ชาติชาย พานิชชีวะ ก่อร่างสร้าง CHEWA ให้เติบโต - Forbes Thailand

ชาติชาย พานิชชีวะ ก่อร่างสร้าง CHEWA ให้เติบโต

ทายาทตระกูลนักธุรกิจ ชาติชาย พานิชชีวะ พกพาประสบการณ์โชกโชนจากการบริหารกิจการของครอบครัวมาก่อร่างสร้าง บมจ. ชีวาทัย (CHEWA) จนเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้บริโภคให้การยอมรับ

แม้ว่าจะผ่านประสบการณ์ทำงานและบริหารธุรกิจทั้งที่ครอบครัว “พานิชชีวะ” เป็นเจ้าของและที่เข้าไปร่วมทุนมาหลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระจก และประกันภัย แต่อสังหาริมทรัพย์คือหนึ่งในธุรกิจที่ ชาติชาย พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บมจ. ชีวาทัย (CHEWA) วัย 55 ปี ใฝ่ฝันอยากจะลงมือปลุกปั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง แล้วในที่สุดฝันก็เป็นจริง เมื่อได้รับคำชวนจาก TEE Development Pte. Ltd. ในเครือ TEE Land Ltd. จากประเทศสิงคโปร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระบบ ได้ทาบทามชาติชายผ่าน สมหะทัย พานิชชีวะ คู่ชีวิตของเขาให้เข้าร่วมลงทุน ก่อตั้งบมจ.ชีวาทัย “อสังหาฯ เป็นความชอบส่วนตัว…เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของมนุษย์ที่ขาดไม่ได้ และประชากรโลกก็เติบโตขึ้นทุกวันซึ่งย่อมต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในอนาคต เพียงแต่เราต้องค้นพบให้ได้ว่ากลุ่มไหนที่เหมาะสมเท่านั้นเอง” ชาติชายกล่าว ปัจจุบันบมจ. ชีวาทัยเป็นผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางขึ้นไปและธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยมาแล้ว 10 โครงการ รวมมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียม และล่าสุดเริ่มพัฒนาโครงการแนวราบแห่งแรกในปี 2559 ส่วนในปีนี้และอนาคตบมจ. ชีวาทัยมีการวางแผนอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาโครงการหลากหลายทั้งแนวราบและแนวสูง พร้อมมองหาโอกาสในต่างจังหวัดมากขึ้น และมุ่งสร้างการเติบโต 15-20% ต่อปี เฉลี่ยรายได้ปีละมากกว่า 1 พันล้านบาท “เรามองว่ากลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงค่อนข้างสูงในเมืองไทยจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต แต่เราจะไม่จับตลาดกลาง-ล่าง และหากมีจังหวะหรือโอกาสที่ดีก็จะขยับขึ้นไปเป็นระดับ A- ถึง A”   เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก่อนที่จะเริ่มสร้างบมจ. ชีวาทัย ชาติชายผ่านการประลองฝีมือในเวทีอื่นมาไม่น้อย โดยหลังจากจบปริญญาโท สาขาการค้าระหว่างประเทศและสาขาการตลาดจาก University of San Francisco ประเทศสหรัฐอเมริกา ไพบูลย์ พานิชชีวะ ผู้เป็นบิดาแนะนำให้ชาติชายหาประสบการณ์ที่ บริษัท ไทยเทยิน จำกัด(ปัจจุบันคือ บมจ. ทีทีแอล อุตสาหกรรม) ซึ่งเป็นธุรกิจสิ่งทอที่บิดาเป็นผู้ถือหุ้น ด้วยมีจุดเด่นด้านทักษะภาษาอังกฤษ ชาติชายจึงกลายเป็นหนึ่งในทีมประสานงานกับผู้บริหารต่างชาติ มีส่วนสนับสนุนการร่วมทุน นำไปสู่การขยายธุรกิจเพิ่มเติมจากเดิมที่มียอดขายเพียงไม่กี่สิบล้านบาท กลายเป็นระดับพันล้านบาท หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในธุรกิจสิ่งทออยู่ราว 4 ปี ชาติชายมีโอกาสขยับมาดูแลการตลาดของ บริษัทกระจกไทย-อาซาฮี จำกัด (ปัจจุบันคือบมจ. กระจกไทย-อาซาฮี) ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระจกรายใหญ่รายเดียวของไทยในขณะนั้นและเป็นอีกหนึ่งธุรกิจร่วมทุนของครอบครัว ชาติชายเป็นผู้บริหารคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปปรับจังหวะธุรกิจบุกเบิกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับกระแสความใส่ใจสิ่งแวดล้อมในไทย ชาติชาย พานิชชีวะ นอกจากนี้ ตระกูลพานิชชีวะยังมีการก่อตั้งธุรกิจประกันภัยตั้งแต่ครั้งอดีต คือ บริษัท ไทยศรีนครประกันภัยและคลังสินค้า จำกัด ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ไทยศรีประกันภัย หลังจากตระกูลพานิชชีวะได้กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นหลักอีกครั้งเมื่อปี 2548 บิดาของชาติชายจึงส่งเขาไปรับหน้าที่ผู้บริหาร มีโจทย์สำคัญคือรื้อระบบการทำงานแบบองค์กรต่างชาติให้กลับมาเป็นแบบไทย และสร้างความมั่นใจให้ตัวแทนว่าบริษัทยังเดินหน้าต่อไป   มุ่งโต 3 เท่าใน 5 ปี สำหรับจุดหมายที่ชาติชายวางไว้ในฐานะผู้ก่อตั้งบมจ. ชีวาทัย คือ ชื่อเสียงของบริษัทในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และมีขนาดกิจการเติบโตเพิ่มอีก 2-3 เท่าภายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า มีโจทย์ใหญ่คือการสร้างแบรนด์ “ชีวาทัย” ให้เป็นที่เชื่อถือ โดยระยะแรกที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ต้องอาศัยเรื่องทำเลที่ดีและใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ โดยที่ผ่านมาพบว่าลูกค้าพึงพอใจสินค้าและเกิดการแนะนำแบบปากต่อปาก “เราอยากให้บมจ. ชีวาทัยเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป เรายังเป็นบริษัทที่เล็กอยู่จึงมีโจทย์ที่ต้องสร้างให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่รู้จัก ซึ่งพอได้ยินชื่อแล้วก็ไม่ต้องถามว่าเราทำธุรกิจอะไร” อย่างไรก็ตามช่วง 8 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งบมจ. ชีวาทัย ก็เผชิญอุปสรรคมาไม่น้อย ได้รับผลกระทบการชุมนุมประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ทั้งปี 2553 และ 2556-57 รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ด้วย โครงการชีวาทัย ราชปรารภ ซึ่งเป็นโครงการแรก ได้รับความเสียหายจากเหตุจลาจลของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 เกิดเพลิงไหม้สแลนที่ปกคลุมชั้น 12 ของอาคาร มีผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปทำลายวัสดุอุปกรณ์ในอาคารและมีการหยิบฉวยสิ่งของ จึงทำให้ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 10 ล้านบาท รวมถึงส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปอีกเกือบปี “แม้ว่า 8 ปีที่ผ่านมาเราจะได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด แต่เราก็ยังประคับประคองมาถึงวันนี้ได้ ซึ่งการตั้งสติให้ดี แล้วพิจารณาผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางรับมือแก้ไขให้เข้าสู่สภาวะปกติ ยังต้องมีความใจเย็นและรอบคอบ รวมถึงต้องติดตามข่าวและสื่อสารกับลูกค้าให้ทันท่วงที” นอกจากนี้ ทางชีวาทัยยังดำเนินธุรกิจโรงงานให้เช่าอีกด้วย ปัจจุบันลูกค้าหลักเป็นลูกค้าต่างชาติกลุ่มเอสเอ็มอี ได้แก่ ไต้หวัน และเกาหลี ที่ไม่ต้องการการลงทุนสูงหรือยุ่งยากในการตั้งโรงงาน ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจนี้เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีรายได้ระยะยาว โรงงานสำเร็จรูปให้เช่าของ บมจ.ชีวาทัย   ทำรายได้ยั่งยืน สำหรับแนวทางที่จะสร้างบมจ. ชีวาทัยให้เติบโตในระยะยาวนั้น ชาติชายระบุว่าจะเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมหลากหลายความต้องการ โดยจะไม่เน้นที่อยู่อาศัยเพียงประเภทใดเป็นหลัก แต่จะแปรผันตามทำเล และให้ตรงความต้องการลูกค้ามากที่สุด และมองหาโอกาสลงทุนอสังหาฯเพื่อเช่า เช่น โรงแรม เซอร์วิส อะพาร์ตเมนต์ เพื่อให้มีรายได้หลายทาง เป็นการป้องกันความเสี่ยง ส่วนทิศทางการสร้างรายได้จากมุมมองของนักวิเคราะห์บล. เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่าปีนี้ CHEWA จะมีกำไรสุทธิ 135 ล้านบาทและ 173 ล้านบาทในปี 2561 โดยในปีนี้คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการรวม 4 โครงการ มูลค่ารวม 4 - 5.3 พันล้านบาท และมีแผนร่วมลงทุนพันธมิตรต่างชาติเพื่อเปิดตัวโครงการอสังหาฯแบรนด์ใหม่ในปลายปีนี้ ส่วนคำตอบที่ว่าทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สนุกอย่างที่เคยฝันไว้หรือไม่นั้น ชาติชายย้ำว่า “ผมสนุกกับการทำงานเสมอ ชอบที่ได้คิด ได้เดินทาง แล้วยิ่งไปเห็นสิ่งแปลกใหม่ในต่างประเทศแล้วนำมาใช้กับธุรกิจที่เราทำ ก็ยิ่งสนุกขึ้นไปอีก” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และบมจ.ชีวาทัย
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ชาติชาย พานิชชีวะ ก่อร่างสร้าง CHEWA ให้เติบโต" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กุมภาพันธ์ 2560