10 ปีก่อนได้ตบแต่งคอนโดฯ ใหม่ นักธุรกิจหนุ่มจึงมองหางานศิลปะมาแขวนบนผนังและตกหลุมรักในเวลาต่อมา กระทั่งเป็นนักสะสมตัวยง มีผลงานในครอบครองกว่า 500 ชิ้น ล่าสุดได้ร่วมก่อตั้ง The Art Auction Center หน่วยงานประมูลงานศิลปะ หวังสร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้กับศิลปินไทย
ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ พิริยะ วัชจิตพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าพระยาทัวร์ริสต์โบ๊ท จำกัด, กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดซ์ เจ้าพระยา จำกัด และอีกหลายธุรกิจ แต่ที่ให้เวลามากสุดขณะนี้คือ The Art Auction Center ที่แม้ก่อตั้งไม่ถึงปีแต่จัดประมูลแล้ว 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 มูลค่าการประมูลรวมกว่า 42 ล้านบาท
เน้นศิลปะสมัยใหม่
ผู้บริหารหนุ่มร่างสูงใหญ่วัย 40 ปีเศษเล่าถึงความสนใจในด้านนี้ว่า ส่วนตัวชอบชมพิพิธภัณฑ์ เวลาไปเมืองนอกจะเดินชมพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว
กระทั่ง 10 ปีก่อนตบแต่งคอนโดฯ ใหม่ อยากได้งานศิลปะประดับผนัง ขณะนั้นเขารู้จักศิลปินเพียง 2 คน คือ ถวัลย์ ดัชนี และ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ปัญหาคือไม่ทราบว่าจะหาซื้องานจากที่ไหน ราคาที่เหมาะสมคือเท่าไร
กระทั่งไปบ้านรุ่นพี่ที่เป็นนักสะสมและมีผลงาน อ.ถวัลย์ เขาบอกจะแบ่งให้เท่าทุนประมาณ 500,000 บาท ก็คิดว่าแพง รุ่นพี่บอกยกไปแขวนเล่นก่อนชอบค่อยจ่ายตังค์ กะว่า 2-3 วันจะส่งคืน ปรากฏว่าเอาไปแขวนแล้วโดนป้ายยา มันอิน โดนดูดเข้าไป แขวนแล้วมันลงตัวทั้งไซซ์และสี ก็เลยจ่ายตังค์
ผ่านไปไม่กี่เดือนมีรุ่นพี่มาเห็นบอกแบ่งให้ได้ไหมก็บอกผมไม่รู้ราคา ซื้อมา 500,000 รุ่นพี่บอกให้ 1 ล้าน ก็ใช้เหตุผลนี้คุยกับภรรยาบอกเป็นการลงทุนที่คุ้มและซื้อๆ...ตอนแรกซื้อไปเรื่อยๆ อันนั้นก็ชอบ อันนี้ก็ชอบ แต่คิดว่ามันจะจบยังไง "ผมเคยทำพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์มาแล้วก็เลยว่าจะทำพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เมืองนอกมีเยอะแต่เมืองไทยไม่ค่อยมี เราอยากได้เป็นแบบพอเข้าไปแล้วรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะของประเทศนั้นๆ เลย”
การสะสมงานในเวลาต่อมาจึงโฟกัสที่หัวข้อศิลปะสมัยใหม่ของไทย คนมักคิดว่างานศิลปะบ้านเราแพง รูปของ อ.ถวัลย์ กับ อ.เฉลิม ราคาเป็นล้าน จริงๆ จิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับต่างชาติ แค่เพื่อนบ้านเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดฯ ประเทศ level เดียวกับบ้านเราผลงานศิลปะเขาแพงกว่ามหาศาล
ของเราแพงสุด 26 ล้านบาท แต่ต่างชาติ 100 ล้านต่อชิ้น เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะความรู้เผยแพร่น้อยและข้อมูลเรื่องราคาไม่เปิดเผย เพราะไม่มีการประมูล การประมูลในไทยส่วนใหญ่เป็นราคาการกุศลเอามาอ้างอิงไม่ได้
การประมูลงานศิลปะครั้งแรกจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2564 โดย Bangkok Art Auction มีหุ้นส่วน 3 คน ประกอบด้วยพิริยะ, ท็อป-ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อิตัลไทย จำกัด และ จก-เสริมคุณ คุณาวงศ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน)
และตั้งแต่ครั้งที่ 2 เป็นต้นมา พิริยะเป็นผู้ดำเนินการเองในชื่อ The Art Auction Center โดยจัดประมูลที่ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ธุรกิจในเครือกลุ่มอิตัลไทย
“ผมกับคุณท็อปรู้จักกัน เห็นว่าคุณท็อปมีบริษัทประมูลอยู่แล้ว ทำมา 30-40 ปี และอยากเปลี่ยนโฉมริเวอร์ ซิตี้ฯ ทำให้ดูทันสมัย...ชั้น 1-2 อยากทำให้เป็นงานอาร์ต ผมมี know-how ด้าน painting รู้ว่าซื้อจากใคร รูปจริงรูปปลอม หาคนซื้อคนขายได้ แต่ไม่รู้วิธีการประมูลหรือบุคลากร แต่คุณท็อปมีสถานที่และบุคลากรก็เลยลองทำและเวิร์ก"
ตอนเริ่มทำบริษัทประมูล ครั้งแรกมีคุณเสริมคุณ คุณยุทธชัย และผมครั้งแรกขายได้ 60 ล้าน ครั้งที่ 2 เกือบ 30 ล้านบาท ตกใจๆ คนซื้อเยอะ (หัวเราะ) พอทำ 2 ครั้งพี่จกแยกไปทำเอง เราก็เลยตั้งชื่อใหม่ว่า The Art Auction Center จัดเป็นครั้งที่ 6 รวมกันขายเกือบ 200 ล้าน ตกใจว่าอะไรขนาดนั้น มันคึกคักขึ้นมาก คนมาซื้อก็ไม่ใช่กลุ่มเดิมๆ
สร้างบันไดขั้นแรก
ถามว่าข้อมูลราคาประมูลย้อนหลังสำคัญอย่างไร คำตอบคือ ทำให้ใช้อ้างอิงได้ว่าราคาควรอยู่ที่เท่าไร ซึ่งจะทำให้ชาวต่างชาติกล้าโดดเข้ามาร่วมวง และจะช่วยอัพราคางานให้สูงขึ้น
การจะให้งานไทยแพงต้องให้ชาวต่างชาติช่วยสะสม แต่วันนี้มี reference มี price list มาดูด้วย เราเหมือน springboard ทุกวันนี้ระบบการประมูลศิลปะโลกศูนย์กลางอยู่ New York รองลงมาอยู่ที่ยุโรป ศูนย์กลางเอเชียอยู่ฮ่องกง เราไม่มีทางไปยุโรปได้ทันที...
เมื่อศิลปินไทยมี record จากการประมูลของเรา ฮ่องกงมองว่าคนนี้มีเทรนด์ก็จะรับแล้ว ก่อนหน้านี้เอาของไปให้เขาไม่รับ ไม่มีข้อมูลว่าจะอิงจากอะไร เขาดูจากกระแส ความนิยม และราคา การรับงานแต่ละชิ้นมีค่าใช้จ่ายสูงต้องขายได้ราคา จะมั่นใจได้ต้องดู record ที่มุมล่างด้านขวาของทุกภาพจะมีป้ายเล็กๆ นอกจากจะมีชื่อศิลปิน ชื่อภาพแล้ว ยังมีข้อความ estimated price ของงานชิ้นนั้นๆ
นักสะสมหนุ่มบอกว่า ข้อมูลพวกนี้หายาก คนทั่วไปไม่รู้แต่เขารู้ เพราะคลุกคลีกับการซื้อขายเกือบ 10 ปีแล้ว “หากซื้อในราคา estimated คุณ safe บางรูปไม่มีเพราะไม่เคยมีการซื้อขาย เราจะไม่มโนเองแต่ความจริงเวลาประมูลทะลุ estimated ไป 3-5 เท่าก็เยอะ โดยเฉพาะงานใหม่ๆ”
ระหว่างการให้สัมภาษณ์ผู้บริหารหนุ่มชี้ให้ดูงานชิ้นหนึ่งซึ่งไม่มีป้ายชื่อและราคา เขาบอกว่า กำลังรอผลตรวจจากทางแล็บเนื่องจากไม่มีลายเซ็นศิลปิน ส่วนศิลปินฮอตๆ ที่เกิดเพราะเราลอง อย่าง ก้องกาน, ซันเต๋อ เราไม่รู้หรอก
ตอนนั้นเราลองไลน์, เซ็นเซอร์, Molly...เราทำให้ราคาเป็นแบบนี้ ต้องลองไง ลองเสร็จดีก็รับมาเรื่อยๆ อีก หากไม่ลองแบบที่ไม่ดังเลยก็ไม่รู้ อย่าง Molly (รูป) เด็กร้องไห้ ไม่กี่เดือนมานี้ราคาแสนกว่าบาท ผมเอามาประมูลทะลุล้านบาท
ก่อนหน้านี้ผมเก็บแต่งานโบราณ ส่วนรุ่นใหม่ๆ ไม่รู้ ไปถามเด็กว่าตอนนี้ใครกำลังมา ใครจะไปรู้ราคาทะลุแพงกว่า อ.ถวัลย์ (บางชิ้น) อีก และน้องๆ ก็ไม่รู้ว่าเวลาประมูลราคาสูงแบบนี้เพราะซื้อใน Facebook คือมันมีคนที่รู้ว่าต้องรอคิวอีก 100 คิว ไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า ก็จ่ายตังค์วันนี้เลย บางคนบอกโง่หรือเปล่า แพง 4-5 เท่า แต่ใครจะรู้ถ้ารออีก 4-5 ปี งานอาจแพงกว่านี้อีก
ผู้เข้าร่วมประมูลในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่และชอบงานสมัยใหม่ บ้านหรือคอนโดฯ ที่อยู่ตบแต่งด้วยสีฉูดฉาด อันนี้เข้ากับบ้านเขาเลยชอบ กลายเป็นว่าแย่งกันในสิ่งเดียวกันทำาให้ของมีราคาสูง
โดยส่วนตัวพิริยะก็เก็บสะสมงานศิลปินใหม่ๆ เช่นกัน วิธีการเก็บคือเลือกชิ้นใหญ่ที่สุด แน่นอนว่าราคาย่อมแพงที่สุด
อย่างงานของ Molly ตัวใหญ่สุดผมซื้อเลย ไปถึงที่งานขายหมดแล้วเหลือแต่ตัวใหญ่ก็เอาเลย หรือ Alex Face ผมก็ซื้อตั้งแต่ยังไม่ดัง หลักการผมซื้อชิ้นใหญ่สุดรอด มันเป็นหัว คือยังไงๆ ชิ้นใหญ่สุดต้องแพงสุดอยู่แล้ว หากวันหนึ่ง painting ของ Molly รูปละ 10 ล้าน ประติมากรรมยักษ์เราจะกี่บาท
เหตุการณ์นี้เกิดไม่กี่เดือนเองนะ (ซื้อจากแกลอรี่เดือนพฤษภาคม ปี 2565) งานรูปละแสนกว่าบาทตอนนี้หลักล้าน ให้เรา spend วันนี้กับอย่างนั้นก็ทำใจไม่ได้ เพื่อไม่ให้มองย้อนกลับไปแล้ว รู้งี้ๆ เราต้องไปก่อน จัดก่อน” พิริยะเล่าด้วยน้ำเสียงสนุกสนาน
แม้จะบอกว่า ซื้อเพื่อลงทุน ทว่านับตั้งแต่ซื้อมาเขาไม่เคยขายออกแม้แต่ชิ้นเดียว “ผมไม่เห็นอะไรขึ้นเร็วขนาดนี้ ก่อนนี้ผมสะสมมาหลายอย่างทั้งวัตถุโบราณ พระ นาฬิกา รถยนต์ อันนี้ขึ้นเร็วสุด ถ้ามองในแง่การลงทุน”
กลับมาที่การประมูล ในการจัดงานแต่ละครั้งจะมีธีมเพื่อแบ่งเป็นโซนต่างๆ ทำให้ดูน่าสนใจ และเขาย้ำว่า “ไม่ควรพลาด”
การจัดงานทุกครั้งเราไม่ได้หวังว่าทุกคนต้องซื้อ อยากให้มาดูเหมือน museum ย่อยๆ ดื่มด่ำ ศึกษา พร้อมเมื่อไรค่อยซื้อ เราจัดนิทรรศการให้เอื้อกับคนดูและคนขาย ให้ได้สัมผัส เราไม่ได้เอาแต่งานขายดีมาขาย เรารู้ว่าอะไรขายดี ราคาแพง แบบนั้นมีแค่ 40-50 รูปพอแล้ว
แต่เรามี 100 กว่าชิ้น มีงานชิ้นละ 30,000-50,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับค่าพื้นที่โชว์ ค่า fee ได้น้อยกว่าที่เราลงไปทำไมยังทำเพราะอยากให้ทุกคนสัมผัสได้ ไม่เฉพาะแค่เศรษฐี คุณมี 30,000-50,000 บาทก็มาประมูลได้ และของถูกๆ วันนี้ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งจะไม่แพง พิริยะกล่าว
ปัจจุบันอาคาร 7 ชั้นที่เขาพักอาศัยสะสมงานศิลปะหายากกว่า 500 ชิ้น โดยชั้นหนึ่งเก็บฟอสซิล อีก 3 ชั้นจัดเก็บงานศิลปะ ซึ่งเขามีโครงการจะจัดทำพิพิธภัณฑ์แต่ยังติดขัดด้านสถานที่ เพราะอยากได้ย่านกลางเมือง ถามว่า ลงทุนซื้องานถึงร้อยล้านไหม เขาตอบว่า
“ไม่น่าถึง ไม่กล้าคิด เดี๋ยวช็อก แต่มูลค่าน่าจะได้ เอาเป็นว่าหากไม่สะสมงานชีวิตจะดีกว่านี้ จะมีรถสปอร์ต ได้ไปท่องเที่ยวต่างประเทศ” พิริยะกล่าวพร้อมกลั้วหัวเราะในตอนท้าย
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ พิริยะ วัชจิตพันธ์
FORBES LIFE
คลิกอ่านเพิ่มเติม: Trend Lines: เรือนเวลาสุดหรูของคนถนัดซ้าย