รสชาติความยากจนแม้ขมปร่า แต่ก็เป็นยาบำรุงชั้นดีที่ผลักให้ชายหนุ่มมุ่งมั่น สร้างฐานะใน Wall Street ก่อนค้นพบความสุขที่แท้จริงจากศิลปะป้องกันตัว พร้อมปรุงสูตรความสำเร็จธุรกิจสื่อรายการกีฬาแห่งเอเชีย ทะยานสู่การเป็นผู้ประกอบการสายเลือดไทยรายแรกที่โตไกลถึงขั้นยูนิคอร์น
ดนตรีประกอบปลุกความคึกคักฮึกเหิมและเสียงเชียร์จากคนดูหลายพันคนที่ดังกึกก้องในฮอลล์สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ นักสู้บนสังเวียนพร้อมจะชิงชัยมาครองด้วยทักษะการต่อสู้ที่ประยุกต์จากศิลปะป้องกันตัวแขนงต่างๆ ในเอเชีย อาทิ มวยไทย ยูโด คาราเต้ ฯลฯ คอยสะกดทุกสายตาให้จับจ้อง คือ “คอนเทนต์” ของ ONE Championship ที่ ชาตรี ศิษย์ยอดธง (ชื่อสกุลจริงคือ ชาตรี ตรีศิริพิศาล) นำเสนอผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดีย สู่ผู้ชมที่รายการสามารถเข้าถึงนับพันล้านคนใน 128 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน ONE Championship ขึ้นชั้นเป็น “ยูนิคอร์น” บริษัทซึ่งมีมูลค่าทะลุหลักพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาทไปแล้วตามคำบอกเล่าของชาตรี ทว่าเป้าหมายการสร้างธุรกิจขึ้นจากความรักของเขาไม่หยุดแค่เส้นขอบทวีปเอเชีย “วิสัยทัศน์ของผมตั้งแต่วันแรก คือพา ONE เข้าไปอยู่ในท็อป 3 ของ sports property ระดับโลกให้ได้ ในนั้นจะมี NBA หรือ NFL ของอเมริกา EPL ของยุโรปและเราซึ่งเป็นของเอเชีย” ชาตรี วัย 46 ปี กล่าวจิตวิญญาณนักสู้
แม่ไม้มวยไทยที่พ่อพาไปดูที่สนามมวยลุมพินีมัดใจเด็กชายชาตรีตั้งแต่อายุ 9 ขวบ กระทั่งอายุราว 13-14 ปี เขาก็ขอพ่อไปฝึกมวยไทยกับ ยอดธง เสนานันท์ หรือ “ครูยอดธง” ที่ค่ายมวยศิษย์ยอดธง จ.ชลบุรี เพราะเป็นค่ายมวยอันดับหนึ่งและอยู่ในจังหวัดที่ครอบครัวอาศัยอยู่ เขาห่างหายจากค่ายมวยเพราะไปเรียนปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Tufts University สหรัฐอเมริกา กระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ชาตรีที่กลับมาอยู่เมืองไทยก็โดนหางเลข เมื่อพ่อของเขาล้มละลาย ทิ้งภรรยากับลูกชายสองคนไว้เบื้องหลัง ชีวิตที่เมืองไทยซึ่งไม่เหลืออะไรรวมทั้งชื่อเสียง ทำให้ Michiyo ผู้เป็นแม่ ผลักดันให้ชาตรีสมัคร MBA ที่ Harvard Business School (HBS) สหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างโอกาสในหน้าที่การงาน ท้ายสุดชาตรีก็ทำได้ ทั้งหมดจึงตัดสินใจอพยพไปสหรัฐอเมริกาด้วยเงินติดตัวหลักพันเหรียญ และกู้ยืมเงินจากธนาคารที่นั่นมาจ่ายค่าเทอม ที่นั่น เขาต้องทำงานทุกชนิดตั้งแต่ครูสอนพิเศษ ครูมวย พนักงานส่งอาหาร ฯลฯ เพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัวความรวยที่ว่างเปล่า
ย้อนไปเมื่ออายุ 18-19 ปี ชาตรีมีความรัก 3 อย่าง คือ ศิลปะป้องกันตัว ความเป็นผู้ประกอบการ และตลาดหุ้น โอกาสทำสิ่งที่รักมาถึงเมื่ออยู่ปี 2 ที่ HBS เขากับเพื่อนร่วมกันก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์อินเทอร์เน็ตชื่อNextDoor Networks ผ่านไป 3 ปีนับจากก่อตั้ง ชาตรีก็ขายหุ้นของตัวเองและได้เงินมาราว 1 ล้านเหรียญ จากนั้นเขาหันทิศสู่การทำงานในบริษัทดูแลกองทุนเฮดจ์ฟันที่ Wall Street ก่อนเริ่มต้นบริษัทกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของตัวเองในชื่อ Izara Capital Management มูลค่า 500 ล้านเหรียญ หน้าที่การงานนำพาความร่ำรวยกลับสู่ชีวิตชาตรีและครอบครัวอีกครั้ง แต่เมื่อประสบความสำเร็จ ชาตรีก็ตั้งคำถามว่าทั้งหมดคือความสุขที่แท้จริงหรือไม่ เพราะการทำงานกับตลาดทุนไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่ขึ้นมา มีแต่ช่วยให้ตัวเองรวยเท่านั้น ความฝันอีกประการของชาตรีคือการเป็นเจ้าของค่ายมวย เพราะเคยเห็นนักมวยไม่น้อยถูกค่ายมวยเอาเปรียบ ชาตรีจึงตั้งใจยกคุณภาพชีวิตนักมวยให้ดีขึ้นและสร้างกีฬามวยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เขามุ่งหน้าสู่ทวีปเอเชียและก่อตั้งยิมฝึกสอนศิลปะป้องกันตัวแขนงต่างๆ ในชื่อ Evolve MMA ที่สิงคโปร์ในปี 2552 ซึ่งตอนนี้มี 5 สาขา จ่ายเงินเดือนผู้ฝึกสอน 150,000-400,000 บาท และเตรียมขยายออกนอกสิงคโปร์สู่ตลาดเอเชียสังเวียนสู่ความเป็นหนึ่ง
ชาตรีเห็นว่าเอเชียมีศิลปะป้องกันตัวเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่น เช่น จีนมีกังฟู เกาหลีมีเทควันโด ญี่ปุ่นมีคาราเต้ ไทยมีมวย ฯลฯ จึงคิดสร้างสื่อรายการกีฬาที่เชื่อมผู้คนในเอเชียเข้าด้วยกัน เกิดเป็น ONE Championship ในปี 2554 พร้อมมุ่งหวังที่จะดันรายการให้เทียบชั้นรายการกีฬาระดับโลกอย่าง ศึกอเมริกันฟุตบอล NFL บาสเก็ตบอล NBA หรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีก โดยชาตรีลงทุนช่วงปีแรกๆ ไปราว 50 ล้านเหรียญ ซึ่งคนรอบข้างไม่มีใครเห็นด้วยเลย แต่ชาตรีก็เดินหน้าต่อเพราะต้องการสร้างโอกาสให้นักสู้ “พระเจ้าหรือใครก็ตามแต่ที่ทำให้ผมจนก็ทำให้ผมรวยขึ้นมา ในฐานะผู้ประกอบการ แน่นอนผมเชื่อว่า ONE จะเป็นกิจการที่สามารถมีมูลค่า 4-5 หมื่นล้านเหรียญได้ มันอาจฟังดูเครซี่ แต่ผมเชื่อว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้ในอนาคต แต่นี่ไม่ใช่แรงขับที่ทำให้ผมยังทำอยู่ ผมอยากช่วยเหลือคนอื่นให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าผมทำดีในชีวิต เงินก็จะมาเอง”ปรุงสูตรความสำเร็จ
ซีอีโอหนุ่มสร้างรายการให้เป็น sports entertainment นำแสงสีเสียงเข้ามาช่วยสร้างสีสัน นำศิลปินหรือวงดนตรีดังมาเล่นคอนเสิร์ต สร้างค่ำคืนแสนสนุกสำหรับทุกคน ส่งให้ฐานผู้ชม ONE Championship เป็นกลุ่มคนมิลเลนเนียลวัย 18-35 ปี 80% แบ่งเป็นชาย 62% และหญิง 32% ชาตรีจัดการแข่งขันมาแล้ว 14 ครั้งในปี 2559 และ 17 ครั้งในปี 2560 ส่วนประเทศไทยเขาเห็นว่ายังเป็นหนึ่งในตลาดที่เล็กสุดของรายการ ปีนี้จึงวางแผนจัดการแข่งขันในไทย 4 ครั้งจากทั้งหมด 24 ครั้ง สร้างความรับรู้และสร้างฐานผู้ชมให้เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดที่มีศักยภาพสูงคือจีน ฟิลิปปินส์ และเมียนมา อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของรายการไม่ได้วัดจากจำนวนผู้ชมในสนาม เพราะหัวใจหลักคือการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ อาทิ Fox Sports, TV5, CCTV เป็นต้น รวมถึงไทยรัฐทีวี ล่าสุดชาตรีอยู่ในขั้นตอนเจรจาสัญญาถ่ายทอดสดจากอินเดีย หากสำเร็จก็จะช่วยเปิดตลาดที่มีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน เขาวางว่าภายใน 3 ปีนี้จะเพิ่มการแข่งขัน เป็น 52 ครั้ง/ปี หรือจัดทุกสัปดาห์ โดยจะถ่ายทอดสดไป 190 ประเทศทั่วโลก “ไม่สำคัญว่าเราจะจัดอีเวนต์ที่ไหนเพราะสิ่งสำคัญคือฮีโร่และการถ่ายทอดสด ซึ่งเราน่าจะมี potential viewer ประมาณ 2 พันล้านคน หากขึ้นไปถึงยอดนี้ได้ เราจะมีผู้ชมมากกว่า NBA หรือ NFL” ONE Championship ในโลกออนไลน์ก็โตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน ปี 2557 ยอดชมวิดีโออยู่ที่ 312,000 ครั้ง ส่วนปี 2560 อยู่ที่ 1.5 พันล้านครั้ง ด้าน social media impressions (จำนวนครั้งที่โพสต์แสดงขึ้นมาให้เห็น) ซึ่งปี 2557 อยู่ที่ 352 ล้านครั้งก็เพิ่มเป็น 8.3 พันล้านครั้งในปี 2560โตในโลก Digital Convergence
แรงหนุนสำคัญที่ทำให้กิจการเติบโตคือเงินลงทุนจากบริษัทใหญ่หลายแห่งที่มองอนาคตไปในทิศทางเดียวกับชาตรี Heliconia Capital Management บริษัทในกลุ่ม Temasek Holdings ลงทุนด้วยตัวเลข 8 หลักในปี 2559 ส่วนปีที่ผ่านมา Sequoia Capital (India) Singapore และ Mission Holdings ก็เข้ามาร่วมลงทุน “เราเป็นผู้ผลิตสื่อรายการกีฬาเบอร์หนึ่งในเอเชีย หากคุณเป็น Amazon, Alibaba, Tencent คุณต้องมาซื้อคอนเทนต์ของเรา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม Sequoia Capital ซึ่งเป็น VC ที่ดังมาก เคยลงทุนใน Apple, Google, YouTube มาแล้ว ถึงได้ลงทุนในธุรกิจ sports entertainment ของเรา” ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และ ONE Championshipคลิกอ่าน "ชาตรี ศิษย์ยอดธง สังเวียนหมื่นล้าน ONE Championship" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine