Sebastian-Justus Schmidt ชายผู้หลงรักไฮโดรเจน - Forbes Thailand

Sebastian-Justus Schmidt ชายผู้หลงรักไฮโดรเจน

ผู้บริหารด้านซอฟต์แวร์ชาวเยอรมันซึ่งเลือกมาปักหลักครอบครัวที่จังหวัดเชียงใหม่ 10 ปี ก่อนได้สร้างบ้านผีเสื้อ ซึ่งเป็นอาคารบ้านพักประหยัดพลังงานที่นำแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าควบคู่กับการเก็บก๊าซไฮโดรเจนเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง 24 ชั่วโมงได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก และกลายเป็นต้นแบบให้กับผู้สนใจมาเยี่ยมชมอยู่เป็นระยะ


    กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา Sebastian-Justus Schmidt เจ้าของและผู้ก่อสร้าง บ้านผีเสื้อ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Hydrogen Summit 2025 ในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการบ้านผีเสื้อ เพื่อเป็นเวทีที่รวบรวมผู้นำและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนจากทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจไฮโดรเจนทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 คน หัวข้อเสวนาย่อย อาทิ Thailand’s Hydrogen Knowledge Hub, S/E Asia and the Road to Hydrogen เป็นต้น

    สถานที่จัดงานเป็นลานกลางแจ้งที่มีเต็นท์คลุม พัดลม เครื่องเสียง ตลอดจนเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดใช้ไฟฟ้าจากพลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นเอง ภายในเต็นท์หนาแน่นไปด้วยผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งมาจากหลายประเทศ กระเป๋าเป้ของพวกเขาหลายคนมีแก้วน้ำหรือกระบอกน้ำส่วนตัวเหน็บอยู่ด้านข้าง ภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร เครื่องดื่ม สำหรับเบรกหรืออาหารกลางวันไม่มีพลาสติกหรือจานกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง ทุกอย่างภายในงานถูกออกแบบมาสอดคล้องกับแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


นักธุรกิจด้านซอฟต์แวร์

    ก่อนจะมาเป็นเจ้าของบ้านผีเสื้อ Sebastian-Justus Schmidt ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและร่วมสร้างสรรค์เทคโนโลยีนวัตกรรมมากมาย ทั้งเทคโนโลยีการบีบอัดข้อมูลเสียงและวิดีโอ แอปพลิเคชันมือถือ และพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวในปัจจุบัน หลังรับตำแหน่งบริหารในบริษัทจดทะเบียนในเยอรมนีหลายแห่ง เขาได้ก่อตั้ง SPB Software ในปี 2001 ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในธุรกิจนั้น และเป็นรายแรกที่มีส่วนร่วมด้านซอฟต์แวร์มือถือ

    ปี 2011 ได้ขาย SPB Software ให้กับ Yandex ซึ่งจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ปี 2013 เขาดำรงตำแหน่งประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการและผู้จัดการทั่วไปด้านการพัฒนาทางมือถือ (Executive Vice President and GM Mobile) ของ Yandex บริษัทอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

    ด้วยหน้าที่การงานทำให้ต้องเดินทางพบปะลูกค้าตามเมืองหรือประเทศต่างๆ เช่น Seoul, Shenzhen, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และไทยอยู่เป็นประจำ ปี 2004 จึงตัดสินใจปักหลักที่จังหวัดเชียงใหม่ คำถามที่ถูกนักข่าวไทยถามบ่อยครั้งคือ ทำไมต้องเป็นประเทศไทย คำแรกที่เขาตอบคือ “อาหาร” ก่อนจะขยายความในเวลาต่อมาว่าเป็นเพราะมีโรงเรียนนานาชาติเยอรมันให้ลูกๆ ได้ศึกษา มีเที่ยวบินตรงไปยังเมืองต่างๆ ทำให้เดินทางไปพบลูกค้าได้สะดวก


    ส่วนเหตุผลที่สร้างบ้านใช้พลังงานไฮโดรเจนที่นี่เพราะหากจะสร้างแบบนี้ที่เยอรมนีต้องขออนุญาตจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่มีพื้นที่สำหรับความคิดริเริ่มใหม่ของผู้ประกอบการ และเขาคงหมดความอดทนไปเสียก่อน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐของไทยตอบเพียงว่า ยังไม่มีระเบียบข้อบังคับด้านนี้แต่ไม่ได้ห้าม โครงการบ้านผีเสื้อในประเทศไทยจึงเกิดขึ้น ใช้มาตรฐานเดียวกับยุโรปในการก่อสร้าง และมี Jan-Justus Schmidt บุตรชายคนโตเป็นผู้จัดการโครงการหลัก รับผิดชอบการออกแบบทางเทคนิคและการดำเนินการของบ้านพักที่ใช้พลังงานจากไมโครกริดพลังงานแสงอาทิตย์-ไฮโดรเจนแบบออฟกริดแห่งแรกของโลก

    “ตอนเริ่มสร้างบ้าน 10 ปีก่อนเวลาเพื่อนมาถามว่า ทำไมลงทุนกับบ้านหลังนี้เพราะแพงมาก คนอื่นอาจซื้อ (รถ) Ferrari แต่ผมซื้อ energy system จะโชว์เคสว่าการมีวิถีแบบ high level green sustainable เป็นไปได้ วันนี้ที่คนมาร่วมงานกว่า 150 คนก็เพราะระบบพลังงานไม่ใช่ Ferrari...ผมไปประชุมเวทีนานาชาติที่บรรยายเกี่ยวกับไฮโดรเจน คนบอกไม่ work แต่ผมใช้อยู่ ต้องมีอะไรผิดบางอย่าง นี่คือความสำคัญของการศึกษา ผมใช้มา 2 ปี และตกหลุมรักไฮโดรเจน เพราะใช้ชีวิตอยู่กับมัน ได้เห็น หายใจเข้า และสัมผัสอยู่ทุกวัน...”


พลิกบทเป็นเจ้าของเทคโนโลยี

    หลังก่อสร้างบ้านได้ 2 ปี บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีในอิตาลีล้มละลาย Sebastian จึงเข้าซื้อกิจการในราคา 100,000 ยูโร พ่วงมาพร้อมหนี้สินอีก 1 ล้านยูโร และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Enapter AG โดยมีบทบาทในการควบคุมดูแลด้านการวิจัยและพัฒนาและให้แนวทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และเพิ่งวางมือจากตำแหน่งซีอีโอในเดือนธันวาคม ปี 2023 โดยเป็นที่ปรึกษาและผู้ถือหุ้นรายใหญ่

    Enapter AG เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไฮโดรเจนโดยใช้เทคโนโลยี Anion Exchange Membrane (AEM) ซึ่งพัฒนาจากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า เครื่องอิเล็กโทรไลเซอร์ของบริษัทนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน ยานยนต์ อุตสาหกรรม ความร้อน และโทรคมนาคม มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นยุโรป อเมริกา อื่นๆ ก็มีญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี 2017-2024 จำหน่ายไปแล้ว 8,000 เครื่อง ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 400,000 บาท

    ปี 2023 มีรายได้ 31.6 ล้านยูโร เติบโตจากปี 2022 คิดเป็น 114% และปี 2024 มีรายได้ประมาณ 30 ล้านยูโร ด้วยจำนวนลูกค้ามากกว่า 340 รายจาก 50 กว่าประเทศทั่วโลก ยอดขายปี 2024 หากจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมแบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้า 30% ยานยนต์ 40% และอุตสาหกรรมหนัก 30%


ภาพ: บ้านผีเสื้อ


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิสิทธิ์ สดแสงเทียน โบว์เบเกอรี่ SME ดาวรุ่งเซเว่นฯ

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2568 ในรูปแบบ e-magazine

Forbes Thailand ใช้คุ้กกี้บนเว็บไซต์นี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของท่าน ท่านตกลงใช้งานคุ้กกี้เพื่อใช้งานเว็บไซต์ต่อไปนโยบายความเป็นส่วนตัวและนโยบายความการใช้คุกกี้