เศรษฐีใจบุญหันมาใช้นโยบายทุ่มหมดหน้าตักกันมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาใหญ่ของสังคม แทนที่จะจัดการเรื่องเล็กเรื่องน้อย หากโครงการบริจาคนั้นล้มเหลวก็อาจจะหมายถึงความสูญเสียเป็นตัวเลขถึง 9 หลัก แต่หากประสบความสำเร็จก็เท่ากับว่าคุณกำลังจัดลำเลียงน้ำสะอาดไปทั่วทวีปแอฟริกา
David Dornsife พา Dana ภรรยาของเขา เดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งในกานาเมื่อปี 2001 หมู่บ้านแห่งนั้นไม่มีแม้แต่บ่อน้ำ ทำให้สุขภาพอนามัยย่ำแย่ ชาวบ้าน 40% ตาบอดเพราะติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 46 ปี การไปตักน้ำต้องใช้เวลานานถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไรสำหรับทวีปแอฟริกา ชาวแอฟริกัน 385 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดเช่นนี้ ต่อมาสองสามีภรรยา Dornsife เดินทางไปเยือนหมู่บ้านอีกแห่งที่มีบ่อน้ำและสุขา David และ Dana เล่าว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง พวกเขามีน้ำสำหรับซักเสื้อผ้า สามารถปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ ผู้หญิงไม่ต้องแบกน้ำเป็นงานประจำ และลูกหลานได้ไปโรงเรียน การเดินทางครั้งนั้นทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องราวอย่างกระจ่างชัด Dave Dornsife ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเหล็กกล้า บริจาคเงินให้ World Vision องค์กรการกุศลด้านมนุษยธรรมในสหรัฐฯ มายาวนานถึง 3 ทศวรรษ คำถามเกิดขึ้นว่า หากเขาบริจาคเงินก้อนโตโดยเจาะจงมอบให้กับดินแดนอันแสนจะกันดารแห่งนั้นในทวีปแอฟริกาที่แม้แต่น้ำสะอาดก็ยังไม่มีจะใช้ไปเลยจะเป็นอย่างไร ในปี 2010 ครอบครัว Dornsife จึงมอบพันธะสัญญาว่าจะบริจาคให้กับ World Vision เป็นระยะเวลา 5 ปี รวมเป็นเงิน 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อจัดหาน้ำสะอาดและสุขอนามัยรวมถึงสอนชาวบ้าน 7.5 ล้านคนใน 10 ประเทศทั่วทวีปแอฟริกาให้เข้าใจการดูแลสุขอนามัย ในปี 2015 พวกเขาทุ่มเงินบริจาคอีกเท่าตัว คือ 40 ล้านเหรียญ โดยตั้งใจว่า ชาวแอฟริกันทุกคนในพื้นที่ชนบทใน 25 ประเทศที่ World Vision ปฏิบัติงานอยู่นั้นจะต้องเข้าถึงน้ำสะอาดได้ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่เลยทีเดียว หากกล่าวในสังคมคนใจบุญก็คือ เงินลงทุน 75 ล้านเหรียญของสามีภรรยา Dornsife ผ่าน World Vision นับเป็นการ “เดิมพันครั้งใหญ่” คือ เป็นความพยายามมูลค่า 8 หลักเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเป็นระบบ แต่การเดิมพันในรูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะหนุ่มสาวยุคใหม่มีแนวโน้มที่จะควักกระเป๋าเพื่อพยายามที่จะแก้ปัญหาที่แท้จริงมากกว่าจะแค่เยียวยาบาดแผล Bridgespan Group ที่ปรึกษาด้านงานกุศลใน Boston บันทึกเอาไว้ว่า เฉพาะในปี 2015 มีการบริจาคเงิน 58 ครั้ง มูลค่าครั้งละ 25 ล้านเหรียญเป็นอย่างน้อย ที่มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาใหญ่ของสังคม เมื่อเปรียบเทียบกับการบริจาคเงินในลักษณะดังกล่าวเพียง 19 ครั้งเมื่อ 16 ปีที่แล้ว Forbes ได้จับมือกับ Bridgespan เจาะลึกศึกษาเงินบริจาคก้อนใหญ่ 30 ครั้งในปี 2015 ที่มุ่งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม จากนั้นเราได้ออกแบบวิธีการประเมินเพื่อจัดอันดับเงินบริจาคที่น่าจับตามองในการเปลี่ยนแปลงโลกมากที่สุด (อ่านเพิ่มเติม "10 อันดับการบริจาคเปลี่ยนแปลงสังคม" ที่ https://goo.gl/cNKCdz ) ซึ่ง Dan Cardinali ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Independent Sector กลุ่มความร่วมมือขององค์กรการกุศล มูลนิธิ และโครงการเพื่อสังคมต่างๆ กล่าวว่า เงินบริจาคก้อนใหญ่ทำให้ทีมงานองค์กรการกุศลคลายความกดดัน จากปกติที่ต้องพยายามระดมทุนไปพร้อมกับบริหารองค์กร เมื่อมีทุนก้อนใหญ่ครอบคลุมระยะเวลาหลายปีจะทำให้คณะผู้บริหารหันมาสนใจและเผชิญหน้ากับปัญหาเรื้อรังในสังคมได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของเงินบริจาคในลักษณะเดิมพันดังกล่าวอาจกล่าวสรุปสั้นๆ ได้เพียง 2 คำ คือคำว่า “Mark Zuckerberg” จากปี 2010 ที่ผู้ก่อตั้ง Facebook ในวัย 20 ปีกว่าๆ ให้สัญญาว่าจะบริจาคเงินเป็นเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินถึง 100 ล้านเหรียญเพื่อปรับปรุงโรงเรียนด้อยโอกาสหลายแห่งใน Newerk มลรัฐ New Jersey แต่เมื่อเวลาผ่านไปโครงการกลับไม่ขยับไปสู่เป้าหมาย ถึงเช่นนั้น ความล้มเหลวของโครงการที่ Newark ไม่ได้ทำให้ Zuckerberg ขยาดแม้แต่น้อย โดย Chan Zuckerberg Initiative โครงการการกุศลที่เขากับภรรยาก่อตั้งมาได้ 1 ปี จะได้รับบริจาคหุ้น 99% ของ Facebook ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นมูลค่าราว 5 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อเจตนารมณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นคือ “รักษาทุกโรค” หากวัดกันที่จำนวนเงินแล้วล่ะก็ อาจจะเรียกได้ว่า Bill และ Melinda Gates เป็นผู้ที่ทำบุญขาดทุนยับเยินที่สุดเลยก็ว่าได้ พวกเขาบริจาคเงิน 650 ล้านเหรียญเพื่อลดขนาดของโรงเรียน แต่ผลลัพธ์คือขนาดของโรงเรียนกระทบผลการเรียนของเด็กๆ เพียงเล็กน้อย แต่การเดิมพันครั้งนี้กลับมอบคุณค่ามากมายให้สังคม เพราะทำให้โรงเรียนหลายแห่งจัดสรรเงินใหม่เพื่อพัฒนาให้ถูกจุด นั่นคือ ความเป็นเลิศของผู้สอน อย่างไรก็ตาม ในบรรดาเงินบริจาคมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกนั้นเป็นของสามีภรรยาตระกูล Gates ถึง 2 รายการ เราประเมินว่า โครงการใหญ่คือ การทุ่มเงินบริจาค 1.55 พันล้านเหรียญผ่าน Gavi เพื่อจัดหาวัคซีนให้แก่เด็กๆ 300 ล้านคนให้ได้ภายในปี 2020 Bridgespan พบว่าเศรษฐีใจบุญ 80% ต้องการมอบทรัพย์สินของพวกเขาโดยหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีได้ แต่มีเงินบริจาคเพียง 20% เท่านั้นที่สามารถสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นได้จริง “ปัจจัยหนึ่งคือมันเป็นการกระทำที่เสี่ยงและไม่ธรรมดาเลย” William Fosterตัวแทน Bridgespan กล่าว ส่วนอุปสรรคข้อที่สองคือหาโอกาสให้เจอ “ยากยิ่งกว่าสอบเข้าเรียนอีกครับ เพราะคุณอาจจะไม่รู้เลยว่าจะต้องไปหาที่ไหน” ส่วนความพยายามของ David Dornsife ผ่าน World Vision ครองอันดับ 5 ในการจัดอันดับของเรา เนื่องจากเขาบริจาคเงินให้กับ World Vision มาตั้งแต่กลางยุค 1980 เริ่มจากการบริจาคเงินเดือนละ 24 เหรียญเพื่อช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งในแอฟริกา เมื่อเขาเดินทางไป Nairobi เพื่อติดตามผล เขาเกิดความสงสัยว่ามีโครงการอื่นๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือได้อีกหรือไม่ จากนั้นเขาจึงเดินทางไปเยี่ยมโครงการต่างๆ ของ World Vision ในแอฟริกาถึง 34 ครั้ง และรู้จักกับคณะผู้บริหารองค์กรเป็นอย่างดีก่อนตัดสินใจบริจาคเงิน 35 ล้านเหรียญนั้น “เรารู้ว่า อะไรที่ได้ผล อะไรที่ไม่ได้ผล” Dana บอก “ฉันว่ามันเป็นความเสี่ยงที่ผ่านการพิจารณามาอย่างรอบคอบแล้ว” ความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างตัวผู้บริจาคกับหน่วยงานผู้รับเงินบริจาคเป็น 1 ในคุณสมบัติ 6 ประการซึ่งที่ปรึกษาใช้ในการจัดอันดับเงินบริจาค ในคุณสมบัติด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริจาคกับองค์กรผู้รับเงินบริจาคนั้น ครอบครัว Dornsife ทำคะแนนเต็ม นอกจากนี้ พวกเขายังได้คะแนนสูงมากในหัวข้อความโปร่งใสและผลลัพธ์ที่พึงปรารถนา ขณะที่กลยุทธ์โครงการก็นับว่ามีความสมเหตุสมผล ความหลงรักในโครงการที่บริจาคเป็นคุณสมบัติจำเป็น แม้จะประเมินออกมาเป็นรูปธรรมได้ยาก แต่สิ่งนี้เองที่สามีภรรยา Dornsife แสดงออกอย่างชัดเจนในการทำงาน “เมื่อคุณได้เงินจากเราไปก็เหมือนกับได้ตัวเราไปด้วยทั้งคู่” David กล่าว ความใจบุญกับความรอบคอบต้องมาพร้อมกัน มันคือส่วนผสมที่เปลี่ยนเงินเดิมพันการกุศลก้อนโตให้กลายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนให้กับโลกใบนี้คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "เดิมพันการกุศลนัดสำคัญ" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560