ชายหนุ่มผู้แปรความโศกเศร้าจากความคิดถึงลูกสาวที่จากไป เขาใช้เวลายามว่างผลิตไอศกรีมโมจิจำหน่ายในตลาดนัดรถไฟและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำรายได้แตะหลักล้านตั้งแต่ปีแรก
หลังโควิด-19 ระบาดขยายไลน์มาผลิตไอศกรีมในผลไม้เจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะไอศกรีมในผลสับปะรดซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเกาหลีใต้ และรายได้ 99% มาจากการส่งออก ล่าสุดได้ซื้อที่ดินประมาณ 1,000 ไร่เพื่อปลูกสับปะรดสำหรับเป็นวัตถุดิบรองรับซัพพลาย 7 ล้านชิ้นต่อปี
ฐานพงศ์ จุ้ยประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จำกัด ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่ห้องทำงานซึ่งภายในตบแต่งด้วยโมเดลรถ ตุ๊กตา Care Bears ซึ่งเป็นของสะสม ซ้ายมือของโต๊ะทำงานมีนกยูงสตัฟฟ์สีขาวสวยตั้งโชว์อย่างโดดเด่น
หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ฐานพงศ์ทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ปี 2555 จึงเริ่มทำไอศกรีมโมจิและนำไปขายที่ตลาดรถไฟเนื่องจากคิดถึงลูกสาวที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ
“อยู่บ้านแล้วเครียด ร้องไห้ ไม่รู้จะทำอะไร คุยกับภรรยาทำขนมขายที่ทำงานกันไหม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เราพัฒนาสินค้าขึ้นมาเอง เมื่อก่อนโมจิไอศกรีมวางขายในห้างราคา 400-500 บาท ลูกสาวอยากทานแต่เราเข้าไม่ถึง ตอนแรกทำไม่อร่อยแป้งแข็ง แต่ไอศกรีมอร่อยเพราะซื้อมา สมัยนั้นเอาไอศกรีมไปขายตลาดนัดเป็นเรื่องยาก มีแต่ไอศกรีมถังใส่เกลือ แต่ไอศกรีมแปรรูปไม่มี มันเลยเด่นในตอนนั้น” ฐานพงศ์รำลึกความหลัง
“วันแรกขายดี อีกวันทำไป 400 ลูก ขายลูกละ 25 บาท ทุกคนบอกแพงหมด แต่ผมไม่ลดราคา ใช้เพิ่มท็อปปิ้ง วันนั้นขายได้ 10,000 บาท ดีใจมาก และขายดีมาเรื่อยๆ จนมีคนมาขอซื้อส่งเยอะ เราเริ่มทำขายส่ง ตอนนั้นยังทำงานประจำด้วย กลางคืนทำ เช้ามืดส่ง ไปส่งสนามบินบ้าง เพราะส่งไปต่างจังหวัด 8 โมงมาทำงาน เลิกงานกลางคืนมาทำขนม จันทร์-ศุกร์ เช้าส่งขนม 8 โมงทำงาน เสาร์-อาทิตย์ขายของ วันอาทิตย์กลับถึงบ้านตี 3 ชีวิตวนแบบนี้อยู่ร่วมปี”
ช่วงแรกแม้จะมีคนสนใจซื้อไปจำหน่ายคราวละมากๆ แต่ลูกค้าไม่ซื้อซ้ำ เมื่อสอบถามพบว่า ผู้บริโภคในต่างจังหวัดไม่ทราบว่าคืออะไร เขาไม่อยากเสียโอกาสก็เลยคิดแก้ปัญหาแทนคู่ค้าขายส่งเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักจึงออกแบบหน้าร้าน ทำโมเดลตั้งโชว์ และเทรนการขายให้ ปรากฏว่าขายดีผิดคาด กระทั่งทำแฟรนไชส์ในเวลาต่อมา
พลิกโอกาสจากโควิด
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2562 เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาด ต่างประเทศมีการล็อกดาวน์ เขาประเมินสถานการณ์ว่าถ้ามาถึงประเทศไทยจะทำอย่างไร เพราะตลาดหลักคือถนนคนเดินและหัวเมืองท่องเที่ยว คิดว่าน่าจะทำตลาดส่งออก ประกอบกับเห็นข่าวจากโทรทัศน์ว่าชาวสวนนำสับปะรดมาเททิ้งเพราะราคาตกต่ำ
“เราสนิทกับเพื่อนคนหนึ่งทำโรงงานไอศกรีม เราเอาไอศกรีมเขามาทำโมจิ ก็คิดว่าจะทำอะไรกันดี จะทำแยมหรืออะไร...สรุปว่าเอาลูกสับปะรดมาทำเป็นแพ็กเกจหรือถ้วย โดยได้ตัวอย่างจากออสเตรเลีย ครั้งแรกทำกันเองในบ้าน แล้วปีนั้นมีงาน THAIFEX บริษัทของเพื่อนไปออกบูธและเอาไอศกรีมไปวาง ปรากฏว่าลูกค้าเดินไปหลังบูธเห็นตู้แช่และโทรหาผมสั่งซื้อ 5 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละ 25,200 ชิ้น” ฐานพงศ์เล่า
“ตอนแรกคิดว่าฝัน ครั้งแรกแสนกว่าชิ้น วันแรกดีใจเหมือนฝัน พอวันที่ 2 นั่งคุยกับเพื่อน เอาไงเพราะไม่มีโรงงาน เดิมโรงงานโมจิอยู่ในซอยหมู่บ้าน มีแค่ 200 ตารางวา คือโอกาสมีแล้วต้องทำให้ได้ เลยไปเช่าที่หลังโรงงานอีก 100 ตารางวาสร้างโรงเรือนเพื่อผลิตไอศกรีมสับปะรด ลงทุน 5-6 ล้าน เพื่อนลงทุนครึ่งหนึ่ง ผมไม่มีก็ยืมคุณแม่เขามา”
ฐานพงศ์เป็นคนกล้าเสี่ยง เมื่อมีออร์เดอร์เข้ามาก็รับไว้ แม้ไม่เคยทำส่งออก ไม่รู้ขั้นตอนการทำเอกสาร ชิปปิ้ง หรือเงื่อนไขของประเทศปลายทาง ผลก็คือ สินค้าทั้ง 5 ตู้ถูกตีกลับทั้งหมด
“ตู้แรกและตู้ที่ 2 เชื้อเกิน ตู้ 3 ละลายระหว่างทาง ทั้ง 5 ตู้ที่สั่งมาโดน reject หมด ช่วงนี้ชีวิตทรมานที่สุด เรายืมเงินเขามา 5 ล้าน กู้หนี้อีก 5 ล้าน รวมเป็น 10 ล้าน...บ้านจะถูกยึด จากเดิมเคยเป็นเด็กขับมอเตอร์ไซค์มีบ้านเดี่ยวอยู่กำลังจะไปแล้ว ก็บอกเพื่อนว่าเราเจ๊งแล้ว ทำงานเกินตัว หนี้สินทั้งหมดผมรับผิดชอบเอง ขอทยอยผ่อนคุณแม่ให้ เขาบอกสู้อีกหน่อยไหม”
หลังจากนั้นเขาไปศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ นำมาปรับปรุงการทำให้ผลสับปะรด (ที่ทำเป็นถ้วยใส่ไอศกรีม) ปราศจากเชื้อ หรือมีจำนวนเชื้อแบคทีเรียไม่เกินเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล นั่นเป็นที่มาของสินค้าตู้ที่ 6 ซึ่งประสบความสำเร็จ และทำให้เขาปลดหนี้ทั้งหมดภายในเวลา 1 ปี
สร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ไทย
บจ. แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป จัดตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 (เดิมชื่อบริษัท D&I รับจ้างผลิตไอศกรีมสับปะรดส่งออกไปยังประเทศเกาหลีใต้) ดำเนินธุรกิจการผลิตขนมหวานแช่แข็งและไอศกรีม โดยมีเป้าหมายว่าจะเป็นผู้นำในธุรกิจรับจ้างผลิตไอศกรีมเพื่อส่งออกทั่วโลก เนื่องจากเล็งเห็นว่าช่วงที่ผ่านมามีผู้สนใจว่าจ้างผลิตไอศกรีมติดต่อเข้ามาเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบ
จุดเด่นของบริษัทคือ มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตไอศรีมจากผลไม้จริงที่ปลอดเชื้อ ควบคุมการผลิตด้วยมาตรฐานส่งออกต่างประเทศ และไอศกรีมผลไม้ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้ สินค้าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. ไอศกรีมหวานเย็นในลูกผลไม้ ไอศกรีมซอร์เบท (sorbet) ในผลไม้พร้อมทาน อาทิ สับปะรด, เสาวรส, มะพร้าว, แก้วมังกร, แตงโม, เมล่อน โดยมีทั้งการรับจ้างผลิตและแบรนด์ของบริษัทเองชื่อ Max Fresh วางจำหน่ายในจีนและซาอุดีอาระเบีย
2. ไอศกรีมผลไม้แท่ง Fruits lato stick อาทิ รสสับปะรด, มะม่วง, ทุเรียน, มะพร้าว, มะขาม, ข้าวโพด ฯลฯ
3. โมจิญี่ปุ่นสอดไส้ไอศกรีม ซึ่งมีให้เลือกถึง 18 รส เช่น คุกกี้ & ครีม, นม, มะม่วง, ช็อกโกแลต, มอลต์, ทุเรียน, เมล่อน, บลูเบอร์รี่, สตรอว์เบอร์รี่, มะนาว, ชาเขียว, ชาไทย, เผือก, สับปะรด, งาดำ ก่อนโควิดระบาดมีแฟรนไชส์ 300 แห่ง ปัจจุบันขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ส่วนแบรนด์ของบริษัทชื่อ Mochilato วางจำหน่ายที่ประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี
สินค้าขายดีคือ ไอศกรีมหวานเย็นรสสับปะรดในลูกสับปะรด ตลาดหลักคือเกาหลีใต้ “ที่เกาหลีนิยมผสมกับโซจูกินในผับใช้แทนแก้วเหล้าเป็นเทรนด์ ผมเอาเทรนด์นี้ไปขายทั่วโลก...ส่วนโมจิไอศกรีมขายที่ฝรั่งเศส คนส่วนใหญ่แพ้นม เราพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ vegan ขายดี ส่วนที่ออสเตรเลียแพ้ถั่วและงาก็ไม่ขายรสงาดำที่นั่น”
ฐานพงศ์เริ่มทำไอศกรีมซอร์เบทจำหน่ายในปี 2561 ก่อนจะก่อตั้งบริษัทในปี 2563 และเริ่มขายในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทยแต่ยอดขายกลับเติบโตสวนกระแส “เราขายได้ 6 เดือนยอดขายเกินเป้าประมาณ 100 ล้าน ปี 2565 ตั้งเป้า 250 จบ 300 ปี 2566 ทำการตลาดเพิ่มทุกช่องทางกะว่าแตะ 400 แน่ แต่จบที่ 340 ล้านบาท”
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ Maxfood Group
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Yeap Swee Chuan นำทัพอาปิโก ชิ้นส่วนยานยนต์ทะยานสู่ยุค “EV”