วิเชียร แพทยานันท์ ขยับชั้น CMC สู่ Big Player อสังหาฯ - Forbes Thailand

วิเชียร แพทยานันท์ ขยับชั้น CMC สู่ Big Player อสังหาฯ

เมื่อศาสตร์แห่งการวินิจฉัยและรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้รับการประยุกต์เข้ากับการบริหารธุรกิจของครอบครัว ด้วยการจัดทัพปรับโครงสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าเข้าตลาดทุนเสริมพลังสู่ยุคเจ้าพระยามหานคร 4.0 เส้นทางชีวิตที่พลิกผันของนายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว วัย 27 ปีเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีที่รับโทรศัพท์จากบิดา ซึ่งเรียกตัวให้กลับมาช่วยงานธุรกิจครอบครัวอย่างเร่งด่วนพร้อมรับไม้ต่อตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลแพทยานันท์โดยไม่ทันได้ตั้งตัวในปี 2536  “คุณพ่อโทรหาผมบอกให้กลับมาทำงานที่บ้าน โดยไม่บอกเหตุผล พอกลับมาถึงทราบว่าท่านเป็นมะเร็ง ซึ่งในช่วงแรกที่เข้ามาทำธุรกิจยังจับต้นชนปลายไม่ถูกเพราะสิ่งที่เรียนมาไม่เกี่ยวกับธุรกิจ เราใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีจึงพบว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือและเครดิต เราจะทำโครงการโดยไม่มีแบรนด์ไม่ได้ จึงจัดตั้งบริษัท เจ้าพระยามหานคร ขึ้นในปี 2537” วิเชียร แพทยานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด(มหาชน) (CMC) กล่าวถึงการจัดโครงสร้างให้ธุรกิจของครอบครัวที่มีความเกี่ยวเนื่องกันรวมเป็นแบรนด์เดียวกัน เพื่อให้เกิดพลังร่วมในการดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร สำหรับโครงสร้างธุรกิจในปัจจุบันของกลุ่มบริษัทแบ่งเป็น 3 บริษัทย่อย ได้แก่บริษัท พระยาพาณิชย์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(PPP) ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย คอนโดมิเนียมทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยว เน้นโครงการคอนโดมิเนียมทำเลใกล้รถไฟฟ้าและการเดินทางสะดวก เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ระดับกลางถึงช่วงต้นของกลุ่มที่มีรายได้ระดับสูง ส่วนบริษัท สยามมหานครพร็อพเพอร์ตี้จำกัด (SMP) ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหา-ริมทรัพย์เพื่อให้เช่า โดยมีอาคารซีเอ็มซีทาวเวอร์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าสูง 7 ชั้น ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 3,983 ตารางเมตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นส่วนของสำนักงานบริษัทราว 3,588 ตารางเมตรหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% และปล่อยเช่าให้บุคคลภายนอกเพียงพื้นที่บางส่วนของชั้น 4 หรือประมาณ 10% นอกจากนั้น บริษัทยังมีโครงการอาคารชุด 8 ชั้น ชื่อ โครงการชาโตว์ อินทาวน์ รัชดา 36 และเตรียมพัฒนาในอนาคต อีก 1 โครงการ คือ โครงการชาโตว์ อินทาวน์ รัชดา 36-2 เนื่องจากที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งทั้งสองโครงการถูกซื้อมาในชื่อ SMP ที่ซื้อมานานตั้งแต่ช่วงปี 2543 ด้านบริษัท ไทยสยามนครพร็อพเพอร์ตี้จำกัด (TSN) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ เช่นชุดครัว บานประตู กล่องจดหมาย โรงงานผนังพรีแคส โรงงานผนัง EPS (ผนังที่ใช้ภายในตึก) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรับเหมาก่อสร้างให้โครงการที่พัฒนาโดย CMC, PPP และ SMP เป็นหลัก หากมีความสามารถรับงานภายนอกได้โดยไม่กระทบต่องานของกลุ่มบริษัทก็สามารถรับเหมางานก่อสร้างอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา TSN ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะรับงานรับเหมาก่อสร้างของงานภายนอกกลุ่มได้ เนื่องจากตลอดระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทมีการพัฒนาโครงการใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนโยบายการดำเนินธุรกิจของ TSN ในอนาคตผู้บริหารยังคงมอบหมายให้เป็นผู้สนับสนุนงานก่อสร้างให้แก่กลุ่มบริษัทเป็นหลัก โดยเลือกรับงานที่มีความเสี่ยงต่ำ ใช้แรงงานน้อยมีอัตรากำไรสูง เช่น การเก็บงานก่อสร้างภายในอาคารส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น งานก่อสร้างที่ใกล้เขตชุมชน งานก่อสร้างบริเวณเขตพระราชฐาน จะใช้ผู้รับเหมารายอื่นมารับงานแทน “หลังจากการจัดโครงสร้างและรีแบรนด์ตราสัญลักษณ์ CMC ในปี 2548-2549 บริษัทพัฒนาอย่างรวดเร็ว และสามารถเปิดโครงการมากกว่า 50 โครงการในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ 2550-2560 โดยมีชาโตว์ อิน ทาวน์เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงเปรียบเป็น role modelให้น้อง ๆ ในวงการก้าวเดินตามมา และเป็นโครงการสร้างแรงบันดาลใจให้นักธุรกิจรุ่นใหม่”

 พอร์ตหมื่นล้านใน 3 ปี

แม้เจ้าพระยามหานครจะเริ่มต้นโครงการคอนโดมิเนียม 8 ชั้น “บ้านพระยาภิรมย์รัชดา” เป็นโครงการแรกย่านรัชดาภิเษก 36 เมื่อปี 2539 แต่บริษัทสามารถแจ้งเกิดจากแบรนด์ชาโตว์ อิน ทาวน์ (Chateau in Town) ซึ่งเริ่มต้นในปี 2549 ถึงปี 2560 มีจำนวน 24 โครงการ โดยเป็นคอนโดมิเนียมแนวราบในทำเลไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นอาคาร 8 ชั้นและจำนวนห้องไม่เกิน 100 ยูนิต ขนาดของห้องมีตั้งแต่แบบสตูดิโอ 28 ตารางเมตร จนถึงขนาด 2 ห้องนอน 55 ตารางเมตร “ชาโตว์ อิน ทาวน์ เน้นความเป็นส่วนตัวและสุภาพสตรีมาก ด้วยความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน simple’s beautiful จึงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดีในเวลานั้น โดยเราเน้นเลือกทำเลที่คู่แข่งมองข้าม เช่น การสร้างคอนโดมิเนียม 8 ชั้นในช่วงแรกที่รัชดา ซึ่งคู่แข่งมองว่าเหมือนถนนกลางคืน แต่เรามองเป็นถนนที่อบอุ่น สามารถเข้าถึงง่าย และเชื่อมการเดินทางเหนือใต้ได้” ความสำเร็จของคอนโดมิเนียม 8 ชั้นได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้วิเชียร มั่นใจพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมสูง38 ชั้น จำนวน 592 ยูนิต ภายใต้แบรนด์แบงค์คอก ฮอไรซอน (Bangkok Horizon) ย่านรามคำแหง มูลค่าโครงการ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งรวมโครงการตั้งแต่เริ่มต้นถึงปีที่ผ่านมามีจำนวน 6 โครงการ โดยส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในทำเลที่มีผู้พักอาศัยค่อนข้างหนาแน่นเน้นลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง  “เรามักได้รับคำถามว่า ทำไมไม่ค่อยๆขยับขนาดโครงการเล็กกว่านี้ หรือทำไมเลือกทำเลนอกเมือง เพราะเราคิดต่างเราเห็นศักยภาพทำเลที่ขับเคลื่อนด้วยมหาวิทยาลัย ทั้งรามคำแหงและนิด้านักศึกษานับแสนคน บางกะปิยังเป็นแหล่งการค้าและการเดินทางเชื่อมต่อเกษตรนวมินทร์ ศรีนครินทร์ บางนา รวมถึงที่ที่รถติดต้องมีรถไฟฟ้าในอนาคตสุดท้ายตำแหน่งของโครงการก็เป็นจุดอินเตอร์เชนจ์ของรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลืองจริง” ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยรายได้รวม1.53 พันล้านบาท และกำไรสุทธิจำนวน127 ล้านบาทในปี 2560 โดยมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งสร้างเสร็จพร้อมโอน25 โครงการ มูลค่าคงเหลือกว่า 3.8 พันล้านบาท ซึ่งสามารถโอนรับรู้รายได้ได้ทันทีและโครงการระหว่างก่อสร้างอีก 3 โครงการมูลค่าประมาณ 2.8 พันล้านบาท โดยจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ 1 โครงการ และจะแล้วเสร็จในปี 2562 จำนวน 2 โครงการซึ่งน่าจะสร้างผลกำไรและการเติบโตให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น บริษัทยังมีโครงการพัฒนาเพิ่ม 10 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี พร้อมแผนระดมทุน เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนหรือไอพีโอจำนวน 250 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท/หุ้น) หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เสนอขายต่อนักลงทุน ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อนำเงินจากการเพิ่มทุนไปซื้อที่ดิน และใช้ในการลงทุนโครงการใหม่รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ประมาณสองเท่า และเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างต่อเนื่อง “เรามีแผนก้าวสู่การเป็น big player โดยมีโครงการที่เตรียมก่อสร้างและรับรู้รายได้ใน 3-4 ปีข้างหน้ากว่า 10 โครงการรวมประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แม้ไม่เข้าตลาดเราก็ทำได้ แต่การเข้าสู่ตลาดทุนจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ และสร้าง momentum ได้มาก โดยเราพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการปล่อยเช่า เพื่อสร้างเสถียรภาพ recurring income ให้มากขึ้น เช่น อาคารสำนักงาน พื้นที่เช่า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือโรงแรมในอนาคต”     ภาพ: อรรคพล คำภูแสน   คลิกอ่าน “วิเชียร แพทยานันท์ ขยับชั้น CMC สู่ Big Player อสังหาฯ” ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับเดือนตุลาคม 2561