ธีรวัต อมรธาตรี พา BM เข้าใกล้พันล้าน - Forbes Thailand

ธีรวัต อมรธาตรี พา BM เข้าใกล้พันล้าน

อาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ค้นพบโอกาสจากยุคเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาฯ ร่วมลงขันกับเพื่อนตั้งกิจการผลิตเหล็กแปรรูปพัฒนาแบบไม่ย่อท้อจึงทำให้ต่อยอดเป็น บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล หรือ BM ที่ตั้งเป้าทำรายได้แตะพันล้านบาทในปี 2561

ในยุคที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยโชติช่วงชัชวาลเมื่อปี 2538 บรรดาเพื่อนๆ ที่เป็นวิศวกรมืออาชีพและคร่ำหวอดในงานวิศวกรรมหลายด้านทั้งฝั่งไฟฟ้าและเครื่องกล จึงตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายริเริ่มกิจการผลิตสินค้ากลุ่มรางร้อยสายไฟฟ้า ภายใต้ตราสินค้า “BSM” เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างในนามบริษัท บางกอกชีทเม็ททัล จำกัด และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปี 2558 โดยเริ่มจากเช่าอาคารมินิแฟคตอรี่ เพื่อเป็นฐานการผลิตอยู่ที่ย่านถนนสุขสวัสดิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ต่อมากิจการมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มก่อสร้างโรงงานเป็นของตัวเองบนเนื้อที่ 3 ไร่ ร่วมกับผู้ถือหุ้นเกือบ 10 คน และยังเป็นพื้นที่ของบริษัทและฐานการผลิตหลักของบริษัทในปัจจุบัน ปัจจุบัน BM มีสถานะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้แก่ รางเดินสายไฟฟ้า ตู้สื่อสาร ตู้ไฟฟ้า โลหะและแผงควบคุมไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปอื่นๆ จากโลหะตามความต้องการของลูกค้าและยังเป็นผู้จำหน่ายท่อร้อยสายไฟฟ้าที่มีรายได้กว่า 800 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเติบโตขึ้น 10% ภายในปีนี้และสามารถสร้างรายได้แตะ 1 พันล้านบาทภายในปี 2561รวมถึงเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมกับมีแผนงานนำเสนอสินค้าที่เป็นแบรนด์ของบริษัทเข้าไปสู่ตลาดลูกค้ากลุ่มครัวเรือนหรือ B2C ในอนาคต “เมื่อผลิตตู้ไฟฟ้าได้สักพักก็เริ่มมองว่าน่าจะผลิตสินค้าที่เป็น one stop service ให้แก่ลูกค้าได้ จึงเริ่มผลิตแผงควบคุมไฟฟ้าหรือ electrical switchboards ที่ถูกนำไปใช้ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน” อย่างไรก็ตาม หนึ่งในวิวัฒนาการสำคัญฉากหนึ่งของ BM คือได้มีส่วนวางระบบเครื่องปั๊มน้ำสำหรับงานปรับปรุงชั้นดินรองรับทางขึ้นลงของเครื่องบิน (runway) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ คิดเป็นพื้นที่ราว 400,000 ตารางเมตร ที่ภายหลังได้ต่อยอดสู่ธุรกิจโลหะเชื่อมประกอบจากการนำเครื่องยนต์ของ Kubota มาประยุกต์ใช้เป็นพลังหลักของเครื่องปั๊มในครั้งนั้นซึ่งทำให้บริษัท Kubota มองเห็นถึงศักยภาพของ BM ที่จะสามารถทำเครื่องปั่นไฟให้แก่ Kubota ที่ต้องใช้เวลาพัฒนาราว 1 ปีจึงจะนำออกวางจำหน่ายยังประเทศเวียดนามเมื่อปี 2548 หลังผลิตเครื่องปั่นไฟให้แก่ Kubota วางขายได้ราว 5 ปี BM ต้องตีโจทย์เพื่อสร้างหนทางแห่งความอยู่รอดอีกครั้งเมื่อตลาดไม่ร้อนแรงดังเดิม ธีรวัตจึงตกลงร่วมกันกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ว่าจะเริ่มเดินหน้าสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมไปถึงรถเกี่ยวนวดข้าวขนาด 80 แรงม้าที่ผลิตโดย BM จึงเริ่มวางจำหน่ายเมื่อปี 2557 ที่ยอดขายเริ่มแรกอยู่ที่เพียงไม่กี่ล้านบาทต่อปีก็สามารถเติบโตจนทำรายได้เกือบ 200 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน หรือนับเป็นการแจ้งเกิดธุรกิจผลิตชิ้นส่วนโลหะของบริษัทอย่างเต็มตัว ปั้นแรงงานฝีมือ จากภาวะสมองไหลของบริษัท ทำให้ BM ต้องพัฒนานวัตกรรมในการบริหารคนและรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร จึงนำมาสู่การพัฒนาระบบค่าวิชาชีพ ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานที่แม้ไม่ได้จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ก็มีรายได้จากค่าวิชาชีพได้และยังสามารถเติบโตในสายงานปฏิบัติการขึ้นไปถึงระดับผู้จัดการฝ่าย ทำให้ BM มีความจำเป็นต้องพัฒนาแรงงานฝีมือขึ้นเองโดยการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นในแต่ละด้านเพื่อให้สุดท้ายแล้วพนักงาน 1 คนจะมีความเชี่ยวชาญในงานประเภทต่างๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 4 งาน ส่องโอกาส CLMV บริษัทเริ่มค้นหาโอกาสขยายธุรกิจจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ CLMV โดยจะเริ่มจากการลงทุนร่วมกับพันธมิตรจากทั้งเมียนมา (ซึ่งเป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าของ BM ในเมียนมา) ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เข้าไปปักธงเปิดโรงงานผลิตสินค้าเช่นเดียวกับในไทยที่กรุง Yangon ในประเทศเมียนมา ซึ่งน่าจะเริ่มเดินเครื่องอย่างเป็นทางการในปี 2562 นอกจากนี้ BM ยังวางแผนที่จะปรับสัดส่วนรายได้จากการขายและบริการแยกตามประเภทลูกค้าระหว่างกลุ่มลูกค้าผู้รับเหมา (บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่) และกลุ่มลูกค้าภาคส่วนธุรกิจหรือ B2B (ลูกค้าแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่บริษัทรับจ้างผลิต) ให้อยู่ในอัตรา 50:50 จากเดิมที่อยู่ราว 60:40 ธีรวัตเล่าเพิ่มเติมแรงขับเคลื่อนที่จะทำให้ BM ถึงเป้าหมายสร้างรายได้เติบโต 10% ในปีนี้ว่า ในส่วนกลุ่มผู้รับเหมามีแนวโน้มการเติบโตดีในปีนี้จากการก่อสร้างขนส่งมวลชนระบบรางจึงมีการขยายตัวของรายได้อยู่ที่ราว 5-10% โดยเฉลี่ย ขณะที่ในส่วนกลุ่มลูกค้า B2B จะแผ่วลงจากปกติที่ทำรายได้เพิ่มเฉลี่ย 5-10% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากตัวเลขการผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวที่ Kubota ส่งมาลดลงกว่าช่วงก่อนนี้ จึงทำให้จากที่เคยคาดหวังว่าจะโตได้กว่า 10% ในปีนี้คงมาอยู่ที่ 10% แม้ยอดการเติบโตของรายได้ในปีนี้อาจไม่ได้ร้อนแรงดังหวัง แต่บริษัทก็เตรียมพร้อมรับมือกับตัวเลขสั่งสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตไว้ จึงเตรียมเดินเครื่องการผลิตสำหรับโรงงานแห่งใหม่เพื่อรองรับความต้องการสินค้าจากกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่จะนำไปใช้กับโครงการถไฟฟ้าสายต่างๆ อย่างไรก็ตามเป้าหมายสำคัญสุดของการขยายโรงงานใหม่ในครั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานสามารถทำ flexible manufacturing หรือสามารถผลิตสินค้าได้ 3 ประเภทภายในไลน์การผลิตเดียวจึงจะสามารถตอบโจทย์ให้ลูกค้าได้อย่างแท้จริง ตามแนวทางที่ต้องการสร้างให้ BM เป็นผู้ผลิตสินค้าโลหะแปรรูปที่ให้บริการได้แบบ one stop service “การเปิดโรงงานแห่งใหม่ยังมีส่วนสำคัญทำให้เรามีรายได้แตะ 1 พันล้านบาทได้อย่างแน่นอนในปีหน้า”   ภาพ: อรรคพล คำภูแสน
อ่านฉบับเต็ม "ธีรวัต อมรธาตรี พา BM เข้าใกล้พันล้าน" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magazine