระดูก ซึ่งเป็น “จุดแข็ง” ของที่นี่
“เราเห็นว่าคุณหมอด้านกระดูกท่านหนึ่งมีความสามารถ ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเสียงคิดว่าถ้าทำให้เขามีชื่อเสียงในระยะสั้นคงยังไม่ไปอยู่ที่อื่น คุยกับฝ่ายการตลาดว่าจะทำเรื่องนี้และทำเรื่องเข่า ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครพูดถึงกัน หากจะบอกว่าเราเก่งทุกเรื่องคงไม่มีใครเชื่อ ก็หาจุดที่เราเก่งสักเรื่องเริ่มจากตรงนั้นและตั้งใจทำให้ดี”
“หมอที่รักษาโรคเกี่ยวกับคอได้ดีไม่ได้หมายความว่าจะรักษาหลังส่วนล่างดี แต่เรามีครบและพยายามเลือกคนที่ดีที่สุดให้คนไข้ คนไข้เข่าเสื่อมก็เป็นหมอกลุ่มหนึ่งเข่าเสียจากการเล่นกีฬาเป็นหมออีกกลุ่มเราทำตรงนี้ได้ค่อนข้างดี King of Bone เป็นฉายาที่คนไข้อาหรับตั้งให้ เราก็เอามาเป็นคำในการสร้างแบรนด์ เรื่องเข่า หลังกระดูก คนไข้พูดกันแบบปากต่อปาก”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบอกว่า โรงพยาบาลไม่เน้นคนไข้กลุ่ม mass แต่เน้นโรคเฉพาะทางยากๆ การผ่าตัดใหญ่ ซึ่งเป็นคนไข้กลุ่มเล็กแต่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่า
นอกจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้วการอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่คนไข้ชาวต่างชาติเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากตัวโรงพยาบาลอยู่ชานเมือง เพื่อลดข้อจำกัดนี้ทางโรงพยาบาลจึงจัดบริการรถรับส่งจากสนามบินมาถึงโรงพยาบาลหรือจากโรงแรมมาโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเดินทางก็จัดเตรียมที่พักใกล้ๆ ไว้รองรับ เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่มีบริการรับส่งจากสนามบิน และมีระบบรับส่งคนไข้ที่คาดว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย คนไข้ก้าวเท้าออกจากโรงแรมก็มาถึงโรงพยาบาลได้เลย
ปลายปี 2561 เปิดบริการ “วีไฟล์ท” รับส่งคนไข้จากต่างประเทศโดยใช้เครื่องบิน “ไพรเวต เจ็ต” รับคนไข้จากประเทศนั้นๆ ส่งตรงถึงโรงพยาบาล โดยบริการเทียบได้กับห้องไอซียูลอยฟ้า เพราะมีทีมหมอพยาบาลครบครัน ก่อนโควิด-19 ในส่วนนี้มีอัตราการเติบโต 20-30% ต่อปี มีคนไข้เกือบทุกวัน เฉลี่ยเดือนละหลายสิบเคสเป็นคนไข้จากตะวันออกกลาง บังกลาเทศ พม่า กัมพูชา โดยเฉพาะ 2 ประเทศหลังเพราะใช้เวลาเดินทางไม่ถึงชั่วโมง เป็นกลุ่มคนไข้ฉุกเฉิน หรือต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น คนไข้มะเร็ง
“5-6 ปีที่แล้วเรามา analyze ว่าอะไรทำให้เรามาถึงวันนี้ พบว่ามี 3 องค์ประกอบคือ 1. passionate to win คือทำให้เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม 2. global profession ทำงานแบบมืออาชีพ โดยอิงมาตรฐานโลก เราไม่ได้กำหนด KPI เอง แต่ดูจาก journal ทางการแพทย์ 3. standing innovation ใช้นวัตกรรมบริหารองค์กร เราพยายามเอา 3 อันนี้ใส่ในทุกการปฏิบัติ วิธีการทำงาน ตัดสินใจวิธีแก้ปัญหา การติดต่อลูกค้า การพัฒนาคน ทุกอย่างถูกทำรอบ DNA 3 ตัวนี้ ทำให้เราเติบโต”
กับคำถามที่ว่า ปี 2563 คาดว่าจะมีรายได้เท่าไร ผู้บริหารเวชธานีหัวเราะน้อยๆ ก่อนตอบว่า “บอกไม่ถูกว่าเท่าไร น่าจะหายไปอย่างน้อย 30-40% จากปีที่แล้ว แต่ก็คาดหวังว่า 3 เดือนสุดท้ายจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง” และมองอีกมุมก็นับเป็นเรื่องดี การดูแลลูกค้าคนไทยมากขึ้นทำให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 30% จากฐานเดิม มีจำนวนผู้เข้ารับการผ่าตัดและรักษาโรคยากๆ เพิ่มมากกว่าช่วงที่มีลูกค้าต่างชาติ
“เราอยากให้เป็นที่รู้จักของคนไข้ว่า รักษาคนไข้หายในราคาสมเหตุสมผล ได้รับความเชื่อถือ อยากเป็นแบบนั้นมากกว่า ไม่ใช่ในแง่ความใหญ่โตของธุรกิจว่าต้องมี 20 แห่ง ไม่ได้คิดตรงนั้น เราอาจมี 2 แห่ง”
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ร.อ. ดร. ชาคริต ศึกษากิจ ปั้น “รพ. เวชธานี” สู่ King of Bone" และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine