บุญชัย จิระพงษ์ตระกูล หล่อ THE ให้แกร่งในยุคเฟื่องฟู - Forbes Thailand

บุญชัย จิระพงษ์ตระกูล หล่อ THE ให้แกร่งในยุคเฟื่องฟู

ลูกชายคนโตที่ต้องหยุดเรียนปริญญาตรีกลางคันเพื่อมาสืบทอด ธุรกิจค้าเหล็กตั้งแต่วัยเพียง 20 ปีอย่าง บุญชัย จิระพงษ์ตระกูล แห่ง THE ที่ใช้วิชาเรียนลัดด้วยตัวเอง หล่อหลอมกิจการให้เติบโตฝ่ากำแพงตลาดเหล็กของไทยที่ถดถอยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนทำรายได้เฉลี่ยถึง 1.5 หมื่นล้านต่อปีขอฉวยจังหวะพ้นก้นเหวไต่ถึงเป้าหมาย 2 หมื่นล้านภายในปีนี้เพื่อเดินหน้าเป็นศูนย์ให้บริการเหล็กที่มียอดขายสูงสุดในตลาดเมืองไทย

  จากธุรกิจครอบครัวผลิตตลับลูกปืนที่เล็งเห็นโอกาสจากการค้าเหล็ก รัตนา จิระพงษ์ตระกูล จึงตัดสินใจวางรากฐานธุรกิจในนาม บริษัท ไทยง้วนเมทัล จำกัด เมื่อปี 2534 แต่ด้วยภารกิจที่ล้นมือทำให้เธอตัดสินใจดึงลูกชายคนโตที่ยังเรียนปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ที่ออสเตรเลียมาช่วยบริหารกิจการแทนเมื่อปี 2538 จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ บุญชัย จิระพงษ์ตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัย 48 ปี แห่ง บมจ.เดอะ สตีล หรือ THE และถือหุ้นในอัตราราว 17% เป็นผู้สานต่อธุรกิจนับแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ที่สร้างรายได้เฉลี่ย 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และตั้งเป้าที่จะเติบโตถึง 2 หมื่นล้านบาทควบคู่มีกำลังการผลิต 1.2 ล้านตันในปีนี้ “แม่ของผมอยากทำธุรกิจเหล็ก แต่พอทำได้สักพักก็ไม่ไหว เลยให้ผมกลับมาช่วยแม้ว่าผมยังไม่เคยทำงานมาก่อนเลยและยังเรียนไม่จบปริญญาตรีด้วย จำได้ว่ายอดขายเดือนแรกอยู่ที่ 300,000 บาท และมีคนงานอยู่เพียง 8 คน ตัวผมจึงต้องหัดทำทุกอย่างด้วยตัวเอง” ปัจจุบัน บมจ.เดอะ สตีล ประกอบธุรกิจเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยมุ่งเน้นเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ แบบครบวงจร (Trading and Warehousing) ที่สามารถแบ่งลักษณะการประกอบธุรกิจหลักของบริษัทได้เป็น 3 ลักษณะได้แก่ 1. ให้บริการจัดหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ แบบ ครบวงจร (Trading and Warehousing) หรือที่เรียกกันว่าซื้อมาขายไป อันได้แก่ เหล็กม้วน รีดร้อน เหล็กม้วนสลิต เหล็กแผ่น เหล็กรูปพรรณประเภทขึ้นรูปร้อน และเหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น 2. ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก (Steel Processing) บริษัทนำเหล็กม้วนรีดร้อนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆ ได้แก่ เหล็กแถบม้วน (Slitting Coil) เหล็กท่อ (Steel Pipe)เหล็กโครงสร้างรูปตัวซี (C-Channel) เป็นต้น 3. ศูนย์บริการเหล็ก (Coil Center) บริษัทให้บริการรับจ้างแปรรูปสินค้า เช่น บริการตัดเหล็กแผ่น ซอยหน้าเหล็กม้วนแถบเล็ก หรือบริการตัด-พับขึ้นรูป ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้การบริการจะเป็นเช่นเดียวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก (Steel Processing) ต่างกันที่ลูกค้าจะเป็นผู้นำวัตถุดิบมาให้บริษัททำการแปรรูปตามที่ลูกค้าต้องการตลอดจนมีบริการอื่นๆ อาทิ การบริการบรรจุภัณฑ์พิเศษ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล็ก “เราอยากเป็นศูนย์บริการเหล็กที่มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในตลาดเหล็กของไทยซึ่งจากยอดขายปัจจุบันเราถือว่าอยู่ในอันดับ 2 ในปีนี้เราจึงตั้งเป้าจะมียอดขายถึง 2 หมื่นล้านบาทเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น” สืบทอดแบบเร่งรัด อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงแรกของการสืบสานภารกิจทำโรงเหล็กจะมีมารดาช่วยประคองด้วยการสอนงานแบบหลักสูตรเร่งรัดอยู่ประมาณ 3 เดือนก่อนจะปล่อยให้ฉายเดี่ยวแต่ในวันนั้นก็นับว่าบุญชัยยังเป็นผู้บริหารมือใหม่ถอดด้ามในวัย 20 ปีที่ไร้ประสบการณ์ด้านวิชาชีพอย่างสิ้นเชิง กระนั้นเขาก็ค้นพบว่าไม่ว่าจะค้าขายอะไร จุดหนึ่งที่เหมือนกันก็คือต้องหาลูกค้าได้ เก็บเงินได้ และทำบัญชีเป็นดังที่บุญชัยย้ำว่า “ผมทำมาหมดทุกอย่างแล้วครับแม้แต่คุมก่อสร้างโรงงาน” พร้อมเปรียบเทียบว่าการรับสืบทอดกิจการโรงเหล็กครั้งนี้เหมือนถูกโยนลงน้ำโดยมีห่วงยางหรือเงินทุนให้ด้วย ทว่า หลังบริหารกิจการได้ไม่นาน ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลให้มีอุปสงค์ในตลาดค้าเหล็กเหลือเพียง 20% จากช่วงก่อนขณะที่ฝั่งอุปทานก็ลดลงจากที่ผู้ผลิตเลิกกิจการไปกว่า 80% เพราะไม่สามารถเดินเครื่องโรงงานขนาดใหญ่เพื่อป้อนความต้องการใช้เหล็กที่ปริมาณน้อยมากไหว จากสถานการณ์ข้างต้นกลายเป็นโอกาสของผู้ค้าเหล็กน้องใหม่อย่าง บริษัท ไทยง้วนเมทัล ให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถสร้างรายได้ถึง 10 ล้านต่อเดือนภายในกลางปี 2540 คว้าโอกาสพ้นก้นเหว แม้โชคชะตาจะเข้าข้างเจ้าของกิจการมือใหม่อย่างบุญชัยในช่วงแรก แต่บททดสอบฝีมือก็ปรากฏขึ้นในปี 2551 ที่พิษของ Hamburger Crisis ส่งผลต่อตลาดค้าเหล็กอย่างรุนแรง โดยบุญชัยเล่าว่า จากสถานการณ์ที่ราคาเหล็กเคยไต่ขึ้นจากกว่า 10 บาท/กิโลกรัม เป็นทะลุ 50 บาท/กิโลกรัมในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 จนทำให้บริษัทกวาดกำไรไปกว่า 500 ล้านบาท แต่ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำให้ราคาเหล็กตกจนต่ำกว่า 10 บาท/กิโลกรัม สุดท้ายแล้วกำไรที่เคยได้มาได้ผันแปรเป็นตัวเลขขาดทุนภายหลัง “เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เราเจ๊ง เพราะผมไม่ได้เป็นคนชอบเก็งกำไรมาก ผมจะซื้อเหล็กเท่าที่จะผลิตหรือคาดว่าจะมียอดสั่งซื้อมา และทำให้ผมเรียนรู้ว่าอย่าสั่งของมาเกินกว่าที่เราผลิตได้” บุญชัยถ่ายทอดบทเรียนจากยามวิกฤตอีกว่าเช่นเดียวกับที่จะไม่ลงทุนขยายกำลังการผลิตจนกว่าจะมีฐานลูกค้าที่ชัดเจนก่อน แม้จะมีข้อเสียตรงที่ทำให้การเติบโตค่อนข้างช้า จาก Hamburger Crisis ในวันนั้นสถานการณ์ของตลาดค้าเหล็กในไทยก็ค่อยๆ ดิ่งลงในช่วง 10 ปี จนหลายคนเรียกว่าเป็น “sun set” กระทั่งถึงปี 2560 ที่ทั้งบุญชัยและผู้คร่ำหวอดในวงการมองว่าสภาพตลาดที่ลงไปถึงจุดต่ำสุดกำลังไต่ขึ้นจากก้นเหวในปีนี้ แม้มีสัญญาณว่าราคาเหล็กทุกชนิดจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปีก่อน แต่เมืองไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กดิบและสินค้าเหล็กสุทธิ (ปริมาณนำเข้า-ปริมาณส่งออก) มากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก จำนวน 16.1 ล้านตัน ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยมีการใช้กำลังผลิตเพียง 41% เศษ จากกำลังผลิตเหล็กทั้งหมดในประเทศ นับว่าเป็นการใช้กำลังผลิตที่ตํ่ามาก และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กโลกซึ่งอยู่ที่ 71.8% เป็นตัวชี้วัดสำคัญให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังคงอยู่ในภาวะถดถอย และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข สืบทอดแบบแตกต่าง ในแง่การสืบต่อธุรกิจของครอบครัว บุญชัยมีมุมมองที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน โดยตัวเขาย้ำว่า “ผมไม่เห็นด้วยการสืบต่อธุรกิจเหมือนคนจีนสมัยก่อน” โดยให้เหตุผลว่าเคยเห็นบทเรียนจากหลายๆ องค์กรธุรกิจที่ใช้ทายาทที่เป็นลูกหลานมาสืบทอดกิจการแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดแบบนั้น ดังนั้นแนวทางของเขาจึงไม่เลือกส่งต่อธุรกิจไปยังเครือญาติหรือทายาทที่เป็นสายเลือดโดยตรง แต่มองว่าควรส่งต่อความคิดหรือสอนให้เป็นคนเก่งและส่งต่อความมั่งคั่งเพื่อเป็นรากฐานสำหรับอนาคต ขณะที่เล็งเห็นว่าการให้มืออาชีพที่มีฝีมือและไว้ใจได้มารับช่วงบริหารต่อน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่าลูกหลานจะมีโอกาสได้ลองพิสูจน์ตัวเองก่อน แต่โดยส่วนตัวผมมองว่าถ้าเก่งจริงก็ไปบริหารธุรกิจที่ไหนก็ได้ คนเก่งจริงอยู่ไหนก็ฉายแสงได้ หรือจะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นเองก็ได้เพราะมีทุนให้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมารับช่วงธุรกิจของที่บ้านก็ได้” สำหรับวิวัฒนาการของธุรกิจค้าเหล็กในเมืองไทยจากมุมมองของผู้ประกอบการที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยอย่างบุญชัยให้ความเห็นว่า โดยภาพรวมแล้วดีขึ้นกว่าในอดีตมาก เนื่องจากเมื่อกว่า 10 ปีก่อนเคยมีผู้ประกอบการหลายรายที่ใช้การค้าเหล็กเป็นธุรกิจบังหน้าเพื่อเป้าหมายในการทำทุจริตต่างๆ เช่น ฟอกเงิน ขอสินเชื่อเพื่อนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น แต่หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่คนค้าเหล็กตัวจริงออกไปจากตลาดจนเกือบหมดแล้ว ทุกวันนี้จึงเหลือผู้เล่นส่วนใหญ่ที่เป็นตัวจริงแทบทั้งหมด  
อ่านฉบับเต็ม "บุญชัย จิระพงษ์ตระกูล หล่อ THE ให้แกร่งในยุคเฟื่องฟู" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2561 ในรูปแบบ E-Magazine