“บุญชัย เบญจรงคกุล” มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งจากการจัดอันดับของ Forbes ได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีนักบุญที่มักผุดโครงการช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง วันนี้แนวคิดเหล่านั้นถูกส่งต่อมายัง “ศุภรัตน์ เบญจรงคกุล” ทายาทคนโต แม่ทัพคนสำคัญของบริษัท รักบ้านเกิด จำกัด ที่เลือกฉีกแนวจากธุรกิจสื่อสารที่เป็นภาพลักษณ์ของครอบครัวมาช่วยงานที่เป็นอีกหนึ่งหัวใจของพ่อ
แม้วันนี้โลกยุคใหม่จะเริ่มสวิงกลับมาหาความยั่งยืนมากกว่าความฉาบฉวย แต่การพัฒนาธุรกิจของ
บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด ที่เกิดจากปณิธานของเจ้าสัว
บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ
ดีแทค ในการส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิดในจิตใจของคนรุ่นใหม่ ยังเป็นความท้าทายของ “หนึ่ง”
ศุภรัตน์ เบญจรงคกุล ลูกสาวคนโต ในการสานต่อแนวคิดของผู้เป็นพ่อ
ลูกสาวคนโตของเจ้าสัวผูกพันกับโครงการสำนึกรักบ้านเกิดตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่แม้ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่อังกฤษจนจบไฮสคูล แต่กลับไม่รู้สึกห่างเหินกับโครงการที่พ่อคิดขึ้นมา เพราะทุกครั้งที่เธอกลับบ้านแค่ช่วงสั้นๆ ก็มักติดสอยห้อยตามพ่อลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับชาวไร่ชาวนาจนซึมซับบางอย่างและกลายเป็นความผูกพัน
กระทั่งเธอเรียนต่อด้าน Liberal Art ที่ Oxford Brooke’s University ราว 1 ปี ก่อนเรียนต่อปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจที่ University Of Kent Canterbury จนจบ และได้เวลากลับมาสานต่อแนวคิดของพ่อที่ตอนนั้นกลายเป็น บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด อย่างเต็มตัว
“...พ่อจะบอกเสมอว่า ถ้าเราทำให้เขาสบาย ประเทศเราก็จะยิ่งเจริญ” ศุภรัตน์เอ่ยเป็นประโยคแรกกับ
Forbes Thailand ถึงสิ่งที่เธอเลือกอย่างเต็มใจ
“ตอนไปของานทำ บริษัทรักบ้านเกิดเพิ่งตั้งได้ประมาณ 5 เดือน ทั้งพ่อและอาบอกว่า ลองทำบริษัทนี้เลย ซึ่งน่าแปลกที่เราไม่ปฏิเสธและรู้สึกดีใจ” เธอกล่าว “ที่ผ่านมาธุรกิจของเบญจจินดาจะเน้น B2B ส่วนตัวมองว่ามันไม่ชาเลนจ์เท่าไหร่ ขณะที่โครงการสำนึกรักบ้านเกิดนี้ เราคลุกคลีและผูกพันมาแต่เด็ก ติดตามคุณพ่อไปดำนา เข้าค่าย เราซึมซับด้วยภาพและสิ่งที่เห็น มันเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น ยิ่งพอลงมาทำเอง แล้วเขารู้จักเรา มีการทำงานร่วมกันก็ยิ่งอบอุ่น”
ย้อนกลับไปถึงที่มาของบริษัท รักบ้านเกิด มาจากการที่เจ้าสัวบุญชัยต้องการต่อยอดโครงการสำนึกรักบ้านเกิดของมูลนิธิ
“ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด” ที่เขาตั้งขึ้น โดยเปิดกองทุนต้นกล้ารักบ้านเกิด มอบทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จนจบปริญญาตรี มีข้อผูกพันเพียงแค่เมื่อเรียนจบขอให้กลับมาเป็นคนดีพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งพอคนเหล่านั้นกลับบ้าน บริษัทรักบ้านเกิดอยากหาช่องทางสร้างรายได้ให้เขา
เว็บไซต์รักบ้านเกิด จึงเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดสร้างอาชีพให้
คลังความรู้เกษตรยุคใหม่
จนถึงวันนี้ศุภรัตน์รีแบรนด์ให้เว็บรักบ้านเกิดเป็นคลังความรู้ด้านการเกษตรที่มีข้อมูลมหาศาล เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านการเกษตร ดึงเทคโนโลยีเข้ามาเป็นช่องทางในการเผยแพร่และส่งต่อคอนเทนต์ให้เข้าถึงได้ง่าย
ขณะที่ได้พัฒนาอีกเว็บไซต์ขึ้นมาในชื่อ www.sabuymarket.com สำหรับเป็นมาร์เก็ตเพลสออนไลน์เต็มรูปแบบ เป็นศูนย์กลางซื้อขายเป็นอี-คอมเมิร์ซด้านการเกษตรที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่ง
“เมื่อเข้ามาทำงาน เราได้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ของวงการเกษตร
เลยคิดแก้ปัญหาทั้งเรื่องการพัฒนาที่ดินจากที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นที่ดินเกษตรแบบครบวงจรบนพื้นที่ของลูกค้า ให้บริการแบบ one-stop-services มีทีมวางแผน ออกแบบ ปฏิบัติการและหาเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่มาดูแลที่ดิน ขณะที่เว็บไซต์
www.sabuymarket.com มุ่งขายวัสดุอุปกรณ์การเกษตร เพราะอยากให้คนเข้าถึงอุปกรณ์คุณภาพดี ราคาจับต้องได้ บนระบบซื้อขายที่ง่าย สบายๆ”
ขณะที่ฝั่งคอนเทนต์ถูกพัฒนาใหม่ให้ไม่น่าเบื่อ “ตอนนี้เกษตรกรใช้เฟซบุ๊กใช้สมาร์ทโฟนได้ เราจะพัฒนาคอนเทนต์ให้เหมาะสม มีคลิปสั้นที่หลากหลายขึ้น มีบล็อกเกอร์ด้านการเกษตร ...จุดมุ่งหมายที่อยากเห็น อยากให้ความรู้ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเกษตรมันย่อยง่ายมากขึ้น” โดยศุภรัตน์มองว่ากลุ่มเป้าหมายที่เธอต้องการเจาะคือคนรุ่นใหม่ให้เป็นเทรนด์กลับไปทำเกษตรอย่างภาคภูมิใจ
“...หลายคนที่กลับไปทำ ส่วนใหญ่จุดเริ่มต้นมาจากพ่อแม่ป่วย เพราะโดนสารเคมีในไร่ เลยอยากไปทำการเกษตรในแบบอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ขณะที่เกษตรกรเด็กลง มีความเป็น Smart Farmer มากขึ้น และได้เห็นถึงพลังของคนที่พร้อมกลับไปรักบ้านเกิดของตัวเอง” เธอกล่าว จากการปรับคอนเทนต์เช่นนี้ทำให้มียอดสมาชิก subscribe ในช่อง YouTube ถึง 2 แสนคนและมียอดวิวแต่ละคลิป 4-5 แสนวิว ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินคาด
สร้างธุรกิจต่อยอด
สำหรับบริการสร้างและบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในรักบ้านเกิด เธอขยายความเพิ่มเติมว่า ทีมงานได้พัฒนาซอฟต์แวร์ในชื่อว่า
Fulfield เพื่อสนับสนุนบริการนี้เป็น Google worksheets และ calendar ที่คอยบอกว่า วันนี้เกษตรกรต้องทำอะไรบ้าง
จากนั้นก็เป็นการเติมเต็มให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง หรือคนตกงาน รักบ้านเกิดจะเป็นตัวกลางระหว่างคนเมืองเจ้าของที่ดิน กับเกษตรกรในพื้นที่รวมถึงคนตกงาน รักบ้านเกิดจะคัดเลือกและเทรนคนเหล่านั้นเพื่อมาเป็นผู้จัดการดูแลพื้นที่ให้เจ้าของที่ มีการบริการจัดการรายงาน วิธีการปลูก ดูแลรักษา จนถึงเก็บเกี่ยวผ่านซอฟต์แวร์ และจะมีรายงานส่งกลับให้เจ้าของที่เป็นรายสัปดาห์
อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในแผนและเธอกำลังทำตลาด คือวิตามินพืช (สารสกัดกระตุ้นทางชีวภาพจากสมุนไพรไทย) หรือ biostimulants รักบ้านเกิดเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้ภายใต้ชื่อ
ALLBIO ทำจากสมุนไพรของไทย ผ่านการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัท Biotech Supreme Trading รวมถึงได้รับการ certified ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิก และเป็น organic input ที่สามารถใช้ในพื้นที่ทำการเกษตร
ALLBIO จะทำให้พืชได้รับสารอาหารได้อย่างเต็มที่เพราะเป็นการให้จากทางใบ พืชจะเจริญเติบโตแข็งแรงให้ผลผลิตมากขึ้น โดยมีสูตรกันโรคและสูตรกันแมลง ลดการใช้เคมีอันตรายลง ปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกร ผลผลิตดีขึ้น
ศุภรัตน์เอ่ยยิ้มๆ ว่า การเป็นลูกสาวเจ้าสัวมีด้านดีอยู่เหมือนกัน คือเป็นที่รู้จัก คุยกันง่าย ส่วนที่ยากคืออาจโดนมองได้ว่าจะทำได้อย่างที่พูดจริงหรือไม่
“ถึงต้องลงพื้นที่ให้เขาเห็นเลย คือ แค่เขาเห็นว่าเราเปื้อนได้เขาก็โอเคแล้ว แต่จริงๆ แล้วที่หนึ่งต้องลงไปเพราะเราก็ต้องไปเรียนรู้กับเกษตรกร เราไม่ได้รู้เยอะกว่าเขาเลย เพียงแต่เราต้องการเป็นตัวเชื่อม เกษตรกรต้องไว้ใจเราและเชื่อว่าเราจริงใจ เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้เขาเห็น”
ภาพ: บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด