ทศพร จิตตวีระ ก่อ FLOYD ด้วยใจรัก - Forbes Thailand

ทศพร จิตตวีระ ก่อ FLOYD ด้วยใจรัก

กลุ่มเพื่อน 4 คนที่ต่างรักในสายงานวิศวกรรมร่วมลงทุนตั้งกิจการรับเหมาสร้างงานระบบภายในอาคารในนาม บมจ.ฟลอยด์ หรือ FLOYD คว้าโอกาสจากโครงการรถไฟฟ้าและห้างค้าปลีก โดยหวังทำรายได้แตะ 1 พันล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้า

ความรักในงานด้านวิศวกรรมคือรากฐานของการก่อตั้งกิจการรับเหมางานระบบอาคารเมื่อปี 2531 ของกลุ่มเพื่อนที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วย สมเกียรติ เลิศศุภกุล (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว), ทศพร จิตตวีระ, อภิรัช เมืองเกษม และประสิทธิ์ ทัศนสุกาญจน์ ที่ตอนนี้ผู้ร่วมก่อตั้งต่างรับบทบาทหน้าที่ใน บมจ.ฟลอยด์ หรือ FLOYD ทั้งในฐานะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นหลักในนามของแต่ละครอบครัวที่อัตรา 18.75% ทศพร จิตตวีระ กรรมการผู้จัดการ วัย 56 ปีเป็นตัวแทนถ่ายทอดเรื่องราวของ FLOYD ตั้งแต่เริ่มแรกว่าจุดประกายจากการเติบโตอย่างร้อนแรงของยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ในเมืองไทยที่มีความต้องการผู้ให้บริการรับเหมางานระบบค่อนข้างมากเพื่อให้ทันกับจำนวนอาคารบ้านเรือนที่ผุดขึ้นอย่างมากมาย ทำให้สมเกียรติในฐานะรุ่นพี่ชักชวนรุ่นน้องอีก 3 คนมาเริ่มเส้นทางผู้ประกอบการอย่างเต็มตัว “เราไม่เคยคิดว่าต้องสร้างกิจการให้เป็นบริษัทมหาชน พวกเราที่เป็นกลุ่มเพื่อนซึ่งเริ่มต้นธุรกิจด้วยความรักในงานด้านวิศวกรรรมเหมือนๆ กัน ผมเชื่อว่าไม่มีใครทนทำงานที่ไม่รักได้ตลอดไป ตอนนี้ผมก็ยังสนุกกับงานที่ทำอยู่”
บมจ.ฟลอยด์ หรือ FLOYD เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai และขายหุ้น IPO ไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 60
โดยช่วงแรกจัดตั้งเป็น 3 บริษัท ประกอบด้วย 1. บริษัท ฟลอยด์ จำกัด 2. บริษัท อีโคโน่เทค จำกัด และ 3. บริษัท อีโคโน่ ซัพพลาย จำกัด แต่ต่อมาในปี 2556 กลุ่มบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จึงได้ดำเนินการรับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) จากบริษัท อีโคโน่เทค จำกัด และดำเนินการรับโอนบุคลากรและการดำเนินงาน โดยวิธีซื้อทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจจากบริษัท อีโคโน่ซัพพลาย จำกัด ให้มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ FLOYD ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา การดำเนินงานทั้งในส่วนของการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร จึงอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ FLOYD แต่เพียงบริษัทเดียว สุดท้าย FLOYD จึงเป็นการหลอมรวมความรู้และความชำนาญเฉพาะทางด้านธุรกิจรับเหมาติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานวิศวกรรมระบบสาธารณูปโภคประกอบอาคาร หรือเรียกว่า MEP (Mechanical, Electrical and Plumbing Engineering) โดยขอบเขตการให้บริการครอบคลุมตั้งแต่งานรายละเอียดทางวิศวกรรม (Detailed Engineering) การจัดหาวัตถุดิบ (Procurement) และงานรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร, ระบบสุขาภิบาลและระบบป้องกันอัคคีภัย และระบบปรับอากาศ (Construction) โดยงานให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสารคือแหล่งรายได้หลักของบริษัทที่กินสัดส่วนเกือบ 50% ของรายได้รวม
งานระบบภายในอาคารโดย FLOYD
บริษัทมีลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มห้างสรรพสินค้าและค้าปลีก กลุ่มอาคารห้องชุดเพื่อการพักอาศัย อาคารสำนักงาน กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มมหาวิทยาลัย และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม “ตั้งแต่ปี 2557 มา ฐานลูกค้าหลักของเราเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าและค้าปลีกที่ 60-70% และอสังหาริมทรัพย์ที่อัตรา 30-40% ขึ้นกับแต่ละช่วงเวลา” แจ้งเกิดด้วยงานห้าง แม้ปัจจุบันผลงานส่วนใหญ่ของบริษัทจะแทรกซึมอยู่ในงานระบบต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น Home Pro, Mega Home, The Jas หรือแม้แต่ภายในโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูง ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ FLOYD พัฒนามาถึงวันนี้คือการรับงานของห้าง Carrefour (ปัจจุบันคือห้าง Big C) ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2542 ในฐานะผู้รับเหมางานระบบสปริงเกอร์ ก่อนจะขยายไปยังงานระบบไฟฟ้า กระทั่งครอบคลุมงานระบบทั้งหมดในทุกสาขาของห้าง Carrefour ในเวลาต่อมา
ทศพร จิตตวีระ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟลอยด์
“จากงานเล็กๆ ในครั้งแรก แล้วเราสามารถส่งมอบงานมีคุณภาพ ควบคุมราคาได้ และตรงต่อเวลา ทำให้ห้าง Carrefour มอบหมายงานให้มากขึ้น และเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้และสะสมข้อมูลการทำงานจนเชี่ยวชาญ แล้วยังทำให้บริหารต้นทุนได้ดี” ผลงานที่ห้าง Carrefour กลายเป็นหลักฐานยืนยันถึงศักยภาพของ FLOYD จึงได้รับเลือกจากห้าง Home Pro ให้มารับเหมางานระบบด้วย เป็นโอกาสให้บริษัทมีงานใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องทดแทนงานของห้าง Carrefour ที่หดหายไปจากการขายกิจการในเมืองไทย “ตอนที่งานของ Carrefour ซบเซาลงเป็นบทเรียนให้เรารู้ว่าจะพึ่งพิงธุรกิจกับลูกค้ารายใดรายหนึ่งไม่ได้” หลังจากสร้างชื่อได้ดีในกลุ่มห้างค้าปลีก FLOYD จึงเริ่มมองหาโอกาสใหม่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเริ่มเข้าไปรับงานระบบของคอนโดมิเนียมที่พัฒนาโดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้บริษัทได้เรียนรู้การทำงานวางระบบของการสร้างที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ ที่ก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปหรือที่เรียกว่า Precast จนต่อยอดไปรับงานของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ รายอื่นๆ ได้อีก “ปัจจุบันบริษัทรับงานที่มูลค่าเฉลี่ย 30-50 ล้านบาทต่อโครงการ แต่โครงการที่มูลค่าสูงสุดที่เคยทำอยู่ที่เกือบ 400 ล้านบาทซึ่งเป็นห้าง Promenada ที่เชียงใหม่” กวาดทุน 252 ล้านบาท สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 252 ล้านบาทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อรองรับการเข้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นถึงมูลค่ารวมราว 1 พันล้านบาทได้ในเวลาเดียวกัน ขณะที่เงินทุนอีกส่วนหนึ่งจะใช้ก่อสร้างอาคารสำนักงานและศูนย์อบรมความสูง 8 ชั้น มูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพของพนักงานในการให้บริการ ย้อนกลับไปตั้งแต่ 3 ปีก่อนรายได้ของ FLOYD มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่า 10% มาตลอด แต่สำหรับปี 2560 ทศพรยอมรับว่ารายได้คงไม่เติบโตสูงเท่าที่ปีก่อนๆ ซึ่งเป็นผลจากตัวเลขรายได้ไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าเป้า เพราะลูกค้าหลักต่างชะลอโครงการก่อสร้างสาขาใหม่ แต่บริษัทก็พยายามให้ใกล้เคียงกับปีที่ 2559 ที่มีรายได้รวมกว่า 500 ล้านบาท “ตอนนี้เราจึงมองข้ามผลประกอบการปี 2560 ไปแล้ว แต่เชื่อว่าจะกลับมาเติบโตดังหวังในปีหน้า เพราะเมื่อความเชื่อมั่นกลับมา ลูกค้าก็จะเริ่มลงทุนโครงการใหม่ๆ เพิ่ม” อย่างไรก็ตาม ด้วยความพร้อมที่จะรับงานที่มูลค่าโครงการ 1 พันล้านบาทขึ้นไปได้หลังจากไร้ข้อจำกัดเรื่องเงินทุนแล้ว ทศพรคาดว่ามีโอกาสที่บริษัทจะสร้างรายได้ถึง 1 พันล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะจากที่เข้าไปรับงานระบบในส่วนสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ “ตอนนี้เรายังไม่ได้เข้าไปทำงานให้โครงการรถไฟฟ้า แต่มองว่าเป็นกลุ่มที่น่าจะเติบโตต่อไป ซึ่งแม้ผู้รับเหมาหลักจะมีบริษัทในเครือที่ให้บริการงานระบบอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่มีรถไฟฟ้าหลายสายและต้องดำเนินการให้จบในเวลาใกล้เคียงกัน จึงจำเป็นต้องแบ่งมาจ้างบริษัทภายนอกเช่นเราด้วย”   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
อ่านฉบับเต็ม "ทศพร จิตตวีระ ก่อ FLOYD ด้วยใจรัก" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magaizne