พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน สร้าง QTC สู่การยอมรับหม้อแปลงไทย - Forbes Thailand

พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน สร้าง QTC สู่การยอมรับหม้อแปลงไทย

ไฟฟ้าแรงสูงที่ถูกส่งมาตามสายส่งในระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าภูมิภาคแม้จะพาดผ่านหน้าอาคารใดก็ยังไม่สามารถใช้ได้ หากขาดหม้อแปลงไฟฟ้ามาปรับแรงดันไฟฟ้าให้ลดลงสู่ระดับที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม อาคารสูง หรือบ้านที่อยู่อาศัย

หม้อแปลงไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่นั้นมีผู้ผลิตจำนวน 20-25 ราย ส่วนผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าคุณภาพสูงมีประมาณ 6-7 ราย ซึ่ง บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ คือหนึ่งในนั้น เส้นทางชีวิตในการเป็นวิศวกรของ พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน กรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ในปี 2539 ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและรองประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม มาตั้งบริษัทของตนเองชื่อบริษัท ควอลิตี้ ทรานสฟอร์เมอร์ จำกัด (ปัจจุบันคือ บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่) เพื่อผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย แต่จังหวะไม่ดี โรงงานยังไม่ทันแล้วเสร็จก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งก่อน “ต้มยำกุ้งปี 2540” นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ในชีวิต แต่ประธานกรรมการบริหาร QTC ก็ผ่านมาได้ โดยบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ “สติ” วิธีการที่เขาทำคือ ถอยออกมาจากปัญหา 1-2 ก้าว ค่อยๆ คิด กระทั่งได้คำตอบกับตนเองว่า จะให้คนอื่นมาทำอะไรกับชีวิตไม่ได้ เขาจึงเดินหน้าเผชิญปัญหา ค่อยๆ แก้ไขทีละเปลาะ เล่าถึงตอนนี้พูลพิพัฒน์พูดกลั้วหัวเราะว่า “กรรมเก่าสร้างไว้ดีหรือเปล่าไม่รู้ อาจเป็นเพราะโชคช่วยและเฮง ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง คนที่เคยซื้อสินค้าก็ไม่ทอดทิ้งกัน ผมทำงานด้านการตลาดตั้งแต่อยู่เอกรัฐก็ขายหม้อแปลงไฟฟ้าเครื่องแรก พอตั้ง QTC เพื่อนฝูงเก่าๆ ที่ต่างประเทศก็สั่งซื้อช่วยเหลือกันมา” ปี 2554 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนเข้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ MAI) ในปี 2559 ความตั้งใจแรกในการก่อตั้งบริษัทคือ เป็นเบอร์ 1 ของวงการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าคุณภาพ เน้นการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุด “วันนี้เราไม่ได้ด้อยกว่าใครในเซาท์อีสต์เอเชีย สมดังที่เราตั้งปณิธานแต่แรกว่าจะเป็นโรงงานที่ใช้คนน้อยสุด และใช้ออโตเมติกผสมผสานกับแรงงาน ซึ่งก็ตรงกับปัจจุบัน เรามีพนักงาน 200 กว่าคนขณะที่บริษัทอื่นๆ มี 500-600 คน หากดูผลประกอบการของไตรมาสแรก 2563 บริษัทอื่นๆ ขาดทุน แต่เรามีกำไรเพราะได้เตรียมการไว้แล้ว” ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 QTC มีรายได้ 237.54 ล้านบาท กำไรสุทธิ 31.44 ล้านบาท   แตกไลน์ธุรกิจ เพิ่มรายรับ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “QTC” และเครื่องหมายการค้าของลูกค้ามีผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย (distribution transformer), หม้อแปลงไฟฟ้าระบบกำลัง (power transformer), หม้อแปลงไฟฟ้าแบบแห้ง (cast resin transformer), super low loss transformer (amorphous metal distribution transformer: AMDT) และหม้อแปลงไฟฟ้าชนิดพิเศษ (special transformer) ซึ่งออกแบบและผลิตตามการใช้งานที่ลูกค้าต้องการ
หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายแบบน้ำมันชนิดปิดผนึก
นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการด้านต่างๆ เช่น งานตรวจสอบเช็กสภาพ และบำรุงรักษาตามกำหนดเวลา งานซ่อมแซมและบำรุงรักษาหม้อแปลง งานบริการเติมน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า งานบริการเช่าหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ซื้อหม้อแปลงไฟฟ้า และลูกค้าทั่วไป รายงานประจำปี 2562 ของบริษัทระบุว่า ปี 2562 มีรายได้ 986.05 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ซึ่งมีรายได้ 978.34 ล้านบาท แม้ตัวเลขเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแต่สามารถทำกำไรได้ดี โดยปี 2562 มีกำไรสุทธิ 14.55% ขณะที่ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 0.49% ซึ่งเป็นผลจากการปรับแผนยุทธศาสตร์ให้ปี 2562-2563 เป็นปีแห่งคุณภาพ โดยนำนโยบายการบริหารลูกหนี้การค้า และนโยบายการบริหารสินค้าคงคลังมาใช้เป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดสภาพคล่องและศักยภาพทางการเงิน ปี 2562 บริษัทมีรายได้หลักจากการประมูลขายหม้อแปลงไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คิดเป็น 25-36% จากยอดขายรวม เพิ่มความหลากหลายของประเภทผลิตภัณฑ์ โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ด้านพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ รวมทั้งลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ผ่านบริษัท คิวทีซี โกลบอลเพาเวอร์จำกัด หรือ QTCGP ปัจจุบันมี บริษัท คิว โซลาร์ 1 จำกัด ซึ่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 8.25 MW ผลิตไฟฟ้าขายให้กับ กฟภ. ปริมาณ 35,000-40,000 kWh/วัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร QTC อธิบายถึงเหตุผลที่ขยายธุรกิจไปด้านอื่นๆ ว่า การทำธุรกิจผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ยั่งยืน หากไม่มียอดขายจากราชการเพียง 2 ปี ตัวเลขรายได้จะลดลงมาก การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าก็เพื่อให้มีรายได้เสริมเข้ามาโดยปี 2562 โรงไฟฟ้ามีกำไร 60-80 ล้านบาท ส่วนธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า มีรายได้ 780.35 ล้านบาท   เพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี QTC เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ออกแบบและสั่งงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สร้างกระบวนการผลิตใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เครื่องจักรทันสมัย ลดขั้นตอนการผลิตลง ด้านการบริหารงานใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมทั้งระบบตั้งแต่การขาย ออกแบบ ผลิต ทดสอบ คลังสินค้า บัญชี กระทั่งส่งมอบลูกค้าปลายทาง “เราใช้คอมฯ ออกแบบตั้งแต่ปี 2540 ปัจจุบันทำงานแบบ real time เดิมปิดบัญชีภายใน 3 วัน ตอนนี้จะปิดบัญชีทุกวันฉะนั้นวิธีการทำงานเปลี่ยนทำอย่างไรให้เร็วที่สุดจบภายใน 1 วัน ใช้คอมพิวเตอร์ control ทั้ง system เราเริ่มโครงการปีที่แล้ว ปีนี้ต้องจบให้ได้” เขาให้คำามั่นกับตัวเองและทีมงาน “เวลาเซลส์ออกไปทำงาน ปกติต้องเขียนรีพอร์ต เดี๋ยวนี้ทำผ่านมือถือแทน พอออกจากบริษัทลูกค้าก็ทำรีพอร์ตถึงหัวหน้าหากได้ออเดอร์และจะเบิกของในสโตร์ก็ลิงก์ข้อมูลไปฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายวิศวกรรมเห็นว่า มีออเดอร์ มีกำหนดส่งเมื่อไรก็วางแผนการผลิต และไปเบิกของมา เราพัฒนากระบวนการทำงานแบบนี้...เปลี่ยนวิธีคิด วิธีการของคนในการทำงาน กระทั่งให้คนทำงานทำได้ตามที่ต้องการ
ภายในโรงงานที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
เมื่อเล่าถึงตอนที่ร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า พูลพิพัฒน์บอกว่าคู่ค้าส่งคนมาตรวจสอบพนักงานของบริษัทเพื่อเช็กว่าใครทำงานได้บ้าง ปรากฏว่าพนักงาน 10 คน ผ่านการรับรองเพียง 3 คน “แล้วอีก 7 คนให้ผมทำอย่างไร เราก็บอกว่า ต้องพัฒนาขึ้นมาทำงานให้ได้ทั้ง 10 คน มี KPI มี performance มาวัด เราต้องทำให้คนมีความสุขก่อน งานถึงจะออกมาดี” นี่เป็นความตั้งใจของนายใหญ่ QTC ที่ต้องการพัฒนาพนักงานให้เปล่งศักยภาพได้เต็มที่ “เรารักษามาตรฐานมาโดยตลอดคุณภาพมีหนึ่งเดียว ลูกค้าต่างประเทศที่ยังไม่รู้จักเรา แต่เขาเชื่อถือเพราะเราผลิตสินค้าออกมาได้เหมือนที่พูด เราซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การันตีว่าต้องทนทาน หากมีปัญหาก็ดูแล นี่คือสิ่งที่เราตระหนัก เรามีนโยบายว่า ต้องสร้างคนเก่ง ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก” ทั้งหมดนี้คือ quality of details คุณภาพแห่งความประณีต ซึ่งผสานอยู่ในองค์ประกอบทุกส่วนของบริษัทตั้งแต่บุคลากร วิธีคิด วิธีทำงาน เทคโนโลยี โรงงาน และผลิตภัณฑ์ และเป็นค่านิยมที่จะนำพาบริษัทก้าวสู่หมุดหมายต่อไป  
คลิกอ่าน “พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน สร้าง QTC สู่การยอมรับหม้อแปลงไทย” ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine