มนตรี วัดละเอียด ชีวิตยิ่งกว่านิยาย Make Up Design ระดับโลก - Forbes Thailand

มนตรี วัดละเอียด ชีวิตยิ่งกว่านิยาย Make Up Design ระดับโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Nov 2021 | 08:00 AM
READ 4163

ความน่าสนใจของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของไทยอย่างสหกรุ๊ป นอกจากสามารถทำรายได้มหาศาลในแต่ละปีแล้ว บุคลากรอันเปรียบเหมือนตัวละครเอกขององค์กรก็น่าจับตาไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะบุคลากรที่มีบทบาท ส่งเสริมงานศิลปะและชื่อเสียงให้กับประเทศ

มนตรี วัดละเอียด หรือ “พี่ขวด” ชื่อที่คุ้นหูของคนวงการบันเทิง ปัจจุบันเขาเป็นผู้อำนวยการสถาบัน MTI (Make Up Technique International) และเป็น Artistic Director ที่ OCC หรือ บมจ. โอซีซี ในเครือสหกรุ๊ป การกลับสู่อ้อมอกของ MTI อีกครั้ง พร้อมเดิมพันครั้งสำคัญคือการนำพาให้ MTI ขึ้นแท่นเป็นสถาบันอันดับ 1 ในอาเซียนเป็นโจทย์ที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับมนตรี โดยเฉพาะในยุคที่โควิดโจมตีในทุกประเทศทั่วโลก แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งความตั้งใจในครั้งนี้ได้ เพราะมนตรีเชื่อเสมอว่า..ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส “เราต้องการเป็นที่ 1 ใน ASEAN อาจไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายแต่เราก็ตั้งใจจริง สร้าง MTI ให้ไทยเป็นแหล่งความรู้ เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา” ก่อนหน้านี้ MTI เคยมีคอร์สแต่งหน้าโขน มายุคนี้ได้ปรับหลักสูตรเพิ่มคอร์สแต่งหน้าโมเดิร์นไทยสไตล์ เปิดรับผู้สนใจให้มาเรียนรู้เรื่องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้เหมาะกับโทนผิวมีนักเรียนจากลาว สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา มาเข้าคอร์สกับ MTI ที่ Kuad Garden อันเป็นสถาบันที่เปิดสอนแต่งหน้าในเชิงให้ความรู้ชุมชนและผู้ที่สนใจ และงานเชิง CSR
มนตรี วัดละเอียด หรือ “พี่ขวด” ผู้อำนวยการสถาบัน MTI (Make Up Technique International) และ Artistic Director ที่ OCC
“เมื่อเราตั้งเป้าหมายให้ไปถึงจุดนั้น เราก็ต้องปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ผู้เรียนและกระแสโลก พร้อมการสร้างสรรค์สัมพันธภาพในมวลหมู่ชาติ ASEAN ให้ได้มากที่สุด เราไม่ได้เปิดเกมว่าเป็นคู่แข่ง แต่เราจะใช้หัวใจให้ความเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ในการทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย”  

- เส้นทางสู่ความสำเร็จ -

มนตรีย้อนเล่าตำนานชีวิตบนเส้นทางที่น้อยคนจะมาไกลถึงจุดนี้ว่า “ต้องย้อนไปตอนสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยได้คะแนนสูงมากในคณะนิติศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ เราตั้งใจมากเพราะที่บ้านคาดหวังกับเราสูง ช่วงเรียนนิติฯ มีกิจกรรมมากมาย ออกค่ายอาสา ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน และอยู่ชมรมการแสดงด้วย พอเรียนปี 5 รุ่นพี่ก็ชวนไปรับงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพ มีอยู่วันหนึ่งช่างแต่งหน้าไม่มา เขาถามว่า ลองดูไหม เราก็แต่ง จนเขาให้เราทำ แล้วก็ไปเรียนที่ MTI เรียนตอนเย็นเลิก 3 ทุ่ม เรียนจบก็เป็น freelance ให้กับ MTI และเริ่มงานด้านแฟชั่น เคยเป็นนายแบบเองด้วยขึ้นปกหนังสือชื่อแรกรุ่น จากนั้นโลกเปลี่ยนเลย มหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบสำหรับเรา” นั่นคือจุดพลิกผันของนิสิตนิติศาสตร์สู่จุดเริ่มต้นช่างแต่งหน้ามือหนึ่ง “เราเป็นคนโชคดี เมื่อก่อนจตุจักรขายหนังสือมือสอง แฟชั่นเยอะมาก เราก็ได้ข้อมูลแฟชั่น ได้ภาษา ได้ทุกอย่างจากการค้นคว้า เราเห็นเทรนด์แฟชั่นของโลก ยิ่งมาต่อยอดตอนเรียนที่ MTI เรียนรุ่นที่ 8 ทุกอย่างยิ่งชัดเจน เรามาถูกทาง (ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 500 ) จากนั้นได้เริ่มเป็น staff” โอกาสมาถึงเมื่อมีงานแฟชั่นชุดนอนผู้หญิง จัดที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เขาจัดเต็ม เมื่อก่อน MTI มีโมเดลลิ่งด้วย มีดาราในสังกัด อาทิ โดม-ปกรณ์ ลัม, ตั๊ก-บริบูรณ์ ครั้งนั้นมนตรีรับตำแหน่งเป็นโชว์ไดเร็กเตอร์มีโอกาสทำงานเยอะมาก เช่น เปิดตัวแจ็ค นิคลอส เปิดตัวแอโร่ นำงานด้านเมกอัพบอดี้เพนต์มาผสมผสาน สนุกกับงานมาก จนสุดท้าย OCC มาขอให้เป็นที่ปรึกษาด้านกิจกรรมการตลาดและการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ได้เจอกับเจ้ากอแก้ว ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเช่นกัน หลังจากนั้นมนตรีได้ลาออกมาทำหนังเรื่องสุริโยไท หลังได้รับเชิญจาก ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) ซึ่งมนตรีนับถือเป็นครูอีกคนในชีวิต เปิดประสบการณ์ใหม่เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่มีการโปรโมตคนทำงานเบื้องหลัง ถ่ายทอดกระบวนการคิดอันเป็นที่มาของงานทั้งหมด ด้วยกระแสของหนัง การโปรโมต และประชาสัมพันธ์ทำให้ชื่อ มนตรี วัดละเอียด เป็นที่รู้จักในวงการและแวดวงสังคมนับแต่นั้น จากนั้น MTI ก็ชวนให้กลับมาทำงานอีกครั้ง เขาก็กลับไปสอนอยู่พักใหญ่ พอถึงจุดอิ่มตัวจึงออกไปทำสถาบันสอนแต่งหน้าสวนฃวดการ์เด้นที่จันทบุรี  

- ก้าวอีกขั้นเมกอัพครีเอเตอร์ -

มนตรีเล่าว่า วันที่โบกมือลาจาก OCC ครั้งแรกเพื่อไปแสวงหาตัวตนและประสบการณ์ให้ชีวิต เขาได้บทเรียนที่ล้ำค่า ก่อนจะเป็นเมกอัพแอดไวเซอร์รับผิดชอบงานใหญ่ มนตรีเป็นคนเซตทีมเมกอัพงานภาพยนตร์ยิ่งใหญ่อย่างสุริโยไทและนเรศวรและซีรีส์ศรีอโยธยา รวมถึงหนังโฆษณาที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ซึ่งต้องแลกกับความมุมานะหยดน้ำตาที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง “ได้มาเจอกับ อ. วิจิตร คุณาวุฒิ ท่านดุมาก โดนทุกวัน ตอนนั้นกลับมาโรงแรมน้ำตาไหลพราก เพราะเรายังไม่เข้าใจกระบวนของงานหนังทั้งหมด เข้าไปหน้าเซตไม่ถูกจังหวะบ้าง เข้าไปซับหน้าผิดจังหวะบ้าง แต่ที่เขาดุเพราะรัก” มนตรีเล่าว่า ในยุคต้นๆ ทีมช่างหน้าและช่างผมมีแค่อย่างละ 1 คนต่อภาพยนตร์ 1 เรื่องกับทุกตัวละคร ได้เงิน 15,000 บาทต่อเรื่อง ออกกองถ่ายเป็นเดือน “ก็ไม่รู้ทำได้อย่างไรตอนนั้น ทำทุกอย่าง แต่งได้ทุกอย่างในโลก แต่งตั้งแต่พระเอก นางเอก ตัวประกอบ ยัน extra ทำกันแค่ 2 คน” ต่อจากนั้นก็เป็นยุคไฟว์สตาร์ มนตรีมีโอกาสได้ทำงานกับผู้กำกับเก่งๆ หลายคน และเข้าสู่แวดวงทีวีในที่สุด ได้ร่วมงานที่ช่อง 3 ตอนนั้นต้องไปที่สตูดิโอหนองแขม จากนั้นก็เข้าวงการโฆษณาคิวละ 1,500 บาท หลักๆ ที่ยังทำอยู่ในตอนนี้คือ โฆษณา รีเจนซี เมื่อก่อนวิ่งคิวงานกันข้ามจังหวัดเลยทีเดียว ในยุคที่หนังโฆษณาเฟื่องฟู ตำนานของ “แม็ทชิ่ง สตูดิโอ” ที่จัดว่าพีกขั้นสุด บางจ็อบ “พี่ขวด” รับค่าตัวแพงกว่านักแสดง อาทิ แคมเปญโฆษณาชุดผีเสื้อสมุทรของเครื่องสำอางมิสทิน ที่ต้องเดินทางตี 3 ทุกอย่างต้องพร้อมถ่าย 7 โมงเช้า อีกชิ้นคือ หนังโฆษณาฮอตฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง “ไอ้ฤทธิ์กินแบล็ค” พี่ขวดรับงานเอฟเฟ็กต์ ไปติดขนเท้าให้ตัวเอกคือ “ไอ้ฤทธิ์” สร้างประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงทั้งค่าตัวและสีสันของงาน มนตรีเล่าว่า “บางงานลูกค้าของแบรนด์สินค้ากับลูกค้าเอเจนซีตีโจทย์มาไม่เหมือนกัน ชิ้นนั้นเป็นขนมเด็ก ลูกค้าแบรนด์ไม่ยอมเขาต้องการเหมือนจริง ขณะที่เรารับบรีฟมาเป็นแนวการ์ตูน เป็นละครเวทีเลย...เสียงเรียกพี่ขวดเชิญหน้าเซตลูกค้าจะเอาเหมือนจริงไม่ใช่แบบนี้ นั่นเกือบไม่รอด เพราะทุกอย่างจะต้องเริ่มถ่ายแล้ว” แต่ด้วยประสบการณ์และไหวพริบจึงเอาตัวรอดมาได้

- คว้ารางวัลระดับโลก -

ด้วยความใฝ่รู้บวกกับการผ่านสนามทดสอบฝีมืออย่างเข้มข้นและพรสวรรค์ที่เป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดี ได้ส่งให้มนตรีคว้ารางวัลมามากมายหลายรายการ อาทิ แชมป์ประเทศไทย และแชมป์เอเชียการแต่งหน้าประเภทแฟนซีคนแรกของประเทศไทย รางวัลตุ๊กตาทองคนแรกของวงการเมกอัพในประเทศไทย จากภายนตร์เรื่อง "เหยื่อ" เช่นเดียวกับการประกวดด้านบอดี้เพนต์ที่เริ่มกวาดรางวัลจากงานโรงเรียนเลอร์วีแลนด์ แล้วขึ้นชั้นไปคว้าแชมป์ประเทศไทยจนสำเร็จ จากนั้น MTI ได้ส่งไปประกวดที่ฮ่องกง สามารถคว้าแชมป์ระดับเอเชีย และมุ่งสู่เวทีระดับโลก นั่นคืองานเวิลด์บอดี้เพนต์ “ภูมิใจกับงานนี้มาก เพราะเป็นการแข่งระดับโลก จัดที่ประเทศออสเตรีย งานเขาใหญ่มาก ไปครั้งแรกได้ที่ 9 ตอนนั้นเขาก็ไม่รู้จักประเทศเราด้วยซ้ำา มีวิธีแข่งที่โหดมาก มีคนมาแข่ง 50 ประเทศ ปีที่ 2 เราได้ที่ 7 ก็ภูมิใจที่ได้นำธงชาติไทยไปปักลงที่ต่างประเทศ ตอนนั้นคุณโก้เป็นนางแบบประจำตัว ครั้งที่ 3 ที่เข้าประกวดนี่ยิ่งเด็ดที่สุด การตีความของแต่ละชิ้นงานมันสำคัญมาก” มนตรีบอกว่า การทำงานแบบนี้ทีมงานต้องเก่ง ต้องสู้ “ตอนนั้น Heat Wave เข้ายุโรปเป็นครั้งแรก ได้แต่เอาเท้าเหยียบน้ำแข็ง สงสารนางแบบมาก ขณะที่ฝรั่งบางชาติเขาถอดใจกลับบ้านเลยก็มี เราพลาดที่ตีความหลุดธีมงาน Transport of the World เราไปตีความเป็น Transit of Life เราก็คิดเป็นนามธรรมปีนั้นเมืองไทยตอนนั้นเกิดสึนามิพอดี เราก็นำเสนอว่า เมื่อแผ่นดินมันกระทบกันมันจะเกิดแบบนี้ เราก็เพนต์เป็นปลัดขิกกับใบหม่อนแล้วก็บอกว่า เมื่อ 2 สิ่งนี้มารวมกัน มันจะเกิดเป็นชีวิต...เขาถึงกับถามว่า เราเข้าใจไหม คุยไปคุยมาก็เข้าใจว่าเราพลาด แต่กรรมการชอบงานของเรา สุดท้ายเราก็ได้ The Best Model”  

- โขนพระราชทานความภูมิใจสูงสุด -

ความที่การแสดงโขนพระราชทานคือ งานฟื้นฟูสืบสานศาสตร์ศิลป์แผ่นดินอันเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจ ดังนั้น ในทุกขั้นตอนของการเตรียมการ คณะผู้จัดทำจึงต้องให้ความใส่ใจและประณีตในทุกขั้นตอน มนตรีได้ใช้ความกล้าโทรประสานงานขอความรู้เพิ่มเติมไปยัง อ. จักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งท่านให้ดูที่คิ้วเป็นหลัก เพราะคิ้วในสไตล์ไทยจะต้องเข้ากับเครื่องประดับชฎาและเครื่องสูงของไทย “ทำมาตอนแรกยังไม่ใช่ เราก็ว่าคิ้วโก่งดังคันศรน่าจะเป็นคำตอบ สุดท้ายก็ยัง ไม่ใช่ 100% ที่สุดได้เชิญให้ศิลปินแห่งชาติ คุณแม่ส่องชาติ ชื่นศิริ มาช่วยดู ท่านบอกยังไม่ใช่ อย่ามัวแต่หลงไปกับคิ้วอย่างเดียว ท่านให้มองที่จุดอื่นคือ ตาให้เขียนแบบนี้แล้วลากตามาตรงๆ จากหางตา ซึ่งพอเห็นปุ๊บจะรู้ได้ทันทีว่า นี่คืออัตลักษณ์แห่งความเป็นไทยทันที โดยที่ MTI เป็นสปอนเซอร์ในการค้นคว้าครั้งสำคัญนี้ เราครีเอตของใหม่ ได้ข้อสรุปคือ แต่งในรูปแบบ stage make- up ตามสมัยนิยม เช่น ยุคนี้อาจหน้าตาวาว แต่ทั้งหมดทั้งมวลจะต้องผสมผสานกับรูปแบบของงานภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังอย่างลงตัว” ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับทัศนคติให้นักแสดงเข้าใจในศิลปะการแต่งหน้าโขนและวัฒนธรรมไทยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งระหว่างการทดลองได้ส่งงานถวายให้เสด็จพระพันปีท่านทอดพระเนตรตลอด เพราะท่านทรงใส่พระทัยในทุกขั้นตอน อาทิ สีปากควรเป็นแบบนี้ ท่านจะทรงมีพระราชวิจารณ์ออกมา สุดท้ายคือความภูมิใจสูงสุดที่ได้ทำให้คนรุ่นหลังได้เห็น เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติในเชิงศิลปะ   เรื่อง: กนิษฐา P. ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine