โชคชะตาพัดพาให้เด็กหนุ่มจากเมืองแปดริ้วผกผันสู่โลกธุรกิจ พร้อมนำความรู้ และเงินลงทุนที่เก็บหอมรอมริบสร้างอาณาจักรอาซีฟาจนเติบใหญ่ จากนี้เขาขอพิสูจน์ฝีมือพิชิตยอดขายหมื่นล้านในทศวรรษหน้า
เด็กหนุ่มเมืองแปดริ้วที่มีชีวิตเรียบง่ายในครอบครัวซึ่งมีรายได้จากการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เขาไม่เคยคิดฝันถึงความร่ำรวยหรือการเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจหลายพันล้านบาท เพียงแค่มุ่งมั่นบทเรียนด้านไฟฟ้าจากห้องเรียน จนกระทั่งเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ “สมัยเด็กผมไม่เคยคิดว่าจะรวย แค่ทำไปเรื่อยๆ ไม่คิดอะไร แต่อาจจะเพราะความโชคดี ทำให้ผมได้โควต้าเรียนเกี่ยวกับด้านไฟฟ้า ซึ่งอาจารย์ให้คำแนะนำและคำปรึกษาว่า ให้ผมเลือกที่ดีที่สุดก่อน ผมจึงเลือกเรียนด้านไฟฟ้า จากนั้นชีวิตก็ดำเนินไปเรื่อยๆ” ไพบูลย์ อังคณากรกุล กรรมการ ผู้จัดการ บมจ.อาซีฟา วัย 49 ปีย้อนอดีตวัยเยาว์ที่ไม่เคยนึกถึงการทำธุรกิจส่วนตัว แม้จะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงที่แวดล้อมด้วยธุรกิจการค้า บัณฑิตจบใหม่พกพาดีกรีวิศวกรรมเริ่มต้นเส้นทางการทำงานตามแต่โชคชะตาจะนำพา ไพบูลย์ก้าวสู่การเป็นตัวแทนฝ่ายขาย ก่อนจะขยับขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัทไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสวิตช์บอร์ดไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ Schneider จากประเทศฝรั่งเศสจัดจำหน่ายในประเทศไทย หลังจากทำงานราว 7-8 ปี เขาตอบรับคำชักชวนของเพื่อนร่วมงาน ด้วยการลาออกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนเพื่อตั้งต้นทำธุรกิจร่วมกัน ในช่วงต้นปี 2540 ไพบูลย์ร่วมลงขันเงินลงทุนกับเพื่อนจำนวน 2 ล้านบาท โดยเช่าอาคารพาณิชย์ 2 ห้อง ย่านพระราม 3 เป็นสำนักงานและโรงงานเล็กๆ ภายใต้ชื่อ บริษัท อาซีฟา จำกัด ประกอบธุรกิจแผงตัดต่อและควบคุมไฟฟ้าเป็นหลัก หรือสวิตช์บอร์ดไฟฟ้า ท่ามกลางการแข่งขันของเจ้าตลาดเดิม น้องใหม่ในวงการต้องพยายามหาช่องทางการขายที่เข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็วที่สุดด้วยการเจาะกลุ่มลูกค้ารับเหมารายเล็ก โดยกลยุทธ์ทางธุรกิจดังกล่าวจะทำให้อาซีฟาสามารถเรียกความสนใจและความเชื่อมั่นจากลูกค้าได้ในเวลาไม่นาน ทว่า เพียงไม่กี่เดือนต่อมา บริษัทกลับต้องเผชิญหน้ากับพิษต้มยำกุ้ง ลูกค้ารับเหมาของเขาบางส่วนไม่มีเงินมาหล่อเลี้ยงกิจการได้ทัน ส่งผลกระทบต่อเนื่องยังระบบการเงินของอาซีฟา ซึ่งเต็มไปด้วยเช็คของลูกค้าที่ไม่สามารถขึ้นเงินได้หรือ “เช็คเด้ง” ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ไพบูลย์ จำต้องปรับกลยุทธ์จากการสร้างแบรนด์เป็นความพยายามสารพัดวิธีเพื่อประคับประคองกิจการให้อยู่รอด ซึ่งทางออกในขณะนั้น คือ การรักษาสภาพคล่องให้มากที่สุด ด้วยแนวทางการ “ซื้อยาว ขายสั้น” โดยการซื้ออะไหล่จากซัพพลายเออร์และประกอบเป็นตัวสินค้าขาย แม้จะไม่ทำกำไรแต่เขาจำเป็นต้องทำ เพื่อประคองให้มีเงินหมุนเวียนในกิจการ รวมถึงการพึ่งพาแหล่งเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบในช่วงที่สภาพคล่องฝืดมาก “เราคืนเงินเร็ว คืนหมด บริษัทไม่ได้เจ๊ง เพียงแค่สภาพการเงินสะดุดเท่านั้น” ไพบูลย์ยังคงจดจำได้ดีถึงช่วงเวลานั้นหลังฝ่าฟันมรสุมทางการเงิน แม้บริษัทจะเผชิญกับวิกฤตอีกหลายครั้ง แต่ยังต่อยอดอาณาจักรได้อย่างต่อเนื่อง ปี 2551 บริษัทสามารถซื้อที่ดินราว 23 ไร่ พร้อมอาคารโรงงานและสำนักงานที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อปรับปรุงเป็นโรงงานแห่งใหม่ ทั้งยังได้รับลิขสิทธิ์จาก Schneider Electric Industries S.A. ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประกอบสถานีไฟฟ้าชุดสำเร็จขนาดเล็ก BIOSCO ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ในเวลาต่อมา วันเวลาผ่านไป กิ่งก้านของบริษัทแตกออกอย่างงอกงาม ในขณะที่ไพบูลย์ เติมเต็มความรู้ ด้วยการลงสมัครเรียนระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเชื่อมระหว่างโลกวิชาการผสมผสานกับโลกปฏิบัติ



คลิกอ่านฉบับเต็ม "ไพบูลย์ อังคณากรกุล สู่ทศวรรษใหม่อาซีฟาหมื่นล้าน" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560
