50 ปีบนเส้นทางเดินของกลุ่มบริษัทซีดีจี บริษัทไอทีสัญชาติไทยแท้ๆ ผ่านขวากหนามและศึกสงครามไม่แพ้ใครในสมรภูมิธุรกิจ วันนี้แม่ทัพใหญ่อย่าง นาถ ลิ่วเจริญ ในวัย 58 ปี ยังพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมายข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยเป้ารายได้ 5 พันล้านบาทท้าทายเหล่าดิจิทัล ดิสรัปเตอร์ (ข้ามชาติ) อย่างไม่เกรงกลัว
การเดินทางของบริษัทไอทีสัญชาติไทยที่เริ่มต้นด้วยคนไม่กี่คน จากผู้ให้บริการสำรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ในช่วงสงครามเวียดนามภายใต้ชื่อบริษัท คอนโทรล ดาต้า ในมือการบริหารของ ยิ่งยง ลิ่วเจริญ ผู้หาญกล้าเทกโอเวอร์บริษัทนี้มาจากคนอเมริกันก่อนจะตกถึงมือของ นาถ ลิ่วเจริญ ลูกชาย กระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีดีจี กรุ๊ป และ แตกหน่อธุรกิจออกมาอีก 6 บริษัท กลายเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านไอทีครบวงจร ทำรายได้เมื่อปีที่แล้วเกือบ 5 พันล้านบาท “อดีตเซลล์แมนขายคอมพิวเตอร์” ที่วันนี้ คือ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทซีดีจี และกลุ่มบริษัทจีเอเบิล ยังคงมีแววตาแห่งความมุ่งมั่นในสมรภูมิธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ด้วยประสบการณ์ กว่า 30 ปีทำให้นาถกลายเป็นผู้บริหารไอทีมือเก๋า ที่มีลูกล่อลูกชนและมีวิสัยทัศน์การทำธุรกิจเน้นวางกลยุทธ์ให้บริษัทในเครือเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอและยั่งยืนสานต่อมรดกธุรกิจด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี
เขาย้อนกลับไปวันแรกที่ก้าวเข้ามาสู่บริษัทที่พ่อเขาปูทางเอาไว้ให้ อาจเพราะความชอบเทคโนโลยี และร่ำเรียนมาด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ ทำให้ระยะห่างระหว่างธุรกิจครอบครัวและความชอบของเขาแทบจะเบียดชิดเป็นเนื้อเดียวกัน “ผมเข้ามาทำงานที่บริษัทของพ่อ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นชื่อบริษัทคอนโทรล ดาต้าตอนอายุ 27 ปี ความรับผิดชอบคือเซลล์ขายคอมพิวเตอร์ ซึ่งจริงๆ แล้ว หลังจบการศึกษายังไม่รู้สึกว่าอยากมาทำธุรกิจกับครอบครัวในทันที ผมจบวิศวะคอมพิวเตอร์จุฬาฯ เป็นรุ่นที่ 5 เรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกแล้วก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ช่วงนั้นมีเซนส์ว่าคุณพ่ออยากให้กลับเข้ามาทำงานเพราะคุณพ่อสุขภาพไม่แข็งแรงนัก” ในยุคที่คุณพ่อบริหาร บริษัทไปได้ดีมีลูกค้า และเริ่มเป็นผู้นำในตลาด โดยเป็นบริษัทแรกที่เซตระบบหลังบ้านให้กับบริษัทอินเทอร์เน็ต ประเทศไทย (ในยุคนั้น) รวมถึงทำระบบให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพี “ผมเข้ามาทำงานได้ราว 1 ปีคุณพ่อก็เสีย ตอนนั้นเป็น sudden shock เหมือนกันในองค์กร เพราะพ่อเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์เด็ดขาด คนในองค์กรก็เริ่มระส่ำระสาย ไม่มั่นใจ ความเชื่อมั่นของพนักงานในบริษัทเมื่อกัปตันไม่อยู่แล้ว ขณะที่ลูกกัปตันเพิ่งมาทำงานได้ 1 ปี จะสามารถไว้ใจฝากชีวิตไว้ได้แค่ไหน (นาถเป็นลูกชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 3 คน โดยมีพี่สาว 2 คน) แต่สุดท้ายผมก็ต้องรับตำแหน่งผู้นำขององค์กรแทนพ่อโดยอัตโนมัติ อาจเพราะตอนนั้นไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก” หลังจากนั้น บริษัทได้เริ่มปรับโครงสร้างฟื้นฟูธุรกิจ ทีมงานร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้องค์กรกลับมาแข็งแกร่ง ธุรกิจเดินไปได้รายได้หลักๆ ของบริษัทนอกจากการขายคอมพิวเตอร์ซึ่งยังเป็นเครื่องเมนเฟรมในยุคนั้น ก็ยังมีรายได้จากการให้บริการบำรุงรักษา ที่นับเป็นเม็ดเงินที่หล่อเลี้ยงและนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในองค์กร ขณะที่ต้องหารายได้อื่นๆ เข้ามาช่วยประคับประคองด้วย หลังจากนั้นเมื่อบริษัทเข้ารูปเข้ารอยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ซีดีจี กรุ๊ป อย่างเต็มตัวเมื่อประมาณปี 2531 ด้วยจุดประสงค์ที่ว่าเริ่มมีหลายบริษัทเกิดขึ้นในเครือ เลยตั้งเป็นกลุ่มบริษัทซีดีจีขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน “เรามีบริษัทลูกพีคสุดอยู่ที่ 10 บริษัท หลังจากนั้นเราก็แตกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มจีเอเบิล และกลุ่มซีดีจี ถึงวันนี้ซีดีจีมีบริษัทในเครือทั้งหมด 6 บริษัท ซึ่งบริษัทคอนโทรล ดาต้า ซึ่งเป็นบริษัทแรกก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการรีแบรนด์เป็นชื่อบริษัท ซีดีจี ในช่วงนั้น นาถได้ตั้ง position ของบริษัทไว้ว่าจะ powering the country ดังนั้น แนวคิดของโครงการที่ซีดีจีนำเสนอจะเกี่ยวข้องกับประเทศและประชาชนเป็นหลัก เพราะเขาเชื่อว่าหากโครงการสำเร็จ มันคือการ empower ให้กับประเทศโดยภาพรวม “หนึ่งในโปรเจกต์ที่เป็นงานสร้างชื่อให้ซีดีจี คือโครงการของกระทรวงมหาดไทยกรมการปกครอง เพราะจากที่ไม่มีอะไรเลยจนปัจจุบันมีฐานข้อมูลของประชากรที่อัปเดตมากที่สุด ยกระดับบัตรประชาชนธรรมดาสู่สมาร์ทการ์ดที่พร้อมเชื่อมโยงไปสู่ระบบบริการอื่นของรัฐได้เกือบทั้งหมดเป็นโครงการที่ซีดีจีค่อนข้างภูมิใจ เพราะผ่านอุปสรรคมาเยอะมากจริงๆ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลของคนทั้งประเทศซึ่งเราก็ผ่านมาได้”สู่ปีที่ 50 ด้วยความมั่นคง
ปีนี้เป็นปีที่กลุ่มบริษัทซีดีจีก้าวสู่ปีที่ 50 เปรียบเป็นหนุ่มใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน เป็นช่วงที่ถูกรุมล้อมด้วยคู่แข่งที่ไม่เหมือนเดิม “ต่างชาติเข้ามามาก ใช่ ผมว่าเราควรต้องรู้เขารู้เรา ต้องเข้าใจเราเป็นใคร และยืนตรงไหนได้ และเขาเป็นใคร ทำธุรกิจแบบไหน อย่างไร เราต้องหา space ของเราให้อยู่ให้ได้ อย่าลืมว่ายักษ์เบียดแจ๊คง่ายมากนะ เตะนิดเดียวก็กระเด็นแล้วเราถือเป็นบริษัทเล็ก ถ้าเทียบกับสเกลของบริษัทพวกนี้ ทั้งบริษัทอเมริกัน บริษัทญี่ปุ่นรวมไปถึงบริษัทจีน ถ้าเขาต้องการจะเบสที่นี่เพราะเห็นโอกาส เขาเบียดเราได้อยู่แล้วอยู่ที่ว่าเรายืนอยู่ตรงไหน ผมมั่นใจว่า space ที่เราคุมอยู่มันแน่นพอ แต่ถามว่าเราหยุดนิ่งได้ไหม ไม่ได้เลย เราต้องเต้นตลอดเวลา ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา” นาถบอกด้วยสีหน้าและแววตาที่จริงจัง พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมากลุ่มบริษัทซีดีจี adapt to change อยู่ตลอดเวลา “เรามีหลักสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรได้แก่ Innovation คือ สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง Caring ดูแลใส่ใจเพื่อนร่วมงานลูกค้า และสังคม Trustworthy ต้องน่าเชื่อถือเป็นที่ไว้วางใจ และพึ่งพาได้ Dynamic รวดเร็ว ว่องไว พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ Determination ต้องมุ่งมั่น ทุ่มเท ใส่ใจทั้งหมด represent ความเป็นซีดีจีได้ดีมากเราเป็นแบบนี้ตั้งแต่การก่อกำเนิดบริษัทเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เราแคร์ลูกค้ามากเพราะการทำงานร่วมกับลูกค้าราชการให้ต่อเนื่องได้จริงๆ เขาต้องเชื่อมั่นเรา และเราต้องแคร์เขา เราคำนึงถึงเรื่องนี้มากซีดีจีไม่เคยทิ้งงาน” อย่างไรก็ตาม บริษัทในเครือซีดีจีที่มีอยู่ 5-6 บริษัท นาถได้วางโรดแมปการบริหารจนสามารถเติบโต มีรายได้ และทำกำไรโดยเฉพาะบริษัทที่ทำเกี่ยวกับแผนที่ดิจิทัลหรือจีไอเอส ถือว่ามีศักยภาพมาก ต่อยอดสู่สมาร์ทซิตี้ หรือสมาร์ทเนชั่นได้ ซึ่งจะกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของกลุ่มบริษัทซีดีจีในอนาคต ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทซีดีจีมี backlog ในมือเกิน 50% ของรายได้ โดยปี 2560 บริษัทมีรายได้เฉียด 5 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าในปีนี้ รายได้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 10% ขณะที่ภาพรวมธุรกิจในปี 2562 กลุ่มบริษัทซีดีจียังคาดหวังโครงการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเชื่อว่าหากรัฐดำเนินการตามแผนไทยแลนด์ 4.0 ได้จริง ลงเม็ดเงินอย่างจริงจัง จะช่วยผลักดันให้กลุ่มบริษัทซีดีจีเติบโตได้อีกต่อเนื่อง ขณะที่โครงการที่โดดเด่นของกลุ่มบริษัทซีดีจี และกำลังเป็นสตาร์จะอยู่ในกลุ่มของ Geographic Information System (GIS) หรือแผนที่ดิจิทัล โดยที่ผ่านมา บริษัท อีเอสอาร์ไอ ประเทศไทย บริษัทในเครือใช้ระบบ GIS ในการช่วยน้องๆ ทีมหมูป่ารวมถึงการวิเคราะห์มวลน้ำจากเขื่อนแตกในประเทศลาว สำหรับโซลูชั่นด้านจีไอเอสจะนำเสนอทั้งกลุ่มลูกค้าภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน รวมถึงโซลูชั่นด้านบิ๊กดาต้าอนาไลติกส์ ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ หลังอายุ 50 ปีของกลุ่มบริษัทซีดีจี อาจเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นพอสมควรตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยน โดยเฉพาะการบริหารธุรกิจที่ต้องอาศัยมือของคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจนหลักของบริษัท นาถบอกถึงพลังของ Gen Y ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจจากนี้ “ส่วนหลักคิด หรือแนวคิดที่ทำให้บริษัทไอทีสัญชาติไทยยังอยู่ได้ และเติบโตมาได้อย่างมั่นคง คือเราต้องเตรียมรับสถานการณ์ข้างหน้า และปรับตัวเราก่อนตลอดเวลา นี่เป็นจุดสำคัญ การเดินการวิ่งมันมีสิทธิที่จะตกบันไดลงมาได้ แต่การ over invest หรือ diversify มากเกินไปธุรกิจก็อาจเสียหายได้เช่นกัน” บทสรุปสำคัญของนาถผู้กุมบังเหียนบริษัทไอทีไทยที่ได้ชื่อว่าที่มีอายุยาวนานในยุทธจักรธุรกิจถึง 5 ทศวรรษ https://www.instagram.com/p/Bn1Ed6ohlGI/?utm_source=ig_embedคลิกอ่านฉบับเต็ม " นาถ ลิ่วเจริญ คุมทัพ 'ซีดีจี' ขี่คลื่นยักษ์ 'ดิจิทัล' ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand Magazine ฉบับ กันยายน 2561 ได้ในรูปแบบ e-Magazine