ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ถอดรหัสเทรนด์แพ็กเกจ SFLEX - Forbes Thailand

ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ถอดรหัสเทรนด์แพ็กเกจ SFLEX

การผสมผสานประสบการณ์ในธุรกิจโรงพิมพ์ของครอบครัว และการเรียนรู้ระบบซัพพลายเชนจากบริษัทข้ามชาติในยุคดิสรัปชั่น สู่การปั้นสตาร์เฟล็กซ์ขึ้นแท่นผู้นำพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไฮเอนด์ แปลงร่างกระดาษเป็นพลาสติก ตอบดีมานด์ยักษ์ใหญ่อินเตอร์แบรนด์รับกระแสรักษ์โลก

กว่า 2 ทศวรรษของการปฏิวัติบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษเป็นพลาสติกในผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน จนถึงขนมขบเคี้ยว นำโดยบริษัทข้ามชาติที่ขานรับนโยบายจากต่างประเทศ ในการยกระดับนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พรีเมียมให้มีรูปแบบสวยงามและคุณภาพสูง รวมถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (flexible packaging) เนื่องจากมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ ทั้งยังมีคุณสมบัติป้องกันการซึมผ่านของอากาศ ความชื้น แสงแดด และกลิ่นเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในบรรจุภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องปรับตัวขนานใหญ่ในการพัฒนาเทคโนโลยีให้รองรับกับความต้องการและความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก

ผมเชื่อใน Timing’s everything จังหวะเวลาที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ ในช่วงที่บริษัทข้ามชาติเข้ามาเทกโอเวอร์ธุรกิจค้าปลีกซึ่งต้องการผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบซัพพลายเชน ผมมีความรู้เรื่องธุรกิจด้านการพิมพ์ และรู้จักกับประธานยูนิลีเวอร์ในสมัยนั้น จึงมีโอกาสเทรนเรื่องซัพพลายเชนกับคนที่เก่งที่สุดของยูนิลีเวอร์ รวมถึงได้รับออร์เดอร์แรก 300 ล้านบาทจากยูนิลีเวอร์ แลกกับการรับปากว่าจะเป็น strategic partner ที่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจให้กับคู่แข่งหรือเพื่อนร่วมธุรกิจด้วยปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) ยังคงระลึกถึงช่วงเวลาการก่อตั้งธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนในปี 2546

ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์

นอกเหนือจากความรู้ที่สั่งสมด้าน Master of Business Administration in International Business จาก St. Louis University สหรัฐอเมริกา และประสบการณ์ทำงานในกิจการโรงพิมพ์ของครอบครัว ปรินทร์ธรณ์ ยังมีโอกาสได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบซัพพลายเชนจากกลุ่มยูนิลีเวอร์ในช่วงวิฤตเศรษฐกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจค้าปลีก โดยสามารถปรับเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เป็นรากฐานเริ่มต้นธุรกิจที่แข็งแกร่งในยุคการปฏิวัติบรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นพลาสติกทั่วโลก ซึ่งผู้ผลิตในประเทศยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้มีกำลังการผลิตได้เพียงพอความต้องการ

 

รุกปฏิวัติโลกบรรจุภัณฑ์

นับตั้งแต่ผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานซันไลต์ที่เปลี่ยนกล่องบรรจุภัณฑ์เป็นซองพลาสติกสีเหลือง ปรินทร์ธรณ์สามารถเพิ่มความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับสินค้าอุปโภค (non-food) เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาดพื้น ครีมอาบน้ำ ยาสระผม และสินค้าบริโภค (food) เช่น ไอศกรีม วุ้นเส้น อาหารแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว ซอสและเครื่องปรุงรส แป้ง กาแฟ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสัตว์ ทั้งที่อยู่ในรูปของเหลวและของแห้งตามคำสั่งซื้อของลูกค้าในลักษณะซองรูปแบบต่างๆ

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้า ด้วยการร่วมกันพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการวางแผนจัดส่งสินค้าล่วงหน้าร่วมกับลูกค้าทั้งด้านปริมาณสินค้าและระยะเวลาการจัดส่ง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาดจะมีการประชุมร่วมกับลูกค้าเป็นประจำ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและวางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมบริการด้วยความรวดเร็วและสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นร่วมกัน เพื่อการทำธุรกิจในระยะยาว

โรงงานพร้อมเดินเครื่องจักรกำลังการผลิตสูงสุด 184.44 ล้านเมตรต่อปี และเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 2 ย้านแพรกษา ซึ่งมีกำลังการผลิตเต็มที่อีก 37.39 ล้านเมตรต่อปี

เราโฟกัสเฉพาะตลาด A และ B+ โดยไม่ได้ขายแค่แพ็กเกจจิ้ง แต่มองแง่ strategic partner ทำโปรเจกต์ร่วมกัน เช่น ลดต้นทุน เปลี่ยนดีไซน์ รวมถึง product innovation คิดอะไรใหม่ๆ ให้ลูกค้าตลอด พร้อมอัปเดตแง่ global packaging เมกะเทรนด์ 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น จุดแข็งของเราอยู่ที่ speed to the market ทั้งความเร็วการตอบสนองดิสรัปชั่นหรือการพัฒนา เพราะเรารู้เทรนด์โลกว่าจะไปอย่างไร ความเร็วเรื่องนวัตกรรมที่สามารถลงมือได้ทันทีเมื่อเห็นโอกาส ความเร็วเรื่องการบริการที่เราเจาะทุกอณูให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด นอกจากนั้นก็เรื่องคุณภาพ ความตรงเวลา ผมคิดว่าทุกคนมีหมด แต่ตรงนี้เป็นจุดแข็งที่เราไม่เหมือนใคร

ขณะเดียวกัน ปรินทร์ธรณ์ยังมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่หลากหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์การใช้งานเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า เช่น ฟิล์มหด (shrink film) บรรจุภัณฑ์ที่สามารถผ่านการฆ่าเชื้อ ด้วยหม้อต้มแรงดันสูง (retort pouch) ซองเพาช์พร้อมฝา (spout pouch) เป็นต้น รวมถึงลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตซองในลักษณะ flat bottom pouch หรือซองตั้งได้แบบฐานเรียบซึ่งสามารถคงรูปได้แม้จะบรรจุของน้ำหนักเบาและปริมาณน้อย โดยง่ายต่อการจัดเก็บและช่วยประหยัดพื้นที่ได้ ซึ่งได้เริ่มจำหน่ายให้ลูกค้าได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังได้พัฒนาและปรับปรุงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องผสมสี (ink dispensing) เพื่อทำให้ขั้นตอนการผสมสีรวดเร็วและแม่นยำตามสีที่ลูกค้าต้องการ และการติดตั้งกล้องตรวจจับของเสียการผลิต รวมถึงฝ่ายวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์จะทำหน้าที่ในการพัฒนาสูตรฟิล์มใหม่ๆ เพิ่มทางเลือกและช่วยในการบริหารต้นทุนของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแข็งแกร่ง ด้วยรายได้ในปี 2561 จำนวน 1.37 พันล้านบาท ซึ่งรายได้หลักมาจากบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภค 1.15 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 84.40% และบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคประมาณ 225.58 ล้านบาท หรือสัดส่วน 16.86% โดยมีกำไรสุทธิ 136.11 ล้านบาท จากยอดขายของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความสามารถในการบริหารต้นทุนวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ตลาดทุนเปิดทาง CLMV

ภายใต้ความเชื่อมั่นใน Timing’s everything นับตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจถึงก้าวสำคัญในการขยายอาณาจักรธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ปรินทร์ธรณ์พร้อมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมทัพด้านเงินทุนและกำลังการผลิตให้รองรับแผนขับเคลื่อนสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต

จังหวะนี้เราต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้มีสรรพกำลังเต็มที่ที่จะลุย ซึ่งเราเตรียมตัวมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559 เรารู้ว่าตอนนี้เป็น timing ที่ถูกต้องในการขยับไปอีกขั้น เป็น big investment ในเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเมืองไทยและในภูมิภาคนี้ เนื่องจากเรารู้เมกะเทรนด์ในตลาด สิ่งที่เราลงทุนก่อนจะเร็วกว่าคู่แข่งตลอด ด้วยเป้าหมายการเติบโตที่วางไว้ 10-15% ทุกปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า และมองหาโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วเสมอ  ปรินทร์ธรณ์ กล่าวถึงแผนการลงทุนในโครงการผลิตฟิล์มที่ใช้ในการปิดผนึกขึ้นรูปหรือ sealant ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน

บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนของบริษัทแบ่งออกเป็นสินค้าอุปโภคสัดส่วน 84.4% และสินค้าบริโภค 16.9% จากรายได้ทั้งหมด 1.37 พันล้านบาทในปี 2561

สำหรับในปัจจุบันบริษัทได้สั่งซื้อ sealant จากซัพพลายเออร์ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถทดแทนการสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ได้ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างเต็มที่ด้วยงบประมาณการลงทุนในโรงงาน 2 ที่ แพรกษาจำนวนไม่เกิน 150 ล้านบาท ทั้งสั่งซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและจัดเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก (facility) ต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ระบบเครน เป็นต้น

ในอนาคตเทรนด์โลกจะใช้ sealant เข้ามาทดแทน ซึ่งตอนนี้เริ่มมีความต้องการจากลูกค้า multinational เข้ามาแล้ว จากเป้าหมายว่า ทุกอย่างต้องย่อยสลายได้หมดในปี 2025 โดยเริ่มจาก mono material ก่อน ซึ่งการลงทุนใน sealant จะสามารถตอบโจทย์ในอนาคตตามเมกะเทรนด์ โดยเราดูกลยุทธ์ระหว่างการดิสรัปชั่นจะเกิดอะไรขึ้น เรารู้ก่อนและปรับตัวได้เร็ว

ขณะเดียวกันปรินทร์ธรณ์ยังให้ความสนใจในโอกาสสร้างการเติบโตกลุ่มบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภค ซึ่งมีขนาดตลาดใหญ่กว่าสินค้าอุปโภคราว 4-5 เท่า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ระดับบนที่ยังมีช่องว่างทางธุรกิจให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น ด้วยเป้าหมายสัดส่วนรายได้กลุ่มสินค้าบริโภคปรับเพิ่มจาก 17% เป็น 25% ใน 3 ปีข้างหน้า รวมถึงโอกาสการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มบรรจุภัณฑ์ยาหรือ pharmaceutical ในระยะต่อไป

    ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่านฉบับเต็ม ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ถอดรหัสเทรนด์แพ็กเกจ SFLEX ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกุมภาพันธ์ 2563 ในรูปแบบ e-Magazine