ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ไขเคล็ดลับสู่ประตูความสำเร็จ สตาร์ทอัพไทย - Forbes Thailand

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ไขเคล็ดลับสู่ประตูความสำเร็จ สตาร์ทอัพไทย

เมื่อกรอบการทำงานของคนรุ่นใหม่รวมถึงการจ้างงานในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดเป็นเทรนด์ของกลุ่มคนที่มารวมตัวกันนำเสนอความคิดทางธุรกิจอันแปลกใหม่เพื่อนำไประดมทุนจากกลุ่มนักลงทุนทั่วโลก ในปัจจุบันสัดส่วนของผู้ประสบความสำเร็จมีจำนวนเพียงเศษเสี้ยวของผู้ที่ล้มเหลว ซึ่งความล้มเหลวเหล่านี้คือหัวใจของสตาร์ทอัพที่ต้องมีและต้องก้าวผ่านความพยายามก้าวผ่านความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสามารถนำไอเดียทางธุรกิจมาใช้ พร้อมๆ กับชนะใจนักลงทุน

  Forbes Thailand Online มีโอกาสพูดคุยกับ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง Country Head บริษัท CLSA Securities (Thailand) Ltd. และ กรรมการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเขายังคลุกคลีอยู่ในแวดวงกลุ่มคนทำสตาร์ทอัพ อย่างล่าสุดเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินในการประกวด SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation ปริญญ์ได้สะท้อนภาพอันน่าสนใจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่สตาร์ทอัพเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดโดยเฉพาะในบ้านเราและในทวีปเอเชีย เสถียรภาพ หรือ ท้าทาย 2-3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ สตาร์ทอัพ เกิดขึ้นและเป็นกระแสโดยเฉพาะเอเชียและประเทศไทย กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้อยากทำงานเป็นเจ้านายของตัวมาก แม้ในบริษัทบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งมีเสถียรภาพ มีรายได้ดีที่จะจ้างคนรุ่นใหม่ สามารถจ่ายโบนัสได้สูง ซึ่งเสถียรภาพเหล่านี้ต้องแลกกับการตื่นเช้าไปเจอรถติดเพื่อเข้าทำงานและต้องอยู่ในกรอบของบริษัทที่มีกฎระเบียบ “คุณรุ่นใหม่เขาไม่ค่อยชอบสิ่งเหล่านี้ เขาจึงยอมแลกเสถียรภาพกับความท้าทายที่จะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และก็เป็นนายของตัวเอง ทำอะไรก็ได้ ทำงานที่บ้าน ซึ่งแทรนด์เหล่านี้เกิดขึ้นมานานแล้วใน อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย” ปริญญ์ เผย ซึ่งสตาร์ทอัพเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะนำต้นแบบการทำงานมาจากอเมริกา เนื่องจากความเสรีทางความคิดและการพื้นฐานระบบการศึกษาที่ดี เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญให้คนรุ่นใหม่กล้าลองผิดลองถูกและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็น กล้าทำอะไรที่แตกต่าง ท้าทายเทรนด์เก่า ด้วยการสร้างเทรนด์ธุรกิจใหม่ จึงเป็นคำตอบว่าทำไมในอเมริกาจึงมีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ Facebook, Alphabet, Amazon, Apple สิ่งที่ดีที่สุดของการทำธุรกิจคือการเตรียมตัวและลองทำจริง ก่อนการกระโจนเข้าสู่ธุรกิจใดๆ การมีโอกาสที่ได้ลองทำงานจริงคือสิ่งสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพ ปริญญ์มองว่าหากเป็นไปได้ การมีโอกาสไปลองทำงานจริงๆ ก่อนจะมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง “นั่นคือเรื่องที่ดี” เพราะการได้ลองผิดลองถูกในองค์กรใหญ่ คุณจะเข้าใจคำว่า “ระบบ” เพื่อจำลองระบบการทำงานให้ถูกให้ต้อง คุณจะได้เอามาดัดแปลงได้ ดังนั้นก่อนกระโจนลงมาทำจริงควรทดลองก่อน หรือถ้ารีบร้อนมากระหว่างเรียนอาจจะมีการฝึกงานควบคู่กันไปด้วย อันดับที่สองคือควรหาคนที่เป็น mentor หรือให้คำปรึกษา เพราะการได้คำปรึกษาที่รู้จริงจากสายงานที่เราจะทำงาน และถึงแม้กูรูจะไม่ถูกเสมอไป แต่ก็เป็นเสียงจากผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งจะเห็นโลกมาเยอะกว่า มันจะช่วยให้เราต่อยอดความคิดในส่วนที่เราขาดได้ “จากประสบการณ์ที่ผมได้คุยกับสตาร์ทอัพ บางคนมองไม่รอบด้านหรือไม่มีมุมของ Bird eye view ที่มองเห็นครบทุกด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงและมองเห็นโอกาส และเข้าใจโมเดลของธุรกิจว่ามีหรือยัง ไม่ใช่มีแค่ความฝัน แต่ควรมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนครอบคลุม และอย่าลืมว่าคนที่เก่ง จะต้องมีทักษะของการฟังเก่งด้วย คือ รู้จักไปฟังสัมมนา สร้างเครือข่าย และสร้างองค์ความรู้ให้ตัวเอง ยิ่งในยุค 4.0 ที่องค์ความรู้อยู่รอบตัว คุณยิ่งมีโอกาสนั้นมากยิ่งขึ้น” อย่างในงาน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2018 – Deep Tech Innovation ที่ผ่านมาซึ่งผมเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินบางคนพูดยาวมาก ประเด็นกว้างไป แต่การนำเสนอในเวลาที่จำกัดสิบนาทีหรือห้านาทีคุณต้องพยายามหาจุดขายตั้งแต่เริ่มต้นคือ  Start Strong and Finish Stronger ลงท้ายให้แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งการเอาสินค้าจริงมาให้กรรมการลองใช้ก็ถือว่าดี อีกอย่างที่ควรพรีเซนต์คือเรื่องการเงิน เพราะบางกลุ่มมีสินค้าดีมาก SWOT วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนมาครบ แต่พอมาถึงจุดสำคัญว่าต้องการเงินเท่าไหร่ และเงินจำนวนนี้จะช่วยให้บริษัทของคุณรอดไปได้อีกกี่เดือนกี่ปี เรื่องของ Finance เด็กหลายคนที่คิดสร้างสรรค์มากๆ อาจจะไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้มากนัก แต่มันเป็นจุดหนึ่งที่ผมมองว่าควรพัฒนาเพื่อพาตัวเองไปให้ถึงดวงดาว อาจทำโดยการดึงคนมาร่วมทีม ซึ่งนำไปสู่การเลือกทีมที่จะต้องช่วยกันต่อยอดความคิดของแต่ละคน พี่ไทยไปถึงไหน อย่างในไทย ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา วงการสตาร์ทอัพไทยถือว่าค่อนข้างคึกคักพอสมควร มีการตั้ง Eco System ที่จะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มสตาร์ทอัพรอดได้ รวมทั้งยังเป็นนโยบายของรัฐบาลที่อยากจะเห็นบริษัทเล็กๆ SMEs สตาร์ทอัพ รอดได้มากขึ้น “การกระจายตัวของสตาร์ทอัพจะเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิตแฮมเบอร์เกอร์ เราจะเห็นว่าวิกฤตการจ้างงานในอุตสาหกรรม ยากขึ้น มีการลดคน เรียกว่าค่า Fee น้อยลง จ่ายโบนัสน้อยลง ดังนั้นการที่คนรุ่นใหม่อยากจะเป็นเจ้าของกิจการ เป็นนายตัวเอง มีความฝันและแรงบันดาลใจมากขึ้น ผมว่าน่าจะทำให้คนรุ่นใหม่ผันตัวเองเข้ามาสู่วงการนี้อีกเยอะ” ปริญญ์ กล่าว โดยกลุ่มสตาร์ทอัพในไทยที่พัฒนาตัวเองจนเป็นเจ้าของเทคโนโลยีถือว่ายังน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเด่นเรื่องการให้บริการ หรือต่อยอดสิ่งที่คนไทยมีดีอยู่แล้ว เช่น การมีไมตรี การยิ้มแย้ม หรือการรักษาพยาบาล การให้บริการ แต่ยังคงเป็นจำนวนน้อยมากที่จะกลายเป็น Apple หรือ Microsoft แม้จะพอมีบ้างอย่าง Omise บริษัทที่คนไทยกับญี่ปุ่นร่วมตั้งกันมาพวกเขามีโอกาสเดินทางไปเห็นสตาร์ทอัพมาแล้วทั่วโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีค่อนข้างดี จึงกลับมาทำเรื่อง Payment Gateway เป็นประตูสู่การทำธุรกิจธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างทำผ่าน Omise ได้หมด Omise เองได้รางวัลจากท่านนายกฯ ประยุทธ์ แต่หลังจากนั้นท่านนายกฯ ก็ออกมาบอกให้ระวังในเรื่อง Crypto Currency และรัฐบาลก็ออกมาบอกให้ระวังแชร์ลูกโซ่ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล โดยที่ลืมไปว่า Omise เขาระดมผ่านตลาดเหรียญสกุลดิจิทัลที่สวิตเซอร์แลนด์และได้มาหลายร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐจนทำให้ธุรกิจนี้สำเร็จ “เขาระดมทุนผ่าน Crypto Currency ถือเป็นอีกหนึ่งการระดมทุนที่ฉลาด ดังนั้นควรมองว่าเหรียญทางดิจิทัลก็มีสองด้านเหมือนกัน เปรียบเหมือนการทำงานของสตาร์ทอัพที่ก็ต้องมองว่าการทำธุรกิจมีสองด้านเช่นเดียวกัน นี่เป็นหนึ่งในองค์กรที่ผมมองว่าน่าจะเติบโตได้อีกเยอะ” ปริญญ์ เผย อีกบริษัทหนึ่งเป็นของ ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Zcoin และตลาดที่ซื้อขายเหรียญสกุลดิจิทัลที่ชื่อ Tdax เขาเคยเป็นคนหนึ่งที่ชนะงานประกวดแข่งขันนักวิทยาศาสตร์รุ่นจิ๋วเลย ตั้งแต่สมัยเด็กที่ช่องเก้าจัด และไปเรียนต่อวิศวกรรมที่ลาดกระบัง ก่อนจะได้ทุนไปเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ที่สหรัฐอเมริกา ทำงานที่ Microsoft อยู่หลายปี ก่อนที่จะย้ายกลับมาทำงานที่กองทัพไทย ดูแลเรื่อง Cyber Security “เขาเป็นคนที่เขียนโค้ดต่างๆ เก่งมาก สุดท้ายลาออกจากกองทัพไทยมาตั้งบริษัทของตัวเอง และมาทำ Zcoin เป็นเหรียญที่ปลอดภัยที่สุดแฮคโค้ดไม่ได้ ขนาดคนเขียนโปรแกรมเองยังเข้าไม่ถึง พร้อมกับทำ Tdax สำหรับการซื้อขายเงินสกุล Crypto บนโลกออนไลน์ นี่เป็นตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่ค่อนข้างเก่งมาก เอาธุรกิจยุคใหม่มาใช้และสำเร็จได้ดีในปัจจุบัน” ปัจจุบัน ปริญญ์ บริหารงานอยู่ที่ บริษัทหลักทรัพย์ CLSA นั่งตำแหน่ง Country กรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยมี CITIC Securities Company Limited เป็นผู้ถือหุ้นร่วม บริหารธุรกรรมระหว่างไทยและจีน โดย CLSA  นั้นมีสำนักงานในแถบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นทั้งนายหน้า ผู้ซื้อขายหุ้น โบรกเกอร์ เขียนบทวิเคราะห์ทั้งเศรษฐกิจแบบมหภาคในไทยและต่างชาติ รวมทั้งพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ให้คำแนะนำด้านการซื้อขายบริษัท นอกจากงานประจำแล้ว เขายังไปช่วยทางภาครัฐบาลในการเป็น กรรมการที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ หรือ New Academy Economy (NAE) ของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังนั่งเป็นกรรมการ บริษัท ฟีนิกซิคท์ จำกัด ซึ่งทำ Cloud Funding Platform ในการระดมทุนผ่านออนไลน์ที่แพลตฟอร์ม sinwattana.com นอกจากนี้ก็มีการลงทุนเปิดร้านอาหาร Four Seasons ซึ่งเปิดที่บ้านเราได้ราว 6 ปี