Heroes of Philanthropy: 10 สุดยอดผู้บริจาคเพื่อการกุศลแห่งทวีปเอเชีย - Forbes Thailand

Heroes of Philanthropy: 10 สุดยอดผู้บริจาคเพื่อการกุศลแห่งทวีปเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Oct 2017 | 06:15 PM
READ 3573
ตั้งแต่ปี 2008 Forbes Asia ได้สืบเสาะทั่วภูมิภาคเอเชียเพื่อจัดอันดับสุดยอดผู้ใจบุญเป็นประจำทุกปี เพื่อเฟ้นหาบุรุษและสตรีที่ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังนำเสนอผู้ที่มียอดบริจาครวมมหาศาลตลอดหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย เป้าหมายคือการคัดเลือกผู้ใจบุญตัวจริง ซึ่งหมายถึงผู้ที่ควักกระเป๋าส่วนตัวเพื่อการกุศลไม่ใช่เงินจากบริษัท (นอกเสียจากว่าพวกเขาจะถือหุ้นส่วนใหญ่) นอกจากนี้ ยังไม่มีการพิจารณารวมถึงผู้ที่ทำงานในองค์กรการกุศลที่นั่งตำแหน่งประธานมูลนิธิ อาสาสมัครหรือนักระดมทุน เพราะการจัดอันดับนี้ต้องการมุ่งเป้าไปยังผู้ที่สนับสนุนเงินทุนและวางวิสัยทัศน์วงกว้าง Forbes Asia มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง หากความพยายามในการจัดอันดับครั้งนี้มีส่วนช่วยให้คนหันมาสร้างประโยชน์เพื่อสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ การรวบรวมรายชื่อสุดยอดผู้บริจาคเพื่อการกุศลของเอเชียประจำปี 2017 มีทั้งหมด 40 คนโดยไม่ได้เรียงตามอันดับแต่อย่างใด ซึ่ง Forbes Thailand ขอนำเสนอ 8 ผู้บริจาคเพื่อการกุศลที่โดดเด่นในปีนี้ กับอีก 2 คนจากประเทศไทยที่ติดในรายชื่อ 40 คนดังกล่าว Muthalmapet Mahadevan อายุ 62 ปี ประธานกรรมการ Oriental Cuisines อินเดีย Muthalmapet Mahadevan ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเปิดร้านอาหารขึ้นเมื่อปี 2016 โดยราว 1 ใน 4 ของพนักงานกว่า 30 คนในร้านคืออดีตเหยื่อเหตุเพลิงไหม้ กำไรของร้านจะถูกนำไปจัดสรรให้กับองค์กรไม่หวังผลกำไรเพื่อฝึกสอนเหยื่อไฟไหม้ผลิตเบเกอรี่และขนมปัง เขาเปิดร้านอาหารแห่งที่สองใน Spastic Society of Tamil Nadu ซึ่งให้การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาโรคพิการทางสมอง ตลอดช่วงเวลาหลายปีเขาได้ฝึกสอนและจ้างงานผู้มีสมองพิการเกือบ 30 คนให้ทำงานในเครือร้านอาหารที่ Chennai ของเขา Mahadevan ใช้ธุรกิจของเขาเป็นตัวกลางเพื่อช่วยพลิกชีวิตคนมานานหลายปีแล้ว เขาดำเนินการจัดหาอุปกรณ์สำหรับอบขนมที่สถานพินิจเยาวชน เรือนจำและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เขาริเริ่มธุรกิจผลิตป๊อปคอร์นที่มอบผลกำไรให้กับองค์กร Spastic Society เขาบริจาคเงินไปแล้วมากกว่า 1 ล้านเหรียญเพื่อใช้ในหลายวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันและแบ่งสรรปันส่วนรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ในแต่ละปีเพื่อการกุศล ผู้ใจบุญชาว Chennai โดยกำเนิดรายนี้มักถูกเรียกว่า Hot Bread Mahadevan ซึ่งได้มาจากชื่อเครือร้านอาหารและเบเกอรี่ที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี 1989 และขยายสาขาไปกว่า 350 แห่งทั่วโลกตั้งแต่ประเทศในตะวันออกกลางไปจนถึงสหรัฐฯ รวม 16 ประเทศ Ken Tun อายุ 43 ปี ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Parami Energy Group เมียนมา (Photo Credit: Frontier Myanmar) เขาบริจาคเงินมากกว่า 1 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาชนบท ฟื้นฟูป่าและการศึกษา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโครงการได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วอย่างน้อย 300,000 ต้นจาก 500,000 ต้นตามเป้าที่วางไว้ โครงการที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษคือการสนับสนุนระบบการศึกษา Baka School หรือโรงเรียนวัดซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 1,000 ปี ปัจจุบันโรงเรียนวัดจำนวนกว่า 1,600 แห่งในประเทศเป็นที่พึ่งทางการศึกษาให้กับนักเรียนยากจนมากกว่า 300,000 คนจากหลากหลายศาสนา เขาช่วยดำเนินการจัดงานสัมมนาสำหรับครูและผู้บริหารโรงเรียนวัดที่มีขึ้นแล้ว 3 ครั้ง งานสัมมนาครั้งที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งสมาคม Sustainable Baka School Association เพื่อส่งเสริมแนวทางการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เขายังดำเนินการก่อตั้งสถาบัน Pynin YawDaya (“แสงแห่งการศึกษา”) Foundation เพื่อพัฒนาองค์กรเพื่อสังคมที่จะสนับสนุนโรงเรียนวัดและเด็กให้ได้รับการศึกษา คีรี กาญจนพาสน์ อายุ 66 ปี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ไทย มหาเศรษฐีเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์และนักพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหันมาตอบแทนคืนสังคมมากขึ้นหลังจากส่งไม้ต่อให้ทายาทคนโตดูแลธุรกิจเดินรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เขามุ่งเน้นการสนับสนุนด้านการดูแลรักษาสุขภาพและการศึกษาในพื้นที่ที่มีความต้องการ เขามอบเงิน 1 ล้านเหรียญเพื่อสร้างโรงเรียนในจังหวัดสระแก้วและจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดในเขาใหญ่โดยเป็นโครงการต่อเนื่องจากโรงพยาบาล ส่วนงบประมาณอีก 1 ล้านเหรียญนำไปเปิดศูนย์ฟอกไตฟรีในหลายจังหวัดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไต   ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ อายุ 59 ปี ผู้ก่อตั้ง บมจ. พฤกษา โฮลดิ้ง ไทย ตั้งแต่ปี 2010 นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายนี้ได้บริจาคเงินมากกว่า 5 ล้านเหรียญเพื่อโรงพยาบาล ทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และองค์กรด้านศาสนา นอกจากนี้ยังมุ่งช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส คนพิการ ผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยโรคเอดส์ เมื่อปีที่ผ่านมาเขาบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญให้กับมูลนิธิคุ้มครองเด็ก มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม และโครงการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ของวัดพระบาทน้ำพุ   Nichol Ng อายุ 39 ปี Nicholas Ng อายุ 37 ปี กรรมการบริหาร Foodxervices สิงคโปร์ เติบโตมากับธุรกิจของครอบครัวซึ่งเป็นผู้จัดส่งอาหารให้กับภัตตาคาร โรงแรมและซูเปอร์มาร์เก็ตในสิงคโปร์มานานกว่า 80 ปี สองพี่น้องพบว่าอาหารถูกทิ้งให้เสียเปล่าจำนวนมาก “ที่ส่วนรับสินค้าเราเห็นพืชผักผลไม้ถูกคัดทิ้งเนื่องจากไม่ได้ขนาด สินค้าที่ใหญ่หรือเล็กเกินไปจะถูกคัดออก” Nichol กล่าว ซึ่งเธอประเมินว่าในหนึ่งวันอาหารเหลือทิ้งในสิงคโปร์มีปริมาณกว่า 785,000 ตัน “มีคนอดอยากหิวโหยในสิงคโปร์ เพียงแต่เป็นประเด็นที่ไม่มีใครพูดถึง เมื่อรวมปัญหาผู้คนอดอยากหิวโหยและอาหารเหลือทิ้งเข้าด้วยกัน เราจึงมาขบคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง” ในปี 2012 Nichol และ Nicholas ควักกระเป๋าของตนและใช้พื้นที่คลังสินค้าของบริษัทเพื่อริเริ่ม Food Bank โดยเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรซึ่งดำเนินการรวบรวมอาหารปรุงสุกส่วนเกินจากโรงแรม ผักผลไม้สดที่โดนคัดทิ้ง สินค้าใกล้หมดอายุและสินค้าบรรจุหีบห่อจากบริษัทจัดจำหน่าย ซูเปอร์มาร์เก็ตและบุคคลทั่วไป จากนั้นจะแจกจ่ายอาหารเหล่านี้ให้กับองค์กรการกุศลเกือบ 200 แห่งทั่วสิงคโปร์ Nichol กล่าวว่าในปีหน้าพวกเธอวางแผนที่จะช่วยประเทศเพื่อนบ้านจัดตั้งโครงการธนาคารอาหาร   Tahir อายุ 65 ปี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ Mayapada Group อินโดนีเซีย ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังกลับจากทริปเดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศจอร์แดน เขาตัดสินใจมอบเงินบริจาค 2.2 ล้านเหรียญสำหรับเป็นเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประจำเดือนและติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงเรียนเหล่านั้น เมื่อปีที่ผ่านมาเขาบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญซื้อเสื้อกันหนาวให้แก่ผู้ลี้ภัย 10,000 คน นอกจากนี้เขายังได้มอบเงินสนับสนุนโครงการขององค์การสหประชาชาติจำนวน 2 ล้านเหรียญเพื่อจัดหาที่พักชั่วคราวให้ผู้ลี้ภัยในปีหน้า และในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาประกาศว่าเขาและครอบครัวจะบริจาคเงิน 10 ล้านเหรียญเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่เด็กผู้ลี้ภัยทั่วโลก ก่อนหน้านี้มหาเศรษฐีผู้สร้างความมั่งคั่งด้วยลำแข้งของตนเองได้บริจาคเงินหลายล้านเหรียญเพื่อโครงการริเริ่มด้านสุขภาพมหาวิทยาลัยและโครงการอื่นๆ เมื่อปี 2013 เขาลงนามเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Giving Pledge (Tahir ถือครองหุ้นส่วนใหญ่ใน Wahana Mediatama ซึ่งเป็นผู้พิมพ์นิตยสาร Forbes Indonesia)   Charles Chen อายุ 45 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง Tencent จีน “การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนกุญแจสำหรับไขประตูแห่งโอกาสที่อาจพลิกชีวิตของคนเรา” อดีตผู้บริหารของ Tencent กล่าว เมื่อปีที่ผ่านมา เขาทุ่มเงิน 320 ล้านเหรียญเพื่อพัฒนาด้านการศึกษา เงินก้อนนี้จะถูกใช้เพื่อเป็นทุนสำหรับรางวัล Yidan Prize (Yidan คือชื่อในภาษาจีนของเขา) ซึ่งจะมอบให้กับผู้มีนวัตกรรมด้านการศึกษาเป็นประจำทุกปี ผู้ชนะรางวัล 2 รายจะได้รับเงินจำนวน 3.9 ล้านเหรียญต่อคน โดยเงินจำนวนนี้รวมถึงเงินกองทุน 1.9 ล้าน เหรียญสำหรับใช้ในโครงการเพื่อการศึกษาของผู้ได้รับรางวัล Chen ก้าวออกจาก Tencent เมื่อปี 2013 เพื่อมาเป็นนักการกุศลเต็มตัว โดยก่อตั้ง Tencent Charity Foundation และมอบเงิน 300 ล้านเหรียญเพื่อยกระดับ Wuhan College วิทยาลัยเอกชนด้านศิลปศาสตร์ของจีน เขาได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่พบว่าอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาพลิกโฉมการติดต่อสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ของคนทั่วโลก “เราต้องการแนวคิดใหม่ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนโลกสู่อุตสาหกรรมยุคที่ 4 เป็นไปอย่างสำเร็จลุล่วง ซึ่งจะเป็นยุคแห่งการทำงานร่วมกันของมนุษย์และหุ่นยนต์” เขากล่าว “นี่คือเวลาที่เราต้องกลับมาทบทวนว่าเรากำลังให้ความรู้กับใคร อย่างไร และทำไมเราถึงเลือกวิธีนั้นๆ เพื่อสอนพวกเขา”   Neil Shen อายุ 49 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง Sequoia China ฮ่องกง Neil Shen ณ Yale University ในปี 1990 เมื่อเดือนเมษายนเขาบริจาคเงินเกือบ 3 ล้านเหรียญเพื่อริเริ่มกองทุน Yale China Fund for Emotional Intelligence กองทุนดังกล่าวจะดำเนินการภายใต้ Yale Beijing Center เพื่อช่วยฝึกสอนเด็กอายุ 3-6 ปีพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ในปีที่ผ่านมาเขามอบเงินทุน 7.3 ล้านเหรียญให้กับ Shanghai Jiao Tong University เพื่อจัดตั้งกองทุนวิจัยด้านการแพทย์ เขาเคยคว้าใบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อนมุ่งหน้าไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ Yale “ผมได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จากสถาบันทั้งสองแห่งนี้” เขากล่าว   Chang Hui-mei อายุ 44 ปี ศิลปินเพลงป๊อป ไต้หวัน Chang Hui-mei เป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อในวงการว่า A-mei เธอบริจาคเงิน 66,000 เหรียญให้กับเขตปกครอง Taitung County ทางตะวันออกของไต้หวันเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและบูรณะฟื้นฟูความเสียหายหลังจากพายุไต้ฝุ่น Nepartak ถล่มเมืองบ้านเกิดของเธอเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นเธอได้บริจาคเงินราว 273,000 เหรียญซึ่งมาจากรายได้การขึ้นแสดงคอนเสิร์ตเมื่อปี 2012 โดยมอบเงินจำนวนนี้ให้กับโรงพยาบาล St.Mary’s ใน Taitung เธอเป็นผู้สนับสนุนให้การสมรสระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมายด้วยการจัดงานแสดงคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง ในงานมีการรวมนักร้องชื่อดังมากหน้าหลายตาขึ้นแสดงเพื่อดึงความสนใจและมุ่งระดมทุนเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มเลสเบี้ยน เกย์ ชาวรักร่วมเพศและคนข้ามเพศ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาศาลสูงสุดของไต้หวันตัดสินให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในปี 2009 เธอริเริ่มโครงการ Dream Fulfillment Scholarship โดยบริจาคเงินทุนเริ่มต้น 16,600 เหรียญให้กับ World Vision ซึ่งให้ทุนสนับสนุนนักเรียนในท้องถิ่นหลายร้อยคนเป็นเวลาหนึ่งปี   Akio Nitori อายุ 73 ปี ซีอีโอ Nitori Holdings ญี่ปุ่น มหาเศรษฐีธุรกิจค้าปลีกสินค้าตกแต่งบ้านราคาประหยัดปันสัดส่วนหุ้นของบริษัทมาก่อตั้งมูลนิธิ Nitori International Scholarship Foundation เมื่อสิบกว่าปีก่อน เป้าหมายหลักคือช่วยนักเรียนทั่วเอเชียเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของญี่ปุ่น ในปี 2014 ทางมูลนิธิซึ่งถือสัดส่วนหุ้น 3.5% ของ Nitori คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 660 ล้านเหรียญได้เริ่มให้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ไต้หวัน และเวียดนาม  
คลิกเพื่ออ่านเรื่องราวของสุดยอดผู้บริจาคเพื่อการกุศลทั้ง 40 คน "Heroes of Philanthropy มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลง" ฉบับเต็มได้ในรูปแบบ e-Magazine