ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ทุนชีวิต-ธุรกิจ “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้” - Forbes Thailand

ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ทุนชีวิต-ธุรกิจ “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้”

ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์  เด็กต่างจังหวัดความรู้ ป.4 ดั้นด้นมาทำงานกรุงเทพฯ ส่งตัวเองเรียนภาคค่ำกระทั่งสอบเอ็นทรานซ์ติดวิศวะจุฬาฯ ได้ทุนสนับสนุนจนเรียนจบ จากนั้นเริ่มเข้าสู่ธุรกิจด้วยงานรับเหมาก่อสร้าง ก่อนจะมาเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ในตลาด สร้างธุรกิจหลายหมื่นล้านด้วยหลักคิด “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้”

พฤกษาโฮลดิ้งในวันนี้คือผู้ประกอบการอสังหาฯ อันดับ 1 ในตลาดเมืองไทยด้วยยอดขายกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทั้งที่เริ่มต้นด้วยการผลิตและขายสินค้าตลาดแมสอย่างทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียวราคา 3.3 แสนบาท แต่เพราะความตั้งใจที่จะทำธุรกิจด้วยการ “ให้” จึงสามารถสร้างการเติบโตกลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เบอร์ 1 ในขณะที่ ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ติด 50 อันดับเศรษฐีไทยของนิตยสาร Forbes ต่อเนื่องมาหลายปี โดยปี 2562 ทองมาอยู่ในอันดับ 27 มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 4.47 หมื่นล้านบาท

ทุนจุฬาฯ จุดชนวน “การให้”

ทองมาเป็นเด็กต่างจังหวัด พื้นเพของเขาคือชลบุรี หลังจบการศึกษาขั้นต้น (ป.4) เขาเริ่มชีวิตการทำงานตั้งแต่อายุ 13 ด้วยการรับจ้างบัดกรีถังสเตนเลสและรางน้ำตามบ้านใน จ.ชลบุรี ก่อนจะเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กับอาชีพใหม่ที่ร้านทองย่านประตูน้ำ หลังจากนั้น 2 ปีเขาได้เริ่มเรียนกวดวิชาและไปสอบเทียบทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนจะสอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในวัยที่สูงกว่านักศึกษาปกติราว 2 ปี (อายุ 20) หลังจากนั้นก็สอบเอ็นทรานซ์ติดวิศวะ จุฬาฯ พอเข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตเริ่มเปลี่ยน แม้ปีแรกทองมาจะยังทำทองควบคู่ไปกับการเรียน แต่ในปีต่อมาเขาวางเรื่องงานทั้งหมด หันมาตั้งใจเรียนเต็มที่ เนื่องจากได้รับทุนสนับสนุนการศึกษารวมเบ็ดเสร็จ 3 ทุนเป็นเงินรวมกว่า 1 หมื่นบาท ทำให้เขาไม่ต้องเหนื่อยกับการทำงานไปเรียนไป หันมาเน้นการเรียนเป็นหลักได้เหมือนนักศึกษาทั่วไป และจบปริญญาตรีได้ตามเวลาปกติ “สมัยเรียนจุฬาฯ ตอนนั้นผมน่าจะเก็บเงินจากอาชีพทำทองมา 6 ปี เก็บเงินได้หมื่นเศษๆ แต่สมัยนั้นเรียนปริญญาตรีวิศวะ ต้องใช้เงิน 33,000 บาท เป็นค่าเล่าเรียนค่ากินอยู่ ซึ่งผมอยู่หอจุฬาฯ ช่วงปี 1 ปี 2 ได้รับเงินสนับสนุน 3 ทุนราว 3,000 และ 5,000 บาทกับทุนโปษยานนท์รวมเป็นเงินหมื่นเศษๆ ทางบ้านช่วยอีกหมื่นกว่าก็เพียงพอ” นี่คือเส้นทางสู่อาชีพวิศวกรที่ทองมาต้องขวนขวายหาช่องทางส่งตัวเองเรียนจนจบโดยมีพี่สาวเป็นผู้จุดประกายความฝันตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ร้านทอง ชีวิตที่ไม่คาดคิดว่าจะกลับมาเป็นนักศึกษาในระบบได้เหมือนคนอื่น เพราะตัวเองจบการศึกษาขั้นต้นมาแค่ ป.4 แต่สามารถสร้างโอกาสให้กับตัวเองได้สำเร็จ มันเปลี่ยนความคิดของทองมาว่าความตั้งใจและโอกาสคือสิ่งสำคัญในการสร้างอนาคต ตอนทำงานเขาก็คิดแค่ว่าจะทำงานให้ดีที่สุด แต่เมื่อได้โอกาสในการเรียนเขาคิดถึงอนาคต และมองเห็นความสำเร็จอยู่เบื้องหน้า ซึ่งการได้รับเงินทุนสนับสนุนการศึกษามีส่วนอย่างมากในความสำเร็จที่ผ่านมา “ประสบการณ์ตอนเราเรียนพอได้รับทุนได้รับความช่วยเหลือ เราเห็นความแตกต่างในสังคมเมื่อจบมาทำงานก็เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมเห็นคนในสังคมที่ยากลำบาก เราจึงคิดที่จะช่วยแต่ก็ช่วยได้แค่บางส่วน” เป็นจุดเริ่มแรกการคิดให้ทุนแก่ผู้ที่มีความจำเป็น โดยเริ่มให้ทุนกับจุฬาลงกรณ์สถาบันที่ตัวเองเป็นศิษย์เก่ามาก่อน รวมทั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เมื่อมีกิจกรรมเสนอมาเขาก็ให้ความช่วยเหลือกลับไป โดยความช่วยเหลือเหล่านี้เริ่มให้ตอนที่เขาทำบริษัทแล้ว ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ทุนชีวิต-ธุรกิจ “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้”

“ให้ในธุรกิจ” ส่วนหนึ่งความสำเร็จ

หลังจากทองมาเริ่มมีกิจการเป็นของตัวเองด้วยการก่อตั้ง หจก.สยามเอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งทำอยู่ 8 ปี มีงานเข้ามาหลากหลายทั้งก่อสร้างสะพาน โรงปูนซีเมนต์ สร้างอาคารศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า ช่วงแรกๆ ก็ยังไม่ได้ให้ทุนมากนัก เป็นลักษณะให้ตามการร้องขอซึ่งมีมาเรื่อยๆ และต่อมาเมื่อก่อตั้งบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ในปี 2536 ทองมาเล่าว่า การตั้งบริษัททำบ้านจัดสรรก็มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมอีกรูปแบบเป็นการช่วยผ่านงานที่ทำ โดยการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างบริหารจัดการงานดี จ่ายเงินได้ตามเวลาก็เป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเล็กๆ ช่วยในการจ้างงาน ช่วยให้คนซื้อบ้านได้ในราคาไม่สูงเกินไป ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งทองมาย้ำว่า “เราเน้นการทำธุรกิจด้วยการให้จะเห็นว่าเราให้ในงานที่ทำมาตลอด ทำบ้านขายในราคาที่ต่ำที่สุดด้วยคุณภาพที่ได้มาตรฐาน” บนหลักคิดของการให้ทองมายังคงสืบสานการให้ในแบบที่เขาเคยได้รับด้วยการให้ทุนตามที่มีผู้ร้องขอเมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นเขาก็จะให้โดยไม่รีรอ แต่หลังจากปี 2553 เป็นต้นมารูปแบบการให้ทุนของเขาเปลี่ยนไป มีการจัดทำเป็นโครงการให้ทุนอย่างสม่ำเสมอ จัดงานมอบทุนและเชิญหน่วยงานที่ต้องการทุนสนับสนุนมาร่วมงานและรับมอบจากการขอมาและให้ไปกลายเป็นงานมอบทุนที่เป็นเรื่องราวต่อเนื่องและชัดเจน โดยส่วนใหญ่จัดงานที่โรงแรมเอราวัณและเซ็นทาราแกรนด์ แต่มา 2 ปีล่าสุดจัดที่ตึกเพิร์ล สำนักงานใหญ่ของพฤกษาฯ ในปัจจุบัน โดยทุนในส่วนที่พฤกษาฯ ให้จะมีทุนนักศึกษา ทุนบุตรพนักงาน ทุนอุดมศึกษา ทุนมัธยม ทุนประถม “ทุนพฤกษาฯ เน้นให้กับพนักงานและสถาบันการศึกษา แต่ยังน้อยกว่าทุนส่วนตัวที่เรียกว่าทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ ซึ่งเปิดกว้างในการให้มากกว่า โดยเน้นให้ใน 3 กลุ่มหลัก คือ ศาสนา การศึกษา และสังคม” ทองมาแจกแจงรายละเอียดเรื่องการให้ทุนซึ่งเขามีทั้งสองส่วน คือในบริษัทพฤกษาฯ ที่ทำเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์เป็นประจำทุกปี มีข้อจำกัดเรื่องขอบข่ายการให้ทุนเฉพาะเจาะจงแต่สำหรับทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ซึ่งเป็นทุนส่วนตัวเปิดกว้างกว่า เขาก็ทำควบคู่กันมาตลอด โดยการมอบทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553-2562 ได้บริจาคเงินให้แก่องค์กรต่างๆ ไปแล้วกว่า 100 องค์กร รวมเงินสนับสนุนกว่า 284 ล้านบาท ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ทุนชีวิต-ธุรกิจ “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้” ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ไม่ได้เฉพาะเจาะจงตายตัวว่าต้องเน้นการศึกษาเท่านั้นหรือเจาะจงว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นหลัก แต่กระจายการให้ทุนออกไปหลากหลายองค์กร เน้นไปที่องค์กรเพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งเสริม 3 ด้านตามเจตนารมณ์ คือ ศาสนา การศึกษา เขาเล่าว่าตั้งแต่ปี 2553 ให้ทุนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นตามการเสนอขอเข้ามา จำนวนเงินเพิ่มจากปีแรกๆ 9-10 ล้านบาท มาปีที่แล้ว 48.8 ล้านบาท ปีนี้ 50.8 ล้านบาท “เรามีทีมศึกษาแต่ละองค์กรมีเงินเท่าไร ได้รับการสนับสนุนมาแล้วเท่าไร ยังขาดเท่าไร บางทีก็ช่วยไม่หมด ช่วยได้ 70-80 ล้านบาท ส่วนที่เหลือไปหาเอง” ทองมาเผยว่าเขาก็คงมอบทุนให้กับสังคมเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ตามกำลังที่สามารถทำได้ อาจไม่ครอบคลุม 100% แต่ก็พอช่วยได้อย่างหลากหลาย “ถ้าเราเป็นผู้ให้ คนให้จะมีความสุขความเบิกบานใจ ปล่อยวางได้มากขึ้นคนทุกคนถ้าปล่อยวางได้มากขึ้น ทุกข์ก็น้อยลง” ทองมาเผยความรู้สึกลึกๆ ของการให้ที่เขาได้รับพร้อมกับการให้ทุนทองมาเริ่มต้นธุรกิจที่จะให้อีกครั้งโดยบอกว่า “ล่าสุดเรามาทำโรงพยาบาล ไม่รู้จะสามารถแค่ไหน” ทองมากล่าวพร้อมระเบิดเสียงหัวเราะดังลั่นคล้ายประกาศว่าจะเอาจริงกับอีกธุรกิจการให้ นั่นคือการสร้างโรงพยาบาลวิมุตติ เป็นโรงพยาบาลเอกชนทางเลือกสำหรับคนมีรายได้ปานกลาง ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐคนใช้บริการแน่น ส่วนโรงพยาบาลเอกชนก็มีราคาแพง https://www.instagram.com/p/B4xKI3dnEZ8/?utm_source=ig_web_copy_link “เราจะทำกลางๆ ให้บริการถูกกว่าเอกชนทั่วไปสักหน่อยราว 15% จะพยายาม” เขาหมายถึงโครงการลงทุน 5 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาที่ดิน 8 ไร่บนถนนพหลโยธิน (ข้างธนาคารออมสิน สะพานควาย) เป็นโรงพยาบาลวิมุตติ โดยเฟสแรกจะสร้างโรงพยาบาลขนาด 230 เตียง และเฟส 2 อีกกว่า 300 กว่าเตียงก่อนจบการสนทนาทองมาทิ้งท้ายว่า “คนเราถ้าสามารถให้ได้ก็ดี เพราะรอบตัวเรามีคนที่ลำบากกว่าเราเยอะ ให้แล้วก็รู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือ เหมือนตอนเราเรียนได้ทุนมา 3 ทุนทำให้เรียนจบ มาทำธุรกิจประสบความสำเร็จสูง เราก็ให้ตอบแทนสังคม ถ้าคนที่ให้ทุนเรารู้ว่าเรามาเป็นในวันนี้เขาก็จะดีใจมาก” เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ทุนชีวิต-ธุรกิจ “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine