บ่มเพาะต้นกล้าแห่งปัญญา - Forbes Thailand

บ่มเพาะต้นกล้าแห่งปัญญา

มหาเศรษฐีผู้ใจบุญ Vineet และ Anupama Nayar ทุ่มเงินเดิมพัน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหมายมั่นว่าอุปกรณ์สื่อการสอนอันเรียบง่ายไร้ซึ่งเทคโนโลยีระดับสูงจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กในโรงเรียนแถบชนบทของอินเดียที่ขึ้นชื่อว่าไม่มีประสิทธิภาพ

เครื่องมือสำคัญที่ช่วยไขความรูู้สู่การพัฒนาศักยภาพทางการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กเล็กในพื้นที่ทั้งยากจนและติดอันดับเมืองล้าหลังทางการศึกษาที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กลับกลายเป็นเพียงอุปกรณ์สื่อการสอนอันเรียบง่ายธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นห่วงหลากสีร้อยด้วยเชือก ตัวต่อพลาสติกหลายขนาดและชิ้นส่วนรูปวงกลม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยมแบบต่างๆ “พวกเด็กๆ ให้ความสนใจกันมากเมื่อเราใช้อุปกรณ์เหล่านี้ พวกเขาเพลินจนไม่คิดว่ามันคือการเรียน” Revati Mathyal ครูจากโรงเรียนทางตอนเหนือของอินเดียซึ่งสอนเด็กในชั้นเรียนที่ประกอบด้วยนักเรียน 16 คนจากหลายระดับตั้งแต่เกรด 1 ถึงเกรด 5 แต่มานั่งเรียนรวมกันกล่าว Vineet Nayar อดีตรองประธานกรรมการและ CEO ของ HCL Technologies บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ Anupama ภรรยาของเขา คือผู้อยู่เบื้องหลังแรงผลักดันนี้ Sampark Foundation องค์กรเพื่อการกุศลใน New Delhi ของพวกเขา จัดหาอุปกรณ์ประกอบการสอนเหล่านี้ไปยังโรงเรียนรัฐกว่า 50,000 แห่ง ซึ่งเข้าถึงนักเรียนกว่า 3 ล้านคนใน Uttarakhand และรวมถึง Chhattisgarh รัฐยากจนอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ถัดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งวางแผนที่จะขยายโครงการให้ครอบคลุมโรงเรียนอีก 100,000 แห่งและนักเรียน 7 ล้านคนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า องค์กรเผยว่าเงินทุน 100 ล้านเหรียญสำหรับโครงการมาจากการสนับสนุนของสองสามีภรรยาทั้งหมดเงินก้อนนี้คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าทรัพย์สินของพวกเขา “หัวใจสำคัญขององค์กรเพื่อสังคมคือการมุ่งเปลี่ยนแปลงและนี่คือการปฏิวัติทางสังคมครั้งใหญ่”Vineet วัย 54 ปีกล่าว “ผมต้องการเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติเพื่ออนาคต” เป้าหมายของ Nayarคือมุ่งยกระดับทักษะความรู้วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษของเด็กชั้นประถมศึกษา เขาเชื่อว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการทำให้ชั้นเรียนสนุกขึ้นโดยนำของเล่น เรื่องเล่าพื้นบ้าน นิทาน เกม สื่อประเภทเสียง บทเพลงและกิจกรรมภาคปฏิบัติมาประกอบการสอนเพื่อดึงดูดให้เด็กตั้งใจและมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนนานขึ้น (ในชั้นเรียนแบบดั้งเดิมครูจะใช้เพียงหนังสือและกระดานดำประกอบการสอน) ตัวอย่างเช่น ในการสอนภาษาอังกฤษ Sampark ได้พัฒนาสื่ออุปกรณ์การสอนด้วยเสียงและสร้างตัวมาสคอตที่ใช้ชื่อว่า Sampark Didi (มาจากภาษาฮินดีแปลว่า “พี่สาว”) อุปกรณ์นี้สามารถใช้ได้ประมาณ 15 วันต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากในแถบชนบทมีไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ เมื่อกดปุ่มเปิดเครื่องจะมีเสียงผู้หญิงที่สดใสร่าเริงกล่าวทักทายด้วยความเป็นมิตร “สวัสดีตอนเช้าเด็กๆ” ฟังแล้วชวนให้นึกถึงดาราสาวจากภาพยนตร์ชื่อดังของอินเดีย จากนั้นเธอจะเปล่งเสียงเล่านิทานหรือคำกลอนในภาษาฮินดีพร้อมสอดแทรกศัพท์ภาษาอังกฤษไปด้วย ประเด็นที่โครงการ Sampark ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือสิ่งที่ Nayar เรียกว่า “นวัตกรรมแบบประหยัด” ดังนั้นจะไม่มีทั้ง iPad หรือแล็ปท็อปสุดล้ำ งบประมาณอยู่ที่ 1 เหรียญต่อเด็กหนึ่งคน และ 15 ล้านเหรียญสำหรับตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ “ถ้าไม่ประหยัดเราจะไม่สามารถเข้าถึงเด็กจำนวนมากได้” เขากล่าว “เราเป็นได้แค่ผู้ริเริ่มแนวคิด โครงการขนาดใหญ่ต้องมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ” Sampark มีพนักงานประมาณ 100 คนในสำนักงานที่ตั้งอยู่ในรัฐ 2 แห่งของอินเดียพนักงานส่วนใหญ่จบการศึกษาจาก Tata Institute of Social Sciences สถาบันชั้นนำของอินเดีย พวกเขามักเดินทางไปเยี่ยมเยียนตามชั้นเรียนเพื่อติดตามความก้าวหน้าของเด็กและทำให้แน่ใจว่าอุปกรณ์สื่อการสอนได้ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้มูลนิธิ Sampark ซึ่งมีความหมายในภาษาฮินดีว่า “ความสัมพันธ์” ยังได้เปิดศูนย์บริการช่วยเหลือที่ฝ่ายกระทรวงการศึกษาของรัฐซึ่งเปิดให้ครูสามารถติดต่อเข้าไปทางโทรศัพท์หากมีปัญหาหรือต้องการคำแนะนำ ถ้ามีการขอความช่วยเหลือมาจากพื้นที่เดียวกันในจำนวนมาก Nayar นั้นเติบโตที่ Uttarakhand แต่ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชนอย่าง Campus School ต่อมาเขาจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์จาก University of Pantnagar และหลังจากจบ M.B.A จาก XLRI (Xavier School of Management) เขาได้เข้าทำงานกับ HCL Ltd. เมื่อปี 1985 และลาออกจากงานในปี 1992 เพื่อก่อตั้ง Comnet บริษัทซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านดูแลพัฒนาระบบเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานจากที่ห่างไกล จากนั้นในปี 1998 บริษัทได้ควบรวมกับ HCL Tech โดยหุ้นใน Comnet ของเขาได้ถูกแปลงเป็นหุ้นของบริษัท HCL Tech เมื่อถึงปี 2005 Nayar พร้อมที่จะยุติอาชีพการทำงานในองค์กรธุรกิจและก้าวสู่การเป็นนักพัฒนาสังคม เขาก่อตั้ง Sampark ขึ้นในปีเดียวกัน แต่ Shiv Nadar มหาเศรษฐีจากวงการเทคโนโลยีซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง HCL Tech ขอให้เขาช่วยนั่งบริหารดูแลบริษัท ในช่วงเวลา 8 ปีหลังจากนั้น Nayar ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 6 เท่าทะลุ 4.7 พันล้านเหรียญต่อปี “ในปี 2005 ผมไม่ได้ร่ำรวยหรือมีชื่อเสียง ผมมีชีวิตระดับปานกลางและไม่ได้เป็นที่รู้จัก” เขากล่าว ความก้าวหน้าสู่มิติใหม่ของ HCL และหนังสือของเขาที่ออกวางแผงเมื่อปี 2010 ในชื่อ Employees First, Customers Second: Turning Conventional Management Upside Down ซึ่งมียอดจำหน่ายกว่า 100,000 เล่ม หนุนให้เขากลายเป็นดาวเด่นในวงการบริหารธุรกิจ “ผมก้าวออกจากโลกธุรกิจ หลังจากได้แสดงความสามารถด้านสติปัญญาและแสดงศักยภาพว่าผมสามารถก่อตั้งองค์กรให้เติบโตจนมีมูลค่าทะลุ 1 พันล้านเหรียญ ตลอดจนพิสูจน์ว่าผมเองสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรแบบดั้งเดิมที่ล้าสมัยได้” เขากล่าว “แต่หลังจากบรรลุความสำเร็จ วงการธุรกิจกลับดูเหมือนวังวนที่ไม่สิ้นสุด เป้าหมายที่จะทำกำไรให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ดึงดูดใจผมอีกต่อไป ผมเริ่มเบื่อที่จะอ่านรายงานผลประกอบการในแต่ละไตรมาสและบรรยากาศในที่ทำงาน เกิดคำถามว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของการมีชีวิตอยู่” ในปี 2013 เขาลาออกจาก HCL และตั้งเป้าเดินหน้าที่จะสร้างรอยยิ้มให้กับเด็ก 1 ล้านคน และตอนนี้เป้าหมายขยับขึ้นเป็น 10 ล้านคน เขาอุทิศเวลา 80% ให้กับองค์กรการกุศลขณะที่ยังคงทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาทางธุรกิจ ซึ่งเขานำรายได้จากการทำงานเข้ามูลนิธิ (นอกจากนี้เขายังเป็นนักปีนเขาหิมาลัยตัวยงและทำสถิติไต่ถึงระดับความสูง 14,500 ฟุต และตั้งเป้าที่จะไปให้ถึง 19,000 ฟุต) “ภรรยาและตัวผมอยากทำเรื่องนี้ (องค์กรเพื่อการกุศล) กันมานานแล้ว” Nayar กล่าว “เราไม่เคยหลงใหลไปกับแสงสีในโลกธุรกิจ”   เรื่อง: Anuradha Raghunathan เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิ๊กอ่าน "บ่มเพาะต้นกล้าแห่งปัญญา" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2016 ในรูปแบบ e-Magazine