ศุภกิจ งามจิตรเจริญ พา ZIGA ลุยธุรกิจเหล็กโครงสร้าง หวังดัน market cap แตะหลักหมื่นล้านใน 3 ปี - Forbes Thailand

ศุภกิจ งามจิตรเจริญ พา ZIGA ลุยธุรกิจเหล็กโครงสร้าง หวังดัน market cap แตะหลักหมื่นล้านใน 3 ปี

หลังมรสุมผ่านพ้น หัวเรือใหญ่แห่ง ZIGA ขอกำหนดโชคชะตาด้วยตนเองคว้าโอกาสธุรกิจเหล็กโครงสร้างแบบ pre-zinc พร้อมใช้ความเชี่ยวชาญที่มีต่อยอดสู่ร้านค้ากึ่งสำเร็จรูป หวังดัน market cap บริษัทแตะหลักหมื่นล้านใน 3 ปีข้างหน้า

เส้นกราฟชีวิตที่พุ่งขึ้นลงแบบคาดเดาไม่ได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยเริ่มทำงาน ไม่ได้ทำให้ ศุภกิจ งามจิตรเจริญ ท้อแท้แม้แต่นิดตรงกันข้ามกลับฟูมฟักความแกร่ง มุ่งมั่นพิชิตอุปสรรคพกความรู้และวิสัยทัศน์พลิกแพลงกิจการที่ครอบครัววางรากฐานไว้เป็นเบื้องต้นให้เป็นธุรกิจที่แตกต่างในตลาดด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์เหล็กโครงสร้างประเภท pre-zinc แบรนด์ Ziga และร้านค้ากึ่งสำเร็จรูปในชื่อ I-Retail เป็นตัวชูโรง ภายใต้ บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ที่มีรายได้รวม ณ ไตรมาส 3/2560 เกือบ 750 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ณ วันที่ 8 ธันวาคม ปี 2560 ที่ 2.86 พันล้านบาท “เราโตมาจากเอสเอ็มอีเล็กๆ เป็นธุรกิจห้องแถว แต่เราไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง เพราะผมตั้งเป้าไว้ว่าเราต้องสามารถผลิตสินค้ามาตรฐานสากลเพื่อขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นให้ได้ และต้องสร้างสินค้าใหม่ให้ตลาดได้นำไปใช้” ศุภกิจ งามจิตรเจริญ วัย 41 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZIGA กล่าวหนักแน่น ความเจ็บปวดหลอมความแกร่ง ศุภกิจและพี่น้องอีก 4 คน โตมาในช่วงที่พ่อแม่คือศักดิ์ชัยและดวงพรทำธุรกิจรับวางระบบไฟฟ้าและขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ด้วยหนี้เสียทำให้พวกเขาจึงต้องหันไปพบธุรกิจประมูลวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าเก่า จากท่อร้อยสายไฟที่ประมูลได้มา จึงเกิดความคิดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาตัดเป็นท่อนแล้วปรับให้เป็นท่อโค้งสำหรับการเดินท่อเข้ามุม ความที่ขณะนั้นยังไม่ค่อยมีผู้ผลิตท่อโค้งออกสู่ตลาดกิจการของศักดิ์ชัยจึงก้าวหน้า ช่วยกู้วิกฤตการเงินของครอบครัวได้อีกคราว แต่แล้วก็เหมือนฝันร้าย เมื่อธุรกิจติดขัดเนื่องจากศักดิ์ชัยใช้เงินล่วงหน้าไปมากกว่าที่คาดและยังป่วยด้วยโรคมะเร็ง ดวงพรจึงต้องขยับบทบาทมาเป็นผู้นำครอบครัว ดูแลทั้งงาน สามี และลูกๆ 5 คน ก่อนที่ศักดิ์ชัยจะจากไปในปี 2539 ดวงพรพยายามประคับประคองกิจการให้อยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง แต่วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ก็ซัดธุรกิจจนซวนเซ ศุภกิจซึ่งขณะนั้นเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสยาม เพื่อนำความรู้กลับมาช่วยที่บ้านจึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเมื่อโรงงานเหล็กเกือบทุกแห่งโดนพิษเศรษฐกิจ เขาก็ติดต่อกลับไปโรงงานที่เคยปฏิเสธการผลิตท่อร้อยสายไฟให้เขาด้วยเหตุผลว่าสั่งน้อยเกินไปเพื่อให้โรงงานนั้นช่วยผลิตให้อีกครั้ง คราวนี้ศุภกิจเจรจาสำเร็จ ทำให้ได้ท่อร้อยสายไฟที่สามารถดัดเป็นท่อโค้งไร้ตะเข็บเป็นสินค้าที่ช่วยผ่อนภาระหนี้สินจากหนักเป็นเบาได้ในที่สุด ความต้องการสร้างธุรกิจอย่างจริงจัง ผลักให้ดวงพรก่อตั้ง บริษัท จิตรเจริญ โปรเกรส จำกัด ในปี 2541 สร้างโรงงานผลิตท่อโค้งและอุปกรณ์ รวมถึงผลิตท่อร้อยสายไฟประเภทท่อ galvanized แบรนด์ Daiwa จำหน่ายให้กลุ่มลูกค้าเดิมที่ซื้อท่อโค้งอยู่ก่อนแล้วมีศุภกิจซึ่งเป็นลูกคนที่ 2 แต่เป็นลูกชายคนโตของบ้าน รับหน้าที่วิศวกรควบคุมดูแลเครื่องจักรและการผลิตทั้งหมด พร้อมควบตำแหน่งฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด เช็กสต็อก สินค้า วิ่งรถส่งสินค้า ไปด้วยในคนเดียวกัน ถึงจะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่ศุภกิจก็ตั้งเป้าหมายว่าต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัทระยะยาวทั้งในแง่ตลาดและรายได้ จึงบริหารจัดการโรงงานตามเกณฑ์ จนปี 2545 ก็ได้รับการรับรอง ISO 9001-2000 และได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 770-2533 ผ่านไปหลายปี ศุภกิจต้องการสร้างภาพลักษณ์บริษัทขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับแบรนด์ Daiwa จึงเปลี่ยนชื่อจาก จิตรเจริญ โปรเกรส เป็น บริษัท ไดว่า อินดัสตรี จำกัด ในปี 2548 และชักชวนพี่น้องทุกคนให้ทยอยเข้ามาช่วยก่อร่างสร้างธุรกิจให้มั่นคง เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้งอีกครั้ง เมื่อ ดวงพร ตรวจพบมะเร็งในปี 2549 ก่อนจะเสียชีวิตอีก 3 ปีถัดมา ถึงอย่างนั้นในช่วงเวลายากลำบาก สมาชิกทุกคนต่างช่วยกันสร้างกำลังใจและผลักดันกิจการให้โตยิ่งขึ้น ซึ่งการที่แบรนด์ Daiwa ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย UL ในปี 2549 ทำให้บริษัทเข้าถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสูง อาคารอุตสาหกรรม และโครงการขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น อาทิ คอนโดมิเนียมของบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น จากนั้นก็ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ ตะวันออกกลางและยุโรป แต่สัดส่วนยังน้อยเพราะเน้นการจำหน่ายในไทยกว่า 90% ฉายแสงเหล็กโครงสร้าง pre-zinc เนื่องจากธุรกิจเหล็กโครงสร้างมีอนาคตไกล มีความต้องการใช้งานในปริมาณมาก จึงวางแผนกระโจนสู่ตลาดเหล็กโครงสร้างในไทยที่มีผู้เล่นรายใหญ่อยู่แล้ว อาทิ บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เขาเห็นว่าสินค้าในกลุ่มเหล็กโครงสร้างเช่น โครงป้าย โครงหลังคา ฯลฯ ที่ใช้อย่างแพร่หลายในไทยคือท่อดำซึ่งมีราคาถูก มีระยะเวลาป้องกันสนิม 2-5 ปี ทำให้ต้องทาสีเพื่อป้องกันการเกิดสนิม แต่ก็ยืดอายุการใช้งานไปไม่ได้มากเท่าที่ควร จึงคิดทำสินค้าใหม่โดยวางตำแหน่งให้เป็นสินค้าทดแทนท่อดำ ผลลัพธ์คือแบรนด์ Ziga ในปี 2554 เป็นเหล็กโครงสร้างท่อกลมประเภท pre-zinc (pre-galvanized) ซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตรายใดผูกขาดความเป็นเจ้าตลาดสินค้าประเภทดังกล่าว แบรนด์ Ziga มีราคาสูงกว่าท่อดำ แต่ก็ชูจุดเด่นที่น้ำหนักเบา ทนทานด้วยระยะเวลาป้องกันสนิม 5-15 ปี โดยไม่ต้องทาสีกันนิมมันวาว ดัดโค้งง่ายไม่แตกหัก มีขนาดตั้งแต่ 0.5-5 นิ้ว ตามความต้องการใช้งาน ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทคือเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังที่ศุภกิจนิยามองค์กรว่าเป็น “ปลาเล็กว่ายเร็ว” หมายถึงสามารถปรับตัวและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วในยุคที่ธุรกิจมีเทคโนโลยีหนุนหลัง ศุภกิจในฐานะผู้นำองค์กรใช้งบหลักสิบล้านบาททยอยลงทุนระบบซอฟต์แวร์ ERP และ Advanced Scheduling รวมทั้งบริหารจัดการbig data เพื่อวางแผนการจัดซื้อการผลิตและการจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รายได้รวมของ ZIGA ปี 2557-2559 อยู่ที่ 426 ล้านบาท 689 ล้านบาท และ 941 ล้านบาท ซึ่งแบรนด์ Ziga สร้างสัดส่วนราว 90% ของรายได้รวมทั้งหมด ส่วนปี 2560 ศุภกิจประมาณการรายได้รวมไว้ใกล้เคียงหลักพันล้านบาท หรือโตจากปีก่อนหน้าราว 10% หมุดหมายใหม่ “I-Retail” ด้วยหลักคิดที่ว่าการโตจากธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องดี แต่สุดท้ายต้องบริหารแบบมืออาชีพ ทำให้ศุภกิจคิดถึงการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เขานำเรื่องปรึกษาพี่น้องซึ่งทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันหมด จึงแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเปลี่ยนชื่อจาก ไดว่า อินดัสตรี เป็น บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังไอพีโอกลุ่มครอบครัวงามจิตรเจริญถือหุ้นในบริษัท 62.54% จากก่อนหน้านี้ที่ถือหุ้น 85.29% เป้าหมายของ ZIGA ในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คือระดมทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานใหม่และคลังสินค้าบนพื้นที่ 28 ไร่ห่างจากโรงงานเดิมซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 12 ไร่ ใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ผู้บริหารหนุ่มคาดว่าโรงงานใหม่จะช่วยหนุนกำลังการผลิตทั้งแบรนด์ Ziga และแบรนด์ Daiwa ให้ขึ้นไปเป็น 79,000 ตันในปีนี้ จากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ราว 65,000 ตันและหากโรงงานใหม่เสร็จเรียบร้อยก็จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปให้เป็น 160,000 ตันในปี 2563 มีสินค้าที่มุ่งเน้นผลิตให้มากขึ้นคือ Super Ziga และ I-Retail I-Retail เกิดขึ้นในปี 2558 เป็นรูปแบบร้านค้ากึ่งสำเร็จรูป เริ่มจากสร้างโครงสร้างหลักเป็นส่วนๆ จากโรงงาน แล้วนำไปประกอบติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง ช่วยย่นระยะเวลาการก่อสร้างให้เร็วขึ้นไม่น้อยกว่า 30-45 วันและช่วยลดระยะเวลาการเก็บความเรียบร้อยหน้างาน หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ศุภกิจก็ได้จังหวะขยายธุรกิจ I-Retail อย่างเต็มสูบเขาเข้าไปพูดคุยกับ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีบริการน้ำมัน PT ที่มีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันประมาณ 200 สาขาในปีนี้ ศุภกิจคาดว่าจะสามารถสร้างร้านกาแฟพันธุ์ไทยซึ่งตั้งอยู่ภายในสถานี PT ได้ราว 100 สาขา โดยเริ่มสร้างและทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาเขายังต้องการต่อยอด I-Retail ให้เป็น ZIGA Store จำหน่ายสินค้าต่างๆ ของบริษัทหรือการเป็นอาคารอเนกประสงค์ และยังมองถึงการส่ง I-Retail เข้าไปตลาดประเทศเพื่อนบ้าน “ผมตั้งใจว่าบริษัทจะต้องมี market cap หมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า นี่คือเป้าหมายของผมที่ต้องทำ และผมคิดว่าไม่ไกลเกินฝัน” ศุภกิจกล่าวพลางมองไปยังสายการผลิตเหล็กโครงสร้างที่เดินหน้าทำงานต่อเนื่องเพื่อทำความมุ่งหมายของเขาให้เป็นความจริง  
คลิกอ่าน "ศุภกิจ งามจิตรเจริญ พา ZIGA ลุยน่านน้ำเหล็กโครงสร้าง" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine