บนเส้นทาง 50 ปี ของการดำเนินธุรกิจสื่อด้านรถยนต์ รวมถึงการจัดงานระดับชาติบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งขององค์กรแห่งนี้ ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรค ต่อสู้กับกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น จนก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจในวันนี้
วันนี้ กรังด์ปรีซ์ฯ ก้าวสู่จุดเปลี่ยนอีกครั้งจากการเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงาน เพื่อขยายธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ภายใต้การบริหารงานของ พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ทายาทของ ปราจิน เอี่ยมลำเนา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกรังด์ปรีซ์ (GPI) ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของกรังปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลในวันนี้เกิดจากชายที่ชื่อว่า “ปราจิน เอี่ยมลำเนา” ผู้ซึ่งได้รับฉายามากมาย ทั้งพี่เอื้อยใหญ่ในวงการยานยนต์ไทย หรือแม้กระทั่งมาเฟียใหญ่ในวงการรถยนต์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เติบใหญ่จนกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ และสื่อในเครือกรังด์ปรีซ์ฯด้วยเช่นกันย้อนตำนานกรังด์ปรีซ์จากยุครุ่งเรือง
ปราจิน เอี่ยมลำเนา ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดกรังด์ปรีซ์ขึ้นเมื่อปี 2513 พร้อมเปิดตัวนิตยสารกรังด์ปรีซ์ฉบับแรก ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับวงการรถยนต์ การทดสอบรถ ข้อมูลทางเทคนิคและงานแสดงเกี่ยวกับรถยนต์ และจัดงานมหกรรมรถยนต์ครั้งที่ 1 ขึ้นที่สวนอัมพร ต่อมาในภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็นงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ และย้ายไปจัดงานที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา และสุดท้ายมาปักหลักที่อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งการจัดงานในปีนี้จะเป็นครั้งที่ 41 โดยปกติจะจัดงานในเดือนมีนาคม แต่เพราะพิษโควิด-19 ทำให้งานต้องเลื่อนไป สำหรับพีระพงศ์ คุ้นเคยกับวงการนิตยสารและรถยนต์มาตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ทำให้เขาเข้ามาสนใจเรื่องรถยนต์อย่างจริงจัง คือตอนที่ต้องขับรถไปเรียนมหาวิทยาลัยด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความสนใจในเครื่องยนต์กลไก การดูแล การแต่งรถ ไปจนถึงการแข่งรถ ซึ่งส่วนใหญ่จะไปกับคุณพ่อตลอด และหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัย (เอแบค) จึงได้เข้ามารับผิดชอบธุรกิจของกรังด์ปรีซ์เต็มตัว “ช่วงแรก คุณพ่อให้เรียนรู้งานทุกอย่างไล่ไปแต่ละแผนกตั้งแต่ฝ่ายบุคคล บัญชี-การเงิน จัดซื้อ ธุรการ จนกระทั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ดูแลการขยายธุรกิจใหม่ๆ ในช่วง 5 ปีหลังมานี่เอง” พีระพงศ์กล่าว พีระพงศ์ ผ่านประสบการณ์ในช่วงที่สื่อรถยนต์เติบโตถึงขีดสุด มีวางจำหน่ายในตลาดนับร้อยหัว แน่นอนสำหรับกรังด์ปรีซ์ฯในฐานะผู้นำตลาด มีนิตยสารในเครือมากกว่า 10 หัว ก่อนที่จะถูกดิจิทัลเข้ามาดิสรัปชั่น ทำให้นิตยสารในเมืองไทยปิดตัวไปจำนวนมาก สำหรับกรังด์ปรีซ์ ปัจจุบันเหลือนิตยสารและสื่อในเครือรวม 6 เล่ม ได้แก่ นิตยสารกรังด์ปรีซ์ ออฟโรด เอ็กซ์โอ ออโต้ สปอร์ต มอเตอร์ไซค์ การาจ ไลฟ์ หนังสือพิมพ์ยวดยาน รวมทั้งสื่อในรูปแบบออนไลน์ แม้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสิ่งพิมพ์จะเจอกับภาวะดิสรัปชั่นอย่างหนัก แต่กรังด์ปรีซ์ ยังเลือกที่จะคงหัวหนังสือไว้เท่าเดิม เพราะถือว่าคอนเทนต์ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจในส่วนอื่นๆ ได้ ซึ่งพีระพงศ์ได้ปรับโครงสร้างภายในองค์กร รวมธุรกิจนิตยสารเข้าด้วยกัน สร้างฐานข้อมูล บิ๊กดาต้า เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริม ปัจจุบันรายได้ในส่วนของสื่อโฆษณาลดลงเรื่อยๆ แต่มีรายได้จากการจัดกิจกรรมและธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาทดแทน เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการด้านรถยนต์ภายใต้แบรนด์กรังด์ปรีซ์ เป็นต้น รวมไปถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับรถยนต์อย่าง Car Buddy เป็นต้นก้าวสู่ธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ มีมติอนุมัติเข้าซื้อหุ้น 25.45% ในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า เพื่อเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ ในอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์ (MW) โดยใช้งบลงทุน 250 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนอย่างน้อย 5 ปี “เมื่อธุรกิจสื่อเจอกับดิสรัปชั่น เราก็ต้องปรับตัวพยายามพัฒนาธุรกิจเดิมให้เติบโตต่อไป ขณะเดียวกันอนาคตมีความไม่แน่นอน จึงมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ การลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าครั้งนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์เองก็เริ่มพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แม้จะใช้เวลาอีก อาจจะเป็น 10 ปี แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตมีเพิ่มขึ้นแน่นอน และมองว่าจะสามารถต่อยอดพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” พีระพงศ์กล่าว สำหรับธุรกิจของทรูเอ็นเนอร์จี จะเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าและการจัดหาขยะชุมชนเพื่อนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อผลิตไฟฟ้า และมีแหล่งขยะเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า โดยได้ทำสัญญารับกำจัดขยะโดยวิธีคัดแยกกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ มีอายุสัญญา 25 ปี (นับจาก 12 พฤศจิกายน 2558) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประเมินปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ พบว่ามีปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบ 3 แห่งรวมประมาณ 5 แสนตัน แนวโน้มธุรกิจโรงไฟฟ้าขยายตัว สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มีทิศทางสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะมีแนวโน้มชะลอตัว จากความต้องการใช้รถยนต์น้อยลง เพราะระบบขนส่งมวลชนดีขึ้น แต่ในฐานะที่อยู่ในวงการรถยนต์นานาน พีระพงศ์มองว่า สำหรับคนไทย รถยนต์ถือเป็นไลฟ์สไตล์ส่วนหนึ่งของชีวิต เชื่อว่าทุกคนอยากมีรถเป็นของตัวเอง เป็นเรื่องของความสะดวกสบาย และความปลอดภัย เพราะฉะนั้นแม้ความต้องการจะลดลง แต่เชื่อว่าจะไม่หายไปอย่างแน่นอนบนเส้นทางวิบาก
การจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ถือเป็นขุมพลังด้านการเงินและพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจของกรังด์ปรีซ์ ซึ่งปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 41 ในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน พีระพงศ์ ยังลุ้นอยู่ว่าจะสามารถจัดได้หรือไม่ จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น จากเดิมงานมอเตอร์โชว์จะจัดขึ้นวันที่ 25 มีนาคม– 2 เมษายน 2563 ขณะนี้เลื่อนไปอยู่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมแทน “หากจัดได้ ยังไม่รู้ว่าจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการมากน้อยแค่ไหน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ แต่หากจัดไม่ได้ เชื่อว่าจะกระทบหนักแน่นอน ไม่ใช่แค่บริษัทเท่านั้น แต่งานนี้ถือเป็นอีเวนต์ใหญ่ระดับประเทศ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่ละปีมีเม็ดเงินสะพัดราว 3 – 4 หมื่นล้านบาท” พีระพงศ์ระบุ เขากล่าวด้วยว่า กรังด์ปรีซ์ฯ เจอวิกฤตมาหลายครั้ง ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 การชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง แต่สถานการณ์วิกฤตโควิดครั้งนี้ ถือเป็นวิกฤตหนักสุดที่เคยเจอ และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม คนไทยก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ซึ่งในแง่ของการจัดอีเวนต์ ต่อไปจะเกิดการขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงหลายรูปแบบ ตั้งแต่การกำหนดคนเข้างาน อุปกรณ์และมาตรการป้องกัน รวมถึงรูปแบบของการจัดแสดงรถยนต์ ซึ่งต้องมีระยะห่าง และงดกิจกรรมในแต่ละบูธ เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนเข้ามารวมกันจำนวนมาก เป็นต้น แต่หากจะถึงขั้นจัดอีเวนต์ออนไลน์ คงจะไม่ใช่คำตอบสำหรับการจัดงานอีเวนต์ในเมืองไทย โดยเฉพาะสำหรับกิจกรรมมอเตอร์โชว์ ที่ผู้ใช้รถยังต้องการเข้าไปสัมผัส ดูรายละเอียดของรถด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้นหลังวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไปมอเตอร์โชว์จะต้องกลับมาอย่างแน่นอนเรียนรู้จากพ่อสร้างสัมพันธ์ทุกกลุ่ม
“สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และยึดถือปฏิบัติแบบเดียวกับที่คุณพ่อยึดถือมาตลอด คือคอนเนคชั่น และความจริงใจในการทำธุรกิจ เราต้องเป็นผู้ให้ก่อนจะเป็นผู้รับ ผู้มีพระคุณต้องรักษาไว้” พีระพงศ์ ในฐานะทายาทรุ่น 2 ได้ยึดถือแนวทางดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารองค์กรต่อมา อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนรุ่นใหม่ นอกจากจะเรียนรู้ความลำบากของคนรุ่นพ่อ เป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้าแล้ว การทำงานประสานแนวคิดกับคนรุ่นใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ท้าทาย เพราะความแตกต่างของยุคสมัยทำให้วิธีคิดแตกต่างออกไป แต่ด้วยความที่ทำงานร่วมกับคนรุ่นพ่อมาก่อน หน้าที่ของเขาคือการเป็นตัวประสานให้คนทุกกลุ่มทำงานร่วมกันได้ มีความเข้าใจในทิศทางขององค์กร และบรรลุไปสู่เป้าหมายเดียวกันให้ได้ โดยอาศัยความร่วมมือไม่ใช่การบังคับ จากวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พีระพงศ์ ทำใจแล้วว่าผลประกอบการของบริษัท ไม่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับแผน รวมถึงอาศัยจังหวะนี้ในการปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ ปรับลดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร และให้ความสำคัญกับธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น “แม้วิกฤตครั้งนี้ เหมือนกับว่าเราจะต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ แต่เราว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ในปี 2564 ธุรกิจจะกลับมาดี ทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ และทำให้กรังด์ปรีซ์ฯเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” พีระพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine