ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช 'รพ. ลาดพร้าว' ตอบดีมานด์สุขภาพ - Forbes Thailand

ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช 'รพ. ลาดพร้าว' ตอบดีมานด์สุขภาพ

มากกว่า 3 ทศวรรษของโรงพยาบาลที่เริ่มต้นจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารมืออาชีพเล็งเห็นโอกาสร่วมกันให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพครบวงจรอย่างต่อเนื่องย่านลาดพร้าว พร้อมลงทุนพันล้านสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทาง และขยายโรงพยาบาลตรวจสุขภาพนิคมอุตสาหกรรม

บนถนนลาดพร้าวที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรอาศัยอย่างต่อเนื่องและความต้องการทางด้านสุขภาพหรือสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นเมื่อ 32 ปีก่อนได้ฉายชัดถึงโอกาสให้นิติกรและผู้บริหารไฟแรงมีความมั่นใจเดินหน้าปั้นฝันการเป็นเจ้าของธุรกิจโรงพยาบาล ด้วยการเชิญชวนกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มแพทย์ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลลาดพร้าวให้บริการทางการแพทย์และดำเนินการโรงพยาบาลเอกชนในปี 2533 พร้อมเปิดดำเนินการให้บริการทางการแพทย์ในระดับมาตรฐานและครบวงจรในปี 2536 จากประสบการณ์ทำงานเป็นนิติกรและการบริหารจัดการในโรงพยาบาลที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและพลิกผลขาดทุนเป็นกำไรได้สำเร็จกลายเป็นความรู้นอกตำราสร้างแรงบันดาลใจให้ ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช สามารถปรับใช้ในการบริหารได้ในการเริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจและนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) ขณะที่พัฒนาการสำคัญในการสร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงเริ่มขึ้นหลังจากการเปิดรับผู้ใช้บริการกลุ่มประกันสังคมและการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาศักยภาพการให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลได้อย่างครบวงจรครอบคลุมความต้องการมากขึ้นด้วยการบริการที่ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานสากล สำหรับปัจจุบันบริษัทมีจำนวนเตียงจดทะเบียนรวมอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์รวมจำนวน 206 เตียง และสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 4,400 คนต่อวัน โดยแบ่งเป็นบริการผู้ป่วยนอก ซึ่งมีศูนย์และคลินิกบริการจำนวน 18 ศูนย์ ห้องตรวจกว่า 160 ห้อง รวมถึงบริการผู้ป่วยในอาคาร 1 มีจำนวนเตียงจดทะเบียน 180 เตียง โดยมีห้องพักผู้ป่วยให้บริการ 109 ห้อง อาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์จำนวนเตียงจดทะเบียน 126 เตียง และห้องพักผู้ป่วยให้บริการ 26 ห้อง นอกจากนี้ บริษัทยังขยายธุรกิจให้บริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ และวิจัยด้านอาหาร ผลิตผลการเกษตรและยา ด้วยมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานสากล ครอบคลุมสําหรับสินค้าเกษตร อาหาร และยา ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ภายใต้ชื่อบริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย หรือ AMARC ในปี 2547 ขณะเดียวกันบริษัทยังเล็งเห็นความสําคัญจัดตั้ง บริษัท ศูนย์บริหารจัดการธุรกิจแห่งเอเซีย จํากัด ABMC ดําเนินธุรกิจสนับสนุนการให้บริการทางการแพทย์และการพัฒนาธุรกิจ รวมถึงงานทางด้านเวชสถิติและด้านกฎหมายของโรงพยาบาลโดยให้คําปรึกษาทางกฎหมาย นิติกรรมสัญญา การเบิกค่ารักษา และการสนับสนุนงานด้านบริหารจัดการ การตลาด และการขายสําหรับลูกค้าโครงการและลูกค้าต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทได้เดินหน้ากลุ่มธุรกิจให้บริการห้องปฏิบัติการ การตรวจวิเคราะห์ และวินิจฉัยทางด้านการแพทย์ให้กับทางโรงพยาบาล ด้วยการเริ่มต้น บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์แห่งเอเซีย จํากัด หรือ AMLC เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงจัดตั้งบริษัท โรงพยาบาลเอเชีย จํากัด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กที่ดําเนินธุรกิจ ให้บริการรักษาพยาบาลโรคทั่วไป ตรวจสุขภาพทั้งในและนอกสถานที่ ตลอดจนบริการห้องพยาบาลตามสถานประกอบการ เช่น โรงงานและหน่วยงานต่างๆ  

- ปรับกลยุทธ์ฝ่าความท้าทาย -

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลจากจํานวนคนไข้ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งด้วยรายได้ในไตรมาส 3 และ 9 เดือนในปี 2564 อยู่ที่ 880.34 ล้านบาท และ 1.89 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 80.99% และ 45.11% ตามลําดับ โดยมีกําไรสุทธิสําหรับงวด (ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่) จํานวน 288.54 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 51.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 462.83 % โรงพยาบาลลาดพร้าว สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลให้โรงพยาบาลสามารถสร้างการเติบโตได้ในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลังจากจำนวนผู้เข้ารับบริการทั้งผู้ป่วยปกติและผู้ป่วยที่มีอาการร่วมกับโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทั้งการให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 และยืนยันผลกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) การแยกผู้ป่วยเพื่อรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจแยก (Hospitel) การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแสดงอาการรุนแรงระยะติดตามใกล้ชิด (Covid-Wards) การรักษาผู้ป่วยใน (IPD) ติดเชื้อโควิด-19 ในหอวิกฤต (Covid-ICUs) รวมถึงการร่วมบริหารศูนย์พักคอยสำหรับชุมชน ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายกำลังการให้บริการหอผู้ป่วยแยกรองรับผู้ป่วยในที่ป่วยจากไวรัสโควิด-19 รวมประมาณ 200 เตียง ในปลายไตรมาส 2 ปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 1,000 เตียงต่อวันในไตรมาส 3 ปี 2564 รวมถึงการเติบโตของรายได้ ส่วนงานตรวจสุขภาพ (Mobile Checkup) และตรวจคัดกรองโควิดนอกสถานที่ทั้งในโรงงานและหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 254.38% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ดร.อังกูรยังให้ความสำคัญกับการปรับแผนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มบริการ Premium Home Health Care เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่บ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และการเพิ่มบริการ Telemedicine ร่วมกับกลุ่มบริษัทประกันภัย รวมทั้งการเพิ่มรายได้จากช่องทางใหม่ควบคู่กับการควบคุมค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทยังเล็งเห็นโอกาสทำการตลาดเพิ่มในกลุ่มชาวต่างชาติที่พักอาศัยในประเทศไทยในด้านการตรวจรักษา การตรวจสุขภาพเพื่อต่อใบอนุญาตการทำงาน การฉีดวัคซีนป้องกันโรค รวมถึงการทำการตลาดกับกลุ่มชาวไทยมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อทั้งกลุ่มที่พักอาศัยในเขตพื้นที่ลาดพร้าวและพื้นที่ใกล้เคียง “คาดว่าหลังจบโควิด-19 ผู้ป่วยทั่วไปเริ่มเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้นและกลับมาใช้บริการ ประกอบกับปัจจุบันเรามีแพทย์เฉพาะทางเก่งๆ ทำให้คนไข้เชื่อมั่นมากขึ้น และยกระดับไปยังกลุ่มลูกค้า premium ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทประกันได้หันมาใช้บริการโรงพยาบาลระดับกลางมากขึ้นเป็นอีกทางเลือกให้ลูกค้า” ดร.อังกูรกล่าวถึงแนวโน้มรายได้รวมทั้งปี 2564 คาดการณ์การเติบโตประมาณ 25-30% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดไว้ราว 15-20% จากปีก่อน รวมถึงคาดการณ์กำไรสุทธิจะสามารถทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงพยาบาลมากว่า 28 ปี พร้อมทั้งวางเป้าหมายการเติบโตรายได้ 15-20% ในปี 2565  

- เดินหน้าแผนลงทุนพันล้าน -

“กลุ่มคนไข้ประกันสังคมปัจจุบันอยู่ที่ 170,000 คน ในปี 2565 LPH จะได้โควตาเพิ่มอีก 30,000 คน คาดว่ายอดคนไข้ประกันสังคมปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 190,000 คน โดยรายได้จากประกันสังคมและโควตาคงเพิ่มไม่มากหากเทียบกับปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 5% จากจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น” ดร.อังกูรกล่าวถึงแนวโน้มรายได้ จากกลุ่มผู้ใช้บริการประกันสังคม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 38.73% หรือจำนวน 601.69 ล้านบาท จากรายได้การรักษาพยาบาลเฉพาะของโรงพยาบาลลาดพร้าวประมาณ 1.55 พันล้านบาทในปี 2563 สำหรับแผนการลงทุนในปี 2565 บริษัทเตรียมเดินหน้าโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ 3 อาคาร ใช้งบลงทุน 1 พันล้านบาท ได้แก่ อาคารจอดรถอัจฉริยะที่จอดรถได้ 300 คัน โดยใช้งบลงทุนประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ระยะเวลาก่อสร้าง 6 เดือน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น นอกจากนั้น บริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญในการลงทุนโรงพยาบาลเฉพาะทาง เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้สูงขึ้น ด้วยการลงทุนก่อสร้างอีก 2 อาคาร ได้แก่ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านตา และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมและศูนย์โรคหัวใจ ทำให้มีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้น 50 เตียง โดยคาดการณ์โครงการแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566 และเปิดให้บริการปี 2567 ขณะที่บริษัทยังวางแผนลงทุนขยายโรงพยาบาลตรวจสุขภาพอีก 3 แห่ง ซึ่งใช้เงินลงทุนแห่งละ 15-20 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งกำลังศึกษาพื้นที่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำพูน ลำปาง แพร่ เชียงราย เป็นต้น สำหรับการลงทุนดังกล่าวจะใช้โมเดลเดียวกับการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของโรงพยาบาลเอเชีย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดอยุธยาที่บริษัทถือหุ้นประมาณ 50% ส่วนที่เหลือเป็นแพทย์ พนักงานสถานประกอบการ โรงงาน คนท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการถือหุ้น โดยรายได้หลักของโรงพยาบาล ได้แก่ ห้องพยาบาล บริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ ซึ่งตามกฎหมายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องตรวจสุขภาพพนักงานทุกปี และต้องมีการตรวจด้านอาชีวอนามัย เป็นต้น
ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน)
“การลงทุนเพื่อขยายธุรกิจด้านการให้บริการตรวจวิเคราะห์และวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับบริษัทและสถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจอาชีวอนามัยให้กับกิจการและผู้ใช้บริการทั่วไป อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจด้านสุขภาพซึ่งเป็นธุรกิจที่สอดคล้องและสนับสนุนธุรกิจโรงพยาบาลของบริษัท” ซีอีโอวัย 64 ปีกล่าวถึงความสำเร็จจากการร่วมลงทุนในโรงพยาบาลเอเชีย เพื่อขยายงานตรวจสุขภาพนอกสถานที่ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ส่งผลให้โรงพยาบาลมีศักยภาพรองรับงานตรวจสุขภาพนอกสถานที่ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอยุธยาที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ ซึ่งมีจำนวน 5 นิคมอุตสาหกรรมจำนวน 2,766 โรงงาน ขณะเดียวกัน ดร.อังกูรยังเดินหน้าแผนการนำ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (AMARC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ด้วยความมั่นใจในความพร้อมสร้างการเติบโตจากการขยายขอบเขตการให้บริการลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และชื่อเสียงได้รับการยอมรับรวมถึงเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ใช้บริการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้ยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว สำหรับคีย์ความสำเร็จในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัทเกิดจากการให้ความสำคัญในด้านการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และพนักงานที่มีความใส่ใจในคุณภาพการบริการ ซึ่งยึดมั่นในพันธกิจการดูแลรักษาสุขภาพให้กับผู้เข้ารับบริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การบริการที่ประทับใจ ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง   ภาพ: บมจ. โรงพยาบาลลาดพร้าว อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine