กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี นายหญิง "TPOLY Group" - Forbes Thailand

กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี นายหญิง "TPOLY Group"

การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ของ “เจริญ จันทร์พลังศรี” ผู้นำครอบครัว ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2556 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ “กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี”

ในวัย 50 ปีเศษ กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ต้องปรับจูนบทบาทชีวิตใหม่ เพื่อดูแลกิจการทั้ง 4 แห่งของ TPOLY Group ประกอบด้วย บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง, บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH ประกอบธุรกิจหลักโดยถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดย TPOLY ถือหุ้นใหญ่ใน TPCH 41.26%, บริษัท ทีพีซี แอสเสท จำกัด ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อจำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้ชื่อแบรนด์ “กรีนิช” และ บริษัท ทีพีซี บางกอก ซัพพลาย จำกัด ประกอบธุรกิจซื้อขายสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างและอื่นๆ โดยมี TPOLY เป็นบริษัทแม่ ภายหลังการสูญเสียผู้บริหารอย่างกะทันหัน บริษัทขาดทุนติดต่อกันหลายปี “ไชยณรงค์” น้องชายของเจริญก้าวขึ้นมารับตำแหน่งแทน ปี 2557 กนกทิพย์จึงเข้ามาสานต่องานที่บริษัทในตำแหน่ง CFO และดูแลภาพรวมของ TPOLY และ TPCH ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารทั้งสองแห่งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2560 เป็นต้นมา  

เริ่มต้นจากธุรกิจก่อสร้าง

หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรโยธา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “เจริญ” ทำงานกับบริษัท อิตาเลียน-ไทย จำกัด เป็นเวลา 8 ปี โดย 4 ปีแรกทำงานภาคสนาม 4 ปีหลังทำงานด้านการบริหารจัดการ และลาออกมาตั้ง บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด ในปี 2531 ด้วยทุน 1 ล้านบาท มีผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คนคือ ไชยณรงค์ จันทร์พลังศรี น้องชายและ สุรชา ตั๊นสถาพรชัย โดยเริ่มจากการเป็นผู้รับเหมารายย่อย มีพนักงาน 30 คน คราวที่ได้งานสร้างโรงงานแห่งแรกไม่มีเงินลงทุนจึงนำบ้านไปจำนอง และขอเบิกเงินส่วนหนึ่งจากลูกค้าเพื่อเป็นทุนดำเนินงาน ปัจจุบัน บมจ. ไทยโพลีคอนส์ หรือ TPOLY มีทุนจดทะเบียนกว่า 600 ล้านบาท เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างหลากหลายรูปแบบและครบวงจร งานก่อสร้างที่ต้องใช้เทคนิคซับซ้อน รวมถึงบริการด้านการออกแบบ บริการด้านวิศวกรรมการจัดหาและก่อสร้าง TPOLY Group ส่วน บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH ก่อตั้งปลายปี 2555 (จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ต้นปี 2558) ประกอบธุรกิจหลัก โดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (บริษัทเหล่านั้นได้รับสัมปทานสร้างโรงไฟฟ้า และขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง) และให้บริการสนับสนุนการดำเนินการของบริษัทย่อยและกิจการที่ควบคุมร่วมกัน โดยลงทุนในบริษัทที่ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากชีวมวล 10 แห่ง และบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย 1 แห่ง รายได้ของ TPCH มาจากเงินปันผลที่ได้รับจากการถือหุ้นในบริษัทย่อย และการให้บริการสนับสนุนการดำเนินการของบริษัทในกลุ่ม TPOLY Group แม้ TPOLY Group จะมีบริษัทในกลุ่ม 4 แห่ง แต่รายได้หลักมาจากธุรกิจก่อสร้างและโรงไฟฟ้า โดยปี 2563 บมจ. ไทยโพลีคอนส์มีรายได้รวม 4,015.28 กำไรสุทธิ 15.55 ล้านบาท และ บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีรายได้ 1,789.28 กำไรสุทธิ 250.95 ล้านบาท  

รับบทผู้บริหาร

กนกทิพย์เข้ามาทำงานที่บริษัทในปี 2557 ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอาวุโสกลุ่มงานบัญชีและการเงิน โดยทำหน้าที่ควบคุม ตรวจทาน บริหารจัดการงานการเงิน จัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีและหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรในเรื่องบริษัทมหาชน รวมทั้งวิเคราะห์งบการเงินเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทในปัจจุบันและในอนาคต “ปกติไม่ได้ข้องเกี่ยวธุรกิจ ปีแรกหลังจากคุณเจริญเสียก็ยังไม่ได้เข้ามา ต้องจัดการเรื่องธุรกิจ ทรัพย์สิน และส่งลูกคนเล็กไปเรียนต่างประเทศ ช่วงนั้นลูกสองคนแรกเรียนอยู่ต่างประเทศแล้ว เข้ามาครั้งแรกเป็น CFO ดูแลการเงิน คุณไชยณรงค์น้องชายคุณเจริญขึ้นเป็นผู้บริหารแทน และทีมงานแข็งก็ประคับประคองมาได้ เราเข้ามาเพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เรียนรู้งานตั้งแต่เริ่มต้น... ตอนเข้ามารับงานต่อได้ปรับโครงสร้างและรูปแบบการทำงานนิดหนึ่ง คุณเจริญเป็นวิศวกร ช่วงที่เขาบริหารจะตัดสินใจเองทั้งหมด เราก็ปรับมาทำงานเป็นทีม ทุก 2 อาทิตย์มีการประชุมผู้บริหารทั้ง 4 บริษัทเพื่ออัปเดตผลงาน แนวทาง ปัญหาต่างๆ ในการดำเนินงาน เช่น ดูว่างานที่เอื้อระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกมีประมาณเท่าไร เวลาลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่บริษัทแม่รับงานก่อสร้างทั้งหมด”  

ขยายสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้า

“คุณเจริญจับงานโรงไฟฟ้าเร็วกว่าคนอื่นเป็นธุรกิจที่ได้ผลตอบแทนสูงและทำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย งานส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ คุณเจริญชำนาญพื้นที่ มองว่ามีศักยภาพ ไม่ค่อยมีคนแข่งขันเนื่องจากระยะทางไกล และทำโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจต่อเนื่อง เราใหญ่สุดทางใต้ จับธุรกิจก่อสร้างแต่แรก งานราชการทางใต้ส่วนใหญ่เป็นของเรา คู่แข่งน้อย บริษัทมหาชนที่ลงภาคใต้มีน้อย เขาก็เชื่อมั่นเรา เราจะได้งานต่อเนื่อง” “โรงไฟฟ้าช้างแรก” ดำเนินการโดย บริษัท ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ จำกัด (CRB) “ช้างแรก” เป็นชื่อตำบลหนึ่งในประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดบ้านเกิด ซึ่งเจริญตั้งใจว่าจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่นี่แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากโดนชุมชนต่อต้าน จึงย้ายไปตั้งที่นครศรีธรรมราช บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2551 ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากชีวมวล มีขนาดกำลังการผลิตเสนอขาย 9.2 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปลายปี 2554 ก่อนจะขยายกิจการมาลงทุนด้านนี้ เจริญเคยรับเหมาก่อสร้างไฟฟ้าที่จะนะ โดยยอมรับงานแบบขาดทุนเพราะต้องการเรียนรู้เทคนิค และใช้เวลาอีก 2-3 ปีเพื่อเรียนรู้โนว์ฮาว เทคนิค สำรวจความพร้อมของเชื้อเพลิง เมื่อมีองค์ความรู้ครบถ้วนจึงได้เวลาปักหมุดธุรกิจใหม่ แม้จะประสบความสำเร็จในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ก็ใช่ว่าเส้นทางก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะราบรื่น ดังที่กนกทิพย์บอกว่า “มีอุปสรรคเยอะ แบงก์ไม่ยอมรับกว่าจะได้สินเชื่อหลายปี มองว่าเราไม่เคยทำธุรกิจจะประสบความสำเร็จไหม แต่หลังจาก COD เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าเดินเครื่อง smooth คือเรายอมลงทุนแพง ใช้เครื่องจักรดีที่สุด พอโรงแรกสำเร็จ โรง 2-3-4 ก็ตามมา เป็น growth” TPOLY Group แม้จะมีโรงไฟฟ้า 11 แห่ง แต่ TPCH ยังมีโครงการที่จะลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ซึ่งประธานกรรมการบริหารบอกว่า มีหลายแห่งติดต่อขอให้ไปสร้างเนื่องจากบริษัทมีชื่อเสียงดี ในส่วนของ TPOLY บริษัทแม่ซึ่งทำธุรกิจก่อสร้าง ปัจจุบันมีสัดส่วนเป็นงานภาครัฐ 80% และภาคเอกชน 20% โครงการส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด โดยปี 2564 ตั้งเป้า backlog ไว้ที่ 3 พันล้าน และครึ่งปีแรกมียอดรอรับรูู้รายได้แล้วเกือบ 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนงานว่าจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม “หากได้ตามเป้าก็จะมีรายได้จากงานก่อสร้างอีก เพราะบริษัทแม่เป็นผู้ก่อสร้างรอประกาศจากภาครัฐเดือนสิงหาคม เรายื่นขอสัมปทานไว้ 5-6 แห่ง เป็นโรงงานไฟฟ้าชีวมวล” รวมทั้งจะรับทำงานระบบเอง เพราะเป็นงานมี margin สูง จากเดิมที่ส่งต่อให้บริษัทอื่นดำเนินการ “เรา takeover บริษัทคู่ค้ามารวมอยู่กับเรา เราทำงานกับบริษัทนี้เป็นสิบกว่าปีแล้ว ตอนนี้อยู่ช่วง due diligence และมีโครงการหุ้นกับบริษัท ซึ่งผลิตน้ำประปาขายให้กับนิคมอุตสาหกรรม ทั้งสองโครงการต้องใช้เงินลงทุนเยอะพอสมควร คาดว่าจะออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน” ประธานกรรมการบริหารกล่าว ขอปิดท้ายด้วยสารจากผู้ก่อตั้ง “เจริญ จันทร์พลังศรี” ซึ่งปรากฏบนหน้าเว็บไซต์ของ TPOLY ความว่า “เราตระหนักอยู่เสมอว่าการดำเนินธุรกิจของเราคือ การได้ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันความสุขกลับคืนสู่ชุมชนในทุกๆ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน และใส่ใจถึงคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อม และเราเชื่อเสมอว่าการเกื้อกูลซึ่งกันและกันจะทำให้เราเติบโตอย่างยั่งยืน”   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine