โลกแห่ง ‘ศิลป์-การลงทุน’ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ - Forbes Thailand

โลกแห่ง ‘ศิลป์-การลงทุน’ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Jul 2021 | 07:45 AM
READ 8934

ในมุมของนักสะสมชั้นเซียน การลงทุนในตลาดหุ้นกับการสะสมงานศิลปะ สามารถคิดจากมุมมองเดียวกัน งานศิลปะแต่ละชิ้นเต็มเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ และความสวยงามนั้น ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นผลตอบแทนที่โตเกินคาดในภายหลัง พบกับโลกแห่ง ‘ศิลป์-การลงทุน’ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ

โลกการทำงานกว่า 30 ปีที่แวดล้อมด้วยตัวเลขวิ่งขึ้น-ลงในแต่ละวันจากกระดานหุ้นสวนทางกับอีกมุมของชีวิต ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งแวดล้อมไปด้วยงานศิลปะภาพวาดที่ให้ทั้งความสุขและแรงบันดาลใจ ดร.ก้องเกียรติเล่าถึงความสนใจในงานศิลปะที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาย ก้องเกียรติที่ติดตามบิดา ซึ่งเป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ในขณะนั้นเพื่อถ่ายรูปตามในสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศช่วงอายุ 22 ปี โดยได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว ทั้งยุโรป อเมริกา และเยี่ยมชมงานศิลปะ ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เกือบทุกมุมของโลก “ตอนนั้นผมได้แค่ดู ยังไม่มีเงินซื้อสะสม มาถึงวันนี้ 30 กว่าปีผ่านไป ภาพวาดที่สะสมมีไม่ต่ำกว่า 300 ชิ้น ไม่รวมงานประติมากรรมที่มี 100 กว่าชิ้นแล้ว” สำหรับสไตล์หรือแนวทางของงานศิลปะ ที่สนใจจะเป็นภาพวาดที่ใช้สีสันแรงมากกว่าโทนสีมืด พร้อมทั้งเป็นภาพวาดที่ต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจด้วย ขณะที่ภาพลายเส้นต้องเน้นรายละเอียดและเอกลักษณ์ ที่น่าสนใจ เช่น ผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ยุค 1970s
ถวัลย์ ดัชนี-วิฑูรย์บัณฑิต-1974
 
  • บลูชิพลงทุนหุ้นสู่มุมมองงานศิลป์
ในโลกการเงินและการลงทุน ดร.ก้องเกียรติ เป็น CEO แถวหน้าที่ได้รับการยอมรับในความสามารถและความสำเร็จตลอดเส้นทาง การทำงานเช่นเดียวกับในโลกของนักสะสม ผลงานศิลปะที่สามารถใช้มุมมองและ หลักการเดียวกันในการเลือกผลงานบลูชิพ “การเลือกหุ้น กับงานศิลปะ เป็นมุมมองเดียวกัน สำคัญตรงที่ต้องหาบลูชิพให้เจอ” สำหรับการหลักการพิจารณาการลงทุน บลูชิพจะมุ่งเน้นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ผลประกอบการบริษัทย้อนหลังประมาณ 4-5 ปี และโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต รวมถึงความรู้ความสามารถของผู้บริหาร เพื่อสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว พร้อมทั้งพิจารณาอีกหลายปัจจัยประกอบกัน
NGUYEN MINH SON-Anonymous
“ในงานศิลปะ ต้องย้อนกลับไปดูประวัติว่าเจ้าของผลงานเคยแสดงงานที่ไหนบ้างกี่ครั้งในต่างประเทศและในประเทศเป็นอย่างไร ผมจะหาข้อมูล แบ็กกราวด์ศิลปิน เอกลักษณ์ของงาน เทคนิคต่างๆ กรณีที่เป็นศิลปินใหม่ วาดภาพมาไม่นาน ไม่สามารถเช็กประวัติย้อนหลังได้มากนัก ก็มาดูที่งานปัจจุบันดูว่ามีการพัฒนางานออกมาสม่ำเสมอหรือเปล่า ตัวศิลปินและผลงานมีโอกาสเติบโตได้อีกหรือไม่ในอนาคต หรือบางคนก็ฉีกแนวเด่นเฉพาะทาง เช่น Jean-Michel Basquiat ผู้สร้างผลงานแนวสตรีตอาร์ตในยุค 1980s และเสียชีวิตตอน อายุ 27 ปี วันนี้ผลงานที่ประมูลกันในตลาดล่าสุดอยู่ที่ภาพละ 4-5 พันล้านบาท” ดร.ก้องเกียรติกล่าวถึงบลูชิพงานศิลปะ ซึ่งมุ่งเน้นการเลือกจากศิลปินที่มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ยอมรับ โดยทุกข้อมูลที่ตรวจสอบล้วนมีผลต่อการตัดสินใจซื้อภาพนั้น ซึ่งต้องเริ่มต้นจาก “ความชอบ” ก่อน หลังจากเช็กแล้วทุกอย่าง ถ้า “ใช่” ตามที่ต้องการ และองค์ประกอบครบ สุดท้ายจึงไปจบที่การซื้อผลงานนั้นเข้าสู่พอร์ตสะสม นอกจากนี้ ดร.ก้องเกียรติยังค้นพบกฎสำคัญ 3 ข้อในการสะสมเพิ่มมูลค่าจากประสบการณ์สะสมงานศิลปะมากว่า 30 ปี พร้อมให้คำแนะนำผู้สนใจสะสมงานศิลปะ ได้แก่ การเริ่มต้นที่การตั้งงบประมาณ การเน้นคุณภาพของผลงานมากกว่าจำนวนงานสะสม และท้ายสุด ให้มุ่งเน้นการซื้อผลงานสะสมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงหรืออนาคตที่ดีหลายคนในหลักการเดียวกับการกระจายการลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสการลงทุน “การสะสมงานศิลปะไม่ควรกระจายการซื้อจากงบประมาณที่มี หรือตั้งเอาไว้มากเกินไป เช่น ถ้างบอยู่ที่ 1 แสนบาท ควรซื้อผลงาน 2 ชิ้น ประมาณชิ้นละ 5 หมื่นบาท โดยเลือกจากศิลปินที่เป็นที่รู้จักในธุรกิจจะเป็นการดีกว่าซื้องานชิ้นละ 1 หมื่น แต่หลายๆ ชิ้นเพื่อให้ครบตามงบประมาณที่ตั้งไว้ คือ 1 แสน ซึ่งหากเลือกชิ้นงานดีๆ ผ่านไป 10 ปี จากหมื่น อาจเป็นล้านหรือหลายล้าน ยิ่งถ้ามีงบมากก็ซื้อจากศิลปินที่มีชื่อเสียงแบบนี้ไม่ผิดพลาดแน่นอน จากที่ผ่านมา 95% ผมเลือกไม่มีพลาดส่วนที่เหลือเป็นงานช่วยมากกว่า เช่น ซื้อเพื่อบริจาคสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น”
เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์-ปิติสุขในทิพยสถาน-1992
ขณะที่ด้านการลงทุนสำหรับการสะสมภาพวาด ซึ่งได้รับความสนใจเป็นหนึ่งในทางเลือกการจัดพอร์ตนอกเหนือจากการลงทุนในหุ้นแต่ตราสารหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ดร.ก้องเกียรติมองว่า งานศิลปะยังมีสภาพคล่องต่ำมากเมื่อเทียบกับหุ้น ตราสารหนี้ เพชร หรือแม้แต่นาฬิกา ที่ได้รับความนิยมในการสะสม “มันคนละแบบกัน การเลือกภาพ ผมใช้ความรู้สึกของตัวเองมากกว่า ดูราคาว่าเหมาะสมหรือเปล่า เช่น มูลค่า 5 แสน แต่ตั้งขาย 2 ล้านอย่างนี้ก็ไม่เอา” นอกจากนี้ งานศิลปะยังไม่มีผู้กำหนดราคากลางออกมาเหมือนสินทรัพย์อื่น โดยอาจเทียบเคียงได้กับกองทุนที่ประเทศอังกฤษ ซึ่ง ลงทุนในงานศิลปะเพียงอย่างเดียว และให้ผลตอบแทนสุทธิอยู่ที่ 8-12% ต่อปีหลังหักค่าบริหารจัดการ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีแม้แต่ตลาดประมูล “ภาพส่วนใหญ่ที่ผมสะสมเลยเปลี่ยนมือไม่เยอะ มีครั้งเดียวที่บริษัทประมูลระดับโลกขอ 3 ภาพที่ผมมีซ้ำกัน ผมเลยปล่อย ซึ่งทุกรูปได้กำไรประมาณ 4 เท่าจากที่ซื้อมา เมื่อ 10-15 ปีก่อน โดยพอร์ตงานศิลปะของผมจึงเน้นที่สะสมจากความชอบมากกว่าการลงทุน จากที่เคยขายออกไปน่าจะแค่เพียง 1% จากที่มีทั้งหมด ผมมองว่าเป็นความสุขที่ได้มอง และคุณค่าทางจิตใจที่ได้รับ มากกว่า...ของสะสมแต่ละชิ้นมีเรื่องราว และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว” ดร.ก้องเกียรติปิดท้ายถึงผลตอบแทนที่มีหน่วยเป็นความสุข   เรื่อง: กัญสุชญา สุวรรณคร   ภาพ: บล.เอเซียพลัส

อ่านเพิ่มเติม:


คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับพิเศษประจำเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine