แรงโหยหาที่จะมี “อิสรภาพทางการเงิน” ได้เป็นแรงขับให้ ปรัชญา เตียวเจริญ หนุ่มออฟฟิศวัยกระเตาะตัดสินใจออกมาเป็นนักลงทุน VI (Value Investor) อย่างเต็มตัวเมื่อราวทศวรรษที่แล้ว จากเงินทุนเริ่มต้นหมื่นกว่าบาทพุ่งทะยานขึ้นเป็นตัวเลข “9 หลัก” ในปัจจุบัน พร้อมเป้าหมายอนาคตสร้างผลตอบแทน 26% ต่อปี แนวการลงทุนสายผสมผสาน บนหลักการธรรมะเพื่อลดอิทธิพลเงินตราเหนือชีวิต
เมื่อเข็มนาฬิกาชี้เลข 4 ชีวิตของ ปรัชญา เตียวเจริญ ก็เริ่มขึ้น เขาเดินฝ่าความมืดออกจากตัวบ้านหลังใหญ่สู่อีกตัวบ้านขนาดย่อมที่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ จากนั้นก็จิบกาแฟเรียกความกระปรี้กระเปร่า ก่อนจะฟังพอดแคสต์เกี่ยวกับการลงทุน เน้นฟังจากผู้จัดการกองทุนเก่งๆ และนักลงทุนต่างประเทศเพื่อให้จิตใจของเขา “นิ่ง” และได้ “แก่น” ของการลงทุน “ผมจะไม่ฟังว่าวันนี้ตลาดเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ ผมไม่รู้ ค่าเงินบาท ตลาด Nikkei เป็นอย่างไร ผมไม่รู้ เหมือนเราฟังแนวทาง ฟังกูรูของเรา เขาเป็นระดับโลกบริหารเงินทุนไม่รู้กี่ billions US dollars แล้ว principle ก็เหมือนเดิมคือ ซื้อหุ้นบริษัทดี” ปรัชญาบอกกับ Forbes Thailand ในบ่ายวันหนึ่งของเดือนมิถุนายน เดือนที่โลกการลงทุนเต็มไปด้วยความปั่นป่วนจากข่าวร้ายๆ มีตั้งแต่การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เพื่อปราบเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ จนไปถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ก่อเกิดเงินเฟ้อไปทั่วโลก “ความนิ่ง” บนโลกการลงทุนดูเหมือนจะไม่พอสำหรับเขา แต่ยังต้องนิ่งทางจิตใจอีกด้วย โดยเขาเลือกที่จะนั่งสมาธิเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงจนถึง 6 โมงเช้า พอ 7 โมงก็ถึงเวลาส่งลูกไปโรงเรียน และรถที่ลูกชอบให้เขาขับไปส่งประจำก็คือ Porsche Cayenne สลับกับ Jaguar XJ6 Series 2 เมื่อกลับถึงบ้านก็ฟังพอดแคสต์อีกครั้งเน้นเรื่องราวที่เขาสนใจอย่างเรื่องประวัติศาสตร์ พร้อมๆ กับการเดินออกไปรับแดดอ่อนๆ ยามเช้า เมื่อยามเย็นมาถึงก็ออกไปรับลูกและเข้านอนตอน 2 ทุ่ม “ไม่เบื่อหรือชีวิตแบบนี้ดูเรียบๆ” พวกเราอดถามไม่ได้กับชีวิตที่ค่อนข้างนิ่งขนาดนี้ ปรัชญาบอกพร้อมรอยยิ้มว่า ก็มีเบื่อบ้าง แต่โดยรวมก็ “happy” ดี นี่คือชีวิตคร่าวๆ ในแต่ละวันของนักลงทุนเน้นคุณค่าหรือ VI ที่หลายคนมองแล้วแอบอิจฉา มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากจะเข้าสู่เส้นทางความมั่งคั่งนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จเหมือนกับเขา สำหรับปรัชญาแล้วเขาบอกแบบถ่อมตนว่า “ไม่แน่ใจว่าประสบความสำเร็จหรือยัง” เพราะไม่รู้ว่า ตลาดหุ้นพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่กระนั้นเมื่อเราดูจากทรัพย์สินต่างๆ ที่เขามีอย่างหยาบๆ ไม่ว่าบ้านหรูราคากว่า 20 ล้านบาท รถคลาสสิก 7 คัน อาทิ Porsche, Jaguar, Benz Classic, BMW หรือเงินที่ใช้จ่ายของครอบครัวในแต่ละเดือนที่รวมแล้วกว่า 300,000 บาท ทั้งหมดมาจากการลงทุนในตลาดหุ้น “100%” หลักฐานเหล่านี้น่าจะบอกกับเราได้ว่า เขาน่าจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งจากการลงทุนในหุ้น เหมือนๆ กับนักลงทุนรุ่นพี่สาย VI อย่าง นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่มีพอร์ตการลงทุนในหุ้นมูลค่ากว่าหลายพันล้านบาท ปรัชญาในวัย 37 ปี ปฏิเสธที่จะพูดถึงมูลค่าพอร์ต ณ ปัจจุบันหรือหุ้นที่เขาถือ บอกแต่เพียงว่า พอร์ตเขามีมูลค่าแค่ตัวเลข “9 หลัก” เท่านั้น หรือง่ายๆ ก็คือ อยู่ในระดับร้อยล้านบาทโหยหา “อิสรภาพทางการเงิน”
ปรัชญาเกิดจากครอบครัวชั้นกลาง มีบิดามารดาเป็นพนักงานธนาคารและให้ความสำคัญกับการศึกษา เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ที่นี่เขาได้พบเพื่อนที่มาจากครอบครัวนักธุรกิจจำนวนมาก ทำให้คิดฝันว่าเมื่อโตขึ้นจะเป็นพ่อค้าเพราะน่าจะเป็นหนทางสร้างความมั่งคั่งได้ เขาบอกว่า สมัยเด็กเขาเป็นคนไม่ตั้งใจเรียนสักเท่าไร แต่เมื่อเรียน ม.ปลายก็ตั้งใจเรียนมากขึ้น เพราะตระหนักว่าหลังจบปริญญาตรีทางบ้านไม่สามารถสนับสนุนทางการเงินอีกต่อไป ดังนั้น จึงทุ่มเทการเรียนอย่างหนักเพื่อเข้าคณะและมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ตำแหน่งงานดีๆ ได้เงินมากๆ และเขาก็ไม่ผิดหวังเพราะสามารถเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ และจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 เขาบอกว่า ที่เลือกคณะนี้เพราะรับรู้จากรุ่นพี่คนหนึ่งว่าได้เงินเดือนมาก อาจจะเริ่มที่ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน ถ้าโชคดีอาจจะถึง 100,000 บาทต่อเดือนก็มี จบปริญญาตรีมาก็รู้สึกว่าถ้าจบปริญญาโทอีกใบน่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นอีก เขาจึงบินไปเรียนต่อที่ The University of St Andrews ด้านการเงิน ที่สกอตแลนด์ โดยใช้ทุนของบิดามารดา ซึ่งเป็นเงินออมเพื่อการเกษียณของพวกเขา ขณะเรียนก็ทำงานในร้านอาหารไทยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การไปทำงานครั้งนี้เขาได้เรียนรู้ถึงการทำธุรกิจร้านอาหารและมองว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการหาเงิน กลับมาจากเมืองนอกก็อายุราว 24 ปี ได้เข้าทำงานบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคข้ามชาติแห่งหนึ่งในตำแหน่ง Customer Development (งานด้านเซลส์) ซึ่งมีสวัสดิการดีมีเงินเดือนสูง มีค่าคอมมิชชั่น มีค่าโทรศัพท์ มีรถให้ใช้พร้อมกับค่าน้ำมัน ขณะทำงานประจำาปรัชญายังทำงานเป็นติวเตอร์และสอนพิเศษตามมหาวิทยาลัยในวันเสาร์อาทิตย์ควบคู่กันไป โดยงานทั้งหมดที่ทำสร้างรายได้ให้กับเขาราว 200,000 บาทต่อเดือน แต่กระนั้นดูเหมือนเขายังไม่พอใจมากนัก เพราะคิดว่าชีวิตน่าจะมีทางไปให้สุดได้มากกว่านี้ แม้จะได้เงินเดือนมาก แต่ปรัชญาก็รู้สึกว่า งานประจำ “ไม่ใช่ตัวเขา” สักเท่าไร แม้จะ “happy” กับมันก็ตามที ดังนั้น ทุกวันที่เขาออกไปทำงานด้วยรถบริษัทก็คิดอยาก “ลาออก” อยู่เสมอ แต่ที่ทำไม่ได้เพราะยังไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าและยังต้องกินต้องใช้ นอกจากนี้ ยังมองว่าการทำงานประจำก็มี“ความเสี่ยง” เช่นกัน อย่างวันหนึ่งหากมีปัญหากับผู้บริหารก็อาจจะไม่ก้าวหน้า หรือบางบริษัทอาจจะจัดแพ็กเกจลาออกก็เป็นไปได้ แล้ววันหนึ่งเหมือนโชคชะตาลิขิตให้เข้ามาสู่โลกการลงทุน เมื่อได้พบกับเพื่อนคนหนึ่งที่ร้านกาแฟและถามเขาว่า “อยากมีอิสรภาพทางการเงินไหม” โดยเป็นการลงทุนในหุ้น พร้อมกับให้สูตรคำนวณ เช่น อยากมีเงินใช้เดือนละ 100,000 บาทแบบไม่ต้องทำงานอะไรเลย อยากมีเงินเท่าไรก็เอา 200 คูณเข้าไป (ตามสูตรของเพื่อน) ดังนั้น อยากได้ 100,000 บาทก็จะต้องมี 20 ล้านบาท เงิน 20 ล้านบาทก็ไปลงทุนอย่างเช่น พันธบัตรที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ได้ “พอเพื่อนมาพูดแบบนี้ก็ตาโต เราก็บ้าเลยว่าถ้าเรามี 20 ล้านบาท ขี้หมูขี้หมาเราก็ได้ปีละ 1 ล้านบาทละ แล้วผลตอบแทน 5% น่าจะทำได้” เขากล่าว ดังนั้น หนุ่มน้อยวัย 24 ปีเศษๆ ไม่รอช้าตัดสินใจเข้าสู่โลกการลงทุนทันทีด้วยเงินเดือนเดือนแรกที่ได้มาแบบไม่เต็มเดือน 17,500 บาท พร้อมๆ กับหาหนังสือมาอ่านเพื่อเข้าใจโลกการลงทุนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าของอาจารย์นิเวศน์ หรือ Warren Buffett “สมัยก่อนผมบ้ามาก ผมอยากรวย อยากมีเงิน จบใหม่ๆ อายุ 23-24 ปีทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน ตี 1 สอนหนังสือแล้วอ่านหนังสือเกี่ยวกับหุ้นถึงตี 1 ตื่นไปทำงานตี 5 เสาร์อาทิตย์สอนหนังสือ” เขาย้อนอดีตให้ฟัง เงินที่หามาได้จากทุกช่องทางรวมถึงโบนัสก็ถมเข้าไปกับพอร์ตการลงทุนทั้งหมดและเมื่ออายุ 26 ปีก็ตัดสินใจออกจากงานประจำวันเพราะคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเข้าสู่โลกการลงทุนอย่างเต็มตัว แต่กระนั้นก็ยังทำงานสอนพิเศษเป็นติวเตอร์และทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ ควบคู่กันไป ทั้งมีแผนการจะเข้าเรียนต่อปริญญาเอกเพื่อเป็นอาจารย์ประจำสอนในมหาวิทยาลัย เผื่อเป็นอาชีพสำรองหากการลงทุนล้มเหลว “ก้าวต่อไปคือ มีเวลาโฟกัสการลงทุนเต็มที่ไปประชุมผู้ถือหุ้น ไปงาน opp day ทำอย่างเต็มที่ ที่เหลือก็ไปเป็นอาจารย์ part time สอนพิเศษ เพื่อเอาเงินมาใช้จ่าย แต่งงานด้วย ภรรยาก็ออกจากงานประจำเหมือนกันทำธุรกิจ ที่เหลือก็นำไปลงทุน”ลงทุนต้อง “รู้จริง”
การตัดสินใจมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวดูท่าจะไปได้สวยเพราะอายุเพียงแค่ 30 ปี พอร์ตการลงทุนของเขาก็โตขึ้นไปแตะเลข “8-9 หลัก” จนถึงปัจจุบันเขามีหุ้นพลิกชีวิตหลายตัว เช่น Robinson หรือ Robin (ปัจจุบันออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้ว), บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด มหาชน (RBF), บริษัท ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (iiG), บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) (HL) เป็นต้น หุ้นตัวแรกที่ปรัชญาเข้าลงทุนคือ Robin เขาบ้าบิ่นมากที่ทุ่มสุดตัวเข้าถือครองหุ้นตัวนี้ตัวเดียวในพอร์ตเพราะมองว่าราคาหุ้นของห้างสรรพสินค้ารายนี้ต่ำกว่าเป็นจริง จากราคาราว 80 บาทที่เคยทำไว้สูงสุดร่วง ลงมาเหลือราว 40 บาท จุดแข็งของหุ้นตัวนี้มีคือ มีหลายสาขา บริษัทไม่มีหนี้ มีกระแสเงินสดที่ดี ไม่น่าล้มละลาย แต่ราคาหุ้นที่ลดลงเพราะ store sales ติดลบหลายปี และหลายคนมองว่า “ห้างนี้เขาเลิกเดินกันแล้ว” ทำให้นักลงทุนเลยเทขายออกมา แต่พวกเขาไม่รู้ว่ายังมีรายได้ประจำจากธุรกิจร้านให้เช่าที่ซ่อนตัวอยู่เติบโตอย่างโดดเด่น ไม่นานหุ้นตัวนี้ก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เขาซื้อมาในราคาราว 40 บาทและขายไปในราคากว่า 60 บาท ปัจจุบันปรัชญาถือหุ้นประมาณ 5-10 ตัว เน้นหุ้นกลุ่ม services เพราะเข้าใจดีมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยจะให้น้ำหนักการถือครองในหุ้น 5 ตัวแรก เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าที่ถือหุ้น 3-5 ตัว โดยเขาจะไม่มีการซื้อขายรายวันและไม่ลงทุนกับสกุลเงินคริปโตเลย “ไม่เล่นหุ้นปั่น หุ้นเก็งกำไร เราดูธุรกิจ ดูแผนขยายสาขา แล้วชอบหุ้นที่คนมีความกังวล มันคือหุ้นที่ดี แต่มีความกังวลว่าถ้ามันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมันไม่น่าจะดีกับธุรกิจนะ...ถ้าเราซื้อหุ้นที่ market concern เราจะได้ราคาถูก” เขามีหลักการเลือกหุ้นลงทุน 3 ข้อคือ หนึ่งต้องเป็นบริษัทที่ดี บริษัทที่ดีเหมือนคบคนดี เหมือนเพื่อนที่ดี มีความสำคัญคือ มีความสามารถในการแข่งขัน มีอะไรเหนือกว่าคู่แข่งบางอย่าง ทำาให้คู่แข่งไม่ได้กำไร สอง ต้องซื้อราคาที่เหมาะสม ไม่แพงจนเกินไป และสาม คือ do nothing ไม่ทำอะไรเลย รออย่างเดียว การรอคอยเป็นเรื่องยากมาก โดยเขาเดินตามนักลงทุนเก่งๆ จากต่างประเทศที่พูดไว้ว่า “เราไม่ได้ทำเงินจากการซื้อขาย เราทำเงินจากการรอคอย” เขาจำได้แม่นกับบทเรียนการรอคอยที่แสนแพง แม้จะศึกษาหุ้นตัวนั้นมาดีแล้ว แต่หากไม่มีความอดทนก็จะทำให้พลาดโอกาสได้กำไรก้อนงามๆ จากการลงทุนได้ ครั้งหนึ่ง เคยซื้อหุ้น PTG (บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี) ในยุคต้นๆ โดยมีราคา IPO 3.90 บาท หลายคนกังวลว่า หุ้นตัวนี้ไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้และไม่มีความโดดเด่นอะไร โดยเฉพาะรายได้จาก non-oil แต่เขามองมุมต่าง เพราะเห็นผู้บริหารเก่ง มีไฟและแผนการขยายสาขาที่ชัดเจน แต่กระนั้นราคาหุ้นก็ไม่ไปถึงไหนจนเริ่มคิดว่าสิ่งที่คนอื่นกังวลน่าจะเป็นเรื่องจริง จากนั้นเขาก็ค่อยๆ ตัดขาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปีหุ้นตัวนี้ ทะยานขึ้นไปแตะที่ราคา 30 บาท เหตุการณ์นี้ทำให้รู้สึกว่าตัวเองพลาดไปอย่างจัง แล้วผู้บริหารบริษัทล่ะ ต้องให้น้ำหนักกับการลงทุนไหม? เราถามเพิ่ม ปรัชญาบอกผู้บริหารรวมอยู่ในหมวดของบริษัทที่ดี การให้น้ำหนักกับผู้บริหารมีความสำคัญอย่างยิ่ง อีกอย่างคือ passion ของผู้บริหาร มันทำให้นักลงทุนได้เงินและรอดพ้นจากหายนะได้ ปรัชญารู้ว่าโลกการลงทุนนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้เขาต้องมีแผนสำรองกับชีวิตเสมอ สมัยก่อนเงินทั้งหมดของเขาจมอยู่ในหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเขามีบัญชีกับธนาคารไว้เป็นเงินออม เตรียมสำรองเผื่อไว้ใช้ในระยะ 1-2 ปีหากเกิดวิกฤตที่ไม่คาดฝันขึ้น นอกจากนี้ กำไรบางส่วนที่ได้ก็เอาไปซื้อรถวินเทจและคลาสสิกบ้าง นาฬิกาหรูบ้าง หากมีความจำเป็นที่จะใช้เงินก็ขายทรัพย์สินเหล่านี้ได้ทันที ขณะที่พอร์ตในหุ้นเขาก็หวังให้มีผลตอบแทน 26% ต่อปี แต่กระนั้นโลกการลงทุนของเขาเดินควบคู่ไปกับชีวิตที่สมดุล โดยเขาเลือกศึกษาธรรมะเพื่อหาความสงบ อย่างคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็น wisdom ที่หยิบยื่นข้อคิดไว้ว่า “คุณมีเงินเท่าไร ถ้าคุณไม่มีความสงบ มันไม่มีประโยชน์” นอกจากนี้ ยังเรียนรู้ว่าการสร้าง wealth มันทำได้ แต่การรักษา wealth มันเป็นศิลปะ เขาย้ำกับภรรยาเสมอๆ ว่า “ถ้าเรามีชีวิตอยู่แบบนี้ ไม่ต้องมีอะไรเยอะแยะมากมาย เราอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็พอใจแล้ว” ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine