ท่ามกลางความหวาดวิตกจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อแตะหลักหมื่น และมีผู้เสียชีวิตในหลักร้อยรายต่อวัน จนอาจทำให้ลืมไปว่ายังมีการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่น่ากังวลไม่น้อยเช่นกัน สมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ นักรังสีเทคนิคหนุ่มรู้สึกหดหู่กับภาพที่เห็น เหมือนการฉายหนังซ้ำมีแค่ตัวละครที่เปลี่ยนไป ปี 2543 จึงได้ร่วมกับเพื่อนตั้ง บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
หลังจบการศึกษาด้านวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค จากมหาวิทยาลัยมหิดล สมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นทำงานเป็นนักรังสีเทคนิคในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นแห่งแรกๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในการรักษามะเร็ง โดยคนไข้ซึ่งเข้ารับการรักษาส่วนใหญ่ป่วยเป็นมะเร็งระยะ 3 หรือระยะ 4 ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของโรคทำให้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง กระทั่งมีคำพูดในขณะนั้นว่า หากใครเข้ารับการฉายแสงอีกไม่นานจะเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องจริง นักรังสีเทคนิคหนุ่มรู้สึกหดหู่กับภาพที่เห็น เหมือนการฉายหนังซ้ำมีแค่ตัวละครที่เปลี่ยนไป หลังจากทำงานที่โรงพยาบาลได้ปีเศษจึงลาออกมาเป็นพนักงานขายเครื่องมือแพทย์ให้กับบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง ระหว่างนั้นก็เรียนต่อปริญญาโทอีกใบในด้านบริหารธุรกิจ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และรู้สึกร้อนวิชา อยากมีกิจการเป็นของตนเอง ปี 2543 จึงได้ร่วมกับเพื่อนตั้ง บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท “ตอนนั้นฝันเฟื่องในความเป็น MBA และอื่นๆ มันง่ายไปหมด เชื่อไหมว่าตอนนั้นมีทุนจดทะเบียนล้านเดียว มีเงินในกระเป๋า 400,000 บาท เพื่อนมี 400,000 บาท” สมชายกล่าว รายงานของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปี 2562 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกจำนวน 84,073 ราย และคาดการณ์ว่าปี 2568 จะมีผู้ป่วยมะเร็ง 168,093 ราย และ 185,735 รายในปี 2573 ทั้งนี้มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของคนไทยตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางต่างประเทศ มีโอกาสเห็นเทคโนโลยีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆ เขาเชื่อว่าจะทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น สมพงษ์จึงเข้าสู่วงการโดยทำธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการฉายรังสี ปัจจุบันบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2563 และไตรมาส 2 ของปี 2564 มีรายได้ 765.13 และ 1,175.35 ล้านบาทตามลำดับ โดยไตรมาส 2 ของปีนี้มี backlog 2,481 ล้านบาท ลูกค้าหลักคือภาครัฐ บริษัท บิสซิเนสอะไลเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIZ ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่าย ติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษา (หรือการฉายรังสี) รวมถึงให้บริการซ่อมบำรุงรักษาชุดเครื่องมือดังกล่าว กลุ่มลูกค้าหลักคือ โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทย์ โรงพยาบาลในเครือโรงพยาบาลมะเร็งของกรมการแพทย์ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐอื่นๆ หน่วยงานหรือองค์กรด้านสาธารณสุขภายในประเทศ และโรงพยาบาลเอกชน โดยรายได้ประมาณ 70% มาจากโรงพยาบาลภาครัฐ ในปัจจุบันมีบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องฉายรังสีรักษาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก 2 แห่ง คือ Elekta AB จากสวีเดน และ Varian Medical Systems, Inc. จากสหรัฐอเมริกา โดย BIZ เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายให้กับ Varian Medical Systems, Inc. ซึ่งสมพงษ์เคยเป็น Product Manager ของที่นี่ นอกจากนั้น ยังเป็นคู่ค้ากับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกหลายราย เช่น IBA Dosimetry GmbH ประเทศเยอรมนี, Thermo Fisher Scientific Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา, Xstrahl Limited. ประเทศอังกฤษ, Deltabit Oy ประเทศฟินแลนด์, Vision RT Ltd. ประเทศอังกฤษ, Radiation Product Design, Inc. และ Ashland Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ผลิตภัณฑ์หลักที่จำหน่าย ได้แก่ ชุดเครื่องฉายรังสีโดยเฉพาะเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน (linear accelerator) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีรังสีรักษาด้วยการฉายรังสีระยะไกล (teletherapy) และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญและมีมูลค่าต่อโครงการสูง บริษัทยังเป็น solution provider จัดหาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างครบวงจร โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง ปรับปรุงห้องฉายรังสีให้มีมาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรังสีรั่วไหล ตลอดจนการจัดหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับเครื่องฉายรังสี เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทระบบคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษา ผลิตภัณฑ์ประเภทระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยด้านรังสีรักษา และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ รายได้ของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. จำหน่ายและติดตั้งชุดเครื่องมือทางการแพทย์ 2. การให้บริการซ่อมบำรุงรักษาชุดเครื่องมือทางการแพทย์ 3. การก่อสร้าง เกิดจากสัญญาโครงการจัดตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน ปี 2561 ได้ขยายส่วนงานด้านการตรวจพันธุกรรม โดยเป็นตัวแทนการให้บริการตรวจพันธุกรรมเพื่อคัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง BIZGenes (Genetic Testing for Cancer Screening) รวมถึงการตรวจทางพันธุกรรมด้านอื่นๆ เช่น การดูแลสุขภาพทั่วไป การตอบสนอง/แพ้ยา การวางแผนก่อนการมีบุตร หรือโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท แคนเซอร์อลิอันซ์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโครงการโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านการรักษาโรคมะเร็ง โดยถือหุ้นในสัดส่วน 65% การขยายขอบข่ายการดำเนินธุรกิจไปยังด้านอื่นๆ นั้นเป็นความตั้งใจตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ซึ่งสมพงษ์บอกว่า “ตอนตั้งชื่อผมมี passion ว่า ทำไมเวลาตั้งชื่อบริษัทต้องมีคำว่า medical เป็นการสื่ออย่างหนึ่ง แต่ชื่อบริษัทเราใช้คำว่า alignment จะ challenge คน...เป้าหมายเราคือ อยากนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตอนนั้นยังไม่มี mai แต่ผมเรียน MBA มองเรื่อง holding company การขยายธุรกิจ นอกจากการแพทย์จะขยายไปอย่างอื่นได้ไหม บริษัทจึงไม่มีคำว่า medical แต่เป็น healthcare” นโยบายรัฐบาลสร้างโอกาส สมพงษ์สร้างธุรกิจด้วยสองมือของเขาเอง โดยร่วมกับเพื่อนลงทุนฝ่ายละ 400,000 บาท แต่ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจำหน่ายราคาค่อนข้างสูง โจทย์ใหญ่คือ “การหาทุน” โดยช่วงที่ยากลำบากมากคือ 5 ปีแรก “ตอนนั้นเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก เครื่องแต่ละชนิดราคาแพง 60-70 ล้านบาท...เราตั้งบริษัทปี 2543 เพิ่งผ่าน crisis เศรษฐกิจ...การขยายตัวของเครื่องน้อยมาก เนื่องจาก (ค่าเงินบาทอ่อน) อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ค่อยๆ ไต่ขึ้นเป็น 50 กว่าบาท เราพอคาดการณ์ราคาได้แต่ความยากคือ การที่เงินบาทอ่อนทำให้สินค้าราคาแพงมาก คนเข้าถึงได้น้อย โชคดีโรงพยาบาลหลายแห่งยอมเปิด L/C (Letter of Credit) ลดผลกระทบเรื่องค่าเงิน ทำให้ผ่านพ้นมาได้... “เรามีเงินทุน 1 ล้าน ได้มาดีลหนึ่งมูลค่า 50 กว่าล้านบาท ทำไงถึงจะได้เงินมาซื้อเครื่อง เราต้องจ่ายเงินให้บริษัทผู้ผลิตก่อนแต่จะเก็บเงินจากโรงพยาบาลรัฐได้เมื่อมีการส่งมอบสินค้าแล้ว ธนาคารไม่ปล่อยกู้เพราะเราเพิ่งเปิดบริษัทไม่มีเครดิต โชคดีขอกู้เงินมาได้แบบไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่เป็นการแบ่งกำไรกันก็ต้องยอม เป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ได้เกิดจากฐานที่มีทุนหนาและสภาวะเศรษฐกิจขณะนั้นทำให้เรียนรู้ 5 ปีแรกเป็นช่วงยากลำบากในการหา source of fund บริษัทเล็กแต่โครงการเข้ามา 40-50 ล้าน มันไม่ง่าย โชคดีได้ลูกค้าที่ดีคนทำงานที่ดี และโครงการดี...การที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ทำให้เราทำงานยากนิดหนึ่งแต่ก็ผ่านมาได้” ทว่าเมื่อรัฐบาลทักษิณมีโครงการ 30 บาทหรือที่เรียกกันว่า บัตรทอง ทำให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขโรงพยาบาลภาครัฐมีการสั่งซื้อเครื่องฉายรังสีมากขึ้น ขยายสู่ธุรกิจใหม่ BIZ แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มแรกคือ การขายเครื่องรังสีรักษา รองลงมาคือ การให้บริการหลังการขาย และปี 2561 ได้ลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลชื่อ โรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพิ่งเปิดให้บริการเดือนตุลาคม ปี 2562 สมพงษ์อธิบายถึงเหตุผลที่ตั้งในต่างจังหวัดว่า กรุงเทพฯ มีการแข่งขันสูง ขณะที่แถบทางภาคตะวันออกยังไม่ค่อยมีโรงพยาบาลลักษณะนี้ รวมทั้งได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจาก BOI “เราออกแบบโมเดลเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกสำหรับผู้ใช้สิทธิ์ข้าราชการ ประกันสังคมและคนไข้บัตรทอง ส่วนนี้ไม่ค่อยมีกำไรแต่พออยู่ได้ อีกส่วนคือ คนไข้ที่จ่ายเงินเองเบิกไม่ได้ เรามีหน่วยเพิ่มคือ กัญชาทางการแพทย์ เอามาใช้ร่วมเสริมการรักษามะเร็งแผนปัจจุบัน ผู้ป่วยที่รับเคมี ฉายรังสี หรือจิตใจห่อเหี่ยว ไม่ค่อยอยากอาหารร่างกาย weak การให้น้ำมันกัญชามีผลให้หลับได้ดี ลดการอาเจียน กินข้าวได้มาก ทำให้ภูมิต้านทานดีขึ้น ทำให้การรักษาดีขึ้น...เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 30 เตียง รักษามะเร็งโดยเฉพาะบวกฟอกไต อนาคตจะทำอย่างอื่นหรือไม่ขึ้นกับทิศทางและโอกาส ประโยคหนึ่งที่สมพงษ์พูดถึงบ่อยครั้งคือ ในการทำธุรกิจเขาเชื่อว่า “เก่งกับเฮง” ต้องมาพร้อมกัน “เฮงของผมหมายถึงโอกาส ถ้าคุณเก่งอย่างเดียวก็ไม่ success เพราะโอกาสยังไม่มา เพราะฉะนั้นโอกาสกับความเก่งต้อง match กัน...นักธุรกิจต้องมองออกและเห็นโอกาส การทำธุรกิจคือความมุ่งมั่น เอาใจใส่ลูกค้า หรือ stakeholder เราทำด้านการแพทย์ สิ่งที่เรานำเสนอต่อโรงพยาบาลต้องเป็นสินค้าคุณภาพดี เหมาะกับผู้ป่วยเพราะเป็นคนใช้ และซื่อสัตย์ รักษาคำพูด ได้คือได้ ไม่ได้คือไม่ได้ ผมสอนคนในออฟฟิศเสมอว่า ถ้ารับปากแล้วทำไม่ได้ห้ามรับปากเพราะจะ discredit เรา” แม้การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท ภาพรวมรายได้ปี 2564 และ 2565 ยังเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ แต่ผู้บริหาร BIZ ก็เตือนตัวเองเสมอว่า อย่าประมาท อย่างไรก็ดีเขามีความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นธุรกิจเฮลท์แคร์ยังคงอยู่ได้ นอกจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (mai) ซึ่งบรรลุผลแล้วในปี 2559 เป้าหมายอีกอย่างคือ การทำให้บริษัทเป็นโฮลดิ้งคอมปานี นั่นหมายความว่าต้องมีรายได้หลายพันล้านบาทต่อปี และประกอบธุรกิจหลายชนิด โดยล่าสุดกำลังมองว่าจะสร้างธุรกิจใหม่จากสถานการณ์โควิดอย่างไร “บริษัทค่อยๆ เจริญเติบโตมา แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่คาดไว้ในใจ...เราทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับ healthcare เพราะเป็นสิ่งที่ อย่างไรก็ตามคนเราต้องพึ่งพิง...ทุกคนกำลัง crazy โควิด เรามอง after โควิดเป็นอย่างไร โควิดจะไปอีกยาวไหม ตอนนี้เป็น just today ไม่ใช่ future ทำอย่างไรให้เป็น prevention ให้คนมั่นใจว่าจะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอย่างมีความสุข ผมเชื่อว่ามีหลายคนคิดเหมือนผม” ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine