สายเลือดนักการศึกษาทำให้ไม้ 3 ผู้สืบทอดมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ขยับเข้ามาทำโรงเรียนอินเตอร์ด้วยการดึงโรงเรียนดังจากเมืองผู้ดีมาเปิดสาขาแห่งแรกในอาเซียน ในนาม "โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ" ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของทุนใหญ่ที่ต่างเข้ามาจับตลาดนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หมู่อาคารอิฐสีน้ำตาลแดงสไตล์อังกฤษโบราณบนพื้นที่ 50 ไร่ย่านกรุงเทพกรีฑา นอกรั้วคือบรรยากาศสนามกอล์ฟสีเขียวสบายตา เป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ” หรือ Wellington College International School Bangkok (WCIB) ที่ซึ่ง Forbes Thailand มีนัดคุยกับ “ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” ทายาทรุ่น 3 ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ขยับเข้ามาจับธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ และเปิดตัวโรงเรียนแห่งนี้ไปเมื่อปีก่อน
“ความคิดเมื่อ 4-5 ปีก่อน เราอยากทำโรงเรียนนานาชาติเพราะอยากได้ branded school อยู่ในเมืองไทย เพราะตอนนั้นในไทยมีโรงเรียนประเภทนี้อยู่ไม่กี่โรง” ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ เล่าถึงเหตุผลในการเข้ามาทำโรงเรียนนานาชาติของเธอ
การทำโรงเรียนนานาชาติอาจไม่ใช่ธุรกิจใหม่นักสำหรับนักการศึกษาวัย 46 ปีรายนี้ เนื่องจากครอบครัวเธอเคยทำโรงเรียนนานาชาติเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว แต่ด้วยการดำเนินงานไม่เป็นอย่างที่หวัง ทำให้เธอได้เห็นประสบการณ์ของครอบครัวและนำมาปรับใช้กับการบุกธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเป็นเหตุผลให้เธอเลือกโรงเรียนที่มีแบรนด์จากต่างประเทศแทนการบุกเบิกทุกอย่างใหม่หมด
“การมีโกลบอลซัพพอร์ตทำให้เราไม่เหนื่อยเลย จริงอยู่ที่มันแพง แต่ว่าคุณไม่ต้องคิดพัฒนาเอง ไม่ต้องมาคิดว่าวิธีนี้หรือวิธีนั้นดีกว่า เพราะมีคนมาบอกว่าลองวิธีนี้แล้วดี เหมือนมี blueprint ที่ดีแล้วมีคนมาบอกว่าให้ใช้ blueprint นี้นะ ถ้าอยากบิดก็ให้บิดมาทางนี้ นั่นทำให้ (โรงเรียน) เราขึ้นได้เร็ว”
เวลลิงตัน คอลเลจ เป็นโรงเรียนในสหราชอาณาจักรที่เปิดโดยสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียเมื่อปี พ.ศ.2402 ปัจจุบันมีอายุ 158 ปี โดยมีเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตัน คอลเลจที่ Shanghai, Tianjin และ Hangzhou ในประเทศจีน และตอนนี้มีที่ไทยซึ่งเป็นแห่งแรกในอาเซียน ด้วยจุดแข็งของโรงเรียนคือแนวทางการเรียนการสอนที่เน้นไปการมีตัวเลือกกิจกรรมต่างๆ ในการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้เด็กค้นหาตัวเองได้อย่างแท้จริง
“ตอนนั้นเราดูไว้หลายโรงเรียนมาก เราเขียนจดหมายไปหาหลายโรงเรียนที่คิดว่าใช่และอยู่ในขอบเขตที่เราอยากได้ คือ มีลักษณะเป็น boarding school, เป็นโรงเรียนสหศึกษา, มีไซส์ใหญ่ระดับหนึ่ง และมีสถิติว่าเด็กที่จบไปเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้
“พอไปถึงเวลลิงตันซึ่งเป็นโรงเรียนที่ลูกเราเรียนอยู่ เราก็รู้สึกชอบ เพราะเขาสามารถทำตาม education approach ของเขาที่ให้เด็กสามารถเลือกสิ่งที่สนใจได้ทั้งในหลักสูตรและนอกเหนือจากหลักสูตร ซึ่งมีตัวเลือกให้เด็กเยอะมาก เป็นการเปิดออปชั่นให้เด็กค้นหาตัวเอง และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กจริงๆ ส่วนที่เลือกโรงเรียนจากฝั่งอังกฤษก็เพราะเราเติบโตมาและถนัดกับฝั่งนี้มากกว่าฝั่งอเมริกา” ดร.ดาริการะบุ
เวลลิงตัน คอลเลจยังมีเครือข่ายโรงเรียนที่แข็งแกร่งซึ่ง ดร.ดาริกา บอกว่าได้ทำงานร่วมกับฝั่งอังกฤษและจีนค่อนข้างมาก ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของเครือข่ายคือการหาคนเก่งเข้ามาทำงานในโรงเรียนท่ามกลางการเติบโตของโรงเรียนอินเตอร์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เวลลิงตัน คอลเลจยังตั้งสำนักงานขึ้นมาเพื่อคอยดูแลโรงเรียนเครือข่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีบอร์ดบริหารคอยดูแลให้โรงเรียนเครือข่ายมีการดำเนินงานระดับเวิลด์คลาสจริงๆ ทั้งยังมีศูนย์วิจัยที่คอยพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ และเผยแพร่ข้อมูลให้กับโรงเรียนในเครือข่ายด้วย ซึ่งทำให้มีประโยชน์ร่วม
ดึงกลิ่นอายอังกฤษใส่โรงเรียนไทย
กลิ่นอายของเวลลิงตัน คอลเลจในอังกฤษยังถ่ายทอดมาสู่เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ ตั้งแต่ช่วงเวลาการเปิดและปิดเทอมที่ตรงกันกับฝั่งอังกฤษ, การแบ่งนักเรียนออกเป็นบ้าน 4 บ้าน มีการทำกิจกรรมเพื่อสะสมคะแนนให้บ้านของตน มีการกำหนดวันที่นักเรียนในแต่ละบ้านจะต้องนั่งทานข้าวโซนเดียวกันในโรงอาหาร เพื่อให้เด็กทุกวัยได้เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันในสังคม
ขณะที่หลักสูตรที่สอนนอกจากเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดแล้ว ยังเป็นไปตามหลักสูตรแห่งชาติอังกฤษ (National Curriculum for England) เมื่ออายุ 14 ปี นักเรียนจะเริ่มเรียนในโปรแกรม IGCSE เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสอบวัดผลระดับนานาชาติเมื่ออายุ 16 ปี ต่อจากนั้นการสอนจะดำเนินไปตามหลักสูตร International Baccalaureate Diploma เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย แต่ในตอนต้นนี้เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพจะเริ่มสอนให้นักเรียนสอบผ่าน A-Level ก่อน ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆทั่วโลกเช่นกัน
นอกจากนี้ยังรวมถึงหลักสูตรที่สอดแทรกกิจกรรมตามความสนใจของนักเรียน (enrichment) ครอบคลุมทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะ ภาษา แม้แต่ละครเวที โดยคาบกิจกรรมเหล่านี้จะแทรกอยู่ในตารางเรียนระหว่างวัน นอกจากนี้ สำหรับนักเรียน Year 3 ขึ้นไป ยังมีชั่วโมงเรียนเสริม (Prep) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนอยู่ที่โรงเรียนหลังเลิกเรียนเพื่อทำการบ้านและทบทวนบทเรียนโดยมีครูคอยชี้แนะและตอบคำถามด้วย
“หลักสูตรที่มี enrichment แทรกแบบนี้ ทั้งยังปล่อยให้เขาเลือกเองว่าอยากทำอะไร เป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่านี่เป็นการใช้ชีวิตปกติของมนุษย์เพราะเขาไม่ได้เรียนตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงทุกๆ กิจกรรมก็คือการเรียนรู้อยู่แล้ว”
บนทำเลกรุงเทพกรีฑาที่ ดร.ดาริกาบอกว่าสะดวกและใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองไม่มาก พื้นที่ของโรงเรียนยังเพียบพร้อมไปด้วยห้องเรียนของเด็กเล็กที่สามารถเปิดสู่พื้นที่เรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย, สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานพร้อมลู่วิ่ง 400 เมตร, สระว่ายน้ำ 3 สระ, สนามกีฬาในร่ม, ห้องฝึกไดรฟ์กอล์ฟ, ยิมสำหรับฝึกยิมนาสติก และโรงละครที่กำลังสร้างซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า ขณะที่อาคารสำหรับเด็กโตคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 มูลค่าลงทุนรวมราว 3,500 ล้านบาท
โดยปี 2561 เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ เปิดสอนนักเรียนอายุ 2-11 ปีในระดับเตรียมอนุบาล Pre-Prep ถึง Prep School ส่วนปีการศึกษา 2562 จะเริ่มเปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (Year 7) และมัธยมศึกษาปีที่ 1 (Year 8) มีนักเรียน (รวมที่สมัครเข้ามาแล้ว) 300 คน โดย 80% เป็นคนไทยตามเป้าหมาย ขณะที่ความจุที่รับได้หากโรงเรียนสร้างเสร็จสมบูรณ์คือ 1,500 คน ซึ่ง ดร.ดาริกาคาดว่าจะเต็มความจุนี้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
กลยุทธ์ในการแข่งขันคือทำให้ดีที่สุด
ทว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแข่งขันตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทยนั้นรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยทุนใหญ่ต่างเข้ามาจับธุรกิจนี้ และเปิดตัวโรงเรียนอินเตอร์กันทุกหัวมุมเมืองกรุงเทพฯ
ข้อมูลจากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทยเมื่อมกราคม 2560 พบว่า โรงเรียนนานาชาติมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12% (ย้อนหลัง 8 ปี) ในปี 2560 มีจำนวนโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นถึง 18-20% นับเป็นการขยายตัวแบบก้าวกระโดด
โดยมีตัวเลขตลาดรวมของธุรกิจ 60,500 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็นมูลค่าตลาดทางตรง 26,000 ล้านบาท/ปี มูลค่าตลาดทางอ้อม 28,000 ล้านบาท/ปี มีครู 7,200 คน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด 175 โรง โดยสัดส่วน 2 ใน 3 เป็นโรงเรียนนานาชาติในเขตกรุงเทพฯ
“การแข่งขันรุนแรงมากขึ้นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงเรียนอินเตอร์ในไทยเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เนื่องจากไทยอาจมีความพร้อมในแง่ที่คุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจเรื่องการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น แล้วก็สรรหาเลือกโรงเรียนที่มีความแตกต่างกันไปค่อนข้างมาก ดังนั้น แม้ในระยะสั้นอาจมีผลกระทบเรื่องการเติบโตของโรงเรียน แต่ในระยะยาวเราเชื่อว่ายังมีดีมานด์ในตลาดอยู่ และดีมานด์ก็เติบโตขึ้นด้วย”
- “บีทีเอส” ลุยธุรกิจการศึกษาเปิด “โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ” ถนนบางนา-ตราด เจาะ expat โซน EEC
- คิงส์คอลเลจ เลือกไทยสาขาแรกในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมสถานการณ์การแข่งขันจะดูรุนแรงขึ้น แต่ ดร.ดาริกาย้ำว่า ถึงแม้จำนวนโรงเรียนนานาชาติจะเพิ่มขึ้น แต่โรงเรียนไซส์ใหญ่ที่มีขนาดราว 1,500 คนเท่าๆ กับเวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ นั้นมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ดังนั้น การแข่งขันในสนามนี้จึงอาจไม่ใช่สิ่งน่ากังวลสำหรับ ดร.ดาริกานัก
“กลยุทธ์ของเราคือทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกๆ จุด สิ่งแรกที่เราสัญญากับผู้ปกครองคือเราอยากเห็นลูกเขามี 5I* (5ไอ) อยากเห็นลูกเขามีพัฒนาการที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ในศักยภาพของลูกเขา เวลาสอบมาตรฐานอะไรก็อยากเห็นเขาได้ระดับสูงสุดที่เขาจะสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม สำคัญคือเราอยากเห็นเขามีความสุขกับสิ่งที่เขาทำ วิชาที่เขาเลือกเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญที่สุดนอกจากความสำเร็จด้านการเรียน”
สำหรับแนวทางในอนาคตของเวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ เธอเผยว่ายังไม่มีแผนสำหรับขยายพื้นที่เพิ่มหรือแม้แต่ขยายแคมปัสอื่นเพิ่มเติมในประเทศไทย แต่ด้วยถือใบอนุญาตภูมิภาคอินโดจีน ทำให้เธอกำลังดูโอกาสในแถบประเทศเพื่อนบ้านด้วย
“ตอนนี้จริงๆ ก็มีคนมาทาบทามจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราอยากมุ่งกับตรงนี้สัก 2-3 ปีก่อน เพราะความพร้อมที่จะใส่ความพยายามหรือแรงกายลงไป เราอาจจะยังไม่พร้อมใน 1-2 ปีนี้ แต่ก็คิดว่าจะขยายในภูมิภาคนี้แน่ๆ”
ก่อนจะทิ้งท้ายถึงหลักในการบริหารสถานศึกษาว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็คือ output หรือความสำเร็จของเด็ก ดังนั้น เมื่อตั้งเป้าหมายว่าเป็นความสำเร็จของนักเรียนหรือนักศึกษา ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กไปสู่จุดหมายนั้นได้
“ทุกการประชุมที่เราประชุมกันในสถาบันการศึกษา ไม่ว่าเป็นส่วนของการเงิน อาคารสถานที่ ไม่ว่าเป็นส่วนใดๆ ก็ตาม ต้องมีเป้าหมายอย่างเดียวคือ achievement ของเด็ก ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นส่งผลให้เด็กประสบความสำเร็จได้มากน้อยจริงหรือไม่ แค่ไหน นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย”
*5I คือแนวคิด Wellington Identity ที่ Julian Thomas อาจารย์ใหญ่คนปัจจุบันของเวลลิงตัน คอลเลจ สหราชอาณาจักร ได้นำมาใช้ในการพัฒนาเด็กนักเรียน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน 5 ข้อ ได้แก่ Inspired ทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ที่เวลลิงตันจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในอนาคตของผู้เรียน, Intellectual เสริมสร้างและบ่มเพาะการใช้สติปัญญาอย่างสร้างสรรค์ในการเรียนรู้และการใช้ชีวิต, Independent พัฒนาทักษะของการเป็นผู้นำและความเชื่อมั่นในการคิด เรียนรู้และแก้ปัญหาในชีวิตด้วยตนเอง, Individual ประสบการณ์ที่ได้จากเวลลิงตันไม่ใช่แค่เพียงความรู้ในโรงเรียน แต่คือการค้นหาตัวตนของตนเองด้วย และ Inclusive บ่มเพาะจิตใจที่ดีงามในการเป็นคนดีในสังคม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นสุขForbes Facts
- แม้เปิดมาเพียง 1 ปีแต่โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ ก็ได้รับการการันตีจาก COBIS (Council of British International Schools) หรือสมาคมโรงเรียนนานาชาติประเทศแห่งสหราชอาณาจักร โดยมีเกณฑ์การประเมินที่เข้มงวดตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร ความเป็นอยู่ของนักเรียน โครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก คุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งเวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ เป็นโรงเรียนแรกในโลกที่ได้รับการรับรองจาก COBIS ครบทุกด้าน
- ดร.ดาริกา รับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนของเธอมีการเติบโตอย่างรวดเร็วคือครูใหญ่ Christopher Nicholls ที่มีความคิดรอบคอบและสามารถตอบโจทย์ภาพโรงเรียนที่ตนตั้งไว้ได้ โดยครูใหญ่พิถีพิถันเป็นพิเศษโดยเฉพาะการคัดเลือกครูผู้สอนที่เดินทางไปพบและสัมภาษณ์ครูแต่ละคนด้วยตนเองแทบทั้งหมด
- ค่าเทอมของเวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพ (ระหว่างปี 2019-2020) อยู่ที่ 498,750-772,500 บาท
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine