“หลังบ้าน” ของความสำเร็จ พญ.สมพร หาญพาณิชย์ แม่ทัพหญิงแห่ง BCH - Forbes Thailand

“หลังบ้าน” ของความสำเร็จ พญ.สมพร หาญพาณิชย์ แม่ทัพหญิงแห่ง BCH

คำกล่าวที่ว่า เบื้องหลังชายที่ประสบความสำเร็จ มักมีสตรีที่ยอดเยี่ยมอยู่เบื้องหลังเป็นเรื่องจริงของธุรกิจหลายๆ แห่งที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งน่าจะรวมถึง บมจ.บางกอกเชน ฮอสปิทอล กลุ่มเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มี นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ และภรรยา พญ.สมพร หาญพาณิชย์ เป็นลมใต้ปีกซึ่งกันและกันมากว่า 3 ทศวรรษ

ภาพจากภายนอกทั่วไปเมื่อมองมาที่ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัด 4 แบรนด์ ได้แก่ เกษมราษฎร์, เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, การุณเวช และเวิลด์เมดิคอล มักจะจับจ้องไปที่ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ผู้บุกเบิกสร้างกลุ่มโรงพยาบาลแห่งนี้มาจากโรงพยาบาลตึกแถว 4 ชั้นขนาดเล็กแถบชานเมืองกรุงเทพฯ จนมาเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่สุดอันดับที่ 4 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตามมาร์เก็ตแคป) แต่สำหรับคนใน BCH หรือบุคคลภายนอกที่ติดต่อใกล้ชิด อาจทราบดีถึงสุภาพสตรีผู้มีบทบาทมากที่สุดท่านหนึ่งในกลุ่มธุรกิจการให้บริการด้านสุขภาพแห่งนี้นั่นคือ พญ.สมพร หาญพาณิชย์ อดีตอาจารย์หมอศิริราช ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BCH ประธานฝ่ายจัดซื้อ และผู้ดูแลงาน “หลังบ้าน” ตั้งแต่ไอที โลจิสติกส์ ทรัพยากรบุคคลสต๊อก การบริหารต้นทุน บัญชี และการเงิน พญ.สมพร ผู้ร่วมก่อร่างสร้าง BCH มาด้วยกันตลอดเวลากว่า 30 ปี เปิดโรงพยาบาล “ตึกแถว” พญ.สมพรกล่าวเท้าความถึงความเป็นมา จุดเริ่มต้นในการร่วมงานกับนพ.เฉลิม ในการให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand ในอีกวาระหนึ่งว่า เริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่ทำสมพรคลินิก ที่ตนเองเป็นหมอเด็ก แม้จะอยู่ในวัยเพียง 30 ปีในปี 2526 นพ.เฉลิมชักชวนเพื่อนๆ คุณหมอรุ่นพี่ที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนและพักอยู่หอพักโรงพยาบาลศิริราชด้วยกัน ร่วมลงขันได้เงินรวมประมาณ 47 ล้านบาท เปิดโรงพยาบาล “ตึกแถว” 4 ชั้นขนาด 50 เตียง ขึ้นที่บริเวณฝั่งตรงข้ามของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค ในปัจจุบัน โดยชวน พญ.สมพรให้มาช่วยดูแลเรื่องเครื่องมือห้องผ่าตัดและห้องฉุกเฉิน “แต่งงานกับ นพ.เฉลิมมา 3 ปี ดิฉันเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ศิริราช แผนกวิสัญญี ทีนี้หมอเฉลิมก็ได้ชวนมาว่าให้ลองมาดูเรื่องเครื่องมือห้องผ่าตัดและเครื่องมือไอซียูซึ่งมีความถนัดอยู่แล้ว เนื่องจากศิริราชจะดูแลหออภิบาล ซึ่งเป็นแผนกที่มีการผ่าตัดตลอดของศิริราช เลยไปดูแลเรื่องเครืองมือผ่าตัดและก็ไปเจอกับผู้ขาย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่มาช่วยอาจารย์เฉลิม” หลัง นพ.เฉลิมวางแผนเปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์แห่งที่ 2 ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี จึงชักชวนภรรยาให้มาช่วยดูแลโรงพยาบาลแห่งใหม่ขนาด 400 เตียง ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล แต่เปิดโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางใหญ่ ได้เพียงปีเดียวเกิดวิกฤตน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินกิจการ แต่ผ่านพ้นอุปสรรคได้โดยดี

ฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้ง

ด้วยความสำเร็จของโรงพยาบาล 2 แห่งแรก และเศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นพ.เฉลิม จึงโหมลงทุนขยายสาขาโรงพยาบาลเกษมราษฎร์เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่งภายในเวลา 4 ปี และหลังโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น เปิดดำเนินการได้ไม่นาน รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท และประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดพอดีในปี 2540 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาล “เรียกว่าเจ๊งหมด โรงพยาบาลที่รอดก็จะมีโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค รัตนาธิเบศร์ ศรีบุรินทร์ สามโรงฯ นี้ไปช่วยโรงพยาบาลอื่นๆ เอากันคนละร้อยสามร้อยล้านไปโปะ เรียกว่าช่วงนั้นเป็นช่วง crisis ต้มยำกุ้ง เพราะเรากู้เงินอเมริกา” พญ.สมพรเผยว่าในตอนนั้น นพ.เฉลิม และอนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งเข้ามาถือหุ้น 25% ในเกษมราษฎร์ตั้งแต่ปี 2538 เกือบถอดใจและเตรียมจับมือกันขายกิจการให้นักลงทุนจากฝรั่งเศสไปแล้ว แต่มีตนเป็นผู้คัดค้าน ซึ่งในที่สุดสองท่านจึงเปลี่ยนใจทดลองปรับบิสิเนสโมเดลของโรงพยาบาลมาอิงลูกค้าประกันสังคมแทนทำให้ได้เงินจ่ายเหมาล่วงหน้าจากภาครัฐมาช่วยเสริมสภาพคล่อง และปรากฏว่าได้รับความนิยมจากลูกค้าประกันสังคมอย่างล้นหลาม ทำให้เกษมราษฎร์รอดมาได้

“เจ้าแม่” และ “แม่พระ”

“ดิฉันเป็นเจ้าแม่ในการจัดซื้อ รวมทั้งหมด 5 โรงพยาบาล โดยการรวบรวมเรื่องการซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องใช้สำนักงานตอนนั้นทำแค่นี้ก่อน เพราะว่าทำอย่างอื่นไม่ไหว มีพนักงานกันประมาณ 5 คน จุดก่อตั้งก็คือปี 40 เนื่องจากประชาชื่น เราเองคิดว่ามัน collapse มันมีปัญหาวิกฤต ถ้าเราไม่ควบคุมกำกับในการจัดซื้อยามันจะไปไม่อยู่ เราไม่อยากขายกิจการให้กับต่างชาติ” นอกจากนี้ในฐานะ “แม่บ้าน” ผู้ดูแลงาน back office หรืองานหลังบ้าน ให้กลุ่ม BCH พญ.สมพรเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางรากฐานงานด้านระบบการบริหารคุณภาพ (quality management) การบริหารต้นทุน มาตรฐานวิชาชีพแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ห้องปฏิบัติการ ระบบสารสนเทศ โดยนำเอาระบบปฏิบัติการดอสมาติดตั้งที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ เป็นแห่งแรกตั้งแต่ปี 2538 ก่อนจะขยายไปที่สาขาอื่นๆ อุปสรรคหรือความท้าทายในมุมมองของพญ.สมพร คือการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องและการสร้างคุณธรรมจิตสำนึกให้ผู้บริหารทุกระดับมีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ซึ่งการทำเรื่องที่ถือว่า “ยากมาก”

เตรียมส่งไม้ต่อ

พญ.สมพรเผยว่ามีความตั้งใจที่จะเกษียณเมื่ออายุครบ 70 ปีในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เริ่มทยอยให้ทายาททั้งสามคนเข้ามาช่วยงานตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว “ดิฉันเกษียณอยู่แล้ว 70 ค่ะ แต่ก็จะยังนั่งทำงานเรื่องจัดซื้อ เพราะต้องใช้ความรู้กับประสบการณ์ เป็นประธานจัดซื้อกลางเรามีพนักงานประมาณ 20 กว่าคน จัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน โต๊ะเก้าอี้ที่ทุกคนนั่ง แก้วน้ำ กระป๋อง ทุกอย่างเลยค่ะ น้องปลาจัดการหมด น้องปลามาเป็นรองประธาน” พญ.สมพรกล่าวถึงลูกสาวคนเล็ก พรสุดา หาญพาณิชย์ ที่มาช่วยดูงานจัดซื้อก่อนจะขอ Forbes Thailand ปลีกตัวไปประชุม และทิ้งท้ายด้วยหลักคิดและภาษิตประจำตัว “จริงๆ แล้วชัยชนะไม่ได้อยู่ที่เราชนะหรือประสบความสำเร็จ แต่เราได้ทำให้คนตระหนักถึงความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และรู้บทบาทตัวเอง การทำอะไรก็ตามที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจเราต้องหยุด แม้เราจะได้ความสุข สิ่งนี้คือคติของดิฉันเสมอ คือความสำเร็จอาจเสียงดังได้ แต่เวลาทำางานหนักไม่ต้องอวด it’s our silences it’s not noise but in a noise u must have Integrity https://www.instagram.com/p/BwUP5y_nOzq/?utm_source=ig_web_copy_link เรื่อง: พิชญ ช้างศร ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม "“หลังบ้าน” ของความสำเร็จ พญ.สมพร หาญพาณิชย์ แม่ทัพหญิงแห่ง BCH" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine