ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ “ทุกวันคือวันแห่งการเรียนรู้” - Forbes Thailand

ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ “ทุกวันคือวันแห่งการเรียนรู้”

ผู้ก่อตั้งบริษัทรับเหมาตกแต่งภายใน ที่เชื่อว่าทุกวันคือวันแห่งการเรียนรู้ พลิกผันสู่เส้นทางเจ้าของกิจการโทรคมนาคม จนวันนี้เธอและพี่น้องขับเคลื่อน บมจ.เอแอลที เทเลคอม หรือ ALT สู่การเติบโตและตั้งเป้าเป็นผู้นำในธุรกิจให้เช่าโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่งจะสร้างผลกำไรกว่า 50% ของทั้งบริษัทภายใน 5 ปี

สามพี่น้องอดีตมนุษย์เงินเดือนที่ร่วมกันสานต่อกิจการโทรคมนาคมที่แตกยอดจากธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในเมื่อปี 2544 ในวันนี้สร้างความแข็งแกร่งขึ้นอีกขั้น หลังเดินหน้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2559 ด้วยการระดมทุนมูลค่า 1.175 พันล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 250 ล้านหุ้น นี่คือก้าวสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตเพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ รองรับการลงทุนอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile operator) เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเพิ่มสัดส่วนผลประกอบการจากธุรกิจให้บริษัทเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่ยืนยันโดยผู้บริหารหญิงวัย 44 ปี ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT “ความท้าทายของธุรกิจนี้อยู่ที่การคาดการณ์อนาคตที่ดี ซึ่งจะถูกต้องแม่นยำก็ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนจากลูกค้า จึงต้องทำงานให้ลูกค้าไว้ใจพอที่จะแบ่งปันและทำงานร่วมกัน อีกทั้งยังต้องบริหารเม็ดเงินลงทุนให้มีประสิทธิภาพควบคุมความเสี่ยงให้ดีที่สุด” ทว่า ก่อนที่ ALT จะกลายเป็นหนึ่งผู้เล่นคนสำคัญของวงการเทเลคอมในวันนี้ นอกจากมีปรีญาภรณ์เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้ถือหุ้นหลักที่อัตรา 35% แล้ว ยังได้รับแรงประสานจากพี่น้องอีกสองคน ซึ่งปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการ คือ ปยุต ภูวกุลวงศ์ ผู้เป็นพี่ชายคนโตที่รับเป็นเจ้าภาพดูแลด้านการเงิน และปรียาพรรณ ภูวกุล ผู้เป็นน้องสาวคนสุดท้อง ที่รับภารกิจด้านงานปฏิบัติการ ปรีญาภรณ์เล่าถึงที่มาของการสร้างธุรกิจว่าตัวเธอต้องการเป็นเจ้าของกิจการมาตั้งแต่ยังเด็ก เพราะได้แรงบันดาลใจจากที่เห็นคุณแม่ ซึ่งเป็น single mum ที่สามารถเลี้ยงดูลูกทั้ง 7 คนด้วยการค้าขาย ก้าวแรกในฐานะผู้ประกอบการ เธอเริ่มต้นจากบริษัทรับเหมาตกแต่งภายในจากคำชักชวนของพี่ชาย หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เธอแยกตัวตั้งบริษัทจีอาร์ 40 ในปี 2544 ซึ่งเป็นจุดกำเนิด  ALT ในปัจจุบัน วันหนึ่งที่บริษัทของเธอได้ไปรับงานของลูกค้าได้พบกับบุคคลสำคัญคือ สายศักดิ์ รักษ์งาม ที่นำ ปรีญาภรณ์ สู่ความท้าทายครั้งใหม่ระหว่างพบกันในลิฟท์ซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายในให้หันเหสู่ธุรกิจโทรคมนาคมอย่างคาดไม่ถึง “หอบข้าวของเข้าไปในลิฟท์แล้วพี่ผู้ชายคนหนึ่งก็ถามว่าเป็นผู้รับเหมาใช่ไหม และสนใจรับงานกั้นโกดังร้านขายโทรศัพท์มือถือไหม พอฟังแล้วก็สนใจจึงตามขึ้นไปคุยเรื่องงานเลย จากครั้งนั้นเองที่ทำให้เราไปทำงานแรกให้แก่บริษัท เทเลวิซ (ปัจจุบันคือ บมจ.ดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินวัตร จนต่อยอดรับงานของบริษัทอื่นๆ ในเครือเพิ่มขึ้นจนมาถึง บมจ.เอไอเอสเป็นบริษัทที่ 14 ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของเราถึงวันนี้” หลังจากรับงานของ บมจ.เอไอเอส ได้สักระยะ บริษัทของปรีญาภรณ์ได้มีโอกาสไปให้บริการแก่ฝ่ายวิศวกรรมที่ดูแลเรื่องการสร้างสถานีฐาน (cell site) ของบมจ.เอไอเอส จึงได้รับการทาบทามให้เป็นหนึ่งในผู้รับเหมางานสร้าง cell site เนื่องจากมองว่าถ้าบมจ.เอไอเอส ติดต่อกับผู้รับเหมาโดยตรงจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า ทั้งนี้ด้วยผลงานที่น่าประทับใจจนสามารถลดต้นทุนให้ได้ถึง 40% จากเป้าหมายที่ลูกค้าต้องการลดต้นทุนเพียง 25% จากการสั่งสมประสบการณ์ในฐานะผู้รับเหมางานสร้าง cell site มาระยะหนึ่งและเริ่มดึงน้องสาว คือ ปรียาพรรณ มาช่วยงานในบทบาทของผู้ควบคุมงานด้วยปรีญาภรณ์ก็เล็งเห็นความท้าทายใหม่ จึงเริ่มรับจ้างติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับ cell site ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อดีตรงมีลูกค้าแน่นอนแต่ถือว่าเป็นงานหินไม่น้อยสำหรับเจ้าของกิจการที่ไม่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมมาก่อน แต่ก็กล้าที่จะรับมือกับโจทย์ใหม่ๆ ด้วยเหตุผลที่ปรีญาภรณ์ยืนยันว่า เพราะไม่มีอะไรจะเสีย แต่ยอมรับว่ามีความกังวลอยู่เช่นกัน “วันแรกที่จ้าง engineer มาเป็นลูกน้องคนแรกถึงกับนอนไม่หลับ กังวลว่าเขาจะเชื่อในตัวเราไหม” จากความเชื่อที่ว่าทุกวันคือวันแห่งการเรียนรู้ เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมแล้ว จุดหมายต่อไปที่ปรีญาภรณ์มองหาคือการสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อที่จะสามารถต่อเติมรายได้จากหลายๆ ทาง จึงนำไปสู่การพัฒนาตู้สถานีฐานหรือตู้โทรคมนาคมสำหรับโทรศัพท์มือถือ ที่เกิดจากการพัฒนาของทีมงานวิศวกรของบริษัทเองในปี 2545 ที่นอกจากจะยกระดับเรื่องความปลอดภัยให้ดีขึ้นกว่าตู้สถานีฐานรูปแบบเดิมที่สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์แล้วยังมีต้นทุนที่ถูกลงด้วย เพราะเป็นตู้สำเร็จรูปที่ติดตั้งอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมมาจากโรงงานเลย “จากเดิมที่ตู้สถานีฐานใช้คอนเทนเนอร์มาประยุกต์มีต้นทุนราว 700,000 บาท แต่ของเราลดลงเหลือเพียง 250,000 บาทเท่านั้นจึงทำให้ลูกค้าประทับใจตรงนอกจากประหยัดมากขึ้นแล้วหลักการด้านวิศวกรรมยังดีกว่าทำให้ตอบโจทย์ mobile operator ได้ดี ซึ่งนอกจากขายให้แก่ mobile operator ทุกรายในไทยแล้วยังส่งออกไปขายต่างประเทศด้วยแต่เราก็ยังไม่ได้แข็งแรงมากนัก อยู่ในภาวะงานมากแต่เงินน้อย” ก้าวใหม่ของ ALT ในปี 2548 ในบทของผู้ผลิตรถสถานีฐานเคลื่อนที่/รถสถานีโทรคมนาคมเคลื่อนที่ (Ready to Drive : RDU) เกิดจากการปูทางของลูกค้าอีกครั้ง เนื่องจากต้องการลดต้นทุนค่ารถ RDU จากที่เคยต้องนำเข้าจากสวีเดนที่ราคาราว 30 ล้านบาทต่อคันให้เหลือเพียง 10 ล้านบาทต่อคันทางบริษัทจึงหาทางออกเพื่อให้สามารถคุมต้นทุนได้ตามโจทย์ของลูกค้าด้วยการใช้รถกระบะเป็นตัวขับเคลื่อนแทนที่จะติดตั้งอุปกรณ์ถาวรไว้กับรถแต่ละคัน จึงช่วยให้ค่าใช้จ่ายต่ำลง “เราเหมือนเป็นผู้สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่ mobile operator ซึ่งลูกค้าประทับใจมากเพราะทำให้สามารถคืนทุนได้ภายใน 2 วันจนกระทั่งภายหลังเริ่มส่งออกไปขายที่ปากีสถานก่อนจะขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเพิ่มเติม เช่น ตะวันออกกลาง” ทั้งนี้เมื่อมีงานล้นมือและต้องการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า mobile operator ได้ตรงจุดเมื่อปี 2551 จึงจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นใหม่คือ บจก. กรุ๊ป เทค โซลูชั่น (GTS) เพื่อให้บริการสร้างสถานีฐาน และติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคมรวมถึงให้บริการด้านวิศวกรรมงานระบบและ บจก. อินโนว่า เทเลคอมมิวนิเคชั่น (INN) เพื่อรับภารกิจด้านผลิตสายอากาศและจำหน่ายสินค้ากลุ่มโทรคมนาคมเติบโตจากเครือข่ายไวแสงกระทั่งถึงปีที่ 10 ของการก่อตั้งกิจการที่ปรีญาภรณ์มองว่าธุรกิจของ ALT มีรายได้ผันแปรตามการพัฒนาโครงการของลูกค้า mobile operator เป็นหลัก จึงไม่ได้มีรายได้เติบโตแบบต่อเนื่องดังที่ควรจะเป็น เธอจึงหาหนทางที่จะสร้างให้บริษัทมีการเติบโตที่แข็งแรงกว่าเดิม “เวลานั้นบริษัทยังทำรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 1 พันล้านบาทต่อปี” ปรีญาภรณ์ สะท้อนศักยภาพในการทำรายได้พร้อมยืนยันต่อว่า ต้องทำให้ได้ดังที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำมาว่า “สุดยอดของการทำธุรกิจคือ ต้องมีรายได้เข้ามาทุกลมหายใจเข้าออก” และยังต้องสามารถพัฒนาธุรกิจใหม่ขึ้นได้จากพื้นฐานความรู้และทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่เดิมด้วยแม้เธอจะไม่แน่ใจในตอนแรกว่าเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงจะนำมาซึ่งอนาคตอันรุ่งเรืองของ ALT แต่ในที่สุด เมื่อปี 2554 บริษัทก็ริเริ่มธุรกิจให้เช่าโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมหรืออีกนัยหนึ่งก็คือธุรกิจให้เช่าเครือข่ายใยแก้วนำแสงแก่กลุ่มลูกค้า mobile operator เนื่องจากมองว่ากระแสความต้องการใช้ระบบสื่อสารความเร็วสูงกำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก ปรีญาภรณ์ วางโครงข่ายอนาคตของ ALT ในธุรกิจโทรคมนาคมไว้ว่าต้องการเป็นผู้นำด้านธุรกิจให้เช่าโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของไทย โดยปัจจุบันมีคู่แข่งหลักซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่คือบริษัทในเครือของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล ปรียาภรณ์ระบุว่าจะมาจากการพัฒนาโครงการใหม่ๆ หรือเปรียบได้กับตัดถนนเพิ่มเพื่อให้ลูกค้าเดิมซื้อบริการมากขึ้นหนึ่งในนั้นได้แก่ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงให้เช่า บนแนวเสาโทรเลขตามทางรถไฟที่มีระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตั้งแต่สิงหาคม 2558 ถึง 2588 โดยโครงการระยะที่ 1 คือเส้นทางภาคใต้ และระยะที่ 2 คือโครงสร้างกลุ่มบริษัทเส้นทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือด้วยเหตุผลที่ริเริ่มโครงการนี้ว่า “เริ่มจากที่เราคิดว่าเมื่อเรามีในย่านใจกลางเมืองและปริมณฑลแล้วจะไปอย่างไรเพื่อให้ขยายเครือข่ายไปได้ทั่วประเทศ จึงตัดสินใจที่จะวางโครงข่ายไปบนเสาโทรเลขที่ขนานไปกับเส้นทางรถไฟ เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้” นอกจากนี้แล้ว ในระยะยาว ปรีญาภรณ์ก็ต้องการให้เครือข่ายทั่วประเทศที่วางไว้ไปเชื่อมต่อกับเครือข่ายบริเวณชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านทั้งกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(กัมพูชา, เมียนมา, สปป.ลาว และเวียดนาม) และมาเลเซีย อย่างไรก็ตามโครงการให้เช่าโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมในประเทศเมียนมาที่ดำาเนินการโดยบริษัทในเครือคือ Myanmar Information Highway Ltd. (MIH) ใกล้จะวางระบบเสร็จเรียบร้อยและน่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในปีหน้าปรียาภรณ์ให้ภาพสรุปถึงธุรกิจที่เธอสร้างขึ้นเป็นการทิ้งท้ายว่า “งานของบริษัทเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมาก เพราะเมื่อใดและที่ไหนก็ตามที่ใช้โทรศัพท์มือถือได้ทั้งโทรหรือเข้าอินเทอร์เน็ตให้นึกถึง ALT”
คลิ๊กอ่าน ฉบับเต็ม "ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ “ทุกวันคือวันแห่งการเรียนรู้”" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016