Kazunari Ogawa สร้าง บล. SBITO ขวัญใจนักลงทุนรุ่นใหม่ - Forbes Thailand

Kazunari Ogawa สร้าง บล. SBITO ขวัญใจนักลงทุนรุ่นใหม่

ด้วยระยะเวลา 20 ปี SBI Group สร้างธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ ที่ปัจจุบันครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นในการเป็นผู้ให้บริการการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่จับกลุ่มตลาดนักลงทุนรุ่นใหม่

Kazunari Ogawa ​ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ (SBITO) ถือเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารคนสำคัญของ SBI Group Companies ทั้งยังร่วมทำงานในยุคที่ SBI ญี่ปุ่น ก่อร่างสร้างธุรกิจ Ogawa รับตำแหน่งซีอีโอประจำประเทศไทยเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา บริหารงาน SBITO หรือที่เรียกกันคุ้นเคยสำหรับนักลงทุนในชื่อ “สบายโตะ” ซึ่งเป็นการรับตำแหน่งต่อจาก Yukiko Roberts ผู้บริหารประจำประเทศไทยคนก่อน เดือนมีนาคม 2563 ถือเป็นเดือนเริ่มต้นปีงบประมาณของบริษัทฯ และเป็นโอกาสอันดีในการเดินหน้าตามกลยุทธ์หลักเพื่อครองใจนักลงทุนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการมุ่งเป้าทำความรู้จักและให้ความรู้ด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ ค่าคอมมิชชั่นที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ “เป้าหมายของผมคือการขยับฐานรายได้และผลกำไรให้ดีขึ้น ด้วย 3 กลยุทธ์คือ ค่าคอมมิชชั่นที่ดีที่สุด เป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องการลงทุนที่ละเอียดและดีที่สุด และงานบริการที่ครอบคลุม โดยทั้ง 3 กลยุทธ์จะมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” Ogawa กล่าว และเสริมว่า “ถ้าถามว่ากลยุทธ์ด้านไหนสำคัญที่สุด คงไม่สามารถตอบได้ เพราะกลยุทธ์แต่ละด้านจะเกื้อหนุนกัน ดังนั้นทุกข้อจึงสำคัญหมดเพื่อสร้างความเข้าใจกับกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ในประเทศไทย” เหตุที่มองว่ากลยุทธ์ทั้ง 3 ส่วนมีส่วนสำคัญและสัมพันธ์กัน เนื่องจากการลงทุนในหุ้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักยิ่งเมื่อเทียบกับพฤติกรรมความสนใจและการลงทุนในหุ้นของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่วัย 24-40 ปีซึ่งเป็นกลุ่มที่ Ogawa มั่นใจว่าจะเข้ามาขยายฐานนักลงทุนของ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ “ผมเชื่อว่าถ้าสามารถวางรากฐานตรงนี้ให้แน่น ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องการลงทุนในหุ้นได้ ก็จะเป็นการสร้างฐานความรู้และทำให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่ได้ในอนาคต” Ogawa กล่าว เขากล่าวด้วยว่านักลงทุนในประเทศไทยพึ่งพาในส่วนของบทความวิเคราะห์เป็นหลัก แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้นักลงทุนลองทำการค้นคว้าข้อมูลเองบ้าง อย่าพึ่งพานักวิเคราะห์อย่างเดียว “การทำการบ้านเองบ้างจะทำให้คุณเป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งมันไม่ยากนะ เอาข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ตมาวิเคราะห์เองได้เลย โดยสิ่งที่คุณหาเพิ่มเติมเข้ามา คุณอาจจะได้เจออะไรใหม่ๆ ก็เป็นได้” บริษัทหลักทรัพย์เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ เป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ไทยอันดับที่ 33 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 มีทุนจดทะเบียน 722 ล้านบาท และเริ่มเปิดให้ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อขายวันที่ 16 ตุลาคม ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นร่วมทุน กับ บมจ.หลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (ปี 2560 ขายหุ้นจำนวนร้อยละ 45 คืนให้กับ SBI Financial Services Co., Ltd.) Ogawa กล่าวว่าถือเป็นโอกาสอันดี ที่เขาได้รับมอบหมายให้เข้ามาบริหารธุรกิจในช่วงของการเริ่มต้น และนำกลยุทธ์ในการสนับสนุนนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ที่เมืองไทย เพราะอยากทำให้ SBITO เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้การสนับสนุนนักลงทุนมากที่สุดเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นที่บริษัทหลักทรัพย์ SBI ให้การสนับสนุนนักลงทุนออนไลน์เทรดดิ้งมากที่สุด อย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นถือเป็นวิกฤตสำหรับการลงทุน แต่ในทางกลับกัน เขามองว่าเป็นโอกาสที่นักลงทุนหน้าใหม่จะเข้ามาจับตลาดตรงนี้ เนื่องจากมีการปรับตัวลงของราคาค่อนข้างมาก “สำหรับวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง ต้องบอกก่อนเลยว่าถ้าเปรียบเทียบกันในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ อุตสาหกรรมจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าได้รับผลกระทบ เนื่องจากตลาดเกิดความผันผวนขึ้น ทำให้มีสภาพคล่องเข้ามา ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องทำคือหาโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุดให้กับนักลงทุน” ดังนั้นเมื่อมีนักลงทุนเข้ามามากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสที่จะมีการเปิดบัญชีมากกว่าเดิม ซึ่งการเข้ามาของนักลงทุนหน้าใหม่ ไม่ใช่แค่บริษัทเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่โบรกเกอร์ รวมไปถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์อีกด้วย ที่จะเติบโตไปพร้อมกัน ภาพรวมของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ในประเทศไทย Ogawa กล่าวเสริมด้วยว่าจากศึกษาพบว่าตลาดหุ้นไทยมีความแตกต่างจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นในหลายๆ ด้าน ยกตัวอย่างเช่น เวลาพักระหว่างการซื้อขายช่วงกลางวันที่ประเทศญี่ปุ่น เวลาพักจะอยู่ระหว่าง 11.30-12.30 น. ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง แต่ประเทศไทยพักถึง 2 ชั่วโมง ในขณะที่การซื้อขายเป็นระบบคอมพิวเตอร์และสามารถซื้อขายออนไลน์ได้ รวมไปถึงเรื่องของ Margin Trading ที่นักลงทุนไทยมองว่าจะทำให้เป็นหนี้ ทั้งๆ ทีวิธีการดังกล่าวคือการลงทุน โดยนักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุน เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือความยุ่งยากของการลงทุน เพราะที่เมืองไทยยังไม่ค่อยเป็นที่นิยม แต่ที่ญี่ปุ่นนิยมมาก ที่ญี่ปุ่นใช้มาร์จินเทรดดิ้งกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่เมืองไทยอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อาจจะด้วยกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่มันยุ่งยากด้วย และอีกความต่างคือการกู้ยืมมาเทรด คนไทยมองว่าเป็นหนี้ แต่คนญี่ปุ่นจะมองว่ามันคือเรื่องของการลงทุน ซึ่งนี่คือความต่างของวัฒนธรรมครับ ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าไม่ใช่แค่ SBI เท่านั้นที่จะต้องแก้ไขเรื่องตรงนี้ แต่ถ้าทุกที่ร่วมกันทำ มันจะยิ่งเป็นการดี เพราะตลาดตรงนี้จะได้โตขึ้นอย่างรวดเร็ว Ogawa กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าในทุกครั้งที่ต้องย้ายฐานการทำงานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง นิสัยของผมคือการปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้นซึ่งไม่ใช่ทำแค่วันแรก เดือนแรก หรือปีแรก แต่ผมทำตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย “ผมรู้สึกว่าผมเติบโตขึ้นทุกครั้งที่ต้องย้ายไปประจำในสถานที่และความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นพลังผลักดันผมตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานใน SBI ญี่ปุ่นให้ทำภารกิจสำเร็จก็คือ “โชค” และผมหวังว่าโชคจะช่วยให้ผมทำเป้าหมายที่วางไว้กับประเทศไทยได้สำเร็จเช่นกัน ภายใต้หลักคิดของการทำงานของผมที่ว่า “Honest and Respect”    
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine