เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล เผยแต้มต่อทางธุรกิจเล็กแต่คิดใหญ่ที่เล็งเห็นช่องว่างการเติบโตในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก พร้อมชูประสบการณ์และความเชี่ยวชาญงานวิศวกรรมเป็นใบเบิกทางสร้างความเชื่อมั่นคว้าบิ๊กโปรเจ็กต์ EPC ในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ควบคู่การเดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ
ภาพดอกสะแบงที่ปลิวตามแรงลมและร่วงหล่นลงพื้นดินพร้อมขยายพันธุ์งอกงามเป็นไม้ใหญ่บนผืนดินใหม่ได้อย่างแข็งแรง ไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกชาวนาจังหวัดร้อยเอ็ดฝันถึงการสร้างธุรกิจให้กระจายสู่พื้นที่ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของชื่อบริษัทในวันที่เริ่มต้นก้าวแรกบนเส้นทางงานวิศวกรรมออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (EPC Turnkey) เพื่อย้ำชัดในความมุ่งมั่นตั้งใจขยายอาณาจักรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง “แต่เดิมศแบงก่อตั้งในปี 2548 รับงานวิศวกรรม EPC ซึ่งมีที่มาจากคำว่า สะแบง เป็นภาษาถิ่นเรียกชื่อดอกไม้หรือต้นไม้ที่ดอกเป็นสีแดง เมื่อร่วงหล่นจะหมุนคล้ายๆ ลูกยาง ด้วยความที่พื้นเพเราเป็นคนภาคอีสานจังหวัดร้อยเอ็ด ภาพที่เห็นจะเป็นที่นา ต้นหญ้าและต้นสะแบง เราจะเห็นดอกค่อยๆ ปลิวตามลมพัด พอตกที่ใหม่ก็เกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมาได้ เราชอบคอนเซ็ปต์นี้และเป็นภาพจำว่า วันหนึ่งถ้าเราทำธุรกิจ เราอยากเห็นธุรกิจเรากระจายและเติบโตใหม่ในที่ต่างๆ กัน” เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV ยังคงระลึกถึงการก่อตั้งธุรกิจแรกในชื่อ บริษัท ศแบง คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ศแบง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จากความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และประสบการณ์ทำงานเป็นวิศวกรรมซ่อมบำรุงเครื่องจักรในโรงงานและอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอินเวอร์เตอร์ ก่อนจะเบนเข็มมาเป็นพนักงานขายระบบไฟฟ้า หรือเครื่องมือวัดในโครงการขนาดใหญ่กับบริษัทต่างชาติ รวมประมาณ 5 ปี จึงตัดสินใจลาออกเพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองในวัย 27 ปี “ช่วงที่ลาออกกำลังจะได้ promote แต่เราบอกกับตัวเองว่า เราต้องการชีวิตที่ผจญภัยกว่านี้ และต้องเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างที่คิดไว้ตอนเด็ก ซึ่งธุรกิจแรกที่ทำเริ่มจากงานเทรดดิ้งอุปกรณ์เครื่องมืออุตสาหกรรม ก่อนจะคิดว่าวันหนึ่งอาชีพคนกลางซื้อมาขายไปจะมีบทบาทน้อยลงและอยู่ยากขึ้น เราจึงเลือกเข้ามาในสายวิศวกรรมที่เราถนัดแทน โดยเริ่มรับงานออกแบบและเขียนระบบควบคุมการทำงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในยุคแรกๆ ทำให้ได้สั่งสมประสบการณ์ทำงานกับชาวต่างชาติ เช่น เยอรมัน อังกฤษ ซึ่งถ่ายทอดความรู้ให้เรารู้จักโรงไฟฟ้าอย่างละเอียด จากโครงการ 5-10 ล้านบาท ขยับเป็น 100 ล้านบาท และ EPC Turnkey Contractor ทั้งโครงการหลายร้อยล้านบาท” ขณะเดียวกันเศรษฐศิริยังเล็งเห็นโอกาสการเติบโตในอุตสาหกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนที่มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีทิศทางในการสนับสนุนพลังงานสีเขียว (green energy) ผ่านโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้ขยายธุรกิจด้านงานวิศวกรรมและลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง- ก้าวสู่ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า -
บนความมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงานสู่การจัดตั้ง บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปี 2556 เพื่อขยายการลงทุนและให้บริการในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 3 โครงการและโครงการโรงไฟฟ้าขยะ 1 โครงการ รวมทั้งยังเดินหน้าสร้างการเติบโตในธุรกิจด้านวิศวกรรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของบริษัทได้เริ่มต้นพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการแรกที่จังหวัดแพร่ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.4 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 2559 นอกจากนั้น บริษัทยังนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากยุโรปซึ่งมีประสบการณ์ด้านการออกแบบหม้อไอน้ำมากว่า 40 ปี ใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล CPL จังหวัดพิษณุโลก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 4.9 เมกะวัตต์ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมปี 2561 รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล RTB จังหวัดสงขลา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 2563 “1 ใน 4 โรงไฟฟ้าของเราเป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่พิจิตร ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพิเศษที่เราตั้งใจทำในขนาดเล็กเพราะเวลาคนนึกภาพโรงไฟฟ้ามักจะบอกว่า ยิ่งใหญ่ยิ่งถูก ยิ่งเล็กยิ่งมีโอกาสคุ้มทุนยาก แต่เราสามารถนำประสบการณ์ที่ทำ EPC มากกว่า 10 ปีออกแบบโรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังการผลิตแค่ 2 เมกะวัตต์ และพิสูจน์ให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าขนาดนี้ก็สามารถลงทุนและทำกำไรได้ทุกเดือนในปัจจุบัน” เศรษฐศิริกล่าวอย่างภาคภูมิใจในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ CPX ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่างจังหวัดพิจิตร บนที่ดินเช่ากับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2 เมกะวัตต์ และปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา 1.88 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปี 2563 นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวยังได้รับการออกแบบที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจากประเทศเบลเยียม ซึ่งกลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงงานคัดแยกและแปรรูปขยะ RDF ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ติดกันกับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ CPX โดยคาดการณ์ดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 สำหรับธุรกิจด้านวิศวกรรมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของบริษัทมุ่งเน้นงานให้บริการงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากลุ่มพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล ขยะ และชีวภาพ โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงานและงานโครงการที่เกี่ยวเนื่อง โดยดำเนินงานให้บริการงานด้านการออกแบบจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และก่อสร้าง (Engineering Procurement and Construction: EPC) แบบครบวงจรให้แก่โรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทและลูกค้าทั่วไป ขณะที่บริษัทมีความได้เปรียบด้านประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง การเดินเครื่องจักร และการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า พร้อมกับการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในการควบคุมต้นทุนอย่างเหมาะสมทำให้ได้รับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าในลักษณะจ้างเหมาแบบครบวงจร (turnkey) อย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าโครงการตามสัญญาตั้งแต่ 50 ล้านบาทจนถึง 2 พันล้านบาท เศรษฐศิริกล่าวถึงบิ๊กโปรเจ็กต์ที่ได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบงานวิศวกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 85 เมกะวัตต์ในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นการต่อยอดเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ของภาครัฐที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น บริษัทยังมีธุรกิจให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) สำหรับโรงไฟฟ้าทั่วไป มุ่งเน้นให้บริการเดินเครื่องและบำรุงโรงไฟฟ้ากลุ่มพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ งานควบคุมดูแลระบบ (monitoring) งานบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (preventive maintenance) และงานบำรุงรักษาเชิงแก้ไขปรับปรุง (corrective maintenance) “ปี 2564 เป็นปีที่โรงไฟฟ้าในระบบของเราทุกโรงสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ครบตลอดทั้งปี และจะกลายเป็นรายได้หลักในอนาคต ส่วน EPC โครงการใหญ่ที่กำลังทำในปัจจุบันอาจจะไม่ได้มาบ่อยๆ ทำให้รายได้ส่วนนี้อาจจะลดลงไปบ้าง แต่เราเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ ชื่อเสียง และความเชื่อมั่นของลูกค้าที่ได้เห็นการทำงานของ EPC ภายใต้ SBANG จะสามารถสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าได้ และการลดลงของรายได้จากโครงการขนาดใหญ่จะได้รับการทดแทนจากโครงการขนาดเล็ก หรือโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐส่งเสริม”- ขยายพอร์ตพลังงานยั่งยืน -
โอกาสทางธุรกิจที่ฉายชัดจากเมกะเทรนด์ชีวมวลโลกและช่องว่างสร้างการเติบโตในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่มีผลงานตลอดเส้นทางเป็นเครื่องพิสูจน์ ทำให้เศรษฐศิริมั่นใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมระดมทุนขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อความมั่นคงและการเติบโตอย่างยั่งยืน “การระดมทุนหลักๆ เพื่อขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายโรงไฟฟ้ารวมทั้งธุรกิจวิศวกรรมเพิ่มเติม เพื่อสร้างความหลากหลายให้ธุรกิจวิศวกรรมทั้งกลุ่มลูกค้าและกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งภาพการเติบโต 3 ปีของเราเน้นที่ความมั่นคงและการเติบโตบนความแข็งแกร่งภายในของบริษัทอย่างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ โดยอนาคตเชื่อว่าต้องมีการบาลานซ์โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติโดยตรง เช่น โซลาร์ เพื่อให้เกิดการกระจายความเสี่ยง แต่ถ้าระยะสั้น 3 ปี เราเน้นความมั่นคงในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เราทำได้ดี” นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ ซึ่งคาดการณ์ก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปีนี้ ได้แก่ โครงการโรงคัดแยกและแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) จังหวัดพิจิตร ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 120 ตัน/วัน และโครงการโรงคัดแยกและแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ที่ Vientiane สปป.ลาว โดยมีขนาดกำลังการผลิตประมาณ 200 ตัน/วัน ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเข้าซื้อกิจการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 7.36 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เข้าทำบันทึกข้อตกลงเพื่อได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการศึกษาโครงการและดำเนินการซื้อขายกิจการ รวมทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาคือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ VWM ที่เมือง Vientiane สปป.ลาว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 6.0 เมกะวัตต์ โดยคาดการณ์การก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ของปี 2566 “ในปีนี้วางแผนขยายโรงไฟฟ้าไว้จาก 16.7 เมกะวัตต์ เป็น 85 เมกะวัตต์ และ 180 เมกะวัตต์ในปี 2566 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเราได้เริ่มการพัฒนาโครงการต่างประเทศไว้แล้วพอสมควร ทั้งเป็นเจ้าของและงานวิศวกรรม เช่น ลาว ออสเตรเลีย รวมทั้งเราเคยปักหมุดที่ไต้หวันตั้งแต่ก่อนโควิด-19 โดยความเป็นไปได้ที่จะไปต่างประเทศมีที่ไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งมีการศึกษาและเตรียมการลงทุนพอสมควรทางตอนใต้และตอนกลางของญี่ปุ่น” เศรษฐศิริย้ำความมั่นใจในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจตามเป้าหมายที่วางไว้จากกลยุทธ์การศึกษาความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าแต่ละโครงการ ด้วยการศึกษาข้อมูลและสำรวจแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับขนส่งมายังโครงการได้ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเชื้อเพลิงและความมั่นคงสม่ำเสมอในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงด้านเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับ ทั้งยังมุ่งเน้นพัฒนาความสัมพันธ์กับชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน อ่านเพิ่มเติม:- มหาเศรษฐี “JOHN GOFF” แร้งแห่งวงการน้ำมัน
- วัลลภา ไตรโสรัส แม่ทัพ AWC POWER OF LAND DEVELOPER
- ทำเนียบ FORBES 30 UNDER 30 ASIA 2021 ตอนที่ 2
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine