วรวิทย์ วีรบวรพงศ์: ฝ่ามรสุมชั่ว 7 ที ดี 7 หน - Forbes Thailand

วรวิทย์ วีรบวรพงศ์: ฝ่ามรสุมชั่ว 7 ที ดี 7 หน

นักสู้เลือดมังกรผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา พลิกลิขิตฟ้าจากเด็กไม่เอาถ่านเรียนไม่จบ คำนำหน้าชื่อถูกเปลี่ยนเป็น นช. ชดใช้ต่อเหตุการณ์แก๊สระเบิดในปี 2533  ก่อนจะติดหนี้เร่วมหมื่นล้านช่วงวิกฤติ ตลอดชีวิตแห่งการฟันฝ่ากว่าจะเป็นเจ้าของอาณาจักรโบ๊เบ๊และธุรกิจแก๊สแอลพีจีระดับเอเชีย

ในห้องทำงานชั้นบนสุดของโรงแรมเบิร์กลีย์ ย่านประตูน้ำ  “วรวิทย์ วีรบวรพงศ์” นักธุรกิจลูกจีนสัญชาติไทยวัย 67 ปี พกพาโทรศัพท์มือถือ Samsung E1150 รุ่นฝาพับ เป็นโทรศัพท์ประจำกาย เขาคือธุรกิจแก๊สแอลพีจีและอสังหาริมทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 1.16 หมื่นล้านบาท  เป็นมหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 47 จากการจัดอันดับล่าสุดของ Forbes ประจำปีนี้ เตี่ยของเขาเป็นคนจีนจากกว่างโจว อพยพเข้ามาแสวงโชคในดินแดนสยาม ด้วยการเป็นกุลีแบกข้าวสารนับเป็นสิบปี กว่าจะเก็บทุนรอนเปิดร้านโชห่วย “หรูย่งฮะ” ย่านสุขุมวิท ด้วยทุนจำกัดจึงจำหน่ายเพียงถ่านหุงต้ม ข้าวสาร และน้ำปลา เด็กชายบักเล้ง แซ่หรู เริ่มหารายได้ครั้งแรกในวัย 8 ขวบ  ด้วยการเก็บซองจดหมายที่ใช้แล้วไปขายให้กับร้านรับซื้อแสตป์เพื่อนักสะสม ด้วยความเป็นคนเลือดร้อน ไม่ยอมคน ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล จึงชอบเกิดเรื่องวิวาทใช้กำลัง เป็นเหตุให้ถูกไล่ออกตั้งแต่ชั้น ม.ศ.1 ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ม.ศ.3 ทำให้มาช่วยต้นกิจการของครอบครัวอย่างเต็มตัว ไม่ว่างานขับรถส่งข้าว ส่งถ่าน ทำบัญชี ฯลฯ จนอายุ 15 ปี ครอบครัวเปลี่ยนจากค้าถ่านเป็นค้าแก๊ส และเดินหน้าทางสายนี้อย่างเต็มตัวเมื่อเขาอายุ 29 ปี หลังสูญเสียเตี่ย โดยนำเงินมรดกมาเป็นเงินทุน 240,000 บาท (สมัยนั้นทองบาทละ 300-400 บาท) ขยับขยายกิจการแก๊สหุงต้ม จัดตั้งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมสยามแก๊สจำกัด ภายใต้สโลแกน “แก๊สแห่งความภูมิใจของคนไทย” และเป็นโรงงานบรรจุแก๊สแห่งแรกของประเทศที่ได้รับในอนุญาตจากทางการหมายเลข 001 ในปี 2504 แม้เส้นทางธุรกิจพลังงานจะต้องต่อสู้ฝ่าฝันอย่างหนัก นับตั้งแต่ฟาดฟันกับบริษัทข้ามชาติอย่างหนัก จนกระทั่งเกิดการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ทำให้ปลดแอกพลังงานจากทุนต่างชาติได้ แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤติครั้งใหญ่ในชีวิตเกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า แต่ที่เห็นจะร้ายแรงที่สุดก็คือเหตุการณ์แก๊สระเบิดบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในคืนวันที่ 24 กันยายน 2533 มีคนเสียชีวิต 80 คน ได้รับบาดเจ็บ 36 คน จากความประมาทของพนักงานท่าเรือ และพนักงานขับรถที่ดื่มสุรา แต่ในฐานะเจ้าของบริษัทรถแก๊สต้องรับผิดชอบ ด้วยการจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 214,926,282 บาท ที่ร้ายแรงกว่านั้นเขาต้องเดินเข้าคุกบางขวาง ใช้ชีวิตร่วมกับนักโทษอีก 48 คน ในห้องขนาด 10X12 ตารางเมตร นาน 19 วัน ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันจากผู้คุม “เสี่ยหมื่นล้านก็ต้องโกยขี้เหมือนพวกมึง” แม้เคราะห์กรรมกำลังจะจางหาย ขณะที่ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ย่านโบ๊เบ๊แบะประตูน้ำกำลังเดินหน้าไปด้วยดี วิกฤติระลอกใหม่และอาจยิ่งใหญ่กว่าโถมทับเข้ามา นั่นคือวิกฤติการการเงินในปี 2540 นั่นเอง ค่าเงินบาทอ่อนตัวทะลุ 50 บาท ทำให้หนี้สินจากพันล้านพุ่งเป็นหมื่นล้านในทันที จนทำให้ที่ดินย่านบางนา 27 ไร่โดนทางการยึด รถส่งแก๊สเหลือเพียง 37 คัน และเรือบรรทุกขนถ่านแก๊สอีกสองลำ ซึ่งเก่าจนไม่สามารถจำนองได้ เขาต่อสู้กับความเป็นความตายของธุรกิจในเวลานั้นในแบบวันต่อวัน หาช่องทางหารายได้ทุกทาง ไม่ว่าจะยอมเปิดชั้นล่างของโรงแรมปรินซ์พาเลซ ย่านโบ๊เบ๊ ให้เป็นตลาดขายปลีก-ส่งเสื้อผ้า ขณะที่ชั้นบนยังเป็นห้องพักและห้องอาหารของโรงแรมเหมือนเดิม ส่วนพนักงานทั้งหมดกว่า 1,000 คน ต้องเปลี่ยนมาจ่ายเงินเดือนเป็นทุกๆ 2 เดือน ทำให้บางส่วนต้องลาออกไป การต่อสู้ครั้งนี้ใช้ความพยายามยาวนาน 7 ปี จึงจะหลุดพ้นจากบ่วงหนี้สิน “ช่วงปี 2540 เผาจริง เราเจ็บตัวเป็นหมื่นล้าน ทุกคนช่วยกันเต็มที่เหมือนเรือจะล่ม ต้องช่วยกันแจว คิดแต่ว่าไปตายเอาดาบหน้า ต้องหาเงินให้ได้ ขณะที่วันนี้แตกต่างออกไป ต้องระวังมากขึ้น เพราะมีพนักงานมากขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น และอายุที่ไม่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ง่าย เทียบกับสมัยก่อนที่ยังหนุ่ม ไฟแรง" เจ้าสัววรวิทย์กล่าว

สรุปและเรียบเรียงจาก “วรวิทย์ วีรบวรพงศ์ ฝ่ามรสุมชั่ว 7 ที ดี 7 หน”, Forbes Thailand ฉบับ JULY 2014