ทุกครั้งที่ปรากฏชื่อ “ผู้บริหารหญิง” ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในองค์กรข้ามชาติความใจฟูก็จะตามมาโดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลหลายองค์กรเชื่อมั่นในพลังผู้นำหญิงยุคใหม่ มอบภารกิจและบทบาทที่ท้าทายขับเคลื่อนองค์กร ฝ่าคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
ดร. เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการ (Country Managing Partner) ดีลอยท์ ประเทศไทย ก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา นับเป็นผู้บริหารหญิงคนแรกของดีลอยท์ ประเทศไทย เคยผ่านการบริหารองค์กรชั้นนำหลายแห่ง บริหารทีมที่มีความหลากหลายของเจเนอเรชั่นก่อนร่วมงานกับดีลอยท์ในตำแหน่ง Country Consulting Leader บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง และดีลอยท์ ทูช โธมัทสุ ไชยยศ และดีลอยท์ ประเทศไทย
ก่อนเข้ามารับตำแหน่งเมธินียังผ่านประสบการณ์สำคัญบริหารองค์กรระดับโลกที่ช่วยให้มีมุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้นจากการที่ได้มีโอกาสนั่งในบอร์ดบริหารระดับภูมิภาคทำให้เธอได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงจากผู้บริหารระดับโลกและนำมาปรับใช้ในดีลอยท์ ประเทศไทย ได้เป็นอย่างดี Forbes Thailand ได้ร่วมพูดคุยกับผู้บริหารหญิงคนแรกของดีลอยท์ ประเทศไทย ถึงเส้นทางการก้าวสู่ผู้นำองค์กรระดับโลก
“ก่อนเข้ารับตำแหน่งได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีค่าจากการได้รับโอกาสเข้าร่วมเป็น Asia Pacific Board Member ราว 2 ปี ได้เห็นมุมมอง แนวคิด และรูปแบบการบริหารงานของ CEO ประเทศต่างๆ เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้นำมาปรับใช้ในการบริหารองค์กร สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากการทำงานที่ดีลอยท์ ประเทศไทย คือ Humanity is very importance มนุษยชาติมีความสำคัญมาก คนเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง ต้องเรียนรู้ได้ทุกวัน เมื่อโลกเปลี่ยนถ้าเรายัง stay humble stay humanity ได้ แม้จะมีการแข่งขันแต่ถ้าเรายัง carry ได้ performance ก็จะโชว์”
ดีลอยท์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในโลกธุรกิจในฐานะบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ ได้รับความเชื่อถือจากองค์กรชั้นนำ มีเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย ซึ่งเป็นการรวมตัวของดีลอยท์ในภูมิภาคอาเซียน และดีลอยท์ ประเทศไทย ก่อตั้งในปี 2549

ปรับใหญ่ 4 BU
เมธินีกล่าวว่า ดีลอยท์ ประเทศไทย อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เป้าหมายคือ การก้าวรุกไปข้างหน้าด้วยการเติบโต 2 เท่า ขับเคลื่อนดีลอยท์ ประเทศไทย ก้าวเป็นผู้นำแบบทิ้งห่างที่โดดเด่นด้านการบริการ โดยปีที่ผ่านมาดีลอยท์ ประเทศไทย ปรับโครงสร้างบริการเป็น 4 Business Unit
“ปีที่ผ่านมาดีลอยท์ปรับทัพใหม่ให้ modernization ปรับโครงสร้างด้านการบริการ (services) รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า จัดพอร์ตการให้บริการใหม่แบ่งออกเป็น 4 Business Unit คือ 1. Audit & Assurance บริการด้านการสอบบัญชีและการให้ความเชื่อมั่น อาทิ ด้านงบการเงิน ดู control governance 2. Strategy, Risks & Transactions บริการด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยง และธุรกรรมรายการ 3. Tax & Legal บริการด้านภาษี การจัดตั้งบริษัท 4. Technology & Transformation บริการด้านเทคโนโลยีและการปฏิรูปองค์กร”
ผลสำเร็จจากการปรับโครงสร้างการบริการเปลี่ยนวิธีจากการขายโปรดักต์สู่โซลูชันช่วยให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรเช่นกัน อาทิ ในมุมของลูกค้าได้รับฟีดแบ็กที่ดีมากจากบริการที่มอบให้เปลี่ยนจากการขายโปรดักต์มาเป็นโซลูชัน นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในฝั่งลูกค้าหลังการปรับโครงสร้างตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ในส่วนของทีมงาน ผลสำเร็จได้สร้างกำลังใจให้ทีมงานทุกคนเริ่มคุ้นชินและพร้อมจับมือไปต่อเพื่อตอบสนองโจทย์ของลูกค้า
“เชื่อว่าพนักงานทุกคนที่ดีลอยท์เชื่อใน specialization เราชำนาญในเรื่อง competitive strategy ขณะที่ทีมก็จะรู้ความถนัดของตัวเอง หน้าที่เราคือการจัดทัพปรับให้ชัดเจน จัดทีม เลือกคนให้ตรงกับความถนัดเพื่อบริการได้ตรงกับความต้องการ หากลูกค้าบอกว่าต้องการซื้อกิจการเพื่อ double growth ดีลอยท์จะเลือกทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้าน competitive strategy และผู้เชี่ยวชาญด้าน financial advisor ทำงานเป็นทีมเวิร์ก”

สร้างคนพันธุ์ใหม่ Digital Native
เมธินีชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกธุรกิจคือ “ดิจิทัล” ดีลอยท์ ประเทศไทย แม้จะเป็นองค์กรชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านที่ปรึกษาทางธุรกิจ การลงทุน ภาษี ก็ต้องปรับตัว
“เราเป็น professional service firm เรารู้ว่าต้องเผชิญอะไรบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น การเป็นแค่ digitally transform ไปไม่รอด ต้องรุกให้เร็วกว่า คนในองค์กรต้องเป็น digital native คนสายพันธุ์ดิจิทัลหรือชาวดิจิทัลที่คุ้นเคยกับการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
แน่นอนว่าจำนวนพนักงานของดีลอยท์ ประเทศไทย ที่มีมากกว่า 1,500 คน คือความหลากหลายของเจเนอเรชั่นทำให้มีช่องว่างระหว่างวัย (generation gap) ตั้งแต่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ถึงเจน Z
“บางคนมาทำงานทาเล็บหลายสี อาจจะงงว่านี่เป็นคนของดีลอยท์หรือเป็นเอเจนซี่ เพราะที่นี่มี marketing agency ด้วยใน service ที่เรา provide ดังนั้น จะไม่แปลกใจที่พอเดินเข้าออฟฟิศเห็นคนของดีลอยท์ ประเทศไทย ใส่กางเกงขาไม่เท่ากัน ขณะเดียวกันก็จะมีพนักงานประเภทใส่แว่นหนาเป็น auditor ด้วยเช่นกัน เป็นความหลากหลายที่สร้างสีสันให้องค์กร”
ภาพ: ดีลอยท์ ประเทศไทย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กนกกมล เลาหบูรณะกิจ ถอดแบบทรานส์ฟอร์ม Fujitsu