ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข หนึ่งในสาวกคอมพิวเตอร์ของ Apple ที่ขณะนั้นยังไม่ติดตลาดแบบปัจจุบัน บวกกับจังหวะที่บริษัทอเมริกันแห่งนี้มองหาพันธมิตรช่วยขยายสินค้าในตลาดค้าปลีกในไทย จึงเป็นโอกาสสบช่องเปิด iStudio และเปิดร้าน .Life เพิ่มต่อมา
ราว 19 ปี ที่แล้ว ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ในวัย 30 กว่าๆ นั่งมองดูผู้คนเดินไปมาอยู่ ณ บริเวณสยาม แหล่งช็อปปิ้ง ชั้นนำของเมืองไทย จากนั้นไม่นาน เขากระโดดขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งเปิดบริการได้เพียงปีเดียวและมีจำนวนผู้โดยสารใช้เดินทางไม่มาก เขามุ่งหน้าสู่เส้นทางสุขุมวิท พร้อมกวาดสายตามองภูมิทัศน์แนวรถไฟฟ้าสองข้างทางอย่างครุ่นคิด เหมือนกำลังหาคำตอบอะไรสักอย่าง เขาทำพฤติกรรมแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนวันหนึ่ง ก็ได้ให้คำตอบให้กับตัวเองว่า การเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ในใจกลางเมืองหลวง โดยเฉพาะการผุดขึ้นของศูนย์การค้าหลายแห่ง จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของ “ไลฟ์สไตล์” ของผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้คำตอบเช่นนั้นและเชื่อมั่นว่าสินค้าคอมพิวเตอร์จะทวีบทบาทสำคัญในอนาคต เขาจึงตัดสินใจเปิดร้าน Apple Centre ขนาด 56 ตารางเมตร ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ในปี 2540 ร่วมกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ลงขันคนละ 1 ล้านบาท หลังจากที่มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า Apple กำลังมองหาพันธมิตรในไทย เพื่อเปิดตลาดค้าปลีกด้วยความที่เป็นคนรักและรอบรู้เรื่องของคอมพิวเตอร์ Apple อย่างลึกซึ้งคนหนึ่ง “ผมนั่งดูคนที่สยามและนั่งรถไฟฟ้าตลอดวัน ผมเชื่อว่าไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนแน่นอน คนน่าจะมาช็อปปิ้งที่ไลฟ์สไตล์มอลล์มากกว่าไอทีมอลล์ ผม follow ลูกค้าว่า เขาใช้ชีวิตอย่างไร” ปรเมศร์ ที่ปัจจุบัน อายุ 52 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) (CPW) เจ้าของร้าน iStudio และ .Life (ดอทไลฟ์) กล่าว ส่วนหนึ่งของความสำเร็จคือการที่ปรเมศร์ยินดีให้คำปรึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ Apple อย่างเป็นมิตร บางครั้งถึงกับยอมสละเวลาไปบ้านผู้ใช้งานด้วยตนเองเพื่อช่วยแก้ปัญหา ซึ่งต่อมาคนกลุ่มนี้ได้มาเป็นลูกค้ากับร้านของเขา เมื่อนานเข้า กลุ่มคนใช้คอมพิวเตอร์ Apple ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหมือน “ชุมชน” เล็กๆ ที่ปรเมศร์มองว่านี่เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจในอนาคต “10 ปีแรกลำบากมาก ไม่มีเงินเยอะไม่ได้ขอพ่อแม่...เงินที่ได้ก็มาลงทุนต่อธุรกิจเป็น 10 ปี มีเงินเท่าไรก็ลงทุนต่อ ปันผลน้อยมาก คนบริหารและคนลงทุนก็เหนื่อยเป็น 10 ปีแล้ว ขายเป็น 100 ล้านไม่ได้จับเงิน” เขาพูดพลางพร้อมหัวเราะ ปัจจุบัน CPW มีร้านค้าปลีกจำนวน 40 สาขา ได้แก่ร้าน .Life 20 สาขา เป็นศูนย์รวมสินค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ มีสินค้ามากกว่า 2,000 รายการ ภายใต้แบรนด์จากทั่วโลกกว่า 200 ราย และ Apple brand shop รวม 15 สาขา ภายใต้แบรนด์ iStudio by copperwired ร้าน Ai_ และ U-Store by copperwired รวมทั้งมีศูนย์บริการซ่อมภายใต้แบรนด์ iServe 5 สาขา ยังอยู่แค่ “ตีนเขา” ปรเมศร์บอกว่ามีคนถามมากว่าบริษัทจะโตไปถึงไหน แต่เขาก็บอกว่าไม่เคยมีเป้าเป็นพันล้านหรือเพิ่มจำนวนร้านเป็นเท่าไรเพราะต้องการจะทำวันนี้ให้ “ดีที่สุด” เพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด และผลนั้นก็จะเป็นตัวกำหนดอนาคตต่อไป และถ้ามี “โอกาส” ให้โตก็จะโต อย่างไรก็ตาม ปรเมศร์บอกว่า อนาคตของบริษัทยังสดใส ณ ขณะนี้ธุรกิจยังอยู่ที่แค่ระดับ “ตีนเขา” เนื่องจากยังมีโอกาสการเติบโตอีกมากมาย ตามการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ที่กำลังจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลรวมถึงประเทศไทยจะก้าวสู่เทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยี 5G นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ จาก IoT และ AI และนี่คือ โอกาสของตลาดสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์อย่าง .Life และร้าน iStudio by copperwired “ที่บอกว่าธุรกิจอยู่ตีนเขา เป็นเพราะคนยังไม่รู้จักเทคโนโลยีอีกมาก สินค้าเดี๋ยวนี้มีทั้งเพื่อการกีฬา สุขภาพ การดูแลบ้าน...อย่างตอนนี้ธุรกิจต่อเนื่อง IoT ยังมีน้อยมากและมือถือเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง” ดังนั้น ณ เวลานี้ ปรเมศร์จึงวุ่นวายกับการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้ประทับใจกับร้าน iStudio by copperwired และ .Life ให้มากที่สุด โดยใส่ใจทุกรายละเอียดไม่ว่าจะการดีไซน์ การจัดแสงในร้าน หรือการโซนนิ่งสินค้า รวมถึงพนักงาน ที่เขาเน้นควบคู่กันไป พวกเขาต้องมีคุณสมบัติจิตใจรักบริการ มีความรู้เกี่ยวกับสินค้านั้นๆ และมีการสื่อสารกับลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานราว 320 คนไม่เพียงพนักงาน ตัวของปรเมศร์เองก็ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้นเขาจะตื่นแต่เช้าเพื่ออ่านข่าว ติดตามข่าวสารเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลก พร้อมกับเปรยว่า ไม่อยากแก่แล้วแก่เลย ทุกวันนี้เขาสนุกกับงานมาก แยกไม่ออกว่างานหรืองานอดิเรก เพราะเป็นงานที่ชอบและรัก “ผมทำอะไร ผมจะรักในสิ่งที่ทำ แต่ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เรารักด้วย สองอย่างรวมกัน มันมีความสุข” เขากล่าวทิ้งท้าย อย่างยิ้มๆ ภาพ: จันทร์กลาง กันทองคลิกอ่านฉบับเต็ม "ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ผู้ไม่เคยหยุดฝัน ปั้น CPW" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับมกราคม 2563 ได้รูปแบบ e-magazine