ไพบูลย์ อังคณากรกุล สู่ทศวรรษใหม่อาซีฟาหมื่นล้าน - Forbes Thailand

ไพบูลย์ อังคณากรกุล สู่ทศวรรษใหม่อาซีฟาหมื่นล้าน

โชคชะตาพัดพาให้เด็กหนุ่มจากเมืองแปดริ้วผกผันสู่โลกธุรกิจ พร้อมนำความรู้ และเงินลงทุนที่เก็บหอมรอมริบสร้างอาณาจักรอาซีฟาจนเติบใหญ่ จากนี้เขาขอพิสูจน์ฝีมือพิชิตยอดขายหมื่นล้านในทศวรรษหน้า

เด็กหนุ่มเมืองแปดริ้วที่มีชีวิตเรียบง่ายในครอบครัวซึ่งมีรายได้จากการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เขาไม่เคยคิดฝันถึงความร่ำรวยหรือการเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจหลายพันล้านบาท เพียงแค่มุ่งมั่นบทเรียนด้านไฟฟ้าจากห้องเรียน จนกระทั่งเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ “สมัยเด็กผมไม่เคยคิดว่าจะรวย แค่ทำไปเรื่อยๆ ไม่คิดอะไร แต่อาจจะเพราะความโชคดี ทำให้ผมได้โควต้าเรียนเกี่ยวกับด้านไฟฟ้า ซึ่งอาจารย์ให้คำแนะนำและคำปรึกษาว่า ให้ผมเลือกที่ดีที่สุดก่อน ผมจึงเลือกเรียนด้านไฟฟ้า จากนั้นชีวิตก็ดำเนินไปเรื่อยๆ” ไพบูลย์ อังคณากรกุล กรรมการ ผู้จัดการ บมจ.อาซีฟา วัย 49 ปีย้อนอดีตวัยเยาว์ที่ไม่เคยนึกถึงการทำธุรกิจส่วนตัว แม้จะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงที่แวดล้อมด้วยธุรกิจการค้า บัณฑิตจบใหม่พกพาดีกรีวิศวกรรมเริ่มต้นเส้นทางการทำงานตามแต่โชคชะตาจะนำพา ไพบูลย์ก้าวสู่การเป็นตัวแทนฝ่ายขาย ก่อนจะขยับขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัทไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสวิตช์บอร์ดไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ Schneider จากประเทศฝรั่งเศสจัดจำหน่ายในประเทศไทย หลังจากทำงานราว 7-8 ปี เขาตอบรับคำชักชวนของเพื่อนร่วมงาน ด้วยการลาออกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนเพื่อตั้งต้นทำธุรกิจร่วมกัน ในช่วงต้นปี 2540 ไพบูลย์ร่วมลงขันเงินลงทุนกับเพื่อนจำนวน 2 ล้านบาท โดยเช่าอาคารพาณิชย์ 2 ห้อง ย่านพระราม 3 เป็นสำนักงานและโรงงานเล็กๆ ภายใต้ชื่อ บริษัท อาซีฟา จำกัด ประกอบธุรกิจแผงตัดต่อและควบคุมไฟฟ้าเป็นหลัก หรือสวิตช์บอร์ดไฟฟ้า ท่ามกลางการแข่งขันของเจ้าตลาดเดิม น้องใหม่ในวงการต้องพยายามหาช่องทางการขายที่เข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็วที่สุดด้วยการเจาะกลุ่มลูกค้ารับเหมารายเล็ก โดยกลยุทธ์ทางธุรกิจดังกล่าวจะทำให้อาซีฟาสามารถเรียกความสนใจและความเชื่อมั่นจากลูกค้าได้ในเวลาไม่นาน ทว่า เพียงไม่กี่เดือนต่อมา บริษัทกลับต้องเผชิญหน้ากับพิษต้มยำกุ้ง ลูกค้ารับเหมาของเขาบางส่วนไม่มีเงินมาหล่อเลี้ยงกิจการได้ทัน ส่งผลกระทบต่อเนื่องยังระบบการเงินของอาซีฟา ซึ่งเต็มไปด้วยเช็คของลูกค้าที่ไม่สามารถขึ้นเงินได้หรือ “เช็คเด้ง” ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ไพบูลย์ จำต้องปรับกลยุทธ์จากการสร้างแบรนด์เป็นความพยายามสารพัดวิธีเพื่อประคับประคองกิจการให้อยู่รอด ซึ่งทางออกในขณะนั้น คือ การรักษาสภาพคล่องให้มากที่สุด ด้วยแนวทางการ “ซื้อยาว ขายสั้น” โดยการซื้ออะไหล่จากซัพพลายเออร์และประกอบเป็นตัวสินค้าขาย แม้จะไม่ทำกำไรแต่เขาจำเป็นต้องทำ เพื่อประคองให้มีเงินหมุนเวียนในกิจการ รวมถึงการพึ่งพาแหล่งเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบในช่วงที่สภาพคล่องฝืดมาก “เราคืนเงินเร็ว คืนหมด บริษัทไม่ได้เจ๊ง เพียงแค่สภาพการเงินสะดุดเท่านั้น” ไพบูลย์ยังคงจดจำได้ดีถึงช่วงเวลานั้นหลังฝ่าฟันมรสุมทางการเงิน แม้บริษัทจะเผชิญกับวิกฤตอีกหลายครั้ง แต่ยังต่อยอดอาณาจักรได้อย่างต่อเนื่อง ปี 2551 บริษัทสามารถซื้อที่ดินราว 23 ไร่ พร้อมอาคารโรงงานและสำนักงานที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อปรับปรุงเป็นโรงงานแห่งใหม่ ทั้งยังได้รับลิขสิทธิ์จาก Schneider Electric Industries S.A. ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประกอบสถานีไฟฟ้าชุดสำเร็จขนาดเล็ก BIOSCO ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ในเวลาต่อมา วันเวลาผ่านไป กิ่งก้านของบริษัทแตกออกอย่างงอกงาม ในขณะที่ไพบูลย์ เติมเต็มความรู้ ด้วยการลงสมัครเรียนระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเชื่อมระหว่างโลกวิชาการผสมผสานกับโลกปฏิบัติ โดยเขาคิดการใหญ่วาดฝันให้บริษัทเติบโตตามที่เป็นอยู่ ด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการเป็นบริษัทมหาชนสามารถเรียกความเชื่อมั่นกับคู่ค้าของบริษัทได้ “การเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นจุดเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุด เป็น big change ของเราแบรนด์เราก็ได้การยอมรับมากขึ้น” เขากล่าวถึงความมุ่งมั่นที่เกิดขึ้นราว 7-8 ปีก่อนจะนำบริษัทระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2558 โดยหลังระดมทุนไพบูลย์ถือหุ้น 31.56% (ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2559) ในอาซีฟา หากรวมสมาชิกอื่นๆ ของตระกูลอังคณากรกุลเข้าด้วยกัน จำนวนหุ้นที่ถือครองของครอบครัวจะอยู่ที่ราว 40.1% มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของอาซีฟา ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ 4.15 พันล้านบาท โดยมีราคาหุ้นอยู่ที่ 7.55 บาท ขึ้นจากราคาขายไอพีโอ 3.70 บาท ปัจจุบันอาซีฟาก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจผลิต จัดจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบควบคุม กระจาย และส่งจ่ายไฟฟ้า สวิตช์บอร์ดไฟฟ้า ระบบควบคุมอัตโนมัติ ระบบบริหารจัดการพลังงาน รวมถึงบริการหลังการขายและวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดราว 10% จากตลาดรวมซึ่งรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ไพบูลย์ตั้งเป้ายอดขายใน 3 ปีข้างหน้าว่าจะมีการเติบโตปีละ 15% จากโอกาสธุรกิจในประเทศที่ฉายชัดตามทิศทางของอุตสาหกรรมซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ พร้อมทั้งขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ “เราต้องการขยายขนาดธุรกิจให้ได้หมื่นล้านบาท แต่ไม่รู้ทำได้หรือไม่ หากเป็นไปได้อาจจะไม่เกิน 10 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ในการจัดการตัวเอง และความเปลี่ยนแปลงของตลาด” ขณะเดียวกันไพบูลย์ยังเดินหน้าสร้างแต้มต่อทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมองหาตลาดต่างประเทศเพิ่มศักยภาพให้บริษัทในอนาคต โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐานยังมีจำนวนน้อย ซึ่งอาซีฟานับเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะตลาดเมียนมาที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงไต่ระดับการเติบโต “ตลาดเมียนมายังไม่เริ่ม แต่มีคนมาซื้อไปจำหน่าย ประเทศเมียนมายังไม่เรียบร้อยอีก 2-3 ปีน่าจะได้เห็น หรือให้โครงสร้างพื้นฐานเขาพร้อม บ้านเรายังมีโอกาสอีกมาก market share ยังเติบโตได้อีก” ไพบูลย์ กล่าว หัวใจแห่งความสำเร็จจากเงินลงทุน 2 ล้านบาทไต่สู่ระดับมากกว่า 2 พันล้านบาทภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ ทุกความสำเร็จของอาซีฟาล้วนเกิดจากการทำงานหนักของพนักงาน 1,200 คน ซึ่งร่วมแรงกันสร้างบริษัทให้ได้รับการยอมรับ ด้วยความตั้งมั่นในความซื่อสัตย์และปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อกำหนดหรือสเปคที่เกี่ยวกับงานวิศวกรรม ส่งผลให้บริษัทได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวขึ้นสู่ผู้นำตลาดจากชื่อเสียงที่สั่งสมกลายเป็น “asset” อันมีมูลค่า  
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ไพบูลย์ อังคณากรกุล สู่ทศวรรษใหม่อาซีฟาหมื่นล้าน" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560