สิ่งแวดล้อมถูกทำลายเป็นประเด็นใหญ่ที่คนทั้งโลกตระหนักและให้ความสำคัญ แต่ถึงกระนั้นความสูญเสียจากสิ่งแวดล้อมถูกทำลายก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่คนที่จะลุกขึ้นมาอนุรักษ์หรือคิดค้นธุรกิจที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืนยังมีไม่มากนัก อาจด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทั้งเงินทุน เทคโนโลยี และความเป็นไปได้ทางการตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกยังมีไม่มากพอ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์และภาชนะใส่อาหารในบ้านเราส่วนใหญ่ยังเป็นพลาสติก และหลายแห่งยังใช้โฟมทั้งที่มีผลวิจัยว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้นอกจากไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย
“สมัยผมเรียนหมอปี 3 วิชา Toxicology พูดเรื่องสารก่อมะเร็งจาก petroleum-based เรารับรู้ว่าโฟมและพลาสติกไม่ปลอดภัย แต่ 30 ปีต่อมาทั้งโฟมและพลาสติกก็ยังใช้ใส่อาหาร” นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) เผยที่มาของแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นด้วยเจตนาแน่วแน่ที่คำนึงถึงสุขภาพของผู้ใช้บรรจุภัณฑ์และภาชนะที่ไม่ปลอดภัยซึ่งฝังใจมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ จบออกมาเป็นแพทย์และกระทั่งผันตัวมาทำธุรกิจ
เศรษฐกิจหมุนเวียน
จากจุดเริ่มต้นในปี 2548 คุณหมอวีรฉัตรก่อตั้งบริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้น ฝ่าฟันอุปสรรคความยากในการพัฒนาสินค้า บริหารต้นทุนให้สามารถเข้าสู่ตลาดได้ กระทั่งสร้างการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์และภาชนะแบรนด์ gracz เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้ที่ห่วงใยสุขภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพืชธรรมชาติ (natural plant fiber product) ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อสุขภาพและยั่งยืน เพราะตอบโจทย์ทั้งเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อสุขภาพ และสร้างเศรษฐกิจมุนเวียนให้ชุมชน โดย Gracz ได้ทำแพ็กเกจจิ้งสินค้าผลไม้และอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง เป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ
โมเดลธุรกิจของ Gracz มีความน่าสนใจเพราะนอกจากตัวบรรจุภัณฑ์ได้รับการพัฒนาขึ้นจากวัตถุดิบที่ปลอดภัยจากเยื่อพืช 100% วงจรการผลิตยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ของเสียในการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ฟางข้าว ฟางข้าวโพด และเยื่อพืชอื่นๆ ที่มักถูกนำไปเผาทำลายและก่อมลพิษทางอากาศทำให้เกิดฝุ่นควันและ PM2.5 ดังนั้น เมื่อนำมาเป็นวัตถุดิบเกษตรกรก็ไม่ต้องเผาทำลายทั้งฟางข้าว ฟางข้าวโพด ชานอ้อย แม้กระทั่งเปลือกทุเรียน
“ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีของเหลือใช้จากการเกษตรถึง 60% ใช้จริงแค่ 40% ของเหลือพวกนี้ไม่ควรเป็นเศษเหลือทิ้งให้มีปัญหาในการทำลาย” คุณหมอนักพัฒนาวัย 50 อธิบายด้วยว่า ของเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้เมื่อไม่ใช้ประโยชน์แล้วกลายเป็นโทษ ซ้ำต้องเสียเงินลงทุนในการกำจัด เมื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้จึงเป็นประโยชน์ 2 ต่อ ช่วยแก้ปัญหาของเสียเหลือทิ้ง ลดปัญหาการเผาทำลายและยังดีต่อสุขภาพ แต่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากเกษตรกรก็ไม่ง่ายนัก
“เราร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการแปรรูปฟางข้าวมาใช้เป็นวัตถุดิบด้วยกระบวนการที่เรียกว่า pre-process คือ แปรรูปฟางข้าวของชาวบ้านให้เป็นแผ่นเยื่อแห้งก่อนส่งเข้าโรงงาน” นพ.วีรฉัตรบอกว่า วิธีนี้ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง เพราะแผ่นเยื่อแห้งมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา
ขั้นตอนการทำ pre-process ทางบริษัทฯได้ร่วมกับชุมชนเกษตรกรโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นศูนย์กลางรับซื้อฟางข้าวจากชาวบ้านเพื่อมาแปรรูปผ่านกรรมวิธีง่ายๆ ให้เป็นแผ่นเยื่อแห้งซึ่งทำให้การขนส่งเข้าโรงงานมีต้นทุนไม่สูงมากใช้พื้นที่การขนส่งน้อยลง และวิธีนี้ยังช่วยให้เกษตรกรส่งฟางข้าวมาแปรรูปได้สะดวกภายในหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลาง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ที่สำคัญช่วยลดการเผาทำลาย ทุกคนได้ประโยชน์
คุณหมอวีรฉัตรอธิบายว่า โมเดลที่โรงงาน gracz ทำอยู่นี้ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เพราะนำของเหลือทิ้งมาพัฒนาให้เป็นโปรดักต์ใหม่ สร้างรายได้กลับคืนให้กับผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ทั้งเกษตรกร ชาวบ้าน โรงงาน และผู้บริโภค ลดการสูญเสียแถมยังลดปัญหาฝุ่นควันไปด้วย เป็นคอนเซ็ปต์การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ครบวงจร
ปลอดภัยปลอดสาร
ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2548 โดยสำนักงานและโรงงานตั้งอยู่บนพื้นที่ 48 ไร่ ริมถนนสายเอเชีย อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารชนิด biodegradable จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเป็นบริษัทเดียวใน AEC: ASEAN Economic Community (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) ที่ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์และภาชนะที่มาจากเยื่อพืชธรรมชาติ ซึ่งมีความปลอดภัยต่อสุขภาพไร้สารก่อมะเร็ง และคุณสมบัติใส่ได้ทั้งน้ำและน้ำมันโดยไม่รั่วซึม สามารถใส่อาหารได้ทั้งร้อนและเย็น นำเข้าอุ่นในเตาไมโครเวฟ เตาอบ และช่องแช่แข็งได้
เทคโนโลยีที่คุณหมอวีรฉัตรกล่าวถึงคือการต่อยอดจากการผลิตบรรจุภัณฑ์และภาชนะใส่อาหารขยายไปสู่คุณสมบัติการใช้งานที่เพิ่มขึ้น เช่น ทำให้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้สามารถรักษารสชาติและกลิ่นอาหารได้ ขณะเดียวกันยังช่วยยืดอายุอาหารให้คงสภาพได้นานขึ้น เช่น บรรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับเนื้อสดใน Tops ซูเปอร์มาร์เก็ต ออกแบบให้เนื้อแนบติดในบรรจุภัณฑ์ไม่มีช่องอากาศช่วยคงสภาพอาหารสดได้นานขึ้น
ในแง่การพัฒนาและนวัตกรรมคุณหมอวีรฉัตรบอกว่า gracz พัฒนาตลอดเวลานอกจากบรรจุภัณฑ์ที่ปัจจุบันใช้งานได้ดีแล้ว แต่ยังต้องใช้ฟิล์มพลาสติกเพื่อให้เห็นอาหารภายใน ทางบริษัทกำลังคิดค้นและพัฒนาฟิล์มถนอมอาหารที่ย่อยสลายได้เพื่อทำให้บรรจุภัณฑ์ gracz ครอบคลุมการใช้โดยไม่ต้องพึ่งพลาสติก
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโปรดักต์ให้ตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายขึ้น “เราทำตัวอย่างส่งไปเยอรมันเข้าเชนร้านอาหารใหญ่กว่า 2,000 สาขา เป็นภาชนะใส่น้ำและนำต้นไม้ใส่ไว้ เป็นกิมมิกส์คือผักสลัดตัดกินได้ ขายเป็นชุดที่เยอรมัน” เป็นอีกก้าวของนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ร่วมสร้างพฤติกรรมใหม่ในตลาด ลดการใช้บรรจุภัณฑ์โดยไม่จำเป็น ลดขั้นตอนการบริโภคผักสลัดให้สะดวกและปลอดภัย
กว่า 19 ปีบนเส้นทางบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมการพัฒนาไม่เคยหยุดนิ่ง นอกจากช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ภาชนะพลาสติกและโฟมที่ย่อยสลายยากแล้ว เป้าหมายของ gracz ก้าวไปไกลกว่าแพ็กเกจจิ้งด้านอาหาร ปัจจุบันขยายการผลิตบรรจุภัณฑ์ไปสู่การใช้งานอื่นๆ ที่ต้องการความสะอาด ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องใช้หรือภาชนะบางอย่างในโรงพยาบาล เช่น ถาดเครื่องมือในห้องผ่าตัด ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดโรงพยาบาลต้องการภาชนะที่ปลอดภัยใช้แล้วทิ้ง
“ช่วงโควิดโรงพยาบาลศิริราชต้องการภาชนะที่ใช้แล้วทิ้งในการใส่สำลี ใส่เข็ม ใส่แอลกอฮอล์ เบตาดีน เราเริ่มทำเซ็ตทำแผล ล้างไต สวนปัสสาวะ เซ็ตแผลหลังคลอด” นพ.วีรฉัตร เผยว่า ความรู้และประสบการณ์ในฐานะแพทย์ทำให้เขาคิดค้นออกแบบภาชนะปลอดภัยใช้แล้วทิ้งให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งช่วยลดต้นทุน และลดภาระพยาบาลไม่ต้องล้างเก็บและเตรียมกลับมาใช้ซ้ำ ภาชนะ gracz ปลอดภัยใช้แล้วทิ้งราคาถูกว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและนำกลับมาใช้ซ้ำของถาดสแตนเลสแบบเดิม ที่สำคัญยังตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของเหลือใช้จากการเกษตร สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่พัฒนาไปได้ไกลจากการใช้ใส่อาหารไปสู่ภาชนะที่ถูกสุขอนามัยใช้ในโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย
หน้ากากอนามัย (hygiene mask) เป็นอีกโปรดักต์ที่ gracz ผลิตขึ้นในช่วงโควิด แต่คุณสมบัติยังไม่ดีนัก ช่วยเรื่องหายใจได้แต่ยังไม่แนบกับใบหน้า สามารถใช้ประจำวันได้ ในโรงงานได้ แต่ยังกันเชื้อโรคไม่ได้ ส่วน PM2.5 กันได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ภาชนะอาหารไปได้ไกลพอสมควร สามารถใส่ไมโครเวฟ ใส่เตาอบได้ ใช้เป็นถ้วยทำไข่ตุ๋นได้ “หลายคนชอบซับน้ำมันจากอาหาร โดยนำทิชชู่มาเป็นตัวดูดน้ำมันซึ่งอันนี้ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะทิชชู่มีสารอันตรายตกค้าง แต่ภาชนะจากเยื่อพืชปลอดภัยและซับน้ำได้โดยใช้กับหม้ออบลมร้อน”
ภาชนะอีกอย่างที่น่าสนใจคือ ถ้วยขนมหรือถ้วยคัปเค้ก คุณหมอวีรฉัตรย้ำว่า ถ้วยขนมของ gracz สามารถใส่ขนมและเข้าเตาอบทนความร้อนได้ถึง 250 องศา ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถ้วยไปมาในขั้นตอนการทำ สามารถใช้ถ้วยขนม gracz เข้าเตาอบและออกวางจำหน่ายได้เลย “เรากำลังสร้างตลาด food และ nonfood ให้คนใช้ภาชนะปลอดภัยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง แต่เป้าหมายใหญ่คือ ต้องการใช้ของเหลือการเกษตรไม่ก่อมลพิษจาการเผา พยายามทำให้ได้ตลอดทั้ง chain ” โดยเกษตรสามารถนำของเหลือใช้มาเป็นรายได้ เช่น ฟางข้าวนำมาทำ pre-process เป็นแผ่นเยื่อแห้งส่งเข้าโรงงาน
ต่อยอดสู่ตลาดโลก
บรรจุภัณฑ์แบนด์ gracz เติบโตด้วยดี คุณหมอเผยว่า ใน 6 เดือนหลังของปีนี้ (2567) จะขยายตลาดทั้งกลุ่มอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร รวมถึงแพ็กเกจจิ้งเพื่อการแช่แข็งที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้บริษัทวางแผนขยายการผลิตรองรับถึงปีหน้า “ผมเชื่อว่าดีมานด์จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แม้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยไม่ดี แต่ดีมานด์เพิ่มขึ้นเพราะเป็นเทรนด์ของโลก” นพ.วีรฉัตรเผยโอกาสธุรกิจ gracz ยังไปได้อีกไกล ดูจากผลประกอบการที่เริ่มกลับมาดีตั้งแต่ปี 2566
“ปีนี้ต้นปีมีกำไร รายได้ 6 เดือนแรก 360 ล้านบาท กำไร 30 ล้านบาท ดีกว่าก่อนโควิด แต่ปีที่แล้วยังขาดทุนต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขาดทุนหนัก แต่กลับมาเป็นบวกแล้ว” ส่วนเป้าหมายในอีก 3-5 ปีข้างหน้าคุณหมอวีรฉัตรเผยว่า ในปี 2568 รายได้น่าจะถึง 1 พันล้านบาท และวางแผนไว้ว่า 5 ปีรายได้จะเพิ่มเป็น 3 พันล้านบาท (ปี 2572) ส่วนกำไรอยู่ที่ 10-15%
การผลิตในปัจจุบัน gracz มี 3 โรงงานตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันคือที่ชัยนาท กำลังการผลิตทั้ง 3 โรงงานรวม 2.5 ล้านชิ้น/วัน “การรับรู้ของคนดีขึ้นเยอะเทียบกับตอนแรก และต้นทุนก็ลดลงเยอะจาก 4.50 บาทเหลือ 2 บาท เป็นสิ่งที่ต้องบอกให้ผู้บริโภครู้ เพราะทุกวันนี้คนยังคิดว่าบรรจุภัณฑ์จากเยื่อพืชราคาแพงอยู่ที่ 5 บาท แต่ในความเป็นจริงราคาลดลงมามากแล้ว”
การพัฒนาต้องเดินหน้าต่อไป การให้ความรู้กับตลาดและผู้บริโภคก็เช่นเดียวกัน คุณหมอยกตัวอย่างการพัฒนาล่าสุด แพ็กเกจจิ้งส้มโอที่ทำร่วมกับ Tops ซูเปอร์มาร์เก็ตจะทำเป็น prolong life packaging ช่วยเพิ่มวันในการเก็บสินค้าจาก 3 วันเป็น 8-10 วัน ซึ่งจะลดต้นทุนได้มาก เป็นโครงการนำร่อง 3-6 เดือน ก่อนขยายไปทำให้เจ้าอื่น “การเดินทางของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกและสุขภาพเริ่มเห็นโอกาสและภาพอนาคตชัดเจนขึ้น”
เครดิตภาพ : gracz
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นพมาศ ปิยะธำรงชัย แม่ทัพหญิงคนแรก BTicino ไทย