สยาม เตียวตรานนท์ "TKC" อัพสปีดดิจิทัลเมกะเทรนด์ - Forbes Thailand

สยาม เตียวตรานนท์ "TKC" อัพสปีดดิจิทัลเมกะเทรนด์

‘สยาม เตียวตรานนท์’ วิศวกรโทรคมนาคมไทยที่ใช้เวลาครึ่งชีวิตในอเมริกาตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทยในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ด้วยความมั่นใจเริ่มต้นบุกเบิกน่านน้ำธุรกิจเทเลคอมครบวงจรที่มีคู่แข่งน้อยรายสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 2G ถึง 5G พร้อมคว้าโอกาสเมกะเทรนด์รุกเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลโซลูชัน

บนแผนที่ชีวิตที่ปักหมุดอาชีพวิศวกรไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายวัย 13 ปีได้เริ่มต้นตามเส้นทางที่วางไว้หลังจากสวมเครื่องแบบเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียน The Kiski School รัฐ Pennsylvania สหรัฐอเมริกา ด้วยกฎระเบียบและกิจวัตรประจำวันที่ต้องรับผิดชอบรวมถึงการสื่อสารผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ต่างภาษาได้กลายเป็นเหมือนวัคซีนสร้างความเข้มแข็งและการหล่อหลอมความเพียรพยายามเดินหน้าตามจุดหมายที่วางไว้ สยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ TKC ในวัย 50 ปี เล่าถึงการใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาที่ต้องปรับตัวและทุ่มเทให้กับการศึกษาจนสามารถเริ่มต้นเส้นทางวิศวกรตามความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมไฟฟ้าจาก Boston University และปริญญาโท โทรคมนาคมคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ก จาก The George Washington University รวมถึงปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (MBA) Johnson & Wales University ประเทศสหรัฐอเมริกา “เราเริ่มทำงานแห่งแรกเกี่ยวกับ Radio Frequency (RF) ที่สำนักงานใหญ่ของ Motorola ใน Chicago และรู้สึกว่าความรู้ที่เรียนมายังไม่เท่ากับเพื่อนที่ทำงานใน Motorola เราจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทและย้ายไปอยู่ D.C. โดยทำงานให้บริษัทที่ปรึกษารับวางระบบให้ Sprint ซึ่งงาน RF เมื่อ 20 ปีที่แล้วได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี 2G เป็น 3G และความโชคดีของเราอยู่ที่ระบบของอเมริกาเป็น CDMA ไม่ใช่ GSM ซึ่งเป็นของยุโรป ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญใน CDMA ตั้งแต่แรก” หลังสั่งสมความรู้และประสบการณ์ทำงานจนถึงจุดอิ่มตัวในวัย 30 ปี สยามจึงเดินทางกลับประเทศไทยและเริ่มต้นทำงานกับ บริษัท ซิเลซติกา (ประเทศไทย) จำกัด ก่อนจะย้ายไปทำงานผู้จัดการสายโทรคมนาคม บริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด ราว 1 ปี ด้วยความตั้งใจเรียนรู้การทำงานในบริษัทไทยเพื่อปรับใช้เป็นแนวทางการบริหารธุรกิจดิจิทัลโทรคมนาคมที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2548 ในปัจจุบันสยามสามารถสร้างการเติบโตให้บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญและชำนาญด้านการวางระบบเครือข่ายสื่อสารและเทคโนโลยี ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบ และบำรุงรักษางานวิศวกรรมในสายงาน โดยแบ่งเป็น การให้บริการงานโครงการรับเหมาแบบเบ็ดเสร็จหรือ turnkey project ได้แก่ ระบบโทรคมนาคม (telecommunications), ระบบสื่อสารข้อมูล (data communications) และระบบความปลอดภัยสาธารณะ (public safety) TKC นอกจากนั้น บริษัทยังดำเนินธุรกิจงานบริการวิศวกรรม งานบำรุงรักษา และงานบริการอื่นๆ (service and MA) พร้อมถือหุ้นในบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไอบีเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่าย ติดตั้ง และให้บริการงานวิศวกรรมในสายงานระบบสื่อสารโทรคมนาคม เน้นกลุ่มลูกค้า Nokia และ Ericsson และ บริษัท พาราไดม์ เทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด ประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องและต่อยอดธุรกิจหลักของบริษัท “กลยุทธ์ของเรามีอย่างเดียวคือ ในอดีตสาขาอาชีพนี้ต้องเป็นฝรั่งทำงาน ซึ่งเขาจะคิดแบบฝรั่ง แต่เราทำในธุรกิจเดียวกัน ประสบการณ์เหมือนกัน แต่คิดแบบคนไทย โดยการเติบโตส่วนหนึ่งยังมาจากประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญในแพลตฟอร์ม CDMA ทำให้เราได้ทำระบบให้ Hutch และ Hutch ก็ใช้ Motorola เราก็ทำให้ Motorola สร้างความเชื่อมั่นว่าเราทำได้ รวมถึงเรายังทำงานกับ Huawei ในช่วงที่ CAT เปิดประมูลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว น้อยคนจะรู้จัก Huawei เราก็ไปเสนอตัวเข้ารับงานและเขาก็จ้างเรา โดย Huawei ได้งานประมูลการสื่อสารพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งประเทศและจ้างบริษัท SK ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ของเกาหลีด้วย เขาก็แนะนำเราและให้ SK เข้ามาช่วยเทรนคนของเราและให้เราสร้างคนขึ้นมารับงาน RF ให้” สยามกล่าวถึงการให้บริการในสายงานโทรคมนาคมตั้งแต่ยุค 2G ต่อเนื่องถึงเทคโนโลยี 3G อย่างครบวงจรตั้งแต่การออกแบบ วางระบบ จัดหา และติดตั้งระบบสื่อสารโทรคมนาคมและสถานีฐานสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงให้บริการแก่ลูกค้าสำหรับระบบงานภายในอาคารสูง พร้อมบริการสำรวจมุมอับสัญญาณเพื่อออกแบบและติดตั้งเครื่องกระจายสัญญาณให้สามารถรองรับสัญญาณมือถือ พร้อมรับงานประเภทใหม่ในยุค 4G เช่น การวางระบบสายสื่อสารระบบไฟเบอร์และใยแก้วนำแสง ขณะเดียวกันยังมีการลงทุนพัฒนาระบบโครงข่าย 5G Core ต่อเนื่องยังงานวางระบบเครือข่ายส่วนตัวเป็นเทคโนโลยี 5G (Private Network 5G) และบริการที่จะต่อยอดไปยัง IoT (Internet of Things) ด้วยความเชี่ยวชาญในงานบริการโทรคมนาคมทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมเป็นลูกค้าหลักทั้งหน่วยงานภาครัฐ TKC “เราเติบโตตามพันธมิตรที่เป็น vendor หลักของโลกหรือ global leader ซึ่งรู้เทรนด์ในอนาคต เมื่อเขาเริ่มจับตลาด enterprise เราจึงตั้งแผนก Data Communication รองรับฐานลูกค้า enterprise โดยข้อดีของวิศวกรคือ แม้จะต่างธุรกิจกันแต่หลักการประยุกต์ใช้ไม่ยาก ทำให้เราสามารถขยายจาก telecom มา data communication และเริ่มทำระบบ Cloud ให้ภาครัฐตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว” สำหรับการต่อยอดการบริการในสายงานระบบสื่อสารข้อมูล (data communication) เริ่มในปี 2554 ด้วยการให้บริการออกแบบ วางระบบ จัดหา ติดตั้ง ระบบเครือข่ายเชื่อมโยงการส่งข้อมูลในองค์กรทั้งแบบสายและไร้สาย (network) เช่น การวางระบบ WiFi switch และ router ก่อนจะเพิ่มบริการ Integrated Network Management System (iNMS) และบริการสร้างศูนย์ข้อมูลหลักศูนย์ข้อมูลสำรอง ระบบตรวจสอบความถูกต้อง และระบบคลาวด์ (Cloud) สำหรับภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้รับเหมาเอกชนที่ชนะงานประมูลโครงการภาครัฐ ส่วนสายงานระบบความปลอดภัยสาธารณะ (public safety) ของบริษัทเริ่มต้นในปี 2559 โดยให้บริการคำปรึกษา แนะนำ ออกแบบ ติดตั้งระบบเครือข่ายสื่อสาร เสาสัญญาณ ชุมสาย สถานีฐาน เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งมุ่งเน้นระบบสื่อสารสำหรับใช้ในงานบรรเทาสาธารณภัย เช่น การให้บริการระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัลแบบ 4G สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และระบบเว็บไซต์อัจฉริยะ (web intelligence) โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลออนไลน์ให้แก่ลูกค้าได้ “เราขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้ครอบคลุมการบริการที่ลูกค้าต้องการ โดยเรามองว่าเราเป็นผู้สร้าง infrastructure ไม่ใช่ operator แต่เป็นผู้สร้างอยู่เบื้องหลัง และเราขยายธุรกิจตามเทรนด์ในอนาคตทั้ง Big Data และ public safety รวมถึงสายงานสุดท้ายด้าน service and MA ซึ่งเราตั้งขึ้นมาในปี 2561 จากการเล็งเห็นความต้องการในตลาดและโอกาสการสร้างรายได้ต่อเนื่อง”  

- คว้าโอกาสเทรนด์อนาคต -

แม้ในปัจจุบันบริษัทจะสามารถขยายธุรกิจให้บริการระบบเครือข่ายสื่อสารและเทคโนโลยีอย่างครบวงจรด้วยรายได้รวม 2.88 พันล้านบาทในปี 2563 แต่สยามยังเล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมทางธุรกิจให้สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วรวมถึงเมกะเทรนด์ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต TKC “รายได้ของเราอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท เราตั้งเป้าการเติบโตไว้ปีละ 15-20% โดยเราต้องการผลักดันการเติบโตระดับ double digit ซึ่งธุรกิจที่เราทำถ้าหยุดอยู่กับที่ 3 ปีก็ไม่ใช่ผู้นำเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก เช่น เมื่อ 10-20 ปีที่แล้วถ้าผมบอกว่า ผมเป็นผู้นำ 3G ทุกคนยกนิ้วให้ แต่วันนี้ผมต้องบอกว่า ผมจะเป็นผู้นำ 5G ผู้นำด้าน cyber security ผู้นำด้าน smart solution ผู้นำด้าน AI ผู้นำด้าน IoT แต่อีก 3 ปีหรือ 5 ปีข้างหน้าก็ต้องมีธุรกิจเกิดใหม่ ผมจึงให้ความสำคัญกับ new business เป็นแรงผลักดันให้เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ และสร้างความยั่งยืนให้ TKC” เมกะเทรนด์สำคัญที่สยามเล็งเห็นโอกาสสร้างการเติบโตเป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ของบริษัท ได้แก่ ระบบเครือข่ายสื่อสารเพื่อใช้สำหรับโซลูชันอัจฉริยะ (smart solutions) โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ร่วมกับการสร้างและออกแบบเน็ตเวิร์กและเซิร์ฟเวอร์มาเสริมสร้างประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพในธุรกิจด้านต่างๆ เช่น สมาร์ทโซลูชันสำหรับโรงงาน (smart factory) ด้วยการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรต่างๆ AI และ IoT เข้ามาบริหารจัดการภายในโรงงาน
สยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
ขณะเดียวกันบริษัทยังให้ความสำคัญกับสมาร์ทโซลูชันสำหรับภาคการเกษตร (smart farming) โดยนำระบบโดรน (drone) และให้บริการ customize ระบบ IoT ร่วมด้วยรวมถึงสมาร์ทโซลูชันสำหรับระบบ automation ภายในบ้าน (home automation) และสมาร์ทโซลูชันสำหรับภาครัฐหรือชุมชน (smart city) เช่น การให้บริการและจัดทำระบบตรวจจับปริมาณขยะในพื้นที่ต่างๆ ในชุมชน ระบบตรวจวัดการใช้น้ำและไฟฟ้าอัตโนมัติ และระบบ emergency and security monitoring รวมถึงสมาร์ทโซลูชันสำหรับโรงพยาบาล (smart hospital) หรือ telehealth สมาร์ทโซลูชันสำหรับการศึกษา (smart education) และสมาร์ทโซลูชันสำหรับระบบโลจิสติกส์ (smart logistic) นอกจากนั้น บริษัทยังขยายธุรกิจสายงานความปลอดภัยสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นการให้บริการ cyber security เพื่อเป็นผู้นำในสาขา data security และ network security และระบบงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบการสื่อสารไร้สายสำหรับกรณีสาธารณภัย (LTE emergency communication) ระบบยานยนต์ไร้คนขับ (Unmanned Ground Vehicles: UGV) และระบบอากาศยานไร้คนขับ (drone) ซึ่งมีแนวโน้มจำเป็นมากขึ้นสำหรับอนาคต “ภาพลักษณ์ของบริษัทที่วางไว้หลังจากสร้างธุรกิจในทุกไซโลและ infrastructure พร้อม เพราะทุกหมู่บ้านในประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์แล้ว เทรนด์อนาคตจะเป็นโลกของดิจิทัล ซึ่งเราจะโฟกัสด้าน smart solutions, Cloud และ cyber security”   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ e-magazine