ผืนนาที่ครั้งหนึ่งมีลมหายใจรวยริน เพราะถูกฉาบโรยด้วยสารเคมี มาวันนี้เหล่าเกษตรกรแห่งยโสธร ร่วมแรงร่วมใจนำเกษตรอินทรีย์กลับคืนสู่ชีวิต พลิกฟื้นให้กลายเป็นท้องทุ่งอันอุดมอย่างยั่งยืน นลิน วนาสิน จึงร่วมปลุกปั้น "ข้าวเพื่อนชาวนา" ส่งตรงข้ามหอมมะลิจากทุ่งรวงทอง สู่สองมือผู้บริโภค กระชับสัมพันธ์คนปลูก-คนกินให้แนบแน่น ปันส่วนรายได้ตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวนา แบบไม่ต้องพี่งพาโครงการรัฐเพียงทางเดียว
ชาวบ้านแห่งบ้านกุดเสถียร อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ต้อนรับฝนแรกของฤดูกาลปลูกข้าวประจำปีนี้ ด้วย "เพื่อนใหม่" หลายสิบคนจากกรุงเทพฯ ที่มาเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกร พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมกับลงผืนนาลุยย่ำโคลน พอตกเย็นก็ล้อมวงรับประทานอาหารสำรับพื้นบ้านใต้ร่มไม้ริมคันนาด้วยกัน หนึ่งในผู้มาเยือนจากกรุงเทพฯ คือ "นลิน วนาสิน" วัย 40 ปี Director ของ Wine Garage ที่มาสัมผัสวิถีชาวนาพร้อมด้วย Kim Wachtveitl สามี และลูกชายคนโตวัย 5 ขวบ เธอช่วยหมักปุ๋ย ปักกล้าดำนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย "ถ้าอยู่แต่ในกรุงเทพฯ จะไม่มีวันได้เห็นภูมิปัญญาของเกษตรกรในพื้นที่เลยค่ะ" ลูกสาวคนเล็กของ นพ.บุญ และจารุวรรณ วนาสิน เอ่ยขึ้น (นพ.บุญ เป็นประธานกรรมการบริหาร เครือโรงพยาบาลธนบุรี เขาทุ่มงบกว่า 7 หมื่นล้านบาท ลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลในจีน และล่าสุดในเมียนมาร์) ปี 2532 เธอเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาชั้นมัธยมปลาย จนกระทั่งจบปริญญาตรีและโท ด้วยความเพียบพร้อมของชีวิตทำให้นลินแบ่งปันให้กับสังคมสม่ำเสมอ ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี เริ่มต้นด้วยการเข้าร่วม Big Sister Program จับคู่อาสาสมัครกับเด็กจากครอบครัวที่มีปัญหา ชวนกันทำกิจกรรมทั้งอ่านหนังสือ ทำงานศิลปะ หรือชมพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งนำวงออร์เคสตร้าจากสวิตเซอร์แลนด์ มาแสดงดนตรีในไทย เป็นต้น สำหรับโครงการ "ข้าวเพื่อนชาวนา" ที่พาเธอมาปักกล้าดำนานั้น เกิดจากเห็นปัญหาว่า โครงการของภาครัฐ เช่น การรับจำนำข้าว ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับชาวนาอย่างยั่งยืน ประกอบกับลูกพี่ลูกน้อง "อรยา สูตะบุตร" อดีตผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกมาเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมแบบเต็มเวลา ได้ริเริ่มโครงการดังกล่าว นลินจึงเข้าร่วม เพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร ด้วยจุดประสงค์โครงการคือการเชื่อมสัมพันธ์จากชาวนาให้ถึงผู้บริโภคโดยตรง โครงการนี้ช่วยชาวนา ด้วยการจำหน่ายข้าวหอมมะลิคัดพิเศษที่ปลูกแบบไร้สารเคมี ด้วยวิธีบอกรับสมาชิก 1,000 ราย แต่ละรายได้ข้าว 100 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท เท่ากับว่าสมาชิกหนึ่งคนจ่าย 10,000 บาทล่วงหน้าให้ชาวนา เพื่อใช้เป็นทุนในการปลูกข้าว จากนั้นเมื่อเข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปี จะทยอยส่งข้าวให้ 20 กิโลกรัมทุก 2 เดือน "การเดินทางมาที่นี่ช่วยเปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น ได้เห็นวิถีชีวิตแบบยั่งยืนของชาวนาที่ทำเกษตรอินทรีย์ เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากอย่างหนึ่งในชีวิต และยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ทำโครงการต่อไป"ติดตามอ่าน "นลิน วนาสิน: ปลูกมิตรภาพผ่าน "ข้าวเพื่อนชาวนา" " ฉบับเต็มได้ ใน Forbes Thailand ฉบับ SEPTEMBER 2014