มานพ ธรรมสิริอนันต์ ไมโครชิปสัญชาติไทย สื่อไกลทั่วโลก - Forbes Thailand

มานพ ธรรมสิริอนันต์ ไมโครชิปสัญชาติไทย สื่อไกลทั่วโลก

มานพ ธรรมสิริอนันต์ เล็งเห็นโอกาสของธุรกิจ “อิเล็กทรอนิกส์” ที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญหนึ่งของประเทศ ในช่วงปี 2553-2561 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เป็นสัดส่วน 14.33-17.37% ของมูลค่าการส่งออก โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีบริษัทของคนไทยผลิตไมโครชิปจำหน่ายไปทั่วโลก ซึ่งเกิดจากความตั้งใจของ มานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี ที่ค้นพบตัวเองตั้งแต่ยังเด็กว่าชื่นชอบงานไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ จึงมุ่งเรียนสายวิศวกรรมกระทั่งจบปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์สาขาไมโครชิปดีไซน์ จากมหาวิทยาลัย Carleton ประเทศแคนาดา และถูกชักชวนให้ไปทำงานกับบริษัทใน Silicon Valley หลังฟองสบู่ดอทคอมในสหรัฐอเมริกาแตกจึงกลับมาประเทศไทย ปี 2545 มานพได้ก่อตั้ง บมจ. ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี หรือ SICT ร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ประกอบด้วย ผศ.ดร. นัยวุฒิ วงษ์โคเมท, ศ.ดร. อภินันท์ ธนชยานนท์ และ ผศ. อภิเนตร อูนากูล ปี 2547 บริษัทเริ่มพัฒนาวงจรรวม (IC) สำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุ (RFID animal identification ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.) โดยทำได้สำเร็จเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน SICT จัดเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 มีลูกค้าในหลายประเทศ อาทิ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา โดยรายได้มาจากการส่งออก 99% จำหน่ายในประเทศเพียง 1% เท่านั้น ปัจจุบัน SICT มีสินค้า 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ไมโครชิปสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์ (immobilizer), ไมโครชิปสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (animal identification), ไมโครชิปสำหรับระบบเข้าออกสถานที่ (access control) ระบบการอ่านข้อมูล (interrogator) และกลุ่มสุดท้ายคือ สินค้าบริการอื่นๆ  
  • ประสบการณ์จาก Silicon Valley
ผู้ก่อตั้ง SICT บอกกับเราว่า เขาค้นพบตัวเองเร็ว รู้ว่าต้องการทำงานอะไร หลังจบปริญญาโท มานพไปทำงานกับบริษัทไมเทล เซมิคอนดัคเตอร์ในแคนาดา เพื่อทำการวิจัยไมโครชิปที่จะมาใช้กับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้เทคโนโลยี ADSL ซึ่งช่วงนั้นเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ dial-up modem และบริษัท PMC-Sierra ทำไมโครชิปสำหรับเชื่อมต่อข้อมูลทั่วโลกให้เร็วมากขึ้น ในปี 2539 เป็นทีมดีไซน์ไมโครชิปให้กับบริษัท Exar ซึ่งอยู่ใน Silicon Valley สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งเกิดวิกฤตฟองสบู่อินเทอร์เน็ตแตกในปี 2543 จึงเดินทางกลับมาประเทศไทย ก่อนหน้านั้นเขาเป็นคนไทยหนึ่งในโครงการสมองไหลกลับ ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ดึงให้มาร่วมพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชนในไทย โดยระหว่างยังทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนความคิดกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยช่วง 5 ปีแรกที่ก่อตั้งบริษัทเน้นการทำวิจัยและพัฒนา แต่ยังไม่มีการผลิตสินค้าออกมา ปี 2546 ทีมงานจึงได้พัฒนาไมโครชิปสำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุ SICT ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. โดยเป็นลูกค้ารายแรก มีการส่งมอบงานเป็นระยะ เช่น ผังวงจรรวม ต้นแบบ ear tag หลังจากนั้นนำมาปรับใช้ผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่นที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันโดยใช้มาตรฐานระดับสากลเพราะต้องการส่งออก เนื่องจากยังไม่มีตลาดในเมืองไทย “เรายังไม่มีคู่แข่งในเอเชีย มีแต่เบอร์ 1-3 ของโลก ซึ่งเกิดก่อนเรา 3-4 ปี ทุกอย่างใหม่หมด ฉะนั้น RFID ใน animal tag เติบโตตามภาคบังคับต่างประเทศ” มานพเล่าว่า พัฒนามาได้ 3-4 ปี ทุนหมดยังไม่มีตลาดส่งออก ไม่มีแบรนด์และไม่มีมาตรฐานรองรับว่าทำงานอย่างบริษัทคู่แข่งได้หรือเปล่า “บริษัทต้องพยายามพิสูจน์ว่าของเราดีจริงโดยทำหลายวิธีมาก ตั้งแต่พิสูจน์ว่า performance เทียบเท่าของ ต่างประเทศ และช่วงต้นๆ ยังเติมความแปลกใหม่ด้วย อย่างลูกค้าต้องการแค่รหัส ID แต่เราสร้าง database ให้ด้วย เป็นมูลค่าเพิ่ม สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่เคยใช้ของต่างประเทศ”  
  • Animal Tag สร้างชื่อ
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อลูกค้าจากออสเตรเลียต้องการหาบริษัทขนาดเล็กเพื่อผลิตไมโครชิปใช้ในระบบลงทะเบียนสำหรับกลุ่มปศุสัตว์ด้วยระบบ RFID หรืออิเล็กทรอนิกส์แท็กในรูปแบบของ ear tag โดยลูกค้ามีความเชื่อว่า บริษัทขนาดเล็กจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าบริษัทใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ลงทุนพัฒนาร่วมกัน ผลิตภัณฑ์กลุ่ม animal tag เติบโตตามภาคบังคับของแต่ละประเทศที่มีปศุสัตว์และบังคับให้ลงทะเบียน โดยลูกค้าหลักอยู่ที่ ออสเตรเลีย ส่วนอื่นๆ มีที่ญี่ปุ่น และจีน รายงานของบริษัทระบุว่า ข้อดีของการลงทะเบียนสัตว์ด้วยระบบ RFID คือสามารถบันทึกข้อมูลประวัติสายพันธุ์, การให้อาหาร, การรับวัคซีน เป็นต้น ในปี 2547 รัฐบาลออสเตรเลียบังคับใช้กับวัวทุกตัว ปี 2560 เริ่มประกาศบังคับใช้กับแกะและแพะที่เกิดใหม่ในรัฐ Victoria และกำหนดว่าภายในปี 2565 จะบังคับใช้กับแกะและแพะทุกตัวที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายจากรัฐดังกล่าว การเติบโตของจำนวนวัวและแกะเกิดใหม่ในประเทศออสเตรเลียจึงเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตสินค้าของบริษัท ปัจจุบันระบบลงทะเบียนสัตว์ในประเทศออสเตรเลีย หรือ national livestock identification system (NLIS) อยู่ภายใต้การดูแลของ NLIS Ltd. ซึ่งเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์และระบบที่จะใช้ในระบบลงทะเบียนสัตว์ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 มีอุปกรณ์แท็กระบบ RFID จำนวน 17 รายการจากผู้ประกอบการจำนวน 9 ราย ที่ได้รับการรับรองจาก NLIS และมีผู้ประกอบการ 8 รายที่ใช้ชิปของ SICT “เราขยายตลาดด้วยการ expand เข้าไปในตลาดของคู่แข่ง และ proof ว่าเทคโนโลยีของเรายังพัฒนาต่อเนื่อง มีช่องทางที่จะเติบโตต่อได้ animal tag เติบโต 15-20% หมายความว่าสิ่งที่เราพัฒนามีการ improve ตลอดเวลา คู่แข่งอาจไปเล่นสินค้าที่มี s-curve ใหม่ แต่เราวิเคราะห์ว่า segment นี้ยังมีดีมานด์ต่อไปได้อีก เราใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ไม่เคยทำงานกับเบอร์ 1 ใน industry ของ animal tag เราจับเบอร์ 2 และ 3 และเชียร์ให้เขาเก่ง พอถึงจุดหนึ่ง เบอร์ 1 ทนไม่ได้ ต้องมาใช้ชิปของเรา เพราะเบอร์ 2 และเบอร์ 3 เริ่มกิน performance ในราคาที่สูสีกันหรือถูกกว่า เราเป็น reasonable pricing”  
  • Core Technology ขยายผลิตภัณฑ์
ต่อมาบริษัทได้ออกแบบและพัฒนาผลิตสินค้าอีกหลายตัวในกลุ่มเทคโนโลยีบ่งชี้อัตลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ (RFID) อาทิ ไมโครชิป สำหรับระบบเข้าออกอาคาร (access con-trol), ไมโครชิปที่ใช้ในดอกกุญแจสำรองและเครื่องอ่านรหัสกุญแจสำรองแบบเข้ารหัสของยานยนต์ (immobilizer) รวมถึงไมโครชิปในกลุ่มคลื่นความถี่สูงแบบไร้สายในระยะประชิด (NFC) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าในกลุ่มเครื่องตรวจวัดค่าทางไฟฟ้า กายภาพ และเคมี (sensor) เป็นต้น
ไมโครชิป NFC ใช้ตรวจสอบคุณภาพน้ำ และ ใช้กับระบบฉลากอัจฉริยะป้องกันการลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์
“พอมี core technology สามารถพัฒนาเป็นโปรดักต์ได้หลายตัว แปลว่าเทคโนโลยีที่บริษัทลงทุน 1 ตัว ออกดอกออกผลอีกเยอะ เราเน้นที่ core ขณะเดียวกันก็มีจุดแข็ง เวลาลูกค้ามาติดต่อต้องการให้ผลิตตาม stan-dard แต่ขอเพิ่มรายละเอียดอีกนิดหนึ่งเราก็ทำให้ ถ้าเป็นรายใหญ่จะไม่ทำ แต่บริษัทรับสั่งตัดได้จึงเป็น opportunity ของเรา” สินค้าที่เติบโตในเวลาต่อมาและสร้างรายได้เป็นอย่างมากคือ ไมโครชิปในลูกกุญแจสำรองและเครื่องอ่านรหัสเพื่อทำกุญแจสำรอง ซึ่งป้องกันการใช้กุญแจปลอมในการโจรกรรมรถยนต์
ไมโครชิปกลุ่ม immobilizer ใช้ในระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์
สัดส่วนของรายได้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม animal tag ยังคงเป็นรายได้หลัก 30-40% ไมโครชิปสำหรับระบบกุญแจสำรองของรถยนต์ช่วงปี 2551-2552 มีสัดส่วนเกือบ 80% ปัจจุบันอยู่ที่ 25-35% “กลุ่มที่เรียกว่า access control พวกคีย์การ์ดโรงแรม หอพัก ดีมานด์ค่อนข้างดี อย่างประเทศจีนปีหนึ่งใช้ 400-500 ล้านชิ้น ตัวชิปที่เราสร้างทำให้เป็น multipurpose ใน core technology เดียวกันพอลูกค้าเห็นก็บอกมา develop ไปปูพรมที่จีนกันไหม จึงได้ segment นี้มาด้วย เป็นโปรดักต์ที่มาโดยไม่คาดคิด หลังปี 2550 ขยับจาก low frequency ขึ้นมาเป็น high frequency พอปี 2551 มีอีกตระกูล ตอนนั้น NFC มาก็เลยเจาะด้าน high frequency พวกบัตรโดยสารรถไฟฟ้า บัตรเข้าออกองค์กร...ช่วงนั้นพัฒนาไปกับคู่ค้า จุดเด่นที่เราทำคือขายความเป็นนวัตกรรม multipurpose ตลาดมันโต เราทำแบบอินเตอร์ขายได้ทุกที่”
แท็กและเครื่องอ่านสำหรับระบบเข้าออกอาคาร
การผลิตสินค้าหลายแบบเพื่อกระจายความเสี่ยง เนื่องจากสินค้ามีทั้งเปลี่ยนช้าและเร็ว การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ดูตามเทรนด์ของโลก โดยตั้งเป้าไว้เฟสละ 10 ปี ในตอนท้ายมานพกล่าวถึงเป้าหมายว่า เขาต้องการให้ SICT เติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรคู่ค้า แบรนด์ SIC ได้รับการยอมรับและเป็นอันดับ 1 ในตลาดไมโครชิปสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ในกลุ่มปศุสัตว์  
คลิกอ่านฉบับเต็ม “มานพ ธรรมสิริอนันต์ ชิปสัญชาติไทย สื่อไกลทั่วโลก” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine