เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงเลข 7 คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า นี่คือเวลาแห่งการพักผ่อนหลังจากทำงานหนักมาทั้งชีวิต ทว่าในวัย 73 ปี ภัทราวดี มีชูธน หรือ "ครูเล็ก" ยังคงมีไฟล้นเหลือ กับบทบาทคุณครูของเด็กๆ ที่ "โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน" และผู้กำกับละครเรื่องล่าสุดที่จะนำเสนอถึงความหมายและคุณค่าของชีวิตคน 4 รุ่น
เย็นวันศุกร์สุดสัปดาห์ ที่ “วิกหัวหิน” เราจึงเห็นภาพนักแสดงกำลังขะมักเขม้นกับการเข้าฉากซ้อมฝึกดนตรี และครูคอยให้คำแนะนำด้านต่างๆ รวมทั้งมอนิเตอร์ภาพจากจอโทรทัศน์ โดยละครเรื่องนี้มีกำหนดการออนแอร์ผ่านช่องยูทูบ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เด็กนักเรียนทุกชั้นของ “โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน” มีส่วนร่วมตามเจตนารมย์เธอ "ภัทราวดี มีชูธน" สิบกว่าปีก่อนครูเล็กต้องการเปลี่ยนจากสายงานละครไปสู่ธุรกิจอื่น เนื่องจากมีคนติดต่อขอเช่าที่ดินที่หัวหินเธอจึงขับรถมาดูภาพที่ปรากฏต่อสายตาคือ พื้นที่โล่งเป็นผืนทราย มีเพียงต้นกระบองเพชรและต้นมะขาม 3-4 ต้น “แดดร้อนเปรี้ยงแต่เรารู้สึกเย้น เย็น นึกถึงแม่ (คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ) แม่พามาที่นี่ตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบแล้วเราก็จะบ่นว่า ร้อนจะตายไม่เห็นมีอะไรเลย แม่พามาดูแทบทุกปีทำให้รู้สึกผูกพันและคิดถึงแม่ อยากอยู่ตรงนี้จังเลย จู่ๆ ก็ปิ๊งแว้บ ยกมือบอกแม่ว่า อยากอยู่ตรงนี้นะ ขอให้คิดออก เดินไปเดินมาคิดออกว่าทำโรงเรียนสิ แต่ทำโรงเรียนการแสดงใครจะมาเล่น ทำโรงเรียนเลยไหม ตอนเด็กๆ ชอบวาดโรงเรียนมีเสาธง มีตึก วาดอยู่เรื่อยๆ แม่ก็เลยสร้างโรงเรียนสุภัทราให้ที่กรุงเทพฯ เป็น base ไว้ว่าอีกหน่อยยายเล็กมาจะได้เป็นโรงเรียน เราบอกไม่เอาแล้วเปลี่ยนเป็นโรงเรียนการแสดง เป็นโรงละคร พอกลับบ้านที่กรุงเทพฯ บอกลูกบอกเพื่อนว่า จะทำโรงเรียน ทุกคนหัวเราะ เวลาดิฉันนึกจะทำอะไรคนหัวเราะทุกที แต่ดิฉันเห็นภาพ”โรงเรียนทางเลือก
ปี 2553 คนหัวหินจึงเห็นโรงเรียนแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากถนนเยื้องๆ กับโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ หัวหิน ปีแรกมีนักเรียน 35 คน ปัจจุบันมีนักเรียน 100 คน เปิดสอนทั้งระดับปฐมวัยและมัธยมศึกษา มีทั้งที่เป็นแบบประจำและไป-กลับ ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนตัวครูเล็กนอกจากจะเป็นผู้จัดการแล้ว ยังสอนวิชาภาษาอังกฤษ วรรณคดี และพุทธศาสนาอีกด้วย “เป็นโรงเรียนแนวทางเลือกใหม่ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างอิสระ สามารถนำทั้งศาสตร์และศิลป์มาผสมผสานในการดำเนินชีวิตอย่างเท่าทันโลก และเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในทุกสาขาวิชาชีพ” คือคำจำกัดความที่ครูเล็กให้ไว้ โดยใช้ศิลปศาสตร์เพื่อพัฒนาเยาวชนให้สนใจและสนุกกับการศึกษาวิชาการต่างๆ ตามหลักสูตร 8 วิชา เน้นการสอนให้ผู้เรียนเชี่ยวชาญ อ่าน เขียน และพูดได้อย่างฉะฉานชัดเจน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เน้นการพัฒนาบุคลิกภาพ การคิด และจิตสำนึก โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษม ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายในบริเวณมีร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม และลานสเกตบอร์ด ซึ่งเปิดให้เล่นฟรีตลอด 24 ชั่วโมง จึงกลายเป็นจุดนัดพบของวัยรุ่นและเด็กแว้นที่นัดกันมาปลดปล่อยพลัง รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ละแวกนี้ก็พาลูกๆ มาฝึกเล่นสเกตด้วยเช่นกัน ครูเล็กให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยพลัง ทั้งที่เพิ่งจบภารกิจการกำกับการละครในช่วงเย็นของวันนั้นสถานที่พิเศษสำหรับเด็กพิเศษ
หลักเกณฑ์ในการรับนักเรียนของที่นี่คือ first come first served บางครั้งครูก็เรียกว่า “พรหมลิขิต” นักเรียนไม่ต้องสอบเข้า แต่ผู้ปกครองต้องถูกสัมภาษณ์ “พ่อแม่ต้องชอบการศึกษาประเภทนี้ และเชื่อว่าลูกจะเติบโตไปอย่างดีที่สุดในศักยภาพที่เขามี และเด็กต้อง happy เห็นแล้วชอบ อยากอยู่ ไม่อยากอยู่ไม่ต้องมา เรา freedom เพราะโรงเรียนไม่มีรั้ว จะเดินออกเมื่อไรก็ได้ ถ้าหนีไปก็อย่ากลับมา ไม่รับกลับเลยนะคะ ถ้าจะไปไหนมาบอกครูเดี๋ยวเอารถไปส่ง กลางคืนอยากไปไหนบอกมา ถ้าสามารถไปได้เราไปเที่ยวกัน” เด็กบางคนพ่อแม่คาดหวังเพียงว่าขอให้ลูกสามารถเรียนจบชั้น ม.6 ทว่าด้วยการขัดเกลาและเจียระไนของคณาจารย์พวกเขาจึงเปล่งประกายในเวลาต่อมา “ส่วนมากพ่อแม่เอาลูกมาสมัครและบอกว่า คุณเล็กให้จบ ม.6 ก็พอนะ เพราะอยู่บ้านไม่เรียนหนังสือ บางคนมาจากต่างจังหวัด เราก็ค่ะ ทิ้งลูกไว้กับเราเถอะ ปรากฏว่าเด็กเรียนจบเกียรตินิยมอันดับ 1 จุฬาฯ หรือ มศว ก็มี คือเด็กที่นี่จบเกียรตินิยมในมหาวิทยาลัยต่างๆ เยอะมาก เราถามว่าเธอจบเกียรตินิยมได้อย่างไร ฉันเห็นว่าเธอก็ไม่ค่อยเรียนหนังสือ เด็กก็ยิ้มๆ ตอบว่า ง่ายมากเลยครูเวลาไปเรียนข้างนอก เพราะผมเรียนไปหมดแล้วที่นี่ อย่างเรียน Fine Arts หรือทำละครก็เรื่องเล็กเลย เพราะเล่นละครที่นี่มา 6 ปี เป็นละครใหญ่ๆ ไม่ใช่ละครนักเรียน บางเรื่องเราแสดงถึง 6 เดือน ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ต้องซื้อตั๋วเข้ามาดู” ครูเล็กเล่าพร้อมกลั้วหัวเราะ ส่วน “เด็กพิเศษ” เป็นอีกกลุ่มที่โรงเรียนให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ดังที่ครูเล่าถึงประสบการณ์ว่า “เคยมีเด็กเซียนมาก ทำของแตก เตะประตู หน้าต่าง ชกกับครู เราไม่เข้าใจ คือปกติเป็นเด็กน่ารักมาก แล้วเป็นอะไร ตอนหลังไปเรียน Art Therapy จึงรู้ว่าเป็นเด็กพิเศษ เรามีเด็กพิเศษมานานแล้วแต่ไม่เคยรู้ รู้แต่ว่าเขาแปลกๆ เข้าใจว่าเด็กควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หมอให้ยาและเด็กนั่งซึมหลับ บางคนหลับทั้งวัน พอเราเรียน Art Therapy จบ ลงพื้นที่อยากลองทำกับเคสยากๆ ก็ไปดูเด็กข้างถนน”เสน่ห์...รอยร้าว
ครูเล็กได้พบเด็กในชุมชนแห่งหนึ่งกำลังเล่นสเกตบอร์ดข้างถนนและสงสัยว่า ทำไมถึงเล่น เด็กตอบว่า ไม่ต้องแข่งขันกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง คว้าบอร์ดได้ก็เล่น ล้มแล้วต้องลุก ถามว่า ทำไมไม่เล่นในสวนสาธารณะ เด็กบอกถูกไล่และว่าอยากเล่นเก่งเหมือน “พี่เก่ง” จักรินทร์ เพชรวรพล ครูจึงให้ลูกน้องเชิญมาสอน “เด็กบอกว่า ผมเล่นสเกตจะเสพยาไม่ได้เลย เพราะเวลาเล่นจะล้ม พอมาเล่นทุกวันก็ต้องหยุด เราคิดว่ามันเป็นวิธีเลิกยาง่ายๆ ลองดูสิว่าจะได้ผลไหม ก็ทำลานสเกตบอร์ด ลงทุนซื้อปูนทรายและให้เด็กช่วยกันทำ ให้ช่างปูนสอนเทปูน ทำตอม่อ ทำลานสเกต เราเลี้ยงข้าว เด็กได้ความรู้เรื่องทำลานสเกต และพี่เก่งไปสอนที่นั่น เด็กเล่าว่า ปกติพ่อใช้ไปซื้อเหล้า พ่อดมกาว เด็กก็ดมด้วย แต่ตอนนี้ไม่ไปซื้อเหล้าให้พ่อแล้วเพราะมาเล่นสเกต ครูก็ซื้อสเกตแจก เด็กในชุมชนมากันเต็มเลย จึงไม่มีโอกาสไปซื้อเหล้าให้พ่อหรือไปดมกาว” พอเด็กๆ เล่นสเกตเก่งกันแล้วก็คิดต่อว่าจะทำอะไรดี จึงเป็นที่มาของการแสดงเรื่อง “เสน่ห์...รอยร้าว “เสน่ห์...รอยร้าว The Broken Violin Project” เป็นโครงการศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และชุมชน” จัดทำขึ้นในปี 2562 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาด้วยการใช้ศิลปะสร้างสรรค์เพื่อการบำบัด เป็นการแสดงประกอบดนตรี ใช้ลานสเกตเป็นเวที เนื้อหากล่าวถึงถึงการเลี้ยงลูก ความผิดพลาดของพ่อแม่ที่ข่มขู่และตีลูก ครูที่ตีหรือบังคับเด็ก รวมทั้งพูดถึงวิธีการเลี้ยงดูนำแสดงโดยเด็กทั้ง 3 กลุ่มคือ นักเรียน เด็กจากชุมชน และเด็กที่ก้าวพลาด คราวที่รับเชิญไปแสดงที่เกษรพลาซ่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี “ผู้ชม” ซึ่งครูเล็กใช้คำว่า “ไฮโซ” ต่างประทับใจมากและร่วมกันบริจาค “Success มาก มีโรงเรียนป็นสิบแห่งบอกให้เราไปเล่น พอโควิดมาก็หยุด และคงไม่ได้เล่นอีก เพราะบางคนออกจากเรือนจำแล้ว แต่สิ่งที่เห็นคือ กลุ่มเด็กที่เราทำลานสเกตให้เลิกเสพยา ขยันทำมาหากิน ทำอาชีพตามที่เราสอนไว้ และเปิดบ้านให้เด็กอื่นๆ มาใช้ลานสเกตเล็กๆ ที่บ้านฟรี สอนน้องๆ ให้ห่างไกลจากยาเสพติด ตัดผมให้ฟรีด้วย คือก่อนนี้เขาอยากเรียนตัดผมครูก็ส่งไปเรียน กลายเป็น center เล็กๆ ในชุมชน เราเริ่มต้น สสส. ต่อยอดให้อีกนิดหนึ่ง เราคิดว่าคนจะสอนเด็กติดยาจริงๆ คือพวกนี้ เพราะเขาพูดกันรู้เรื่อง”ค้นพบศักยภาพจากเวทีละคร
นอกจากวิชาเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว สิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาและเป็นหัวใจหลักของที่นี่คือ การนำศิลปศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน เด็กทุกคนจะมีส่วนร่วมในละครเวทีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากไม่อยากเป็นนักแสดงก็มีสายงานสนับสนุน เช่น ช่างไฟ คอสตูม คนคุมเวที ผู้ช่วยผู้กำกับ ฯลฯ โดยขั้นแรกคือ ให้เลือกวรรณคดีที่สนใจมา 1 เรื่อง “นักเรียน ม.ต้น ต้องเรียนวรรณคดีซึ่งมีอยู่ 12 เรื่อง เรื่องไหนที่คิดว่ายังไม่ค่อยรู้ อ่านยาก ให้เด็กชั้นประถมเลือก ชั้น ม.ปลาย เลือกและนำมาทำละคร เราเคยทำละคร มีลูกศิษย์เก่งๆ มาช่วยเล่น เด็กจะได้รู้ว่ารุ่นใหญ่เล่นอย่างไร การท่องบท เตรียมตัว discipline จัดของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เด็กเรียนรู้จากเรา เด็กเลือกได้อยากเป็นช่างไฟ ฉาก แสง เสียง backstage เขาก็เลือกตามชอบ บางคนเป็นนักดนตรี ทั้งโรงเรียนมี activity ร่วมกัน ตอนหลังเล่นเฉพาะบางฉากจากเรื่องที่เขาเลือก” ตำแหน่งไหนมีคนเลือกมากกว่า 1 แก้ปัญหาไม่ยากให้เป่ายิ้งฉุบกัน แต่ครูเล็กบอกว่า ส่วนใหญ่รุ่นน้องจะยอมให้รุ่นพี่ เพราะมองว่าตนเองยังมีโอกาสในปีต่อๆ ไป ซึ่งครูบอกว่า นี่คือสปิริต ในการทำละคร เด็กๆ จะมีโอกาสได้ร่วมงานกับผู้ใหญ่ที่เป็นมืออาชีพ ทำให้เรียนรู้ระบบการทำงาน มีความรับผิดชอบ และตรงต่อเวลา การทำละครยังทำให้ทั้งครูและศิษย์คลุกคลีอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิดHub Education
เป็นธรรมเนียมของโรงเรียนที่จะจัดให้มีการแสดงละครทุกปีในชื่อ Concert in School แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดละครออนไซต์ได้ จึงเป็นที่มาของละครที่จะแพร่ภาพผ่านทางช่องยูทูบของโรงเรียนจำนวน 14 ตอน กำหนดออนแอร์เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ซึ่งยังคง “จัดเต็ม” โดยเชิญลูกศิษย์เก่าๆ จากภัทราวดีเธียเตอร์มาร่วมด้วย อาทิ นภัสกร ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์, ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับภาพยนตร์จากเรื่อง “ถึงคน...ไม่คิดถึง From Bangkok to Mandalay” เป็นผู้ถ่ายภาพ ขณะเดียวกันก็ให้เด็กนักเรียนรับผิดชอบในส่วนงานต่างๆ โดยให้คอยประกบกับนักแสดงหรือคนทำงานเพื่อจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของมืออาชีพ ละครเรื่องนี้ใช้งบฯ ก่อสร้างหลักล้าน ซึ่งครูเล็กลงทุนเองผ่านมูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ และได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากโครงการศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชนโดย “โซเชียลแล็บ ประเทศไทย” “ตอนทำละครมูลนิธิฯ ก็ขายบัตรแต่ financially ไม่คุ้ม แต่คุ้มกับการสร้างคน เราไม่รู้ว่าเขาจะไปถึงขนาดไหน เราสร้างคนขึ้นมาถ้า push เขาดีๆ ไปไกลมาก แล้วเด็กของดิฉันไปไกลหลายคน ตีเป็นมูลค่าไม่ได้ เขาไปไกลและสร้างภาษีให้ประเทศที่ success ทำไมต้องสร้าง เพราะ 100 คนจะได้ master คนเดียว แต่เขาจะสืบสานและสร้างเด็กอีกเป็นหมื่น เราจึงต้องสร้าง master ที่มุ่งมั่นและอยู่เป็น master แต่กว่าจะสร้างได้คนหนึ่งใช้เงินมหาศาล และ master ต้องสร้าง master เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเกิดไม่ได้ “ที่เราได้ดิบได้ดีมาเพราะครูบาอาจารย์ สร้างมา เราต้องสร้างต่อ เราไม่ได้จนแต่ไม่ได้รวย ใครที่เขามีหรือ appreciate ใครไม่ support เราก็มีเงินเดือนมาทำงานตรงนี้ใช้เงินหลายล้านค่ะ ใช้เงินเก็บ...ดิฉันสร้างเด็กสร้างศิลปินตั้งแต่อายุ 23 ปี สร้างไปเรื่อยๆ” เป้าหมายต่อไปคือ จะทำให้โรงเรียนแห่งนี้เป็น hub education ในศิลปะด้านต่างๆ มีทั้งคอร์สระยะสั้นและระยาว ตัวอย่างเช่น ขี่ม้า วาดรูป ถ่ายรูป แต่งหน้า “เราจะให้คุณรู้จักครูที่มีคุณภาพ เราจะ PR และลิงก์ครูให้ ทำเวิร์กช็อปร่วมกัน ให้เป็น hub education ไม่ใช่ของเราคนเดียว แต่เป็นความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายมาช่วยกันสร้าง เป็น soft power คน จะบอกว่า เราเป็นพวกเต้นกินรำกิน แต่เราจะบอกว่า การเต้นกินรำกินมัน very powerful เพราะสามารถดึงคนทั้งประเทศและผู้ใหญ่เข้ามา...จะเก่งในศิลปศาสตร์หรือไม่ ไม่สำคัญ แต่ออกไปแล้วเป็นคนมีวินัย สมาธิ โฟกัส นี่คือสิ่งที่เราสอน และแฝงไว้ในการแสดงทุกชนิด...hub education คือ การรวมครูบาอาจารย์ทั้งหมดมาร่วมกันคนละไม้คนละมือ สอนและสร้าง soft power นี่คือฝันสูงสุดในชีวิต เรามีสถานที่ให้ใช้ พื้นที่เว็บไซต์ พื้นที่จริง เพื่อให้เขาได้ทำงานอย่างสบายใจ” ครูเล็กกล่าวในตอนท้าย ภาพ: โซเชียลแล็บ ประเทศไทยคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine