ทำเนียบ “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชียประจำปี 2019 ตอนที่3 - Forbes Thailand

ทำเนียบ “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชียประจำปี 2019 ตอนที่3

เป็นประจำทุกๆ ปี ที่เหล่า “เศรษฐีใจบุญ” ที่รอยบุญของพวกเขาคือเทียบเชิญสู่ ทำเนียบ Asia’s Heroes Of Philanthropy และช่วยเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม

โดยรายชื่อในทำเนียบมหาเศรษฐีผู้ใจบุญปีประจำปี 2019 เราให้เกียรติบุคคลผู้ต่อสู้กับปัญหาหลากหลายทั่วเอเชียแปซิฟิก รวมถึงเหล่าผู้ให้รายใหญ่ที่สุดของเอเชีย สำหรับเศรษฐรีใจบุญจากประเทศไทยนั้น ทั้ง 4 เศรษฐีใจบุญ ได้บริจาคและทุ่มเททั้งกายใจเพื่อการสร้างโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม ชูชาติ เพ็ชรอำไพ วัย 66 ปี ประธานกรรมการบริหาร, บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล ดาวนภา เพชรอำไพ วัย 66 ปี กรรมการผู้จัดการ, บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล ไทย ในปีนี้สามีภรรยาตระกูลเพ็ชรอำไพได้มอบเงินบริจาคก้อนโตที่สุดให้กับวงการสาธารณสุขในประเทศไทยนั่นก็คือ การบริจาคเงินราว 2.7 ล้านเหรียญให้กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกของแผนกรังสีวิทยาซึ่งจะให้บริการเอกซเรย์ MRI รวมถึงบริการทางการแพทย์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง บมจ.เมืองไทย แคปปิตอลของสองสามีภรรยาคู่นี้เป็นหนึ่งในบริษัทปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อปีที่แล้วทั้งคู่ได้บริจาคเงิน 1.7 ล้านเหรียญให้กับโรงพยาบาลคีรีมาศในจังหวัดสุโขทัย ทั้งสองได้ริเริ่มบริจาคเงินรวมหลายล้านเหรียญให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วประเทศไทย ในปี 2015 หลังจากที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่นานนัก – Danielle Keeton-Olsen รายงาน BILL BENSLEY วัย 60 ปี ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ, Bensley Design Studio ไทย Bill Bensley เจ้าของและผู้บริหารบริษัทสถาปนิกที่มีชื่อเดียวกันกับตัวเขามีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครและ Bali เขาเป็นนักออกแบบรีสอร์ตหรูในเอเชียผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ปีที่แล้ว Bensley ได้เปิด Shinta Mani Wild สถานที่พักผ่อนท่ามกลางป่าเขาที่เต็มไปด้วยความหรูหราในทางตอนใต้ของผมพูชา โดยเป็นธุรกิจที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร “ผมต้องการปกป้องผืนป่า และในเวลาเดียวกันก็ต้องการแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ ด้วย ผู้คนสามารถมาเยือนสถานที่แห่งนี้ และเข้าใจถึงความสำคัญของป่าผืนนี้” Bensley กล่าว Bensley ได้บริจาคเงินไปแล้ว 15 ล้านเหรียญนับตั้งแต่ปี 2010 เพื่อซื้อที่ดินและพัฒนาที่พักริมแม่น้ำเนื้อที่รวม 400 เฮกเตอร์ให้กับ Shinta Mani Wild โดยกำไรที่ได้จากรีสอร์ตทั้งหมดจะบริจาคให้กับ Wildlife Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติที่ต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ป่าและการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าฝนที่อยู่ติดกับรีสอร์ต ซึ่งเต็มไปด้วยฝูงช้างและสัตว์ป่าหายากนานาชนิด สถาปนิกชาวอเมริกันผู้นี้ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มาเป็นเวลานาน 3 ทศวรรษแล้ว เขาได้ออกแบบโรงแรมและรีสอร์ตมาแล้วเกือบ 200 แห่งรวมถึง Four Seasons Tented Camp Golden Triangle ในภาคเหนือของประเทศไทย Capella Ubud ใน บาหลี InterContinental Danang Sun Peninsula ในเวียดนาม และ Rosewood Luang Prabang รีสอร์ตแห่งใหม่ในประเทศลาว ส่วน Shinta Mani Wild เป็นรีสอร์ตหนึ่งในบรรดาที่พักสไตล์บูติกสุดหรูที่ Bensley เป็นเจ้าของเอง Bensley ได้ตอบแทนให้กับประเทศกัมพูชามานานแล้ว เขาบริจาคเงินทั้งหมดผ่าน Shinta Mani Foundation ซึ่งมีผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารชาวกัมพูชาอย่าง Sokoun Chanprede เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 ทางมูลนิธิได้มอบเงินบริจาคกว่า 8.5 แสนเหรียญ เพื่อใช้ในการก่อสร้างบ่อน้ำ 1,600 บ่อ และบ้านเรือนมากกว่า 100 หลัง รวมถึงยังได้บริจาคจักรยานให้กับคนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 12,000 คัน เงินบริจาคเพิ่มเติมจาก Bensley และผู้ใจบุญคนอื่นๆ ทำให้เด็กยากไร้ในประเทศกัมพูชา 15,000 คนมีโอกาสได้รับการตรวจสุขภาพฟัน รวมถึงการทำความสะอาดฟันและช่องปาก Shinta Mani Wildlife พยายามให้การสนับสนุน Wildlife Alliance ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ นอกเหนือจากความช่วยเหลือด้านการเงิน โดยแขกซึ่งเข้าพักที่รีสอร์ตสามารถเดินทางสัมผัสธรรมชาติไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่ป่าคุ้มครองที่มีความอ่อนไหวได้ ทางมูลนิธิยังได้ให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าพิทักษ์ผืนป่า และทางรีสอร์ตก็ยังได้สร้างที่ทำการสำหรับเจ้าหน้าที่ให้อีกด้วย ผลงานสร้างสรรค์ล่าสุดของ Bensley ก็คือชุดอุปกรณ์สำหรับตั้งแคมป์ของ Wildlife Alliance ที่ตัวเขาเป็นผู้ออกแบบและเปิดตัวไปในปีนี้ โดยรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวก็จะบริจาคให้กับองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่าง Wildlife Alliance นั่นเอง – Ron Gluckman รายงาน   ทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ วัย 51 ปี ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ, กลุ่มบริษัทดีที (ดีทีจีโอ) ไทย ทิพพาภรณ์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของอภิมหาเศรษฐีชาวไทยอย่างเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ถือได้ว่าเป็นสุดยอดคนใจบุญมาโดยตลอด เธอได้อุทิศตนให้กับกิจกรรมสาธารณกุศลหลายด้านอย่างเช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ทิพพาภรณ์จัดสรรรายได้ 2% จากดีทีจีโอ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทจัดการการลงทุนที่มีฐานะเป็นบริษัทเอกชนของเธอ ให้กับมูลนิธิพุทธรักษาซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษาที่ตัวเธอริเริ่มขึ้นในปี 2002 และมูลนิธิธนินท์-เทวี เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของครอบครัวที่ตัวเธอดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ทิพพาภรณ์และชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ผู้เป็นสามีร่วมกันก่อตั้งบลู คาร์บอน โซไซตี้ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนในประเทศไทย ทางองค์กรระบุว่าป่าชายเลนเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากป่าชายเลนสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวดเร็วกว่าผืนป่าบนดินถึง 4 เท่าตัว บลู คาร์บอนได้ลงนามในความตกลงร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program) ที่จะพิทักษ์พื้นที่ป่าชายเลนขนาด 24 ตารางกิโลเมตรในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ ทั้งคู่จะบริจาคเงินจำนวน 3.5 แสนเหรียญเพื่อใช้ในการดำเนินงานของโครงการระยะเวลา 3 ปีโครงการดังกล่าว – Ron Gluckman รายงาน บรรณาธิการ: Grace Chung เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง, ริศา อ่านเพิ่มเติม
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ทำเนียบ "เศรษฐีใจบุญ" แห่งทวีปเอเชียประจำปี 2019 " ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine